top of page
  • Writer's pictureTSIS

ย้อนมองกฎการห้ามดื่มสุราในทศวรรษที่ 20 ของอเมริกา

by Piyanat Chasi

หากมองหาภาพแทนของสังคมเมืองในอเมริกายุค 20’s The Great Gatsby ถือเป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนภาพสังคมในทศวรรษ 1920 ได้อย่างชัดเจนไล่ตั้งแต่โครงสร้างเศรษฐกิจตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นจากผลการพัฒนาระบบอุตสาหกรรมการผลิตจนนำไปสู่สังคมและวิถีการใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่


The Great Gatsby ดัดแปลงมาจากผลงานของนักเขียนชื่อดังแห่งยุคสมัยนั้น นามว่า Francis Scott Fitzgerald ผู้ซึ่งได้รับสมญานามว่าเป็นตัวแทนของยุค “หนุ่มสาวไวไฟ”


ฟิทซ์เจอราลด์บรรยายถึงทัศนคติและค่านิยมต่าง ๆ ของคนอเมริกันในวัยหนุ่มสาวได้อย่างเที่ยงตรง เจาะลึกลงไปถึงความกลัว ความสับสนกังวลใจภายใต้พฤติกรรมอันฟุ้งเฟ้อฉาบฉวยภายนอก ทำให้เขาได้รับการขนานนามว่าเป็นสัญลักษณ์ของคนหนุ่มใน “ยุคเงินใหญ่” ที่ “กินอยู่เที่ยวอย่างสำราญ” ในขณะเดียวกันเขาก็มีจิตสำนึกที่เล็งเห็นถึงความขมขื่นของโลกของคนหนุ่มสาวที่ขาดเงิน และไม่มีโอกาสที่จะได้โลดเต้นอยู่ในสังคมฟุ้งเฟ้อฉาบฉวยที่เขาได้ประสบมา


ในยุคสมัยนั้นฟิทซ์เจอราลด์กลายเป็นนักประพันธ์ที่พรรณนาถึงความแตกต่างในการใช้ชีวิตของพวกเศรษฐีกับสามัญชนได้ดีที่สุดไม่มีใครเทียบเท่า เนื่องจากเขามาจากครอบครัวที่มีฐานะและมีความทะเยอทะยาน


ฟิทซ์เจอราลด์สอดแทรกภาพชีวิตในโลกมายาของทศวรรษ 1920 ไว้ในนวนิยายทุกเรื่องของเขาเช่น เรื่อง นิยายยุคแจ๊ซ (Tales of the Jazz Age) เรื่อง The Beautiful and Damned แต่นวนิยายที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาพความหรูหราฟุ้งเฟ้ออย่างไร้ความรับผิดชอบของสังคมในยุคนั้นได้ดีที่สุดคือ The Great Gatsby ค.ศ.1925


เจย์ แก็ทสบี้ พยายามไต่เต้าจากพ่อค้าเหล้าเถื่อนขึ้นมาเป็นมหาเศรษฐี เพื่อจะซื้อความสุขที่สูญไปให้กลับมาด้วยอำนาจเงิน เดซี เฟย์ นางเอกผู้ตกเป็นภรรยาของชายอื่นที่มั่งคั่งไปแล้ว เมื่อเขาจากหล่อนไปทำสงครามในยุโรป


ตัวละครหลักอย่าง เจย์ แกตสบี้ (Jay Gatsby) เป็นภาพสะท้อนของคนในยุค 20’s ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจอยากจะร่ำรวยเพื่อให้ได้มาซึ่งสาวคนรักที่หลงใหลความมั่งคั่งร่ำรวย แม้การได้มาซึ่งความร่ำรวยของแกตสบี้นั้นจะผิดกฎหมายหรือผิดศีลธรรมใด ๆ ก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรนักเพราะผู้คนในยุคสมัยนั้นก็ดำเนินชีวิตในรูปแบบเดียวกันกับแกตสบี้


