top of page

"พบ เค้า เจอ" : แค่เพลงเดียว ตอนที่ 1

DS X Pop-culture

Cover_P'Ds3-01.png

“เฮ้ย แก ฟังเพลงนี้กี่ล้านรอบแล้ว ยอดวิวมันทะลุหลักร้อยล้านแล้วเนี่ย เพราะแกคนเดียวคงปาไปสิบล้านวิวแล้วแหละ”

คุณเคยฟังเพลงเพียงแค่เพลงเดียวซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยที่ให้เหตุผลสำคัญกับตัวเอง และผู้อื่นว่า “ก็ชอบ ก็เพลงมันเพราะ ก็เพลงมันสนุก และ ก็เอ็มวีมันสวย” บ้างไหม และเคยสงสัยอีกไหมว่า ทำไมในแอพพลิเคชั่นฟังเพลง มักจะมีตัวเลือกในการ “เล่นเพลงแบบสุ่ม (Shuffle)” “เล่นเพลงวนในโฟลเดอร์ (Repeat folder)” และ “เล่นเพลงเดียว (Repeat 1 song)” แน่นอน หลายคนอาจ “เคย” และ “ไม่เคย” ตั้งคำถามกับปุ่มพวกนี้ เพราะมันถูกออกแบบมาให้ใช้ในชีวิตประจำวันโดยที่เราไม่ได้เฉลียวใจกับความเป็นมาเป็นไปของมันเสียเท่าไรนัก

 

การฟังเพลง เป็นกิจกรรมที่แพร่หลายในสังคม ไม่ว่าจะชนชาติใด ก็ล้วนแล้วแต่มีดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ดนตรีสะท้อนถึงการให้คุณค่าต่อวิถีทางปฏิบัติอันดีงามในสังคม เป็นเสียงที่ขับกล่อมให้เกิดสุนทรีที่ขัดเกลาจิตใจผู้คนให้งดงาม ดังที่เคยได้ยินบทกวีแปลในรัชกาลที่ 6 ที่ว่า “ชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก” ซึ่งมีต้นฉบับจาก William Shakespeare ดังนี้

 

“The man that hath no music in himself, Nor is not moved with concord of sweet sounds, Is fit for treasons,

stratagems, and spoils; The motions of his spirit are dull as night, And his affections dark as Erebus.

Let no such man be trusted. Mark the music.” (Shakespeare, 1596) 

― William Shakespeare, The Merchant of Venice

 

เมื่อพิจารณาแล้ว การฟังเพลงดูจะเป็นกิจกรรมทรงคุณค่า ที่ไม่ได้สร้างผลกระทบเชิงลบเสียเท่าไรนัก แล้วปัญหามันอยู่ตรงไหนกัน?

 

ก่อนจะไปถึงแง่มุมทางสังคมวัฒนธรรม การฟังเพลงซ้ำไปซ้ำมาแค่เพลงเดียว เป็นแง่มุมที่ได้รับการศึกษาและอธิบายเอาไว้อย่างจริงจังจนมิน่าเชื่อว่า เพียงแค่ประเด็นนี้จะกลายเป็นงานศึกษาที่น่าสนใจทั้งทางทฤษฎีดนตรี และทางวิทยาศาสตร์การแพทย์

 

