top of page
  • Writer's pictureTSIS

สถานการณ์ของทหารเกณฑ์เกย์และตุ๊ดในกองทัพไทย

ภัยคุกคามและการเอาตัวรอดในค่ายทหารกับระบบที่มองคนไม่เท่ากัน


by Teerawit Sinturos

คำนิยามศัพท์
ทหารเกณฑ์เกย์ = พลทหารผู้มีอัตลักษณ์ทางเพศเกย์ (Gay) และมีการแสดงออกทางเพศแบบชาย (Masculine expression)
ทหารเกณฑ์ตุ๊ด = พลทหารผู้มีอัตลักษณ์ทางเพศเกย์ (Gay) และมีการแสดงออกทางเพศผู้หญิง (Feminine expression)
“เข้าไปเป็นดาวแน่” “กลางคืนไม่ได้นอนแน่นอน” “มีผัวจุก ๆ” “ดาวกองร้อยคนต่อไป”

คอมเมนต์ต่าง ๆ เหล่านี้ปรากฏให้เห็นได้ง่ายเพียงเลื่อนนิ้วอ่านดูเกี่ยวกับข่าวการเกณฑ์ทหารของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือการขอคำปรึกษาจากผู้มีประสบการณ์เกี่ยวกับการเข้ารับการเกณฑ์ทหารตามบอร์ดนางงาม เป็นข้อความที่เราอ่านทีไรก็คิ้วขมวดทุกที แล้วตั้งคำถามขึ้นมาว่า การหาคู่นอนจำเป็นต้องหาในค่ายทหารไหม ? อยู่นอกค่ายทหารในฐานะประชาชนทั่วไปก็หาผัวได้ไม่ใช่หรือ? หรืออีกนัยการพูดเชิงขำขันข้างต้นที่ฉันไม่ขำเท่าไหร่นัก มันคือหนึ่งในข้อดีในการเป็นทหารเกณฑ์ของตุ๊ดและเกย์กันแน่..


ชายไทยที่มีอายุ 21 ปีขึ้นไปต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารตาม พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ.2497 ผ่านมาเกือบร้อยปีกฎหมายนี้ก็ยังเหมือนเดิม ทุกเดือนเมษายนของทุกปีจะเริ่มสายพานของการคัดเลือกพลทหารหน้าใหม่ที่เกิดมามีเพศกำเนิดชายและร่างกายสมบูรณ์เข้ารับราชการทหาร โดยปีนี้ถูกเลื่อนมาจัดการเกณฑ์ทหารในปลายเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม 2563 เพราะสาเหตุจากโควิด-19 แต่ก็ไม่ทำให้กองทัพไทยย่อท้อ การเกณฑ์ทหารจำเป็นต้องมีต่อไป และจำนวนพลทหารที่กองทัพไทยต้องการปี 2563 คือ 97,324 คน (กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, 2563) ซึ่งน้อยลงกว่าปีที่แล้ว แต่ยังเป็นจำนวนที่มากในประเทศที่ไม่ได้มีสงครามอะไรกับใครเขา อย่างประเทศไทย


เพศกำเนิดชายทุกคนต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร แต่มีข้อยกเว้นสำหรับกลุ่มผู้หญิงข้ามเพศ (Transgender) สามารถขอใบรับรองแพทย์เพื่อได้รับการยกเว้นในการรับราชการด้วยเหตุผล “เพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด”(Gender Identity Disorder) แต่โปรดอย่าดีใจว่ากองทัพไทยเขาโอบรับความหลากหลายทางเพศขนาดนั้น เพราะลำดับความสำคัญหลักในการเลือกคนเข้ารับราชการทหารของกองทัพคือ ความแข็งแรงและความสมบูรณ์ของร่างกาย


การถูกระบุว่าเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด หมายถึง เราคือคนที่ไม่สมบูรณ์และไม่เป็นที่ต้องการกับกองทัพ แถมขั้นตอนในการได้รับใบรับรองแพทย์ ยังต้องให้แพทย์มายืนยันความเป็นตัวตนของเรา ทั้งที่เรื่องของจิตใจและตัวเรา มันไม่ควรให้ใครมายุ่มย่ามหรือตีตราว่าเราเป็นเพศอะไรด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม ถึงกองทัพจะมีช่องโหว่ของความไม่เท่าเทียมและไม่เป็นมิตรต่อกลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศอยู่มาก แต่ข้อยกเว้นดังกล่าวทำให้กะเทยหรือ “T” ที่ย่อมากจาก “Trans” ในตัวอักษรของคำว่า LGBT ไม่ต้องเข้ารับราชการทหาร แต่ตัว “G” หรือ “Gay” ยังต้องเข้ารับการคัดเลือกสู่รั้วทหารอย่างที่ไม่สามารถเลี่ยงได้และไม่ได้รับข้อยกเว้นด้วยเหตุผลใด ๆ ทั้งสิ้น


ค่ายทหารเป็นสวรรค์ของทหารเกณฑ์เกย์ ทหารเกณฑ์ตุ๊ดจริงหรือไม่ ?


จากการศึกษาวิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต ภาควิชา Gender and Development studies จาก Asian Institute of Technology หัวข้อ “Situation of Tut and Gay Conscripts in the Thai Military” (Teerawit Sinturos, 2018) โดยทำการศึกษาเกี่ยวกับ

  1. สถานการณ์ทหารเกณฑ์ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศเกย์ในค่ายทหาร และการถูกปฏิบัติในค่ายทหาร

  2. ผลกระทบจากการถูกปฏิบัติในค่ายทหารต่อทหารเกณฑ์ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศเกย์

  3. การรับมือผลกระทบจากการถูกปฏิบัติในค่ายทหารของทหารเกณฑ์ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศเกย์ และการเอาตัวรอดในการใช้ชีวิตในค่ายทหารของทหารเกณฑ์ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศเกย์

โดยทำการศึกษาในรูปแบบงานวิจัยเชิงคุณภาพ ดำเนินการสัมภาษณ์เชิงลึก 3 กลุ่มผู้ให้ข้อมูลสำคัญ ได้แก่

  1. ผู้บริหารระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับระบบคัดเลือกเกณฑ์ทหารของกลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ

  2. ผู้ผึกประจำค่ายทหารแห่งหนึ่งในประเทศไทย เกี่ยวกับสถานการณ์ในค่ายทหารและการปฏิบัติของผู้ฝึกต่อของทหารเกณฑ์ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศเกย์

  3. องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ทำงานด้านความเท่าเทียมทางเพศ ในประเด็นการเกณฑ์ทหารของกลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ

อีกทั้งยังดำเนินการสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มทหารเกณฑ์ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศเกย์ (Gay) รวบรวมข้อมูล กลุ่มเกย์ที่มีการแสดงออกทางเพศแบบชาย (Masculine expression) และกลุ่มเกย์การแสดงออกทางเพศแบบผู้หญิง (Feminine expression) หรือเกย์ออกสาว ที่ผ่านการเกณฑ์ทหารมาแล้ว จำนวน 15 คน โดยเน้นการศึกษาในสิ่งที่ทหารเกณฑ์กลุ่มเกย์พบเจอ แต่ทหารเกณฑ์เพศชายทั่วไปไม่พบเจอในค่ายทหารเท่านั้น โดยผู้ศึกษาตั้งสมมุติฐานว่าการแสดงออกทางเพศอาจส่งผลต่อการถูกเลือกปฏิบัติในค่ายทหาร


จากการศึกษาพบว่า ทหารเกณฑ์ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศเกย์ จำนวน 15 คนในค่ายทหาร ตัดสินใจเปิดเผยเพศสภาพตนเอง (Coming out) ในค่ายทหารจำนวน 12 คน และปกปิดเพศสภาพตนเอง (Closeted) ในค่ายทหารจำนวน 3 คน


และจากทหารเกณฑ์ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศเกย์ จำนวน 15 คน มีทหารเกณฑ์เกย์ที่มีการแสดงออกทางเพศแบบผู้หญิง (Feminine expression) จำนวน 11 คน และคน มีทหารเกณฑ์เกย์ที่มีการแสดงออกทางเพศแบบผู้ชาย (Masculine expression) จำนวน 4 คน


ดังนั้น การเปิดเผยเพศสภาพตนเองในค่ายทหารว่าเป็นกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน (Homosexuality) คือปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการถูกปฎิบัติในค่ายทหาร ไม่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางเพศ (Gender Expression) ออกสาวหรือแมน หากพลทหารเปิดเผยตัวตนว่าเป็นชายรักชายในค่ายทหาร ก็จะได้รับปฏิบัติที่แตกต่างจากทหารเกณฑ์คนอื่นด้วยปัจจัยทางเพศทั้งสิ้น

