top of page

โพล กับ การเลือกตั้ง

Election Poll-01.png

วันนี้ TSIS ขอนำเสนอที่มาของโพล อีกสีสันหนึ่งในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง แม้ในวันนี้ผลของการทำโพลจะไม่คึกคักเท่ากับการเลือกตั้งครั้งก่อน ๆ อาจเกิดจากการเข้ามาของสื่อสังคมออนไลน์เต็มรูปแบบ ที่สังคมผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตนั้นสามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับพรรคการเมือง หรือ แม้กระทั่งหาข้อมูลเกี่ยวกับความนิยมของพรรคและตัวแทนของพรรคได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องพึ่งพาการนำเสนอข้อมูลอย่างผลโพลเหมือนในวันก่อน ประกอบกับบทบาท Big Data ที่มาแรงแซงการวิเคราะห์ผลของกระบวนการทำโพลไปเลย

การหยั่งเสียงประชามติ หรือ โพล (Opinion Poll) คือ การสำรวจความคิดเห็นของสาธารณชน (Public Opinion) ต่อประเด็นใดประเด็นหนึ่งจากกลุ่มตัวอย่างกลุ่มหนึ่ง

 

โพลสำรวจเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1824 โดยเป็นการสำรวจความคิดเห็นภายในท้องถิ่น ผ่านการทดลองออกเสียง หรือ Straw Poll* เพื่อสำรวจความเห็นต่อผู้เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริการะหว่าง Andrew Jackson และ John Quincy Adams ซึ่งผลของการเลือกตั้งนั้น Andrew Jackson ชนะคะแนนเสียงทั้งภายในรัฐและทั้งประเทศ ตรงตามผลโพลที่ได้ทำการรวบรวมและเปิดเผยไว้ก่อนการประกาศผลการเลือกตั้ง โพลจึงเป็นที่นิยมขึ้นในการใช้เป็นเครื่องมือเพื่อทำการสำรวจความเห็นของประชาชนต่อประเด็นต่าง ๆ

 

*การทดลองลงคะแนน (Straw Poll) คือ การทดลองลงคะแนนเสียงให้กับผู้สมัครคนใดคนหนึ่งเสมือนว่าเป็นการเลือกตั้งจริง ๆ คล้ายกับเป็นการเลือกตั้งที่สมมติขึ้นมา ซึ่งการลงคะแนนเสียงนี้ไม่มีผลใด ๆ ทางกฎหมายต่อการเลือกตั้งจริง แต่ผู้ชนะก็ได้รับความสนใจจากสื่อและเป็นที่รู้จักมากขึ้น รวมถึงมีโอกาสสูงที่กลุ่มผู้สนับสนุนเงินทุนจะหันมาสนับสนุนแคมเปญของผู้ชนะ

 

ต่อมาในปี 1916 The Literary Digest เริ่มทำโพลสำรวจในระดับชาติเพื่อทำนายผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี ผลโพลเป็นที่ยอมรับมากขึ้น เมื่อผลโพลทำนายได้อย่างถูกต้องว่า Woodrow Wilson จะได้เป็นประธานาธิบดีในการเลือกตั้งครั้งนั้น

 

นอกจากการจัดทำ Opinion Poll ที่เป็นที่นิยมแล้วนั้น Exit Poll ก็เป็นโพลที่นิยมมีการจัดทำขึ้น ซึ่งทำได้โดยการนำข้อมูลจากการสุ่มสอบถามผู้ที่เพิ่งออกจากคูหาลงคะแนน เพื่อแสดงผลการเลือกตั้งในภาพรวมก่อนที่จะมีการนับคะแนนในช่วงท้ายวัน หรือนับคะแนนในวันถัดไป โดยผู้จัดทำ Exit Poll นั้นจะเป็นบริษัทเอกชน หน่วยงานรัฐ หรือหน่วยงานจากสถานศึกษาก็ได้