Elizabeth Margulis ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านดนตรี และการรับรู้แห่ง Music Cognition Lab University of Arkansas เขียนหนังสือเรื่อง "On Repeat: How Music Plays the Mind" ซึ่งบทสัมภาษณ์บางช่วงบางตอนของ Elizabeth ทำให้เราได้ทราบว่า “การฟังเพลงซ้ำๆ ของผู้คน เกิดขึ้นจากจินตนาการ และความสามารถในการร้องไปตามท่วงทำนองที่คาดเดาได้ ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงกันระหว่างผู้ฟังกับเพลง จนเส้นแบ่งระหว่างผู้ฟังและเพลงพล่าเลือนไป” กล่าวคือ ผู้ฟังสามารถคาดเดาเนื้อร้องได้ว่าอย่างน้อย ๆ ท่อนต่อไปข้างหน้าคืออะไร ผู้ฟังจะเชื่อมโยงความรู้สึก และประสบการณ์ของตนเองกับเพลง จนกระทั่งผู้ฟังแทบจะแยกความรู้สึกออกจากเพลงไม่ได้เลย ซึ่ง Elizabeth เรียกมันว่า “การมีส่วนร่วมเหนือจริง” (Virtual participation) ปรากฎการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นคล้ายกับเวลาที่ดูภาพยนตร์ หรืออ่านหนังสือซ้ำ ๆ ผู้อ่าน และผู้ชมก็จะสามารถคาดเดาต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้เนื่องจากเคยชมเคยฟังมาก่อนแล้ว นอกจากนั้นการฟังเพลงซ้ำยังขึ้นอยู่กับพื้นภูมิทางดนตรีและบุคลิกภาพของแต่ละคน โดยบางคนอาจจะสนุกกับการฟังเสียงคอรัสในเพลงซ้ำแล้วซ้ำอีก หรือบางคนอาจชื่นชอบเสียงนำในเพลงก็ได้ (Sharp, 2014)

 

นอกจากนี้งานศึกษาทางจิตวิทยาเพลงโดยนักวิจัยจาก University of Michigan ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการฟังเพลงของหญิง-ชายจำนวน 204 คน ช่วงอายุไม่เกิน 40 ปี โดยได้สอบถามถึงเพลงที่ฟังบ่อยที่สุด และความถี่ในการฟังเพลง ซึ่งผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า กว่าร้อยละ 86 ของผู้ตอบแบบสำรวจฟังเพลงที่ชอบยาวนานได้ถึง 1 สัปดาห์เป็นอย่างน้อย และกว่าครึ่งที่ฟังได้ทุกวันโดยไม่อายที่จะเปิดเผยว่า ใน 1 วัน ฟังเพลงเดิมซ้ำกันมากกว่า 4 ครั้ง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ฟังเชื่อมโยงเสียงเพลงเข้ากับความทรงจำ ความรู้สึกสนุกสนาน และความพึงพอใจซึ่งแสดงออกโดยการโยกหัว หรือตบเท้าตาม ดังนั้นการที่ฟังเพลงซ้ำไปซ้ำมาในช่วงเวลาหนึ่งจึงมิใช่เรื่องผิดแปลกอะไร เพราะเพลงได้เชื่อมโยงกับความรู้สึกผู้ฟัง ณ ช่วงเวลานั้น (Guerra, 2018) เมื่อฟังเพลง สมองจะหลั่งสารเคมีบางอย่างในสมองออกมาจำนวนมาก (สารนั้นคือ Dopamine) ซึ่งสารนี้ส่งผลต่อระบบสมองในส่วนที่เป็นการให้รางวัล (Reward system) การฟังเพลงซ้ำ ๆ จึงเป็นเหมือนการทำให้สมองเสพติดสารที่หลั่งออกมานั่นเอง (Lanigan, 2017)

 

ในขณะที่การเปิดเพลงฟังซ้ำไปซ้ำมาได้สร้างการมีส่วนร่วมเหนือจริงให้เกิดขึ้น ซึ่งเชื่อมโยงผู้ฟังเข้ากับเพลงที่ฟัง แต่มีบางกรณีที่ผู้ฟังไม่ต้องการเชื่อมโยงหรือไม่ต้องการได้ยินเสียงเหล่านั้น แต่เสียงเพลงเหล่านั้นกลับติดอยู่ในหูแม้ไม่ได้เปิดเพลงฟัง ทางการแพทย์เรียกอาการเช่นนี้ว่า “โรคเพลงติดหู” (Musical Ear Syndrome: MES) ซึ่งเป็นรูปแบบความผิดปกติทางการได้ยิน ผู้ป่วยจะได้ยินเสียงเพลงแม้ไม่มีเพลงเล่นอยู่จริง เสียงเพลงหรือดนตรีที่ได้ยินรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย เพราะเสียงที่เกิดขึ้นนั้นสมจริงมาก คล้ายกับมีวงดนตรีมาบรรเลง หรือมีนักร้องมาขับกล่อมอยู่ข้าง ๆ หูตลอดเวลา ซึ่งโรคนี้มักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