รูปที่ 1 แผนภาพแสดงอัตลักษณ์ทางเพศ การเปิดเผยเพศสภาพ

และการแสดงออกทางเพศ ของกลุ่มเป้าหมาย 15 คนในค่ายทหาร (Teerawit Sinturos, 2018)


ในทางตรงกันข้าม ทหารเกณฑ์เกย์คนไหนปกปิดเพศสภาพตนเองในค่ายทหาร จะไม่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุทางเพศ และได้รับการปฏิบัติเหมือนกับทหารเกณฑ์เพศชายทั่วไปในค่ายทหาร แต่การปกปิดเพศสภาพตนเองนั้น ส่งผลกระทบให้ทหารเกณฑ์เกย์กลุ่มนี้พยายามปกปิดเพศสภาพตนเองให้ได้มากที่สุดตลอดระยะเวลาฝึก มีความรู้สึกอึดอัด กดดัน หวาดกลัวอยู่ทุกวินาทีที่อยู่ในค่ายทหาร และทุกครั้งที่เห็นทหารเกณฑ์เกย์ถูกทำโทษหรือกลั้นแกล้งจะรู้สึกกลัว ระแวงว่าสักวันนึงจะมีคนรู้ความลับที่ตนปกปิดไว้ แล้วจะโดนกระทำเหมือนที่กลุ่มที่เปิดเผยเพศสภาพตนเองในค่ายทหารพบเจอ


สถานการณ์ของทหารเกณฑ์ที่เปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศในค่ายทหาร


การเรียกอัตลักษณ์ทางเพศแทนชื่อบุคคล


ทหารเกณฑ์เกย์ที่เปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองในค่ายทหาร จะถูกเรียกว่า “กะเทย” “เจ๊” และ “ตุ๊ด” โดยขาดความเข้าใจเรื่องประเด็นทางเพศสภาพ และไม่ได้ถามถึงความยินยอมสมัครใจในการถูกแปะป้ายด้วยคำพูดของอัตลักษณ์ทางเพศของตัวบุคคล เป็นการกระทำที่ขาดความตระหนักถึงความอ่อนไหวในประเด็นทางเพศ (Gender sensitivity) โดยสิ้นเชิง


ถึงแม้ว่าการถูกเรียกว่า “เจ๊” ที่มีความหมายแปลว่าพี่สาว อาจดูเหมือนไม่ใช่คำที่ทำร้ายหรือกดทับใคร แต่จากการสัมภาษณ์เชิงลึก ทหารเกณฑ์เกย์หลายคน อยากถูกเรียกด้วยชื่อของตนเอง มากกว่าอัตลักษณ์ทางเพศหรือคำเหล่านี้ พวกเขาอยากได้รับการปฏิบัติเหมือนที่ทหารเกณฑ์ชายคนอื่นถูกเรียกชื่อในค่ายทหาร


Insight


การถูกบังคับให้เป็นคนสร้างสีสันในค่ายทหาร (Entertainer)


ทหารเกณฑ์เกย์ที่เปิดเผยเพศสภาพตนเอง (Coming out) จะถูกคาดหวังจากผู้ฝึกและเพื่อนทหารเกณฑ์ให้เป็นคนสร้างสีสันในค่ายทหาร (Entertainer) ในช่วงเวลาพัก กลุ่มเจ๊ จะถูกเรียกออกมาทำการแสดง เต้น สันทนาการ เพื่อสร้างเสียงหัวเราะ และผ่อนคลายระหว่างช่วงการฝึก กลุ่มเป้าหมายหลายคนชอบเต้นและถนัดเรื่องการเต้น แต่ไม่ได้อยากเต้นในค่ายทหาร และไม่ได้อยากเต้นในช่วงเวลาที่ออกไปเต้น การเต้นเป็นสิ่งที่พวกเขาทำได้ แต่ในช่วงเวลาที่ถูกเรียกออกไป เขาไม่อยากทำ และเขาไม่สามารถปฏิเสธคำสั่งของผู้ฝึกได้ เป็นการฝืนใจกระทำไปซะทุกครั้ง


กลุ่มเป้าหมายหลายคนใช้คำว่า “ตัวตลกในค่ายทหาร” พวกเขาถูกบังคับให้แต่งหญิงในรูปแบบตลก ทาปากเลอะ ๆ เพียงแค่ปรากฏกายในที่สาธารณะ ก็ได้รับเสียงหัวเราะ เพียงเพราะภาพจำของผู้ฝึกเหล่านั้นที่ยึดติดว่า กะเทย เกย์ ต้องชอบการแสดง เป็นการผลิตซ้ำทางเพศที่ผู้ฝึกมีต่อทหารเกณฑ์เกย์ และพวกเขาต้องกระทำโดยไม่มีทางเลือก


