NURTURE ONE RESEARCHER AT A TIME.
5 งานวิจัยที่น่าสนใจเกี่ยวกับ "พ่อ"
Dec 5, 2019 I The TSIS Team
เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ ทีมงาน The TSIS จึงทำการคัดเลือกงานวิจัย 5 ชิ้น ที่เกี่ยวกับ 'พ่อ' มาแบ่งปันให้เพื่อน ๆ ลองอ่านกัน
บทบาทความเป็นพ่อในนวนิยายไทยร่วมสมัยช่วง 4 ทศวรรษ พ.ศ.2515-2558
ผู้วิจัย : สุกัญญา ขลิบเงิน / วรวรรธน์ ศรียาภัย / พรธาดา สุวัธนวนิช / กัลยา กุลสุวรรณ
รูปแบบโครงสร้างครอบครัวในสังคมไทยสมัยใหม่จะประกอบไปด้วยพ่อ แม่ และลูก ซึ่งอยู่ภายใต้ค่านิยมแบบ “ผัวเดียวเมียเดียว” ผู้ชายมีหน้าที่เป็นพ่อ สามี และหัวหน้าครอบครัว ส่วนผู้หญิงมีหน้าเป็นแม่ ภรรยา และมารดา (Limanonda, 2001: 183) นอกจากนั้นความเป็นพ่อในสังคมสมัยใหม่จะต้องเป็นผู้นำที่เป็นตัวอย่างแก่สมาชิกในครอบครัวจึงถือเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม
งานวิจัยชิ้นนี้ทำการศึกษาบทบาท พฤติกรรม และความหลากหลายของความเป็นพ่อในนวนิยายไทยร่วมสมัย 16 เรื่อง ภายใต้กรอบแนวคิดบทบาท บุคลิกภาพ นวนิยายกับสังคม และบทบาทพ่อตามมิติโครงสร้างสังคมและวัฒนธรรม ผู้วิจัยทำการศึกษาบทบาทความเป็นพ่อจากนวนิยายไทยร่วมสมัยตั้งแต่ปี พ.ศ.2515-2558 โดยแบ่งออกเป็น 4 ช่วงสมัย
ผลการวิจัยพบว่า พฤติกรรมของพ่อที่แสดงบทบาทตามความคาดหวังของสังคมคือ พ่อที่มีความรักและความอบอุ่น มีความรับผิดชอบ มีเหตุผล เห็นแก่ประโยชน์ส่วนร่วม และเสียสละ ซึ่งอยู่ในนวนิยายทั้งหมด 8 เรื่อง อาทิ พ่อม้ายทีเด็ด, ลอดลายมังกร, แผ่นหลังของพ่อ, ลูกอีสาน เป็นต้น ส่วนพ่อที่แสดงบทบาทขัดแย้งกับความคาดหวังต่อสังคมคือ พ่อที่รักแต่ไม่เข้าใจลูก ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล รักลูกไม่เท่ากัน ซึ่งอยู่ในนวนิยาย 8 เรื่อง อาทิ ซุ้มสะบันงา, ทางโค้ง, ลับแล แก่งคอย เป็นต้น
นอกจากนั้นผู้วิจัยยังพบความแตกต่างในเรื่องค่านิยมระหว่างพ่อในชนบทกับพ่อในสังคมเมือง เนื่องจากลักษณะของสังคมชนบทจะมีการรวมตัวอย่างเหนียวแน่น มีความสัมพันธ์แบบเครือญาติ และได้รับอิทธิพลทางศาสนาในการควบคุมความประพฤติ ส่วนในสังคมเมืองที่มีการพิจารณาสถานภาพทางสังคมจากฐานะทางเศรษฐกิจและระดับการศึกษา ประเด็นที่น่าสนใจคือเรื่อง ‘ความเป็นพ่อที่มีความหลากหลายทางเพศ’ ที่ผู้วิจัยมองว่าสังคมไทยในปัจจุบันยอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ซึ่งท้าทายภาพลักษณ์ของความเป็นพ่อในแบบที่ยึดถือในอดีตว่า พ่อจะต้องเลี้ยงดูบุตรร่วมกับแม่
ประเด็นสุดท้ายคือ มุมมองของนักเขียนนวนิยายชายมักเน้นความเป็นพ่อที่มีอำนาจและเป็นผู้นำครอบครัวในแบบสังคมชายเป็นใหญ่ ส่วนแม่จะต้องเป็นผู้แสดงออกถึงความรัก ต่างจากมุมมองของนักเขียนหญิงที่พ่อจะต้องเป็นผู้เสียสละ และให้ความสำคัญกับครอบครัว
