top of page
  • Writer's pictureTSIS

รวม 4 งานวิจัยเกี่ยวกับ "พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว"

By TSIS Team


สมัยเรียนตอนเด็ก ๆ เรามักได้ยินคุณครูสอนเสมอว่า 'ครอบครัว' จะต้องประกอบไปด้วยพ่อแม่และลูก ซึ่งกลายเป็นการปลูกฝังว่าครอบครัวในอุดมคติจะต้องมีลักษณะเช่นนั้น แต่โลกปัจจุบันมีความสัมพันธ์ในรูปแบบที่หลากหลายไม่ได้ถูกตีกรอบแค่นิยามในอุดมคติเช่นนั้น แต่ละครอบครัวต่างมีรูปแบบความสัมพันธ์และการใช้ชีวิตในแบบของตนเอง ในวันนี้เราจะมาพูดถึง "ครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว"


การศึกษากระบวนการเสริมสร้างพลังของแม่เลี้ยงเดี่ยวสู่การเป็นจิตอาสา

ณัฐชลียา ถาวร (2558)

ครอบครัวถือเป็นสถาบันทางสังคมพื้นฐานของมนุษย์ที่มีความสำคัญมากที่สุด ปรากฎการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในครอบครัวล้วนเป็นดั่งกระจกสะท้อนสังคม และด้วยสังคมในปัจจุบันที่มีลักษณะของการเป็นครอบครัวที่หลากหลายอย่างครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวมากยิ่งขึ้น ซึ่งครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวโดยเฉพาะผู้ที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวมักจะเผชิญกับการขาดความมั่นใจ ความภูมิใจในตนเอง มีความวิตกกังวลหรือความเครียดสูงต่อการเลี้ยงบุตรและภาระอื่น ๆ จากการเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว


งานศึกษาชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเส้นทางชีวิตของแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เข้ามารับบริการในมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ศึกษากระบวนการเสริมพลังของแม่เลี้ยงเดี่ยวสู่การเป็นจิตอาสา และศึกษาการเปลี่ยนผ่านของแม่เลี้ยงเดี่ยวสู่การเป็นจิตอาสา ซึ่งศึกษาและเก็บข้อมูลด้วยวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพในการสัมภาษณ์กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานมูลนิธิเครือข่ายครอบครัวกรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อสุขภาพชุมชน จำนวน 5 คน และแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เข้ารับบริการในมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว กรุงเทพมหานคร และมูลนิธิเพื่อสุขภาพชุมชน จังหวัดสุรินทร์ในระยะมากกว่า 1 ปี ซึ่งเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ยืดหยัดได้ด้วยตนเอง และเป็นจิตอาสาของหน่วยงานมากกว่า 6 เดือน จำนวน 6 คน


ผลการศึกษาพบว่า เส้นทางชีวิตของแม่เลี้ยงเดี่ยวในช่วงชีวิตก่อนแต่งงาน แม่เลี้ยงเดี่ยวในกรุงเทพมหานครและจังหวัดสุรินทร์มีสถานภาพทางสังคมที่แตกต่างกัน ทั้งฐานะทางเศรษฐกิจ ระดับการศึกษา และการประกอบอาชีพ ช่วงชีวิตแต่งงานแม่เลี้ยงเดี่ยวล้วนเห็นว่าการแต่งงานเป็นการสร้างความมั่นคงให้แก่ชีวิตคู่ของตนเอง แต่ช่วงชีวิตหลังแต่งงานกับประสบกับความไม่ราบรื่นของชีวิตคู่จนนำไปสู่การหย่าร้าง และการเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว


ช่วงชีวิตก่อนเข้ากระบวนการเสริมพลัง หลังการหย่าร้างแม่เลี้ยงเดี่ยวต่างมีความเครียดจนกระทบกับการดำเนินชีวิต แต่เมื่อแม่เลี้ยงเดี่ยวก้าวเข้ากระบวนการเสริมพลังเพื่อต้องการหาหนทางในการแก้ไขปัญหา เรียนรู้ทักษะต่าง ๆ เกี่ยวกับการดูแลบุตร ฟื้นฟูสภาพจิตใจ ร่างกายและสังคม ที่จะเสริมสร้างความภาคภูมิใจต่อตนเองในการเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เข้มแข็งจากการเข้าร่วมมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว กรุงเทพมหานครและมูลนิธิเพื่อสุขภาพชุมชน จังหวัดสุรินทร์