การถูกลงโทษด้วยเหตุทางเพศ


ทหารเกณฑ์หลายคนที่เปิดเผยเพศสภาพตนเองในค่ายทหาร ถูกลงโทษ เพียงเพราะมีการแสดงออกทางเพศแบบผู้หญิง กลุ่มเป้าหมายหลายคนถูกตบหน้าลงโทษ เพียงพูด คะ/ค่ะ ในค่ายทหาร และตั้งคำถามกับหางเสียงว่าทำไมไม่พูด “ครับ” ให้ตรงตามเพศกำเนิด และหนึ่งคนจาก 15 คน ถูกบังคับให้ปีนต้นไม้และส่งเสียงคล้ายชะนีว่า “ผัว” เพียงเพราะวิ่งเข้าแถวช้ากว่าเพื่อน และเขามั่นใจอย่างหนักแน่นว่ารูปแบบการลงโทษให้ร้องหาผัวบนต้นไม้ที่เขาถูกกระทำ เป็นเพราะเขาเปิดเผยเพศสภาพว่าเป็นเกย์ในค่ายทหาร


หลายคนถูกใช้เป็นเครื่องมือในการลงโทษเพื่อนทหารเกณฑ์ชาย กลุ่มเป้าหมายถูกเรียกให้ไปเต้นคลอดเคลียทหารเกณฑ์ผู้ชายในที่สาธารณะ เพราะทหารเกณฑ์คนนั้นทำผิด ถูกบังคับให้กักขังอยู่ในห้องน้ำสองต่อสองกับทหารเกณฑ์ชาย แล้วเปล่งเสียงครางเหมือนมีเพศสัมพันธ์ เพียงเพราะต้องการลงโทษทหารเกณฑ์เพศชายอีกคน แสดงให้เห็นชุดความคิดของทหารว่า การมีเพศสัมพันธ์หรือการอยู่ใกล้เพศหลากหลายเป็นสิ่งที่ผิดแปลก เป็นอื่น ถูกผลักให้เป็นเครื่องมือในการลงโทษเพศชายด้วยกันเอง


การคุกคามทางเพศในค่ายทหาร


ส่วนมากมาจากการปฏิบัติจากผู้ที่มียศสูงกว่าพลทหาร ผ่านการใช้อำนาจในทางมิชอบ การคุกคามเพื่อนพลทหารด้วยกันมีบ้าง แต่กลุ่มเป้าหมายสามารถปฏิเสธเพื่อนกันเองได้ เพราะยศเท่ากัน แต่หากเป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชา พวกเขาต้องทำตามโดยไม่มีข้อแม้ การคุกคามทางเพศในค่ายทหารแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้

  1. การคุกคามทางเพศผ่านท่าทาง การเชิญชวนให้มองอวัยวะเพศระหว่างฉี่ ควักอวัยวะเพศออกมาให้ดู ให้มอง ทำมือสาวเหมือนชักว่าว การทำท่าเหมือน oral sex เชิญชวนให้ทหารเกณฑ์เกย์กระทำให้ การถูกบังคับให้นวดตรงต้นขาของบุคคลในค่ายทหารที่มียศสูงกว่า บังคับนวดจุดเดิมซ้ำ ๆ เป็นการกระทำที่ทำให้กลุ่มเป้าหมายรู้สึกอึดอัดใจ และไม่ได้รับการยินยอม

  2. การคุกคามทางเพศทางวาจา การถูกตั้งคำถามถึงอัตลักษณ์ทางเพศ ทำไมถึงเป็นกะเทย ทำไมเป็นตุ๊ด ถามประสบการณ์ทางเพศ อยากมีเพศสัมพันธ์กับใครในค่ายทหาร? อยากอมอวัยวะเพศใคร? มีเพศสัมพันธ์กับใครมาแล้วบ้าง? ถูกถามข้อมูลส่วนตัวเกี่ยวกับรสนิยมทางเพศโดยขาดความยินยอมในที่สาธารณะ การเชิญชวนให้ไปมีเพศสัมพันธ์ในยามวิกาล

