top of page
  • Writer's pictureTSIS

เผยเทคนิคหาคู่ฉบับนักวิจัย: กรณีสัมภาษณ์นักวิจัยจากการทดลองใช้งานจริง

by สุขฤดี

โสด โสด โสด!! ได้ยินคำนี้อยู่ในหูมา 20 ปี บางทีเราก็อยากมีแฟนเหมือนคนอื่นเขาบ้าง แต่ไม่รู้จะทักไปคุยหรือเริ่มต้นบทสนทนายังไง โชคดีที่เราเรียนการทำ “วิจัย” มา ขอลองใช้ความรู้มาหาคู่สักหน่อย


ปกติเวลาจะทำวิจัยสักชิ้น เราจะเริ่มต้นจากการคิดประเด็นที่สนใจแล้วออกไปทบทวนวรรณกรรม และวางแผนหรือเลือกแนวทางการทำวิจัย ซึ่งวิธีวิจัยหลัก ๆ ก็คงหนีไม่พ้นการสัมภาษณ์ทั้งแบบเดี่ยวหรือกลุ่ม และการเก็บแบบสอบถาม แล้วการวิจัยจะช่วยให้เรามีแฟนได้ยังไง วันนี้เราจะมาแชร์เทคนิคการหาคู่จากประสบการณ์จริงของนักวิจัย


เทคนิคแรก: สร้างแบบสอบถามเพื่อเธอคนเดียวนะรู้ไหม

อดีตนักเรียนวิจัยท่านหนึ่ง เผยประสบการณ์จีบคนที่อยากได้มาเป็นแฟน เหตุการณ์ครั้งนั้นคือ อยู่ในช่วงกำลัง “คุย ๆ” กัน และไม่ใช่คนที่คุยเก่งกันทั้งสองฝั่ง บทสนทนาเริ่มจืดจางลง อดีตนักเรียนวิจัยท่านนี้ จึงมองหาเครื่องมือที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ จึงเลือกใช้ “แบบสอบถาม” ที่เธอกำลังเรียนอยู่ มาออกแบบแบบสอบถามใหม่ ประกอบด้วย


ส่วนแรกคือ ข้อมูลส่วนตัว เพื่อเราจะได้รู้ข้อมูลส่วนตัวทั่วไปของเขา โดยเฉพาะเรื่อง ‘เขาคนนั้นโสดหรือไม่โสด’


ส่วนที่สองเน้นถามเรื่องความสนใจที่เฉพาะเจาะจงเป็นหลัก เพื่อจะได้รู้เรื่องราวที่เขาสนใจ แล้วหาเรื่องคุยต่อ บทสนทนาจะได้ไม่น่าเบื่อ


สุดท้ายได้คำตอบมาว่า ชอบชมภาพยนตร์เรื่องเดียวกัน บทสนทนาเลยมีสีสันไม่น่าเบื่ออีกต่อไป


เทคนิคสอง: ขอมีทั้งงานและเธอไปพร้อม ๆ กันได้ไหม

กรณีนักวิจัยอีกท่าน เป็นอารมณ์แอบรับเขาข้างเดียว เคยทักไปหาเขาหนึ่งครั้ง แต่ก็แห้งกลับมา ไม่รู้จะต่อบทสนทนายังไง นึกขึ้นได้ว่า มีงานวิจัยที่ยังเก็บกลุ่มตัวอย่างไม่ครบ ลองหาเรื่องคุยต่อด้วยการให้เขาช่วยทำแบบสอบถามน่าจะดี ปรากฏว่าเขาน่ารัก ตอบกลับมาว่า ‘ได้เลยครับ’ วินาทีนั้น ไม่เคยรู้สึกเขินเพราะให้คนตอบแบบสอบถามขนาดนี้มาก่อน และพยายามชวนคุยต่อ แต่เขาก็น่ารักเหมือนเดิมคือตอบคำว่า “ครับ” เป็นอันว่าจบบทสนทนานับจากนั้น


เทคนิคสาม: สอบถามมาเป็นชั่วโมง สุดท้ายเป็นได้แค่ 'ที่ปรึกษา'

นักวิจัยท่านสุดท้าย เล่าว่าเรื่องแบบสอบถาม เขาไปถามมาหลายคน หลายแบบสอบถาม เพราะอยากมีเรื่องคุยกับคนที่ชอบ ถามไปถามมา ปรากฎว่าแบบสอบถามทำให้อีกฝั่งเข้าอกเข้าใจตัวเองมากขึ้น (แบบสอบถามเกี่ยวกับการสำรวจตัวเอง) ได้พูดคุยแลกเปลี่ยน สุดท้ายเขามองนักวิจัยท่านนี้เปลี่ยนไป มองเป็น “ที่ปรึกษา” ด้านความรู้สึก แต่ไม่รู้สึกด้วยเหมือนกัน คือประทับใจ แต่ไม่ได้อยากเป็นแฟน


สรุปผลการทดลองใช้


อ่านมาถึงตรงนี้ ผู้อ่านคงอยากรู้แล้วว่าบทสรุปของงานชิ้นนี้จะออกหัวหรือก้อย ใบ้ให้มีสมหวังหนึ่งคน ผิดหวังอีกสองคน


สรุปว่า การใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือจีบ ความหมายก็ตรงตัว คือเป็นได้เพียง “เครื่องมือ” ท้ายสุดแล้ว จะได้รับความรักกลับคืนมาตามที่ต้องการ องค์ประกอบอีกหลาย ๆ ส่วนก็สำคัญ เสมือนงานวิจัย เรามีเพียงเครื่องมือไม่ได้ทำให้งานวิจัยเสร็จ บทอื่น ๆ ก็สำคัญ อย่าคาดหวังว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งจะช่วยให้สำเร็จ แต่ต้องทำให้ทุกอย่างให้ดีที่สุด แฮฃแท็ก 'ความรักก็เช่นกัน'


Illustration by Arnon Chundhitisakul

 

621 views
bottom of page