top of page

"คุณลักษณะ 5 ประการ ของ “ครูคุณภาพ”

ดร.ศิญาณี หิรัญสาลี

teacher_content-06.png

จากหนังสือ Building a Better Teacher เขียนโดย Elizabeth Green รวบรวมเรื่องราวของการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนผ่านการพัฒนาครูจากหลากหลายแง่มุม ถึงแม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะพูดถึงกรณีศึกษาและสถานการณ์ต่าง ๆ ส่วนใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกาก็ตาม แต่เนื้อหาหลายส่วนสำคัญของหนังสือเล่มนี้ก็ยังเป็นประโยชน์กับการสร้างครูคุณภาพในประเทศไทยได้เช่นกัน ดังเช่นเนื้อหาที่ทางทีมงานคัดเลือกมาจากส่วนท้ายของหนังสือ ที่กล่าวถึง คุณลักษณะ 5 ประการ ของการระบุตัว “ครูคุณภาพ” ที่อาจจะช่วยทบทวนคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของครูในปัจจุบันในมุมมองที่แตกต่าง  

(1) ค้นหาเหตุของคำตอบที่ผิดพลาดของนักเรียน  

ครูต้องย้อนรอยพิจารณาดูความผิดพลาดของนักเรียนโดยปะติดปะต่อรูปแบบความคิดและข้อผิดพลาดที่น่าจะเป็นไปได้ จากนั้นก็วิเคราะห์ว่าจะแก้มันอย่างไร ที่สำคัญเช่นกันคือครูต้องสร้างบรรยากาศที่การทำผิดพลาดไม่ใช่เพียงแค่เป็นเรื่องธรรมดาแต่เป็นเรื่องที่ควรส่งเสริมให้เกิดขึ้นได้ เพราะถ้าไม่เช่นนั้นครูก็จะไม่มีโอกาสแอบดูวิธีการคิดของนักเรียนและเรียนรู้ว่าพวกเขายังไม่เข้าใจอะไร

 

(2) ไม่เดินรอยตามสิ่งที่ครูนิยมปฏิบัติ

 

หนังสือเล่มนี้ยกตัวอย่างกรณีของการทำเสียง “ชู่ว์” หรือ “จุ๊ ๆ” ที่มาจากพื้นฐานของความเชื่อที่เรียนรู้กันมาว่า ห้องเรียนต้องมีความเงียบ การแสดงออกที่คลุมเครือตามความเคยชินหรือความเชื่อเหล่านี้ ทำให้ครูมองข้ามไปว่า ทำไมนักเรียนจึงพูดคุยกันเสียงดังตั้งแต่ต้น ทั้ง ๆ ที่นักเรียนอาจจะกำลังพูดคุยหรือถกเถียงสิ่งที่ครูกำลังอธิบายอยู่ด้วยซ้ำ นอกจากนี้พฤติกรรมเหล่านี้ยังสร้างความคลุมเครือกับนักเรียนด้วยว่า พวกเขาควรจะหยุดคุย หรือ พูดคุยให้เสียงเบาลง แนวทางที่สามารถนำไปใช้ในกรณีนี้ อาจจะเป็นการย้อนถามนักเรียนว่า พวกเขาส่งเสียงดังด้วยเรื่องใด และ ตอนนี้ครูกำลังพูดคุยเรื่องอะไรอยู่ เพื่อดึงสมาธิและความสนใจของนักเรียนกลับมา

 

(3) ใช้การตั้งคำถามที่แตกต่างเพื่อกระตุ้นความคิดที่เป็นเหตุเป็นผล

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

การตั้งคำถามที่เหมาะสมควรเป็นการตั้งคำถามปลายเปิดที่กระตุ้นให้เด็กหาข้อมูลและหลักฐานมาสนับสนุนคำตอบของตนอย่างเป็นเหตุเป็นผล เช่น คำถามประเภท “ทำไม หรือ อย่างไร” โดยคำถามที่ควรหลีกเลี่ยง คือ อะไรคือข้อที่ถูกสำหรับคำตอบข้อนี้ เพื่อกระตุ้นคิดเป็นเหตุเป็นผล ครูอาจใช้คำถามเพิ่มเติมว่า “แล้วทำไมจึงเป็นเช่นนั้น หรือ ทำไมจึงคิดว่าคำตอบข้อนี้ถูก”

 

(4) ช่วยกระตุ้นความคิดของนักเรียนให้ชัดเจน

นอกจากครูจะต้องหาข้อผิดพลาดได้ว่า นักเรียนไม่เข้าใจเนื้อหาที่ครูกำลังสอนตรงไหนแล้ว ครูยังต้องสามารถกระตุ้นให้นักเรียนเข้าใจความคิดของตนเองด้วย โดยการช่วยใช้คำถามที่ช่วยทำให้ความคิดของนักเรียนชัดเจนขึ้น หรือ ช่วยอธิบายขั้นตอนการคิดที่นักเรียนอาจมองไม่เห็นโดยครบถ้วนได้

 

(5) เข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษาที่ช่วยสนับสนุนคุณภาพครู

 

โครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษา อาทิ การจัดอบรมพัฒนาความสามารถในการสอนของครู ห้องปฏิบัติการ หรือช่องทางการเข้าถึงข้อมูลใหม่ ๆ ของครู มีส่วนเป็นอย่างมากในการพัฒนาครู การพัฒนาคุณภาพครูไม่อาจทำได้โดยการมุ่งเน้นการพัฒนาที่ตัวครูเพียงอย่างเดียวได้ แต่เป็นการพัฒนาทั้งระบบเพื่อช่วยสนับสนุนการพัฒนาระดับปัจเจกบุคคล

teacher_content-01.png
teacher_content-02.png
teacher_content-03.png
teacher_content-04.png
teacher_content-05.png
bottom of page