by Setthaphong Matangka
สังคมไทยจะคุ้นเคยกับคำว่า ‘เกย์’ ที่หมายถึง กลุ่มคนรักเพศเดียวกันแบบชายรักชาย (Gay men) คำว่า ‘เกย์ (Gay)’ ในบริบทสังคมโลก ครอบคลุมกลุ่มคนรักเพศเดียว ทั้งกลุ่มชายรักชาย (Gay men) และกลุ่มหญิงรักหญิง (Gay women) ที่มีเพศวิถีแบบกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน (Homosexuality) ซึ่งครอบคลุมอัตลักษณ์ทางเพศของกลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในตัวอักษร “L”(Lesbian) และ “G” (Gay) ในคำว่า “LGBT: Lesbian Gay Bisexual Transgender” ซึ่งในบทความนี้เราจะเน้นไปที่ ‘นักท่องเที่ยวกลุ่มเกย์’
ปีที่ผ่านมา เรามีโอกาสไปช่วยรุ่นพี่นักวิจัยทำโครงการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวกลุ่มเกย์ เราพบข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการตลาดเฉพาะกลุ่มของนักท่องเที่ยวเกย์ที่มีการจัดอันดับประเทศที่เป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวเกย์มากที่สุด (The Spartacus Gay Travel Index) แล้วประเทศไทยของเราอยู่อันดับที่เท่าไหร่ จะสมกับฉายา “สยามเมืองยิ้ม” ที่เราได้ยินมาตลอดหรือไม่ ? มาร่วมหาคำตอบกัน
การตลาดเฉพาะกลุ่ม: นักท่องเที่ยวเกย์
บริษัท Community Marketing เริ่มทำการวิจัยด้านการตลาดตั้งแต่ปี ค.ศ.1994 และพบประเด็นที่น่าสนใจว่า นักท่องเที่ยวเกย์คือ กลุ่มคนที่ชื่นชอบการเดินทาง และมีรายได้ที่ทำให้สามารถใช้จ่ายได้อย่างอิสระ (Disposable Income) ทำให้ภาครัฐและผู้ประกอบการต่างพยายามหาวิธีในการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดของนักท่องเที่ยวกลุ่มเกย์ เช่น การเข้าร่วมจัดนิทรรศการงาน International Gay & Lesbian World Travel Expo ฯลฯ (โศรยา หอมชื่อ, 2554)
นักท่องเที่ยวกลุ่มเกย์มีทั้งกลุ่มคนที่ชื่นชอบการเที่ยวในเรือสำราญแบบเหมาลำ นักท่องเที่ยวเกย์บางส่วนชอบที่จะเดินทางเป็นกลุ่มเล็ก ๆ โดยการจัดหาผู้ประกอบการนำเที่ยว แต่ส่วนใหญ่จะนิยมเดินทางคนเดียวหรือกับเพื่อน และเน้นการมองหาสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับชาวเกย์ (Gay-friendly)
ผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของสถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก หรือร้านอาหารจึงพยายามที่จะทำให้ธุรกิจของตนเองมีคุณสมบัติที่เป็นมิตรกับนักท่อวเที่ยวเกย์ ซึ่งเครื่องมือที่ช่วยยืนยันคือ การถูกจัดอยู่ในโฆษณาคู่มือการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวกลุ่มเกย์อย่าง Spartacus
The Spartacus Gay Travel Index
‘SPARTACUS’ คือ ผู้จัดพิมพ์คู่มือการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวเกย์ มีสำนักงานอยู่ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เมื่อปี ค.ศ.2012 Spartacus ได้เริ่มจัดทำ “The Spartacus Gay Travel Index” หรือการจัดอันดับประเทศที่เป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวเกย์มากที่สุด
ในแต่ละปี Spartacus จะทำการสำรวจประเทศไทยต่าง ๆ ทั่วโลกกว่า 197 ประเทศ จุดประสงค์หลักของการจัดทำตัวชี้วัดคือ เพื่อสนับสนุนให้เกิดความปลอดภัยต่อนักท่องเที่ยวเกย์ทั่วโลก เพราะต้องยอมรับยังมีอีกหลายประเทศที่นักท่องเที่ยวเกย์ยังคงรู้สึกไม่ปลอดภัย
ภาพที่ 1 ตัวชี้วัดของ Spartacus Gay Travel Index
การจัดทำดัชนีชี้วัดจะมีการกำหนดแยกเป็น 3 หมวดหมู่ โดยแต่ละตัวแปรจะมีคะแนนสูงสุดอยู่ที่ 3 คะแนน สำหรับคะแนนต่ำสุด ในแต่ละตัวแปรไม่เท่ากัน ในบางตัวแปรมีประเทศที่ได้คะแนนติดลบเนื่องจากแสดงออกถึงความไม่เป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวเกย์ ในบางตัวแปรคะแนนต่ำสุดอยู่ที่ 0 อาทิ LGBT Marketing, Anti-discrimination ฯลฯ ได้แก่
สิทธิพลเมือง ประกอบด้วย (1) กฎหมายว่าด้วยความเสมอภาคและการไม่เลือกปฏิบัติ (2) กฎหมายว่าด้วยการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน (3) กฎหมายการรับบุตรบุญธรรม (4) สิทธิของคนข้ามเพศ (5) คนที่เกิดมามีอวัยวะทั้งเพศชายและเพศหญิง (เพศกำกวน) (6) การอนุญาตให้มีเพศสัมพันธ์ตามที่กฎหมายประเทศนั้น ๆ กำหนด (7) การบำบัดคนรักเพศเดียวกัน และ (8) กลยุทธ์การตลาดเจาะตลาดนักท่องเที่ยวเกย์