 

สมมติฐานหนึ่งที่น่าสนใจของอาการเจ็บป่วยเหล่านี้คือ เมื่อบุคคลนั้นอยู่ในโลกของความเงียบนานเกินไป สมองจะสร้างเสียงขึ้นมาจากความทรงจำเพื่อแทนที่ความเงียบเหล่านั้น เสียงที่สร้างขึ้นจะมาจากเสียงที่คุ้นเคยเช่น เสียงเพลง Happy Birthday และเล่นเสียงนั้น ทำนองนั้น ซ้ำไปซ้ำมาในหัวตลอดเวลา อย่างไรก็ตามอาการเหล่านี้ยังไม่มีหนทางรักษา แต่มีแนวทางที่ทำให้ผู้ป่วยสามารถอยู่ร่วมกับเสียงได้ นั่นคือการพยายามไม่ต้องกังวลให้มากนัก และใช้ชีวิตให้สนุกเท่าที่จะทำได้ซึ่งเป็นคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ (BBC, 2012)

 

ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น อาจทำความเข้าใจได้บ้างแล้วถึง คำอธิบาย ที่มีต่อการฟังเพลงซ้ำไปซ้ำมาในมุมวิทยาศาสตร์ ในตอนหน้าเราจะมาทำความเข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างการฟังเพลงเดียวซ้ำไปซ้ำมา กับประเด็นทางสังคมวัฒนธรรมว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร

Keyword: Pop culture, เพลง, ดนตรี, ความรู้สึก

illustration by Sirada Visessiri

 

อ้างอิง

BBC. (2012, December 17). Musical ear syndrome: The woman who constantly hears music. Retrieved from BBC: https://www.bbc.com/news/uk-england-merseyside-20732332

Berbari, G. (2018, May 30). Why Do I Listen To The Same Music All The Time? This New Research Puts It All In Perspective. Retrieved from Elitedaily: https://www.elitedaily.com/p/why-do-i-listen-to-the-same-music-all-the-time-this-new-research-puts-it-all-in-perspective-9328989

Guerra, J. (2018, March 16). Is It Normal To Listen To The Same Song Over & Over? Science Says Go Ahead, Press Repeat. Retrieved from Elitedaily: https://www.elitedaily.com/p/is-it-normal-to-listen-to-the-same-song-over-over-science-says-go-ahead-press-repeat-8509467

Lanigan, R. (2017, November 9). yes, there’s a scientific reason why you keep playing that one song on repeat . Retrieved from i-D: https://i-d.vice.com/en_au/article/kz3pkx/scientific-reason-why-you-play-one-song-on-repeat

Mills, J. (2017, November 1). Man who hears the National Anthem on loop hopes to meet the Queen. Retrieved from METRO: https://metro.co.uk/2017/11/01/man-who-hears-the-national-anthem-on-loop-hopes-to-meet-the-queen-7044529/

Shakespeare, W. (1596). The Merchant of Venice. (R. Jackson, B. A. Mowat, & P. Werstine, Eds.) Washington: Washington Square Press, Inc. Retrieved from https://www.goodreads.com/quotes/135186-the-man-that-hath-no-music-in-himself-nor-is

Sharp, K. (2014, September 25). The Science Behid Why we listen to our favorite Songs on Repeat. Retrieved from MIC: https://mic.com/articles/99744/the-science-behind-why-you-listen-to-your-favorite-songs-obsessively#.TVWi9LZ7H

รณฤทธิ์. (2551, มิถุนายน 2). Theodor Adorno กับ แนวคิดเกี่ยวกับวัฒนธรรมประชานิยม (Popular Culture). Retrieved from Oknation: http://oknation.nationtv.tv/blog/boonyou/2008/06/02/entry-3

สุภางค์ จันทวานิช. (2559). ทฤษฎีสังคมวิทยา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

bottom of page