  3. การคุกคามทางเพศทางการปฏิบัติ ถูกจับก้น จับนม จับอวัยวะเพศ ลามไปถึงการถูกบังคับให้ oral sex ในค่ายทหารโดยขาดการยินยอม

และจากทหารเกณฑ์ 15 คนในค่ายทหาร ทหารเกณฑ์เกย์ 3 คนถูกข่มขืนในค่ายทหารโดยปราศจากความยินยอม ทั้งรูปแบบการบังคับให้ oral sex จนไปถึงการสอดใส่อวัยวะเพศ และ 1 ใน 3 คนที่ถูกข่มขืนในค่ายทหาร ถูกข่มขืนจากรุ่นพี่ทหารเกณฑ์ 6 คนในคืนเดียว โดยปราศจากการใช้ถุงยางอนามัยและเจลหล่อลื่น จนเกิดแผลที่บริเวณรูทวาร เลือดออก และเสี่ยงติดโรคทางเพศสัมพันธ์สูง


ผลกระทบจากการถูกปฏิบัติในค่ายทหารของทหารเกณฑ์ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศเกย์

  1. ความเศร้าในการที่ไม่ได้เป็นตัวเอง การไม่ได้รับการยอมรับในสังคม ไม่คุ้นชินกับสังคมชายเป็นใหญ่ที่มีกรอบอำนาจนิยมกดดทับอีกรอบ

  2. ความเครียด ความกังวล กลัวว่าจะถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุทางเพศ เป็นทหารเกณฑ์มีโอกาสสูงที่จะถูกสั่งซ่อมโดยไม่มีเหตุผล แล้วยิ่งเป็นทหารเกณฑ์เกย์อาจถูกสั่งลงโทษด้วยเหตุทางเพศมากขึ้น นอนไม่หลับกลางดึก กลัวถูกคุกคามทางเพศแล้วไม่มีคนช่วย

  3. ความคิดอยากฆ่าตัวตาย หลายคนตั้งคำถามกับการมีอยู่ของชีวิต หลังจากถูกคุกคามทางเพศ เขารู้สึกเหมือนตัวเองไม่ใช่คน เสียงถูกทำให้ไม่ได้ยิน แล้วยังถูกย่ำยี่ในร่างกายผ่านการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ยินยอม ไม่อยากพูดกับใคร เก็บตัว รู้สึกเหมือนพึ่งกลับจากสงคราม สูญเสียการเป็นตนเอง และไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อ

ส่วนทหารเกณฑ์เกย์ที่ไม่เปิดเผยเพศสภาพตนเองก็มีความเครียด แต่เป็นความเครียดและกังวลว่าความลับที่ตนเองจะปิดไว้ จะถูกเปิดเผยเข้าสักวัน และจะถูกกระทำเหมือนที่เพื่อนทหารเกณฑ์เกย์ที่เปิดเผยเพศสภาพตนเอง ไม่มีความสุขแม้แต่วันเดียวที่อยู่ในค่ายทหาร


การเอาตัวรอดในค่ายทหารของทหารเกณฑ์เกย์และตุ๊ดในค่ายทหาร


1) การรับมือโดยตนเอง

  • การเปลี่ยนความคิดตนเอง ในสถานการณ์ที่ถูกทำให้ไม่มีเสียง ไม่มีสิทธิในร่างกายตนเอง ความเจ็บปวดแต่จริงคือเราไม่สามารถเปลี่ยนความคิดใครได้ เลยปรับเปลี่ยนความคิดตนเอง ให้กำลังใจตนเองให้ผ่านพ้นไปในแต่ละวัน หากจมอยู่กับความคิดที่จะเอาชนะระบบทั้งระบบ อาจตายก่อนที่จะเกิดวันนั้น คิดแค่ผ่านไปแต่ละวันให้ได้ไปจนถึงหมดการฝึกก็พอ

  • การปลดปล่อยความรู้สึกภายในผ่านการกระทำกิจกรรมต่าง ๆ หลายคนร้องไห้เพื่อให้ได้ปลดปล่อยความเครียดที่อยู่ในใจ

  • เต้นในห้องน้ำ พื้นที่ส่วนตัวที่มีในค่ายทหารคือห้องน้ำเล็ก ๆ แต่เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย การได้เต้นในห้องน้ำเป็นการปลดปล่อยความเครียดทุกสิ่งที่มีอยู่ในใจ และช่วยทำให้การใช้ชีวิตนแต่ละวันผ่านไปได้เร็วขึ้น