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ถือเป็นสถาบันโพลแห่งแรกในประเทศไทยที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2518 และเป็นสถาบันที่เริ่มดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนผ่าน “นิด้าโพล” ตั้งแต่ปี 2518 ในช่วงเหตุการณ์จัดทำประชามติเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ณ วันที่ 26 มกราคม 2518 โดยการสำรวจการเลือกตั้งในครั้งนั้นได้จัดทำการสำรวจถึง 2 ครั้ง โดยในครั้งที่ 1 เป็นการสำรวจความสนใจต่อการเลือกตั้ง และครั้งที่ 2 เป็นการทำนายผลการเลือกตั้ง เพื่อจัดลำดับคะแนนของผู้สมัครแต่ละคน ซึ่งผลที่ได้จากการสำรวจในครั้งนั้นค่อนข้างใกล้เคียงกับผลการเลือกตั้งจริง ในเวลาต่อมามีสถาบันโพลเกิดขึ้นตามมาอีกหลายแห่ง อาทิ ดุสิตโพล เอแบคโพล

 

ในปัจจุบัน การทำโพลได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการวิจัยเชิงสำรวจแบบหนึ่ง ที่ครอบคลุมการสำรวจความคิดเห็น (Opinion) ทัศนคติ (Attitude) ความเชื่อ (Belief) และพฤติกรรม (Behavior) ของประชาชนต่อปรากฏการณ์ทางสังคม ทั้งที่เกิดขึ้นแล้วหรือยังไม่อาจเกิดขึ้น ตลอดจนการสำรวจข้อเท็จจริงทางสังคม (Social facts) ด้วย

 

 

 

โพลสามารถเชื่อถือได้จริงหรือ ?

บางโพลใช้เวลาเก็บจริงเพียงชั่วข้ามคืน

บางโพลใช้วิธีการเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างแบบสุ่มตามสะดวก (Convenience Samples)

ในขณะที่บางโพลก็ดำเนินการเก็บข้อมูลอย่างละเอียดถี่ถ้วนและมีการวางแผนมาเป็นอาทิตย์ ทั้งยังปรับค่าต่าง ๆ ด้วยเทคนิคเชิงสถิติอีกหลายอย่าง

ความแตกต่างอย่างสุดขั้วนี้ส่งผลต่อความถูกต้องของข้อมูลและความไม่โปร่งใสของข้อมูลที่จะนำมาใช้ในการวิเคราะห์

 

การเก็บข้อมูลสามารถทำได้หลากหลายช่องทางการสื่อสาร ในอดีตการเก็บข้อมูลมักทำผ่านการสอบถามทางโทรศัพท์บ้าน ซึ่งอาจดูล้าสมัยเพราะทุกคนหันมาใช้สมาร์ทโฟนกันมากขึ้น แต่โทรศัพท์บ้านก็มีข้อดีตรงที่สามารถระบุพิกัดทางภูมิศาสตร์ของผู้ตอบได้ อีกทั้งยังเป็นการช่วยตัดผู้ตอบจากสิ่งรบกวนภายนอกที่อาจส่งผลต่อคำตอบได้อีกด้วย แต่เมื่อทุกคนหันมาใช้สมาร์ทโฟนกันมากขึ้น สถาบันต่าง ๆ ก็ต้องพยายามปรับตัวในการใช้สมาร์ทโฟนเก็บข้อมูล ในปัจจุบันก็มีความพยายามในการดำเนินการผ่าน Website และ Application เพิ่มเติม โพลเป็นเสมือนข้อมูลที่บ่งชี้ถึงความสามารถของพรรคการเมืองในการรณรงค์หาเสียง อย่างไรก็ตาม ผลโพลและข้อมูลต่าง ๆ นี้ ส่งผลกระทบต่อการรับรู้และความคาดหวังของผู้ลงคะแนนเช่นกัน โดยการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของผู้ลงคะแนนก็อาจเปลี่ยนแปลงได้หลากหลายกรณี

 

ผลโพลและอิทธิพลต่อพฤติกรรมการลงคะแนน

 