การปรับตัวเมื่อเป็นครอบครัวพ่อเลี้ยงเดี่ยว : ประสบการณ์ชีวิตพ่อเลี้ยงเดี่ยว
ผู้วิจัย : สุจิตรา อู่รัตนมณี / จินตนา วัชรสินธุ์ / เปรมวดี คฤหเดช
เมื่อพูดถึงคำว่าครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว คนส่วนใหญ่จะนึกถึงครอบครัวที่พ่อ หรือแม่ ต้องเลี้ยงดูลูกตามลำพัง เนื่องจากการเลิกรา หรือหย่าร้างจากคู่สมรส ค่านิยมในสังคมไทยมักคาดหวังให้แม่มีหน้าที่หลักในการเลี้ยงดูลูก อย่างไรก็ตามพ่อก็ถือเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการเลี้ยงดูลูกในฐานะ “ครอบครัวพ่อเลี้ยงเดี่ยว” เช่นกัน
วัตถุประสงค์ของงานวิจัยชิ้นนี้คือ ศึกษาประสบการณ์ชีวิตการปรับตัวของพ่อเลี้ยงเดี่ยว ผ่านกรอบทฤษฎีปรากฏการณ์นิยมของเอ็ดมันต์ ฮุสเซิร์ล ร่วมกับทฤษฎีการปรับตัวของรอย โดยทำการสัมภาษณ์เชิงลึกกับพ่อเลี้ยงเดี่ยว 6 คน ผลการศึกษาพบว่าพ่อเลี้ยงเดี่ยงจะต้องสวมบทบาทเป็นทั้งพ่อและแม่เพื่อทดแทนแม่ที่หายไปจากครอบครัว โดยเฉพาะเรื่องการทำงานบ้าน อาทิ การตื่นมาให้นมลูก, อาบน้ำแต่งตัวลูก, การหาอาหาร ฯลฯ การกลายเป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยวทำให้ต้องปรับชีวิตส่วนตัวในหลายด้าน ทั้งเวลาในการพักผ่อน, เรื่องการทำงาน และเวลาในการทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะในช่วงที่ลูกอยู่ในวัยเด็ก
สิ่งหนึ่งที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อพ่อเลี้ยงเดี่ยวคือ สภาวะทางจิตใจ ผลการศึกษาพบว่า พ่อเลี้ยงเดี่ยวจะมีความรู้สึกเครียดโดยเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจ นอกจากนั้นยังรู้สึกเศร้าจากการเสียคู่ในระยะแรก และรู้สึกกังวลเมื่อมีคำถามเกี่ยวกับแม่ อย่างไรก็ตามพ่อเลี้ยงเดี่ยวไม่ใช่กลุ่มคนที่เดียวดาย เพราะเมื่อประสบปัญหาและต้องการความช่วยเหลือ พ่อเลี้ยงเดี่ยวจะหันไปขอความช่วยเหลือจากญาติพี่น้อง และคนรอบตัว
“พ่อล่าม” กับการให้คำปรึกษาครอบครัว
ผู้วิจัย : สุวรี ฤกษ์จารี และ กนกลักษณ์ ศรีสุข
การสื่อสารคือ ปัจจัยสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว แต่การอยู่ร่วมกันก็เสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งจนส่งผลกระทบต่อสมาชิกคนอื่น การให้คำปรึกษาครอบครัวจึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่เนื่องจากครอบครัวไทยมักเลือกวิธีการแก้ปัญหาของครอบครัวไทยมักใช้การไกล่เกลี่ยโดยผู้ใหญ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือผู้ที่ให้ความเคารพนับถือ ไม่นิยมใช้บริการผู้ให้คำปรึกษาครอบครัวเหมือนอย่างประเทศในแถบตะวันตก แต่กลับพบวัฒนธรรมดังกล่าวในชนเผ่าชาวผู้ไทที่มีพ่อล่ามในฐานะผู้ให้คำปรึกษาครอบครัว