  • เขียนไดอารี่บอกเล่าความรู้สึกตนเอง ปลดปล่อยความเศร้าที่มีอยู่ในใจ และเขียนบอกเล่าทุกเรื่องราวที่พบเจอกับตัวเอง อย่างน้อยในช่วงยามที่ไม่มีใคร แต่ยังมีตัวเองที่เข้าใจเรามากที่สุด

  • แต่งหญิงเล่นในห้องนอนตอนได้กลับบ้าน การอยู่ในสังคมทหารตอบตัวเองได้ชัดเจนว่า เขาไม่ได้เกิดมาเป็นผู้ชายโดยแท้จริง พอได้กลับบ้าน จึงแต่งหญิง ใส่ส้นสูง เดินเล่นในห้องนอน และพบว่านั่นคือความสุขที่จับต้องได้ภายในช่วงระยะเวลา 1 ปีที่ถูกการเกณฑ์ทหารขโมยไป

2) การรับมือโดยได้รับความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง

  • เครือข่าย (Connection) หลังจากการถูกคุกคามทางเพศ กลุ่มเป้าหมาย 1 คนร้องขอความช่วยเหลือจากครอบครัวตนเอง จนได้รับการช่วยเหลือให้ย้ายออกจากสถานที่อันตรายและเสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางเพศ ให้ไปทำงานอยู่ที่หน่วยอื่นแทน

  • เพื่อนทหารเกณฑ์ที่เปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศตนเอง กลุ่มเป้าหมายกล่าวว่า “กะเทยตาย กะเทยเผา มีอยู่จริง” การรวมตัวกันของกลุ่มทหารเกณฑ์ตุ๊ด ทำให้พวกเขาผ่านเรื่องที่พบเจอกันไปได้ เพราะทุกคนจะเข้าใจสถานการณ์ที่พบเจอ ผลัดกันให้กำลังใจกันและกัน รู้สึกไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวในค่ายทหาร

  • รุ่นพี่ทหารที่เปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศตนเอง พอตนเองได้เป็นรุ่นพี่ทหาร ก็จะคอยมาดูแลน้องทหารเกณฑ์ที่เป็นตุ๊ดในการฝึก พยายามบอกเพื่อนให้ไม่แกล้งน้อง หากใครจงใจแกล้งน้องก็จะพยายามให้ความช่วยเหลือตลอด

อะไรคือปัจจัยที่ทำให้ทหารเกณฑ์เกย์ถูกปฏิบัติแตกต่างจากพลทหารอื่น ?


จากการเก็บข้อมูล ผู้วิจัยทำการวิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้ทหารเกณฑ์เกย์ถูกปฏิบัติแตกต่างจากพลทหารอื่นแบ่งออกเป็น 3 ข้อ ดังนี้


1) การขาดความรู้และความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศในค่ายทหาร


การขาดความรู้และความเข้าใจเกี่ยวความหลากหลายทางเพศในตัวเพื่อนทหารเกณฑ์ รวมไปถึงรุ่นพี่ทหารเกณฑ์ ผู้ฝึกประจำค่ายทหาร และการไม่เห็นความสำคัญของความหลากหลายทางเพศในค่ายทหารของกองทัพไทย ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุทางเพศ พลทหารหลายคนไม่เข้าใจความแตกต่างของเพศกำเนิด (Sex at birth) อัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity) รสนิยมทางเพศ (Sexual Orientation) การแสดงออกทางเพศ (Gender expression) อะไรที่แตกต่างจากเพศกระแสหลัก (Mainstreaming gender) หรือแตกต่างจากสิ่งที่ตนเองเป็นจะไม่ได้รับการยอมรับอย่างเท่าเทียม และถูกทำให้เป็นอื่น


ตัวอย่างเชิงประจักษ์ในการสนับสนุนแนวความคิดนี้คือ หากใครเปิดเผยตนเองว่าเป็นกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน (homosexuality) ในค่ายทหาร คนกลุ่มนั้นจะถูกเรียกว่า “กะเทย” และกะเทยต้องเต้นเก่ง ต้องอยากมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายทุกคน ต้องเป็นคนสร้างเสียงหัวเราะ เป็นต้น ทั้งที่คำว่ากะเทย คือ ผู้หญิงข้ามเพศ (Transgender) ซึ่งหากใครเป็นกะเทย และมีการรับรองจากโรงพยาบาลทหารว่าเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด จะได้รับการยกเว้นการเกณฑ์ทหารตั้งแต่ขั้นตอนการเกณฑ์ทหารแล้ว แต่บุคลากรในค่ายทหารขาดโอกาสในการรับรู้เข้าใจและเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศอย่างลึกซึ้ง