ขณะที่การเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นจิตอาสา หลังจากที่แม่เลี้ยงเดี่ยวได้เข้าสู่กระบวนการเสริมพลังจนเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นกับการดำเนินชีวิตของตนเอง จึงนำประสบการณ์ชีวิตของตนเองและสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมกระบวนการเสริมพลังมาเป็นแรงขับเคลื่อนในการช่วยเหลือแม่เลี้ยงเดี่ยวคนอื่น ๆ ภายใต้การเป็นจิตอาสาช่วยงานของมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว และมูลนิธิเพื่อสุขภาพชุมชนด้วยความเต็มใจ การเป็นจิตอาสาของแม่เลี้ยงเดี่ยวนั้นก่อให้เกิดการเห็นคุณค่าของตนเอง การได้รับการยอมรับจากผู้อื่น จึงทำให้การดำเนินชีวิตในบทบาทของแม่เลี้ยงเดี่ยวของตนเองอุดมไปด้วยความเข้มแข็งและความภาคภูมิใจ


ประสบการณ์ด้านจิตใจของพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวในการเลี้ยงดูบุตร : การศึกษาเชิงคุณภาพ

สุชาดา สร้อยสน (2553)

ครอบครัวเปรียบดั่งสถาบันทางสังคมที่มีอิทธิพลแรงกล้าต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตทางสังคมของประชากร แต่ด้วยโครงสร้างทางสังคมปัจจุบันที่มีลักษณะของการเป็นสังคมอุตสาหกรรมจึงทำให้สถาบันครอบครัวถูกปรับเปลี่ยนจากลักษณะครอบครัวขยายกลายเป็นครอบครัวเดี่ยวมากยิ่งขึ้น การใช้ชีวิตต้องเผชิญกับการแข่งขัน ดิ้นรนเพื่อให้อยู่รอดอยู่ตลอดเวลาจนส่งผลให้หลากหลายครอบครัวไม่สามารถดำรงบทบาทหน้าที่ตามสถาบันครอบครัวได้อย่างสมบูรณ์ และนำไปสู่ครอบครัวที่แตกสลายกลายเป็นครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวในที่สุด


งานศึกษาชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการศึกษาและอธิบายประสบการณ์ด้านจิตใจของพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวในการเลี้ยงดูบุตร โดยอาศัยการศึกษาด้วยวิธีวิจัยเชิงคุณภาพแนวปรากฎการณ์วิทยาในการสัมภาษณ์เชิงลึกกับพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เข้าร่วมและไม่ได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาเครือข่ายครอบครัวของมูลนิธิเครือข่ายครอบครัวที่สามารถข้ามพ้นปัญหาต่าง ๆ ภายในครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวของตนเอง จำนวน 10 คน


ผู้ศึกษาแบ่งประเด็นศึกษาออกเป็น 3 ประเด็นหลักคือ ความทุกข์จากการสูญเสียคู่ครอง การดูแลจิตใจให้คลายความทุกข์ใจ และชีวิตที่งอกงามหลังผ่านวิกฤตการณ์ครอบครัว ซึ่งได้ข้อสรุปผลการศึกษาว่า การหย่าร้างกับคู่ครองก่อให้เกิดความรู้สึกที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการยอมรับไม่ได้ การเสียใจ การผิดหวัง มีความน้อยเนื้อต่ำใจต่อโชคชะตาของตนเอง และมีความวิตกกังวลกับการดำเนินชีวิตในอนาคต


