top of page
  • Writer's pictureTSIS

ธุรกิจของชุมชนกับการฟื้นฟูคลองอย่างยั่งยืน

By Siyanee Hirunsalee

ในอดีตบทบาทของคลองในการเป็นเส้นทางการคมนาคมทางน้ำเป็นตัวกำหนดทิศทางตามธรรมชาติของการวางแผนที่อยู่อาศัย กล่าวคือ ชุมชนริมน้ำมักจะทำการก่อสร้างให้หน้าบ้านของตนหันไปทางด้านที่ติดกับคลอง แต่ในปัจจุบันเส้นทางการคมนาคมหลักของเมืองได้เปลี่ยนแปลงจากการคมนาคมทางน้ำเป็นการคมนาคมทางบก บ้านต้องการที่จอดรถมากกว่าที่จอดเรือ


คลองในปัจจุบันถูกลดถอนคุณค่าจากหน้าบ้านเป็นหลังบ้าน บ้านริมคลองบางหลังไม่มีแม้กระทั่งทางออกสู่คลอง ทำให้วิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการใช้คลองของคนเมืองต้องหมดไปในที่สุด คลองในเมืองหลายเส้นจึงมีสภาพเสื่อมโทรมเพราะขาดการดูแลที่เหมาะสม การฟื้นฟูคลองโดยการขุดลอก เก็บขยะ กำจัดวัชพืช เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำเพื่อเยียวยาสภาพของคลอง แต่ก็ไม่สามารถขจัดปัญหาสภาพเสื่อมโทรมของคลองได้อย่างถาวร


ผลสรุปส่วนหนึ่งจากการศึกษาเรื่องธุรกิจของชุมชนกับการฟื้นฟูคลองอย่างยั่งยืน ภายใต้โครงการ The Development of Community-Owned Canal Transit System, Boat Piers and Vicinity ในปี 2017 พบว่า การคืนคุณค่าให้แก่คลอง ทั้งคุณค่าที่จับต้องได้ (Tangible value) และจับต้องไม่ได้ (Intangible value) เป็นหนึ่งในทางออกในการสร้างเมืองที่อยู่ร่วมกับคลองได้อย่างยั่งยืนอีกครั้ง


การคืนคุณค่าที่จับต้องได้ของคลอง คือ การคืนบทบาทในการเป็นเส้นทางการคมนาคมให้แก่คลอง และการคืนคุณค่าที่จับต้องไม่ได้ของคลอง คือ การชุบชีวิตวิถีชีวิตกับคลองและส่งผ่านเรื่องราวของคลองจากรุ่นสู่รุ่น


การสร้างความรู้สึกในถิ่นที่ (Sense of Place) ผ่านการรับรู้คุณค่าในประวัติศาสตร์ของคลองจะสามารถกระตุ้นให้ชุมชนก้าวเข้ามาเอาใจใส่ดูแลคลอง เหมือนดั่งการดูแลหน้าบ้านของตน นอกจากนี้ การสร้างคุณูปการเชิงธุรกิจเพื่อเพิ่มเติมคุณค่าให้กับคลองพร้อมกับการต่อสู้กับปัญหาหลักอีกประการ คือ ปัญหาความยากจนในเมือง (Urban Poor) ก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงทัศนคติและการรับรู้ต่อชุมชนที่มีต่อเมืองได้ อีกทั้งยังสามารถสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ (Sense of Belonging) ของชุมชนกับคลองด้วย


ผลจากการประเมินศักยภาพและความต้องการของชุมชนลาดพร้าว พบว่า คลองลาดพร้าว มีศักยภาพและความพร้อมในการเริ่มธุรกิจในรูปแบบธุรกิจ Smart Boat ที่ประยุกต์นำเอานวัตกรรมทางเทคโนโลยีมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลของการเดินเรือ อาทิ เส้นทางการเดินเรือ ระยะเวลาที่ใช้ในแต่ละสถานี รวมไปถึงการจองที่นั่งล่วงหน้าผ่าน Mobile application เป็นการเพิ่มช่องทางการคมนาคมสมัยใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานรุ่นใหม่ได้


ชุมชนในรูปแบบของสหกรณ์สามารถสร้างรายได้จากการร่วมทุนร่วมกับภาครัฐและเอกชนภายใต้กลไกของ PPP ซึ่งเป็นการสร้างธุรกิจของชุมชนในระดับย่านของเมือง ชุมชนคลองลาดพร้าวยังให้ความสนใจกับธุรกิจที่สามารถทำร่วมกันได้ในระดับชุมชนอย่างการจัดให้มีการศึกษาดูงานจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่ต้องการเข้ามาศึกษาวิถีชีวิตของคนกับน้ำ ซึ่งปัจจุบันชุมชนลาดพร้าวนั้นมีประสบการณ์ในการจัดการธุรกิจประเภทนี้ดีอยู่แล้วในบางชุมชน และเห็นควรว่าสามารถขยายผลไปยังชุมชนใกล้เคียงอื่นได้


นอกจากนี้ ชุมชนคลองลาดพร้าวยังมีความพร้อมในการพัฒนาธุรกิจประเภทธุรกิจสะดวกซื้อ ธุรกิจการให้บริการซักอบรีด และธุรกิจให้เช่าที่พัก ซึ่งเป็นธุรกิจที่สามารถทำได้ในระดับครัวเรือนอีกด้วย


ภาพที่ 1 ประเภทธุรกิจที่ตรงกับศักยภาพและความต้องการของชุมชนคลองลาดพร้าว

แยกตามระดับความร่วมมือในการสร้างธุรกิจ (ที่มา: ผู้เขียน)

 

97 views0 comments

Comentarios


bottom of page