ผลจากงานวิจัยชี้ให้เห็นว่า ในการเลือกตั้งแคนาดาเมื่อปี 1988 นั้น พบว่า ผลของโพลจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญทุกครั้งที่ผลโพลได้ถูกประกาศออกไป ซึ่งเป็นการยืนยันสมมติฐานที่ว่า โพลมีผลต่อความคาดหวังของผู้ลงคะแนนเสียงที่ได้รับข้อมูลนั้น ๆ จริง จากการทดสอบทางสถิติยังพบด้วยว่า ผู้ลงคะแนนเสียงบางคนไม่พึงพอใจที่จะลงคะแนนให้กับพรรคและผู้นำที่มีผลโพลของคะแนนความนิยมน้อย ไม่ว่าจะเคยรู้สึกดีต่อพรรคและผู้นำนั้น ๆ แค่ไหนก็ตาม ซึ่งกลายเป็นเหตุผลพื้นฐานที่สนับสนุนว่า ทำไมโพลถึงส่งผลต่อการเลือกโหวต

Goodbye Polling, Hello Big Data

 

บทความหลายชิ้นแสดงข้อมูลการวิเคราะห์ไปในทิศทางเดียวกันว่า Big data เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ Barack Obama ได้ขึ้นนั่งบนเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แคมเปญหาเสียงที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงามของ Obama นั้น มีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์อยู่เบื้องหลังถึง 100 คน ที่ช่วยวิเคราะห์ทิศทางและรูปแบบความเป็นไปได้ที่จะสร้างความได้เปรียบก่อนการขึ้นเวทีปราศรัยหรือ Debate ทุกครั้ง บทความหนึ่งของ The MOMENTUM กล่าวสรุปไว้ว่า “การที่ บารัก โอบามา ชนะการเลือกตั้ง 2 สมัยติดต่อกัน โดยใช้โซเชียลมีเดีย และ Big Data เป็นเครื่องมือ กลายเป็นโมเดลการใช้สื่อใหม่ที่ได้รับความสนใจในกลุ่มนักการเมือง นักการตลาด และนักธุรกิจ แน่นอนว่าทีมหาเสียงของ โดนัลด์ ทรัมป์ และฮิลลารี คลินตัน พยายามเดินตามรอยความสำเร็จนี้เช่นกัน” นักวิเคราะห์หลายฝ่าย เห็นจริงตามนั้น

 

 

โพลสำรวจความคิดเห็นทางการเมืองในช่วงการเลือกตั้งได้รับความสนใจน้อยลงอีกครั้ง สืบเนื่องจากผลจากการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกา โดยผลโพลสำรวจเปิดเผยว่า “Hillary Clinton” จะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งในครั้งนั้น แต่ผลการวิเคราะห์ด้วย Big Data กลับสะท้อนว่า “Donald Trump” ผู้เข้าชิงอีกคนมีคะแนนนิยมเหนือกว่าในหลายรัฐ สำหรับหลายคนผลการวิเคราะห์ครั้งนี้กลายเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้ในการวิเคราะห์และเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง แต่ยากที่จะเกิดขึ้นกับการใช้ข้อมูล Big Data ในการวิเคราะห์ นักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อยจึงเห็นพ้องต้องกันในการเริ่มนำประโยชน์ของ Big Data เข้ามาใช้ในการวิเคราะห์ มากกว่าการใช้ข้อมูลวิเคราะห์ผลจากกระบวนการทำโพลอย่างเดียว

 

* สำหรับผู้ที่สนใจทราบผลวิเคราะห์ด้วย Big Data ที่คาดการณ์ผลของการเลือกตั้ง 2562 ในไทยไว้นั้น สามารถอ่านบทความเรื่อง “ผลเสิร์ช Google โค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง ฟันธง เลือกตั้ง 62? หากเป็นตามนี้ เราเห็นแล้วใครคือนายกฯจากเสียงประชาชน” ของคุณ KOON WISESSOMBAT ที่นำเสนอข้อมูลพร้อมหลักฐานประกอบประเด็นนำเสนอได้อย่างชัดเจนที่ https://www.facebook.com/notes/koon-wisessombat/ผลเสิร์ช-google-โค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง-ฟันธง-เลือกตั้ง-62-หากเป็นตามนี้-เราเห็/2449717918395307/

 

ผลโพลในปัจจุบันที่รายงานผลออกมาจากทุกสำนักนั้น มีการแสดงผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่แตกต่างกัน ผู้รับข้อมูลจึงต้องมีวิจารณญาณในการรับเข้าข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจ โดยควรสังเกตจากกระบวนการที่ได้มาซึ่งข้อมูล ว่ามีความโปร่งใสหรือไม่ เป็นเหตุเป็นผลหรือไม่ มีอคติในการวิเคราะห์ข้อมูลหรือไม่ หรือ มีอคติในการเลือกกลุ่มตัวอย่างของผู้ให้ข้อมูลหรือไม่