วิธีการดูแลเยียวยาจิตใจจากความทุกข์ใจที่เป็นเหตุมาจากการหย่าร้างพบว่า พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวต่างพยายามแสวงหาสิ่งยึดเหนียวจิตใจ ฝึกกำหนดจิตใจให้สงบ มุ่งเป้าความสนใจไปกับการทำกิจกรรต่าง ๆ หรือการทุ่มเทกับการทำงานของตนเอง และการขอความช่วยเหลือทางจิตใจจากบุคคลอื่น อย่างไรก็ตามหลังจากพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวประสบความสำเร็จในการข้ามผ่านวิกฤตการณ์ครอบครัวจนกลายเป็นครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวถือเป็นการเรียนรู้มิติใหม่ด้วยการอาศัยประสบการณ์ ปัญหา เรื่องราวชีวิตของตนเองทั้งสิ้น และสามารถใช้ชีวิตยืนหยัดกับโลกความเป็นจริง และมีมุมมอง ความคิดในการดำเนินชีวิตที่ยึดอยู่กับปัจจุบันในทิศทางเชิงบวกมากยิ่งขึ้น


ลักษณะและรูปแบบการดำเนินชีวิตของมารดาในครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยว

จีรนันท์ พิมถาวร (2557)

การเป็นคนที่สมบูรณ์ได้นั้นย่อมก่อเกิดมาจากสถาบันครอบครัวที่เป็นพื้นที่ในการเรียนรู้ ถ่ายทอด ซึมซับ หล่อหลอมเรื่องราวทางสังคมผ่านตัวบุคคล ๆ หนึ่ง เพื่อให้กลายเป็นคนคุณภาพของสังคม แต่ด้วยการดำเนินชีวิตที่ถูกอิทธิพลจากสังคมตะวันตกครอบงำด้วยค่านิยมการอยู่ก่อนแต่งที่ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงของการเป็นครอบครัวและนำพาไปสู่การเป็นครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวที่ตามมาด้วยปัญหาทางจิตใจ การปรับตัว การดำเนินชีวิต


งานศึกษาชิ้นนี้เป็นการศึกษาภายใต้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบการดำเนินชีวิตของแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เป็นสมาชิกมูลนิธิเครือข่ายครอบครัวในเขตกรุงเทพมหานคร โดยการสัมภาษณ์เชิงลึกแบบไม่เป็นทางการและสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วมกับครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เป็นสมาชิกมูลนิธิเครือข่ายครอบครัวในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 15 คน ทั้งแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีที่มาของการกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ อย่างกลุ่มการหย่าร้าง กลุ่มการแยกทางกัน กลุ่มการเป็นหม้ายจากการเสียชีวิตของสามี และกลุ่มการเป็นมารดานอกสมรส และกลุ่มอื่น ๆ ที่มีการรับบุตรบุญธรรม ถูกปัดความรับผิดชอบ ถูกทอดทิ้ง


ผู้วิจัยได้ข้อค้นพบว่า ในมิติภูมิหลังทางครอบครัวของกลุ่มตัวอย่างแม่เลี้ยงเดี่ยวมีอายุน้อยสุดอยู่ที่ 38 ปี และอายุมากสุดอยู่ที่ 53 ปี ดำรงบทบาทเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวระยะเวลานานสุด 18 ปีและน้อยสุด 1 ปี มีระดับการศึกษาปริญญาโทเป็นระดับการศึกษาสูงสุด โดยแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เป็นกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ยังดำรงสถานภาพโสด มีอาชีพเป็นพนักงานบริษัทที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนถึง 3 หมื่นบาท และมีบุตรที่ต้องเลี้ยงดูอยู่ที่ 1 คน


อีกทั้งการกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวมีสาเหตุมาจากการหย่าร้างและสามีเสียชีวิต ต่อมาในมิติด้านความเป็นอยู่พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างจากช่วงก่อนการเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรายได้ที่ลดลงตามภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิต สภาพจิตใจที่บอบช้ำจากความเครียด ความกังวลที่สะสมในระยะหนึ่งแต่ก็ยังคงยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นกับชีวิตตนเอง เพียงแค่ต้องอาศัยระยะเวลาในการปรับตัว ชีวิตการเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวจำสามารถดำเนินได้อย่างราบรื่นมากขึ้น ด้านการรับผิดชอบเลี้ยงดูบุตร แม่เลี้ยงเดี่ยวจะมีการจัดสรร วางแผนทางการเงินสำหรับบุตร สนับสนุนด้านการศึกษาและการนันทนาการแก่บุตร และต้องการทุ่มเทความใส่ใจ สรรหาเวลาในการมีส่วนร่วมกับบุตรผ่านการร่วมกิจกรรมด้วยกันให้เป็นไปได้มากที่สุด