กฎหมายห้ามค้าเหล้าหรือห้ามดื่มสุรานั้นเสมือนเป็นช่องทางร่ำรวยให้กับผู้คนในยุคนั้น การห้ามเสพสุรา เป็นพลังที่เร่งการปฏิวัติมารยาทและศีลธรรมที่กำเนิดจากคนอเมริกันอย่างแท้จริงคือ กฎหมายห้ามเสพสุรา รถยนต์ นิตยสารเกี่ยวกับกามารมณ์ และภาพยนตร์


กฎหมายห้ามเสพสุรา (Volstead Acts 1920) ออกมาด้วยความเชื่อมั่นว่าจะขจัดปัญหาความยากจนและอาชญากรรมเพราะสุราเป็นสาเหตุได้ ศีลธรรมจรรยาของประชาชนจะได้ดีขึ้นด้วย กฎหมายนี้ให้อำนาจรัฐบาลกลางและรัฐบาลมลรัฐใช้ร่วมกัน แต่ในทางปฏิบัติรัฐบาลมลรัฐมิได้แข็งขันในการตรวจตราผู้ละเมิดกฎหมายนี้ มักปล่อยให้เป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาลกลางที่จะสอดส่องจับกุมผู้ฝ่าฝืนเป็นส่วนใหญ่ แต่รัฐบาลกลางก็มิได้ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่หน่วยงานปราบปรามผู้ลักลอบเสพหรือขายสุราอย่างเต็มที่


ผลที่ได้รับจากการใช้กฎหมายห้ามเสพสุราจึงตรงกันข้ามกับความมุ่งหมาย การฝ่าฝืนกฎหมายนี้กลายเป็นการหย่อนใจในยามว่างของประชาชน และมีคนไม่น้อยที่จงใจดื่มสุราเพื่อจะต่อต้านกฎหมายที่ตนเห็นว่าเป็นการบุกรุกเสรีภาพส่วนบุคคลของพลเมือง


การลักลอบนำสุราเถื่อนเข้าเมืองและร้านขายเหล้าเถื่อนมีอยู่เกลื่อนกลาดในเมืองใหญ่ หัวหน้าพ่อค้าเหล้าเถื่อนกลายเป็นผู้ที่มีอิทธิพลสำคัญในทางการเมืองและเศรษฐกิจของเมืองนั้น ๆ สงครามระหว่างแก๊งโจรผูกขาดค้าสุราเถื่อนที่ยิงกันสนั่นหวั่นไหวในท้องถนนหลวงกลายเป็นเรื่องธรรมดา จำนวนสมาชิกดื่มสุรานอกบ้านเพิ่มขึ้น ก่อนทศวรรษนี้มีเพียงพ่อกับลูกชายไปร้านสุรากันตามลำพัง แต่สมัยนี้แม่ตามไปด้วย ฝ่ายลูกสาวก็จัดค็อกเทลปาร์ตี้ดื่มบ้างเช่นกัน


เรื่องของกฎหมายห้ามขายและผลิตสุราในประเทศอเมริกาช่วงปี 1920 - 1933 ในอดีตการที่เป็นคนที่ชอบดื่มสุราจะถูกประนามว่าเป็นคนเลว เป็นคนไม่มีศีลธรรม เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วก็เป็นการยากมากที่จะดื่มสุรากันอย่างเปิดเผย เพราะอีกเหตุผลหนึ่งก็คือมันผิดต่อหลักศาสนา


ปี 1920 ผู้ที่สนับสนุนการห้ามขายและผลิตสุราเป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้ง กฎหมายการห้ามขายและผลิตสุราจึงถูกผลักดันออกมาในปี 1920 ช่วงนี้เป็นการเกิดขึ้นของเครื่องดื่มผสมที่เรียกว่าค๊อกเทล แม้มันจะหายากแค่ไหนก็ตามแต่นั่นยิ่งทำให้ความต้องการของคนที่จะดื่มมีมากยิ่งขึ้น มันทำให้ค๊อกเทลเป็นเครื่องดื่มที่มีค่า มีราคาสูงตามไปด้วยแต่คนที่ต้องการจะดื่มก็พร้อมที่จะจ่าย


