
NURTURE ONE RESEARCHER AT A TIME.
Loot box VS Law
เมื่อกล่องปริศนาเล่นกับความรู้สึกคน กฎหมายจะเข้ามามีบทบาทได้อย่างไร
One Winged Angel

กฎหมายกับเกม ผู้อ่านคงสังสัย ว่า มันจะเกี่ยวกันได้ยังไง ? ทั้งที่อยู่คนละวงการ ในบทความนี้ตัวผมจะนำเสนอ บทบาทที่กฎหมายได้เข้ามีส่วนในอุตสาหกรรมเกมว่ามีความสัมพันธ์ที่เราควรจับตามองอย่างไร
เกมในชีวิตประจำวันที่เราเจอนั้น มีมากมายหลายประเภท หากจะให้พูดถึงเกมทุกเกมใช้เวลาทั้งชีวิตคงพูดไม่หมด จึงจะต้องมีการจัดหมวดหมู่ของเกมที่จะพูดถึง ซึ่งการจัดหมวดหมู่นี้ จะจัดเป็นแนว(Genre)ของเกม เช่น Action ,Role Playing Game(RPG), Simulation, Racing เป็นต้น หรือบางทีจะมีการจัดหมวดหมู่ตามเครื่องเล่นที่ใช้เล่นเกมนั้น เช่น PC, Playstation, Xbox, Mobile (IOS&Android) เป็นต้น
ซึ่งเกมที่มีอยู่มากมายในปัจจุบันนี้มีวิธีในการหารายได้ที่ไม่เหมือนกัน ดังนี้
-
การขายตัวเกมเต็ม หมายถึง การที่ผู้เล่นจะต้องซื้อเกมในราคาเต็มก่อนถึงจะได้รับการเข้าถึงคอนเทนต์ทั้งหมดในเกม ซึ่งวิธีการนี้เป็นวิธีการมาตรฐานในการหารายได้ของอุตสาหกรรมเกม
-
การจ่ายเงินหรือเติมเงินในเกมเพื่อซื้อไอเทมพิเศษ (In-app Purchase หรือ Microtransaction) หมายถึง การให้ผู้เล่นจ่ายเงินพิเศษเพื่อที่จะได้รับการเข้าถึงสิ่งของ(Item)หรือ ไอเทมพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่งในเกม โดยส่วนมากแล้ว เกมที่ใช้วิธีนี้จะเป็นเกมที่ให้เล่นฟรี (Free to play) แต่การที่จะเข้าถึงไอเทมพิเศษบางอย่างเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการเล่นนั้นจะต้องจ่ายเงินจริงเพื่อการเข้าถึงไอเทมพิเศษเหล่านั้นได้
-
การเติมเงินเพื่อให้ได้เล่นตัว (Subscription) หมายถึง การจ่ายเงินเป็นรายเดือนเพื่อให้ได้เข้าถึงสิทธิในการเล่นเกมนั้น ๆ ซึ่งการหารายได้แบบนี้ส่วนใหญ่จะใช้ในเกมออนไลน์ประเภทหลายคน (Massive Multiplayer Online - MMO) ซึ่งผู้เล่นจะไม่ได้เป็นเจ้าของเกมอย่างแท้จริง แต่จะต้องจ่ายเงิน รายเดือนหรือรายปีเพื่อที่จะได้มีสิทธิการเล่นเกมนั้น ๆ
ในยุคปัจจุบันที่เกมเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันนั้น ทำให้กฎหมายที่มีไว้เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยและเป็นระเบียบเรียบร้อยของคนในสังคมจึงเข้ามามีบทบาทด้วย ประเด็นที่เราจะพูดถึงวันนี้อยู่ในวิธีการหารายได้แบบ “การจ่ายเงินหรือเติมเงินในเกมเพื่อซื้อไอเทมพิเศษ (In-app Purchase)” ซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวกับการเติมเงินในเกมเพื่อซื้อกล่องปริศนาหรือที่รู้จักกันว่า Lootbox หรือ Gacha นั่นเอง
กล่องปริศนา (Lootbox หรือ Gacha) คือ ไอเทมในเกมที่ผู้เล่นจะต้องซื้อเพื่อสุ่มรับไอเทมในกล่องปริศนานั้น โดยไอเทมในกล่องจะมีตั้งแต่ ไอเทมธรรมดา ไปจนถึง ไอเทมหายากเป็นพิเศษในเกม ซึ่งส่วนมากไอเทมประเภทกล่องปริศนานี้จะต้องเติมเงินทางใดทางหนึ่งเพื่อที่จะซื้อกล่องนี้ในการจะสุ่มเอาไอเทมหายากพิเศษนั้น
https://www.theverge.com/2017/5/2/15517962/china-new-law-dota-league-of-legends-odds-loot-box-random
ซึ่งการ “สุ่ม” เพื่อที่จะได้รับไอเทมหายากในกล่องปริศนานี่ละ คือ ประเด็นที่สำคัญ เพราะผู้เล่นหลายคนต้องการที่จะได้รับไอเทมหายากเหล่านั้น จึงต้องจ่ายเงินจริงเพื่อแลกกับการซื้อกล่องปริศนา เพื่อที่จะสุ่มเอาไอเทมเหล่านั้น