สถานการณ์ครอบครัวไทย : กรณีศึกษาครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร

ศิริรัตน์ แอดสกุล (2555)

การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคมในหลากหลายมิตินั้นล้วนส่งผลกระทบอย่างยิ่งกับสถาบันครอบครัวที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเสมอ จึงส่งผลให้ความสัมพันธ์หรือสถานการณ์ต่าง ๆ ภายในครอบครัวไม่เหนียวแน่นดั่งอดีตและกลายเป็นปัญหาที่หนักหนามากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกาย ทำร้ายจิตใจ การหย่าร้าง การอยู่ร่วมกันก่อนการสมรส การครองสถานภาพโสด การเลี้ยงดูบุตรตามลำพังหรือการเป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวที่จากข้อมูลสถิติการหย่าร้างของสังคมไทยพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง


งานศึกษาชิ้นนี้ผู้วิจัยมีวัตถุประสงค์ของการศึกษาเพื่อศึกษาสาเหตุในการเป็นครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว เพื่อศึกษาบทบาทของผู้ที่เป็นพ่อหรือแม่หลังจากเป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว เพื่อศึกษาผลจากการเลี้ยงดูบุตรของครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว และเพื่อศึกษาความคิดเห็นของบุคคลทั่วไปที่มีต่อครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว โดยอาศัยวิธีวิจัยแบบผสมผสานระหว่างการวิจัยเชิงคุณภาพและการวิจัยเชิงสำรวจ ในการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ให้ข้อมูลจำนวน 10 คน และใช้แบบสอบถามในการเก็บข้อมูลความคิดเห็นของบุคคลทั่วไปที่มีต่อครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวจำนวน 500 คน


ผลการศึกษาพบว่า การเป็นครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวมีสาเหตุมาจากการหย่าร้าง รองลงมาคือคู่สมรสเสียชีวิต และการแยกทางที่ละทิ้งบุตรให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเลี้ยงดูตามลำดับ ขณะที่บทบาทของผู้ที่เป็นพ่อหรือแม่หลังจากดำรงสถานภาพเป็นครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวพบว่า ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวจะเผชิญกับความตึงเครียดในหลากหลายมิติมากกว่าครอบครัวปกติ และผลจากการเลี้ยงดูบุตรจากครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวกลับพบว่ามีความเหนื่อยยากและลำบากในการอบรมเลี้ยงดูบุตรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิตได้เสมือนครอบครัวปกติ ถึงแม้จะถูกอบรมเลี้ยงดูจากการมีพ่อหรือแม่เพียงลำพังก็ตาม ซึ่งบุตรในแต่ละครอบครัวล้วนมีประสบการณ์ การปรับตัว การเรียนรู้ และการจัดการร่างกาย จิตใจ อารมณ์ที่แตกต่างกันตามประสบการณ์ชีวิตที่ได้ประสบพบเจอ อย่างไรก็ตามความคิดเห็นของบุคคลทั่วไปที่มีมุมมองต่อครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวพบว่า บุคคลทั่วไปในสังคมไทยส่วนใหญ่ให้การยอมรับบทบาทและสถานภาพของผู้ที่ดำรงสสถานภาพเป็นพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวที่สามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้ มากกว่าการไม่ยอมรับที่มักมองว่าเด็กที่เติบโตมาจากพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวนั้นจะมีปมด้อย เป็นเด็กมีปัญหา ไม่สามารถเข้ากับบุคคลอื่น ๆ ในสังคมได้


Illustration by Arnon Chundhitisakul

 

1,726 views
bottom of page