การเลือกปฏิบัติต่อนักท่องเที่ยว ประกอบด้วย (1) ความเป็นมิตรของคนในพื้นที่ (2) ข้อจำกัดการเดินทางสำหรับผู้ติดเชื้อ HIV (3) กฎหมายต่อต้านเกย์ (4) กฎหมายการห้ามเป็นคนรักเพศเดียวกัน (5) การห้ามขบวนพาเหรดหรือการประท้วงของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ และ (6) ความไม่เป็นมิตรของคนท้องถิ่นต่อนักท่องเที่ยวเกย์
การถูกคุกคาม ประกอบด้วย (1) โทษประหารชีวิต (2) อาชญากรรม และ (3) การประหาชีวิตคนรักเพศเดียวกัน
ภาพที่ 2 การจัดอันดับประเทศที่เป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวเกย์มากที่สุดในปี ค.ศ.2019
การจัดอันดับประเทศที่เป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวเกย์มากที่สุดในปี ค.ศ.2020 พบว่า ประเทศแคนนาดา และสวีเดน ยังคงสามารถรักษาตำแหน่งประเทศท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวเกย์มากที่สุด ส่วนโปรตุเกส ตกไปอยู่ในกลุ่มอันดับที่ 10 ประเทศที่ขึ้นมาแทนโปรตุเกสคือ ‘สาธารณรัฐมอลตา’ จากที่ปีก่อนอยู่ในกลุ่มอันดับที่ 4
การเพิ่มความหลากหลายของตัวชี้วัดในการประเมินผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการจัดอันดับในปีนี้ ประเทศที่น่าจับตามองคือ ‘สหรัฐอเมริกา’ ที่ขยับขึ้นมาอยู่ในกลุ่มอันดับที่ 31 จากปีก่อนที่อยู่อันดับ 47 เหตุผลมาจากการที่สหรัฐอเมริกาให้ข้อมูลรายละเอียดแก่นักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น
‘ไต้หวัน’ ทำผลงานได้น่าประทับใจอย่างมากในฐานะประเทศแรกของเอเชียที่มีกฎหมายการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกัน ทำให้ขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 23 จากอันดับที่ 41 ในปีก่อนหน้า
ภาพที่ 3 เปรียบเทียบอันดับประเทศไทยใน Spartacus Gay Travel Index ระหว่างปี 2018 – 2020
ทางฝั่งของประเทศไทย ผลการจัดอันดับในปีล่าสุดอยู่ในอันดับที่ 41 ร่วม ขยับขึ้นมาเพียง 6 อันดับ ต่างจากในปี ค.ศ.2019 ที่ขยับขึ้นมา 20 อันดับ จากในปี ค.ศ.2018 ซึ่งในช่วงเวลานั้น ประเทศไทยเริ่มมีการหารือเกี่ยวกับการออกกฎหมายว่าด้วยการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน
ถ้าลองสังเกตคะแนนในหมวดหมู่สิทธิพลเมืองในส่วน Mariage / Civil Partnership จะเห็นได้ว่าในปี ค.ศ.2019 เราเพิ่มขึ้นมา 1 คะแนน แต่ปีล่าสุด คะแนนเราเท่าเดิม ซึ่งเคยมีการคาดการณ์ว่า ถ้าหากกฎหมายดังกล่าวประกาศใช้จะยิ่งทำให้ประเทศไทยกลายเป็นหมุดหมายการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อนักท่องเที่ยวเกย์มากที่สุดในเอเชียเหมือนกับที่กำลังเกิดกับประเทศไต้หวัน แต่จนถึงปัจจุบัน สังคมไทยยังคงมีข้อถกเถียงเรื่องการแต่งงานของคนเพศเดียวกันอย่างที่ทุกคนเห็น ทั้ง ๆ ที่สิทธิในการแต่งงานไม่ควรถูกแบ่งแยกเพียงเพราะเรามีรสนิยมทางเพศที่แตกต่างกัน
“สยามเมืองยิ้ม” อาจเป็นคำที่ฟังดูแล้วให้ความรู้สึกว่าประเทศไทยพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างเป็นมิตรอยู่เสมอ แต่จากตัวชี้วัด Spartacus Gay Travel Index สะท้อนให้เห็นว่าประเทศยังขาดการพัฒนาในหลาย ๆ ด้าน เช่น ความเป็นมิตรของคนในพื้นที่ สิทธิของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศที่ยังมีคะแนนติดลบ ดังนั้นภาครัฐควรมีการสนับสนุนในเรื่องการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวเกย์อย่างจริงจัง
คำถามคือ “เราพร้อมแล้วหรือยัง ?”
อ้างอิง
Spartacus. (2019). SPARTACUS Gay Travel Index 2019. Retrieved from
https://spartacus.gayguide.travel/blog/gay-travel-index-2019/?fbclid=IwAR1ocaXUzcKwu2ff-_t77h7Y4-WRqCADfOzEW-NM-NnOj2pw9BnCNhc3ABc
Spartacus. (2019). SPARTACUS GAY TRAVEL INDEX (GTI). Retrieved from
https://spartacus.gayguide.travel/blog/spartacus-gay-travel-index/
Redaktion. (2018). 1st place for Canada and Sweden. Retrieved from
https://spartacus.gayguide.travel/blog/spartacus-gay-travel-index-2018/
Karl & Daan. (2018). Spartacus Gay Travel Index 2018. Retrieved from
https://coupleofmen.com/7819-spartacus-gay-travel-index-2018/
IGLTA. (2019). About IGLTA. Retrieved from
https://www.iglta.org/About-IGLTA
EDGE Media. (2019). Madrid to Host 2014 IGLTA Annual Global Convention. Retrieved from
https://www.edgemedianetwork.com/index.php?ch=travel&sc=&sc3=&id=125869&pf=1
Illustration by Arnon Chundhitisakul
Comentários