 

ตัวอย่างผลโพลในปัจจุบัน

 

ตัวอย่างผลการสำรวจ "เกาะติดสถานการณ์ การเลือกตั้ง 2562" จาก Nida Poll

https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/98429

 

 

 

 

 

 

ตัวอย่างผลการสำรวจ "เกาะติดสถานการณ์ การเลือกตั้ง 2562 โค้งสุดท้าย" (รายงานผลบางส่วน)

จาก Nida Poll เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2562

 

ตัวอย่างผลการสำรวจ "ความขัดแย้งทางการเมือง ณ วันนี้"

จาก Dusit Poll เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2562

แหล่งอ้างอิง

Aaron Timms (2016). Is Donald Trump's Surprise Win a Failure of Big Data? Not Really. Retrieved from http://fortune.com/2016/11/14/donald-trump-big-data-polls/ on 16

March 2019

Andre Blais, Elisabeth Gidengil and Neil Nevitte. Do Polls Influence the vote? Retrieved from https://www.press.umich.edu/pdf/0472099213-ch11.pdf on 18 March 2019

Cantril, Hadley; Strunk, Mildred (1951). "Public Opinion, 1935-1946". Princeton University Press.

D. Sunshine Hillygus, The Evolution of Election Polling in the United States, Public Opinion Quarterly, Volume 75, Issue 5, 1 December 2011, Pages 962–981.

Jan West (2017). WHY PUBLIC OPINION PLAYS A BIG ROLE IN ELECTION RESULTS. Retrieved from https://www.nbrii.com/blog/public-opinion-plays-big-role-

election-results/ on 16 March 2019

Lily Rothman (2016). How One Man Used Opinion Polling to Change American Politics. Retrieved from http://time.com/4568359/george-gallup-polling-history/ on 15

March 2019

Ohio State University, An Introduction to Survey Research, Polling, and Data Analysis, 1996

Patrick Ruffini (2017). GOODBYE POLLING, HELLO BIG DATA. สืบค้นจาก https://enga.ge/goodbye-polling-hello-big-data/ สืบค้นวันที่ 15 มีนาคม 2019

Rajcharawee Jarupreechachan (2016). โอบาม่า กับชัยชนะที่ได้มาด้วย Big Data. สืบค้นจาก http://bigdataexperience.org/โอบาม่า-กับชัยชนะที่ได้/ สืบค้นวันที่ 15 มีนาคม 2019

ณภัทร ชัยมงคล, สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการสื่อสารและการพัฒนา, 2557

ปิยพร อรุณเกรียงไกร (2016). Big Data ชี้ชะตา! ใครคือผู้นำคนใหม่ของอเมริกา. สืบค้นจาก http://themomentum.co/politicsx-big-data สืบค้นวันที่ 15 มีนาคม 2019

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (2012). ประวัติศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล. สืบค้นจาก http://nidapoll.nida.ac.th/index.php?op=about-index สืบค้นวันที่ 15 มีนาคม

2019

สวนดุสิตโพล. (2562). ความขัดแย้งทางการเมือง ณ วันนี้. สืบค้นจาก http://suandusitpoll.dusit.ac.th/UPLOAD_FILES/POLL/2562/PS-2562-1551577636.pdf

สุวรา แก้วนุ้ย, สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD), โพล (Poll): เครื่องมือในการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์. (2562). เกาะติดสถานการณ์ การเลือกตั้ง 2562 โค้งสุดท้าย (รายงานผลบางส่วน). สืบค้น

จาก http://nidapoll.nida.ac.th/index.php?op=polls-detail&id=646 
 

Election Poll-02.png
Nida-Poll.png
Logo_Poll-1.png
An9_ABAC_Poll.png
20190313052417.jpg
Screen Shot 2562-03-18 at 11.26.46 PM.pn
PS-2562-1551577636.jpg
d10e35fdc34d.jpg
Election Poll-04.png
Election Poll-03.png
bottom of page