ในงานวิจัย Research Report on Loot Boxes ของ Peter NAESSENS ได้ศึกษาเกี่ยวกับกล่องปริศนาในเกม 4 เกมที่มีชื่อเสียงระดับสากลที่มีการขายกล่องปริศนา เพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับหลักกฎหมายเกี่ยวกับการพนันของประเทศเบลเยียม (Belgian Gaming and Betting Act) และกล่องปริศนา โดยเบลเยียมเป็นประเทศแรก ๆ ในยุโรปที่ตระหนักว่า กล่องปริศนานั้นเป็นการพนันรูปแบบหนึ่งและการแสดงออกของเบลเยียมนี้ได้ทำให้ประเทศอื่น ๆ ในยุโรปและในระดับสากลได้ตระหนึกถึงประเด็นนี้ โดยประเทศอื่น ๆ ได้สำรวจถึงความเป็นไปได้ในการที่จะบัญญัติกฎหมายหรือข้อบังคับในการเข้ามาควบคุมการซื้อกล่องปริศนาในเกมนี้
Peter ได้สรุปในรายงานเขาว่า กล่องปริศนายังคงเป็นปัญหาใหญ่ในเกม เพราะ กล่องปริศนานี้มีองค์ประกอบคล้ายคลึงกับการพนัน โดยกฎหมายในประเทศระดับสากลที่ห้ามไม่ให้มีการพนันนั้นยังคงมองข้ามในประเด็นนี้ โดยมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเล่นเกมเท่านั้น การที่ให้ผู้เล่นสามารถเติมเงินในเกมเพื่อสุ่มเอาไอเทมในเกมได้นั้น Peter มองว่าเป็นการพนันรูปแบบหนึ่งและควรได้รับการควบคุมโดยกฎหรือข้อบังคับอย่างใดอย่างหนึ่ง
ยังมีงานวิจัยอื่นอีกที่กล่าวได้ศึกษาว่า กล่องปริศนานี้ คือ การพนัน หรือ การได้รับไอเทมในเกมกันแน่ งานวิจัย “Is the buying of loot boxes in videogames a form of gambling or gaming?” ของ Mark D. Griffiths - International Gaming Research Unit, Psychology Department ได้ทำการศึกษาเรื่องกล่องปริศนาในเกมต่าง ๆ โดยที่องค์กรที่เกี่ยวกับการจัดเรทอายุที่เหมาะสมในการเล่นเกมของภาคพื้นยุโรป (Pan European Game Information) และ องค์กรที่เกี่ยวกับการจัดเรทอายุที่เหมาะสมในการเล่นเกมภาคพื้นอเมริกา (the Entertainment Software Rating Board)
ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการซื้อกล่องปริศนาว่า “มันไม่ใช่การพนัน เพราะการจะมองว่าเป็นการพนันจะต้องหมายถึงเกมที่สนับสนุนหรือส่งเสริมให้ผู้เล่นใช้เงินจริงเข้ามาพนันเท่านั้น ในขณะที่การซื้อกล่องปริศนา ได้รับประกันว่า กล่องปริศนาที่ผู้เล่นซื้อไปนั้นจะรับประกันได้ว่า ผู้เล่นจะได้ไอเทมแน่นอนจึงไม่ถือว่าเป็นการพนัน” ซึ่ง Mark เชื่อว่า ความคิดแบบนั้นคือสิ่งที่ผิด เพราะ ในปัจจุบันมีหลายเวปไซต์ที่อนุญาติให้ผู้เล่นแลกเปลี่ยนเงินตราในเกมกับเงินจริงในเกมที่มีกล่องปริศนานี้ ซึ่งทำให้เป็นการสนับสนุนให้ผู้เล่นซื้อกล่องปริศนาในรูปแบบของการพนันประเภทหนึ่งอีกด้วย เป็นตัวอย่างของการที่กฎหมาย ไม่เท่าทันเทคโนโลยี เลย
การเปิดกล่องปริศนา นักจิตวิทยา ชื่อ Jamie Madigan เคยให้สัมภาษณ์กับ Eurogamer ว่าการเปิดกล่องปริศนาหรือ การ “สุ่ม” นี่ละ จะกระตุ้นสมองเราให้เกิดความรู้สึกขั้นพื้นฐานที่จะต้อง “ลุ้น” สิ่งที่ออกมาจากกล่องปริศนานั้น ซึ่งเป็นความรู้สึกขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่จะถูกกระตุ้นให้ตื่นเต้นโดยความไม่รู้ หรือ การลุ้นจากการสุ่มกล่องปริศนานี้
จากที่กล่าวไปในบทความนี้จะเห็นว่า กล่องปริศนานั้นเป็นประเด็นที่สำคัญที่ประเทศหลาย ๆ ประเทศควรที่จะตระหนัก รวมถึงบัญญัติข้อบังคับหรือหลักกฎหมายใด ๆ มาเพื่อควบคุมการซื้อหรือวิธีการซื้อหรือวิธีการขายกล่องปริศนา เพราะ กล่องปริศนานี้อาจจะเป็นการพนันในอีกรูปแบบในอนาคตได้
ในประเทศไทยได้มีรูปแบบของเกมที่มีกล่องปริศนาอยู่หลายเกม เช่น เกมในไลน์ส่วนมาก (Line Tsum Tsum/Line Play/Line Ranger) , Fate Grand Order (FGO) เป็นต้น โดยประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่ควบคุมในเรื่องการซื้อกล่องปริศนาอย่างชัดเจน