โดยหลายการกระทำเกิดขึ้นโดยไม่เจตนา อาทิ การเรียกเพศสภาพของบุคคลแทนการเรียกชื่อ ผู้ฝึกท่านหนึ่งบอกว่าเป็นการให้ความสนิทสนมกับทหารเกณฑ์ ทั้งที่การเรียกเพศสภาพของบุคคลโดยขาดการคำนึงถึงประเด็นความอ่อนไหวทางเพศ (Gender sensitivity) เป็นสิ่งที่สังคมในปัจจุบันกำลังเคลื่อนไหวให้เป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข แต่ถูกมองเป็นการกระทำที่ดีต่อทหารเกณฑ์กลุ่มเกย์


2) การผลิตซ้ำด้วยเหตุทางเพศ


ด้วยประสบการณ์ตนเองที่พบเจอ และสื่อสาธารณะที่ส่งผลโดยตรงต่อชุดความคิดของทหาร ความจริงในสังคมไทยคือ ทหารเกณฑ์หลายคนไม่มีโอกาสได้พบเจอสังคมที่เปิดกว้าง ไม่เคยพบเจอบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศมากนัก หลายคนพึ่งเคยได้ทำความรู้จักกับกลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศในค่ายทหาร เลยใช้ภาพจำจากสื่อและประสบการณ์ที่พบเจอมาปฏิบัติต่อกลุ่มทหารเกณฑ์เกย์ในค่ายทหาร ภาพจำในทีวีกลุ่มเกย์และกะเทยคือตลก ชอบเต้น ชอบรำ ชอบมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายทุกคน ได้รับสถานะและการยอมรับทางสังคมที่เป็นรองกว่าเพศกระแสหลัก โดยพวกเขาจะใช้ภาพจำเหล่านี้ผลิตซ้ำความคิดที่มีต่อกลุ่มทหารเกณฑ์เกย์ นำไปสู่การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุทางเพศที่เกิดขึ้นจริง เกิดขึ้นมาตลอดและยังมีอยู่ในปัจจุบัน


3) การขาดความตระหนักรู้ถึงปัญหาของกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ


จากเหตุการณ์การคุกคามทางเพศ พลทหารที่เป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายไปแจ้งเหตุการณ์กับผู้ฝึก แต่สิ่งที่ได้รับกลับมาคือถุงยางอนามัย ให้ใช้เพื่อป้องกันตัวเองจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หากต้องมีเพศสัมพันธ์และเกิดเหตุการณ์แบบนี้อีกในอนาคต ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ต้นเหตุคือการถูกคุกคามทางเพศ และการคุกคามทางเพศไม่ใช่เรื่องปกติ เห็นได้ชัดว่า ผู้มีอำนาจในค่ายทหารไม่มองว่าการคุกคามทางเพศต่อกลุ่มเจ๊ในค่ายทหารเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข และหากไม่มองปัญหาว่าเป็นปัญหา ปัญหานั้นจะไม่รับการแก้ไข และนี่คือปัญหาใหญ่ของกองทัพ


กองทัพควรทำความเข้าใจ มองเห็นปัญหาของกลุ่มคนทุกกลุ่ม ในเมื่อสังคมมีความหลากหลายมากขึ้น และมีพลทหารเกย์ตุ๊ดเข้าไปรับราชการทุกปี ไม่ได้มีมาตรการหรือการคัดกรองแค่เพศชายอย่างเดียวเท่านั้น การรับมือของกองทัพในการปฏิบัติต่อคนกลุ่มนี้ หลากหลายและเป็นมิตรมากพอหรือยัง?


การยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ช่วยแก้ปัญหาการถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุทางเพศในค่ายทหารหรือไม่ ?