“พ่อล่าม” หรือ “พ่อล้าม” ทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมบทบาทสำคัญในพิธีแต่งงาน โดยในสำเนียงชาวผู้ไทมีความหมายเดียวกับการดูแลควายด้วยการ “ล่าม” ไว้ด้วยเชือก โดยผู้ดูแลจะเฝ้าอยู่ไม่ห่างสัตว์ที่ล่าม สำหรับ “ล่าม” ในความหมายของคนผู้ไท จะทำหน้าที่แทนพ่อแม่ คือ พ่อแม่เป็นคนเลี้ยงดูมาจนโต แต่พ่อล่ามจะทำหน้าที่คอยดูแล หลังจากที่แยกครอบครัวแล้ว คอยให้คำปรึกษาทั้งเรื่องครอบครัวและการทำมาหากิน พ่อล่ามจึงมีบทบาทสำคัญในสังคมผู้ไท เนื่องจากเป็นบุคคลที่มีครอบครัวที่มั่นคงและเป็นผู้ที่คนในชุมชนให้ความเคารพ
“พ่อล่าม” มีบทบาทในการสร้างความสงบสุข สร้างสถาบันครอบครัว ลดความขัดแย้งในสังคม อันเป็นผลให้การแต่งงานของชาวผู้ไทที่มีพ่อล่ามเป็นครอบครัวที่มั่นคง อบอุ่น ไม่หย่าร้างหรือแตกแยก
พ่อล่ามในฐานะผู้ให้ปรึกษาครอบครัว เป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของชาวภูไทที่ควรอนุรักษ์และสืบทอดวัฒนธรรมที่ดีงาม เป็นวิถีพึงปฏิบัติและเป็นตัวอย่างอันดีในสังคม เนื่องจากเป็นการสร้างรากฐานทางจิตใจที่มั่นคงของสมาชิกครอบครัวให้มีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน อีกทั้งเป็นการขยายเครือข่ายในลักษณะความสัมพันธ์ฉันท์ญาติระหว่างครอบครัวให้แน่นแฟ้น เป็นการสร้างความเข้มแข็งทางชุมชน ในด้านจิตวิทยา พ่อล่ามจัดว่าเป็นตัวแบบที่ดีในเชิงจิตวิทยาสังคม อีกทั้งยังให้การช่วยเหลือดูแล เป็นการสร้างสังคมแห่งการแบ่งปัน ในด้านการเรียนรู้พ่อล่ามทำหน้าที่เหมือนครูที่คอยดูแลให้คำแนะนำแก่ครอบครัวใหม่เป็นการสอนเชิงปฏิบัติ เน้นประสบการณ์ ทำให้คู่สมรสมีการปรับตัวที่เหมาะสม ลดปัญหาการหย่าร้างหรือครอบครัวแตกแยกได้ในระดับหนึ่ง
“พ่อผมเป็นกะเทย” ปัญหาเรื่องความเป็นชายและความเป็นพ่อในนวนิยายเรื่องพระจันทร์สีรุ้ง
ผู้วิจัย : นัทธนัย ประสานนาม
การศึกษาเรื่องเพศในวรรณกรรมไทยส่วนใหญ่เน้นศึกษาในประเด็นผู้หญิง และชนกลุ่มน้อยทางเพศ ส่วนเรื่องของผู้ชาย ถึงแม้จะมีการศึกษาตัวละครชายแต่ก็เป็นเพียงการวิเคราะห์ตัวละคร ยังขาดเรื่องมุมมองของเพศสถานะศึกษา (Gender studies) ดังนั้นวัตถุประสงค์ของงานชิ้นนี้คือ การศึกษานวนิยายพระจันทร์สีรุ้งของวัตตรา ในแง่ของความเป็นชายกับปัญหาการเปิดเสรีความเป็นพ่อ
ถึงแม้ผู้เขียนนวนิยายเลือกที่จะสร้างตัวละครในฐานะภาพแทนของพ่อทางเลือกที่เป็นกะเทย แต่กลับเลือกใช้วาทกรรมกระแสหลักเกี่ยวกับความสมบูรณ์แบบของครอบครัวรักต่างเพศ และเรื่องความเบี่ยงเบนทางเพศ นอกจากนั้นความเป็นพ่อทางเลือกของตัวละครยังไม่มีพลังพอที่จะตั้งคำถามต่อสังคมในประเด็นความเป็นพ่อ และสถาบันครอบครัวไทย อีกทั้งยังตอกย้ำยังให้เห็นว่า พ่อที่เป็นกะเทยยังถือเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมในสังคมไทย ท้ายที่สุดผู้เขียนได้ผลิตซ้ำมายาคติเรื่องเพศวิถี และเพศสถานะ โดยทำให้เห็นว่า ตัวละครที่ถูกเลี้ยงโดยพ่อที่เป็นกะเทยจะต้องเติบโตขึ้นมาเป็น “ชายรักต่างเพศ”
การเดินทางเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของพ่อค้าเอเชียตะวันตก
ผู้วิจัย : วันวิสาข์ ธรรมานนท์
พื้นที่เอเชียตะวันตกประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งชาวอาหรับ ชาวยิว ชาวเตอร์ก ชาวเคริ์ด และชาวเปอร์เซีย แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่มักพูดถึงการเดินทางมาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของพ่อค้าชาวอาหรับ และชาวเปอร์เซีย ทำให้ผู้วิจัยเกิดคำถามว่า “พ่อค้าชาวเอเชียตะวันตกเดินทางเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่เมื่อไหร่ ?” โดยทำการศึกษาผ่านเอกสารและหลักฐานทางโบราณคดี
จากการศึกษาพบว่า การเดินทางมาทวีปเอเชียตะวันออกของพ่อค้าเอเชียตะวันตกแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ในช่วงแรกจะเป็นการเดินทางทางบกผ่านเส้นทางที่เรียกว่า “เส้นทางสายไหม” ซึ่งไม่พบร่องรอยของหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าเดินทางมาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากจุดหมายของพ่อค้าคือ การไปค้าขายที่ศรีลังกา และอินเดีย
การเดินทางในระยะหลังได้ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า พ่อค้าชาวเอเชียตะวันตกเดินทางไปจนถึงประเทศจีน ซึ่งจะต้องเดินทางผ่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อนที่จะไปถึงจุดหมาย หลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงให้เห็นคือ เครื่องแก้ว และภาชนะดินเผาแบบฟ้า-เขียว นอกจากนั้นชาวท้องถิ่นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีการแลกเปลี่ยนสินค้าพื้นเมืองกับพ่อค้าชาวตะวันตก จนในเวลาต่อมาพ่อค้าท้องถิ่นได้พัฒนาตนเองขึ้นมาเป็นพ่อค้าคนกลางที่คอยจัดหาสินค้าประเภทเครื่องเทศ และเครื่องถ้วยจีนให้กับพ่อค้าเอเชียตะวันตก
สำหรับผู้ใดที่สนใจอ่าน 5 งานวิจัยที่เกี่ยวกับ 'พ่อ' เพิ่มเติมสามารถเข้าไปอ่านตามลิ้งก์ที่อยู่ด้านล่าง
http://dspace.bru.ac.th/xmlui/handle/123456789/4996
https://www.tci-thaijo.org/index.php/JRTAN/article/view/73298
https://www.tci-thaijo.org/index.php/liberalarts/article/view/10976
https://www.tci-thaijo.org/index.php/EDKKUJ/article/view/135882
https://www.tci-thaijo.org/index.php/Veridian-E-Journal/article/view/30359
The TSIS Team
AUTHOR
TSIS Thailand สนับสนุนให้ทุกคนสงสัยอย่างสร้างสรรค์