การที่กล่องปริศนาเป็นประเด็นของโลกแห่งเกมที่เกี่ยวกับกฎหมาย จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจที่จะศึกษาต่อ โดยผู้เขียนได้ไปศึกษากฎหมายหรือข้อบังคับที่ควบคุมการซื้อ วิธีการซื้อ หรือ การขายกล่องปริศนา เพื่อเปรียบเทียบกฎหมายหรือข้อบังคับในประเทศที่มีการตระหนัก
ถึงเรื่องนี้อย่างจริงจัง ให้ดูอย่างชัดเจนว่า ในแต่ละประเทศนั้นมีควบคุมในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง
ประเทศจีน
ในกรณีของประเทศจีน ได้มีการกำหนดข้อบังคับล่าสุดที่มีผลเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2561 โดย MOC (Ministry of Culture) 4 ข้อ ดังนี้
1.1 กล่องปริศนาไม่สามารถซื้อได้โดยเงินจริง
1.2 ไอเทมพิเศษจากกล่องปริศนานั้นจะต้องสามารถหาได้จากวิธีอื่น ๆ เช่น การใช้เงินจริงซื้อของชิ้นนั้น
1.3 ผู้จัดจำหน่ายเกมจะต้องประกาศข้อมูลสำคัญต่าง ๆ ของไอเทมหรือสิ่งของที่อยู่ในกล่องปริศนานั้น รวมถึง อัตราการได้ของไอเทมเหล่านั้นด้วย
1.4 ผลของการสุ่มกล่องปริศนาจะต้องแจ้งให้กับผู้เล่นทราบเป็นเวลาอย่างน้อย 90 วัน
ประเทศเบลเยียม
ในประเทศเบลเยียม Ministry of Justice ได้ออกคำแถลงว่า เกม FIFA 18, Overwatch, CS:GO นั้นผิดกฎหมายและจะเรียกร้องให้ เกมเหล่านี้จะต้องเอากล่องปริศนาออกไปจากตัวเกม ไม่เช่นนั้นจะมีโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี และปรับเป็นเงินสูงสุด 8 แสนยูโร
ทั้งสองประเทศนี้เป็นประเทศที่มีการตั้งข้อบังคับในการจัดการเรื่อง การซื้อ การขายกล่องปริศนาอย่างจริงจังและมีมาตรการที่แต่งตางกันไป โดยจีนเป็นเพียงข้อบังคับ แต่ของเบลเยียมนั้นในแถลงการมีทั้งโทษจำคุกและโทษปรับอย่างจริงจังเป็นบทลงโทษนั้น
โดยมีประเทศอื่น ๆ ก็ให้ความสนใจในประเด็นกฎหมายนี้ เช่น เยอรมันและสวีเดนที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาก่อนที่จะร่างเป็นกฎหมายในปี 2019 นี้
หลังจากที่อ่านบทความนี้ไปแล้ว คุณผู้อ่านคิดว่า กล่องปริศนา(Lootbox/Gacha) นั้นเป็นการพนันหรือไม่ ? แล้วประเทศไทยเราควรมีมาตรการควบคุมในประเด็นดังกล่าวด้วยวิธีการทางกฎหมายอย่างไร มาตรการควบคุมดังกล่าว ผู้เขียนจะนำมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่านเร็ว ๆ นี้ในบทความต่อไป
อ้างอิง
broadbright. (ม.ป.ป.). China Ministry of Culture Released New Regulation on Online Game Operation. เข้าถึงได้จาก http://www.broadbright.com/Documents/2016/Newsletter/(No%205)Broad%20&%20Bright%20Digital%20Games%20and%20Media%20Feature%20Article%E2%80%94China%20Ministry%20of%20Culture%20Released%20New%20Regulation%20on%20Online%20Game%20Operation.pdf
Gaming Commission. (April 2018). Research Report on Loot Boxes. เข้าถึงได้จาก https://www.gamingcommission.be/opencms/export/sites/default/jhksweb_nl/documents/onderzoeksrapport-loot-boxen-Engels-publicatie.pdf
Mark D . Griffiths. (ม.ป.ป.). Is the buying of loot boxes in videogames a form of gambling or gaming? เข้าถึงได้จาก https://core.ac.uk/download/pdf/146458704.pdf
Ministry_of_Justice. (25 April 2018). Statement from Belgium Ministry of Justice. เข้าถึงได้จาก https://www.koengeens.be/news/2018/04/25/loot-boxen-in-drie-videogames-in-strijd-met-kansspelwetgeving