พลทหารคืออาชีพ และทุกคนควรมีเสรีภาพในการเลือกอาชีพของตนเอง ดังนั้น การยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้น แต่อาจไม่ช่วยแก้ปัญหาการถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุทางเพศในค่ายทหารได้ในทางตรง เพราะการเปลี่ยนการเกณฑ์ทหารเป็นระบบสมัครใจ คือการแก้ปัญหาขั้นตอนการรับเข้า ไม่ใช่การแก้ปัญหาการใช้ชีวิตในค่ายทหาร และการเกณฑ์ทหารโดยสมัครใจ คือการเปิดโอกาสให้คนทุกเพศสามารถสมัครได้ และรับใช้ชาติด้วยสถานะพลทหารอย่างไม่มีข้อจำกัดทางเพศ แต่ปัญหาเรื่องการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุทางเพศในค่ายทหารยังคงอยู่


ดังนั้น หากจะแก้ปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น กองทัพต้องให้ความรู้ สร้างความเข้าใจแก่ทหารทุกคน ทั้งผู้มีอำนาจสูงสุดยันพลทหารที่ผลัดเปลี่ยนเข้ามาทุกปี ให้เกิดความตระหนักรู้ที่นำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมของคนที่มีอคติทางเพศ ทำอย่างไรให้ทุกคนในค่ายทหารมองคนทุกคนเท่าเทียมกัน และไม่นิ่งเฉยต่อการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุทางเพศ กองทัพต้องมีนโยบายที่เป็นมิตรต่อคนทุกกลุ่ม อาทิ จัดตั้งหน่วยงานพิเศษที่ทำงานเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุทางเพศ การจัดเทรนนิ่งเสริมสร้างองค์ความรู้เรื่องเพศสถานะ (Gender knowledge) ที่มีรากฐานมาจากสิทธิมนุษยชนเบื้องต้นให้กับระบบทหารทุกระดับ และทำงานร่วมกันทั้งระบบ


หากกองทัพไทยมีนโยบายที่เป็นมิตรต่อคนทุกกลุ่ม ครอบคลุมกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ และทำได้จริง สถาบันที่รวมความชายเป็นใหญ่ในทุกระดับความคิด สามารถปลดแอก ทำลายกรอบทางเพศ และโอบรับความหลากหลายทางเพศได้จริง จะเกิดการเคลื่อนไหวก้าวที่สำคัญในประเทศไทย รวมทั้งทำงานร่วมกับระบบการศึกษา สื่อมวลชนกระแสหลัก ร่วมกันทำลายกรอบการผลิตซ้ำทางเพศและสนับสนุนให้ทุกคนเท่าเทียมกัน


อาจฟังดูยาก และอุดมคติจนแม้แต่จะให้อ่านแล้วคิดภาพตามคงทำได้ยาก แต่ปัญหาต้องได้รับการแก้ไข ไม่ใช่ปล่อยผ่านแล้วมองว่าการถูกเลือกปฏิบัติทางเพศในค่ายทหารคือสิ่งปกติที่พบเจอในทุกรุ่น เกย์หลายคนผ่านไปได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องผ่านไปได้ แล้วมันไม่ควรมีใครต้องถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุทางเพศแต่แรกอยู่แล้ว นี่คือสิ่งที่กองทัพควรตระหนักที่สุด ความหลากหลายทางเพศคือสิทธิของมนุษยชนเบื้องต้น ที่ไม่ต้องให้ใครร้องขอ แต่ทุกคนควรได้รับตั้งแต่กำเนิด และได้รับในทุกสถานะไม่ว่าจะสถานะประชาชน หรือสถานะพลทหารก็ตาม

"หากการเป็นทหารสามารถสร้างประโยชน์ให้ประเทศชาติ เป็นได้ทุกอย่างตามที่กองทัพไทยประชาสัมพันธ์ เป็นผู้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ เป็นกรรมกร เป็นช่างตัดผม เป็นหมอ เป็นรั้วของชาติ เป็นที่พึ่งยามยากให้กับประชาชน แล้วระบบทหารเป็นอะไรให้กับทหารเกณฑ์ที่มีความหลากหลายทางเพศบ้าง ?"
การแก้ไขปัญหาการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุทางเพศในระบบทหาร ต้องได้รับการแก้ไข
การเปลี่ยนระบบทหารให้มองคนเท่าเทียมกันและตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน คงเป็นเรื่องที่ทำได้ ควรทำ และประชาชนต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง…
ที่มา:
Teerawit Sinturos, (2018) “Situation of Tut and Gay Conscripts in the Thai Military” (Master’s Thesis) Gender and Development studies, Asian Institute of Technology, 
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, (2563) 'เกณฑ์ทหาร' ย้อนหลัง 7 ปี 'ทหารเกณฑ์' ประเทศไทย มีเท่าไหร่. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2563 จาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/873116

Illustration by Arnon Chundhitisakul

 

7,319 views
bottom of page