“Bootlegging” คือร้านที่ลักลอบจำหน่ายสุราเถื่อนซึ่งในขณะนั้นเป็นธุรกิจที่รุ่งเรืองมาก คำว่า ”Bootlegging” เป็นคำที่มาจาก ชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมของอินเดียนแดงในอเมริกา เมื่อพวกเขาได้ลักลอบจำหน่ายสุราเถื่อนโดยการซ่อนไว้ในรองเท้าบูธและนำไปจำหน่ายให้กับลูกค้าที่เป็นชนเผ่าเดียวกัน


การทำผิดกฎหมาย ในเรื่องของการลักลอบนำเข้าสุราเถื่อนจากต่างประเทศส่วนมากจะนำมาจากยุโรปและอเมริกาใต้ มีขึ้นตามแนวชายฝั่งทะเลของอเมริกา พวกที่ลักลอบนำเข้าสุราได้มีพัฒนาการอันแยบยลมากมายที่หลบสายตาของตำรวจที่ตรวจตราอย่างหนาแน่นตามชายฝั่งโดยที่ตำรวจไม่สามารถรู้ได้เลย เช่น การใส่ปะปนมาในขยะ ใส่มาในเรือหาปลา แอบซ่อนไว้ในช่องต่าง ๆ ของเรือ ลอยมาตามกระแสน้ำบ้าง หรือแม้แต่ดึงดูดความสนใจของตำรวจด้วยวิธีอื่นใดก็ตามธุรกิจสุราเถื่อนได้พัฒนาขึ้นมาอีกมากมายตามตัณหาของนักดื่มชาวอเมริกันที่ต้องการมันมาดื่ม โดยการนำส่งถึงที่ของผู้ลักลอบขายสุราตามแต่ลูกค้าจะสั่งด้วยการใช้รถยนต์ในการเอาไปส่ง รถยนต์ที่ผู้ลักลอบใช้นั้นเครื่องยนต์ถูกแต่งให้มีความเร็วกว่ารถของตำรวจอีกด้วยก็เพื่อประโยชน์ในการหลบหนี


ในช่วงระหว่างที่มีกฎหมายห้ามขายและจำหน่ายสุรามีการนำเข้าแอลกอฮอล์ถึง 57 ล้านลิตร แต่แอลกอฮอล์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ รัฐก็อนุญาตให้นำเข้ามาได้ซึ่งก็เป็นอีกทางหนึ่งที่ผู้ลักลอบผลิตสุราเถื่อนนำมาใช้ผลิตสุราที่ผิดกฎหมายของตน โดยการแต่งเติมสีสัน รสชาติด้วยน้ำยา สารเคมี ในสุรา ให้ได้หน้าตาหรือลักษณะที่ใกล้เคียงกับ วิสกี้ ยิน รัม ซึ่งนั่นหมายถึงความตายจะมาเยือนผู้ที่ดื่มเข้าไป แต่ก่อนจะตายก็อาจจะเกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ เช่น เป็นอัมพาต ตาบอด ก็ได้ ทำให้ผู้บริโภคสุราในอเมริกาเกิดความกลัวตายกันขึ้นมา


กล่าวได้ว่า การห้ามอย่างเข้มงวดต่อเรื่องสุรา ไม่ได้นำมาสู่การเลิกอย่างเด็ดขาดของประชาชน แต่กลายเป็นการเปิดช่องทางทำมาหากินที่ผิดกฎหมายให้คนบางกลุ่ม เนื่องจากยังคงมีผู้ที่ต้องการดื่มจำนวนมากอยู่ในท้ายที่สุด


อ้างอิง

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. ประวัติศาสตร์อเมริกา. พิมพ์ครั้งที่1. กรงเทพฯ: แพร่พิทยา, 2518.

วิลาสวงศ์ นพรัตน์. ประวัติศาสตร์สังเขปของสหรัฐอเมริกาเล่ม 2. แพร่พิทยา อินเตอร์ชั่นแนล:

กรุงเทพฯ 2541

มยุรี เจริญ. ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจอเมริกา. พิมพ์ครั้งที่1. กรุงเทพฯ : ภาควิชาประวัติศาสตร์

คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2522.

 

421 views
bottom of page