top of page

ความสัมพันธ์ของชุมชนและมหาวิทยาลัย

(Town and Gown Relation)

ดร.ศิญาณี หิรัญสาลี

TownandGown-01.png

บทความนี้ขอชวนคุยประเด็น “ลำโพงงานบวช” โดยขอข้ามประเด็นทางด้านกฎหมายเรื่องการใช้เสียงดังเกินกำหนด และ การข่มขู่บนสื่อสังคมออนไลน์ แต่ขอชวนคุยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับมหาวิทยาลัยตามแนวคิด Town and Gown Relations ที่ชวนมองเรื่องการอยู่ร่วมกันโดยมุ่งเน้นการสร้างบทบาทที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน

Town and Gown Relation เป็นแนวคิดที่ใช้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนรอบมหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับพื้นที่ชุมชน ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่มีบันทึกมาตั้งแต่ยุคกลางในมหาวิทยาลัยแถบยุโรป

 

https://www.lostkingdom.net/medieval-education-in-europe/

ในช่วงยุคกลาง นักศึกษาที่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยในยุโรปมักจะสวมเครื่องแบบเหมือนนักบวช (ชุดคลุมยาวดำและใส่หมวก) เนื่องจากเป็นชุดที่สะดวกสบายเหมาะสำหรับการทำกิจกรรม จนกลายมาเป็นประเพณีในมหาวิทยาลัยที่จะสวมใส่ชุดดังกล่าว เครื่องแบบมักถูกตกแต่งด้วยสีสันของสถาบันและสาขาวิชาที่ร่ำเรียน เครื่องแบบนี้จึงทำหน้าที่เสมือนเป็นสัญลักษณ์ทางสังคมที่แตกต่างกันระหว่างบุคคลที่ได้รับการศึกษาและสมาชิกชุมชนโดยทั่วไปด้วย

 

วลี Town and Gown จึงแสดงให้เห็นถึงชุมชน 2 แห่งที่มีความแตกต่างกันตั้งอยู่ร่วมกันในพื้นที่เมืองที่อาจเรียกได้ว่าเป็นเมืองมหาวิทยาลัย เป็นหอคอยงาช้างในการรับรู้ของชุมชน ซึ่งในเวลานั้นเมืองมหาวิทยาลัยที่มีลักษณะตามแนวคิด Town and Gown และยังคงมีลักษณะดังกล่าวในปัจจุบัน อาทิ Oxford, Cambridge, Edinburgh, Aberdeen และ St Andrew (Bender, 1988; Ijaduola, In Print; Kemp, 2013; Manahan, 1980).

 

เมื่อการศึกษาในมหาวิทยาลัยได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา พื้นที่ใช้งานของมหาวิทยาลัยจึงเริ่มมีการขยายพื้นที่ใช้งานนอกเหนือจากบริเวณมหาวิทยาลัย เช่น การเกิดที่พักอาศัยประเภทหอพักนักศึกษา ร้านค้าสำหรับนักศึกษา การให้บริการขนส่งสาธารณะเพื่อรองรับพื้นที่อยู่อาศัยของคนจำนวนมาก

เมืองที่ได้รับการพัฒนากิจกรรมและมีการเพิ่มจำนวนของผู้ใช้งานพื้นที่เข้ามาเป็นจำนวนมากนั้น อาจจะก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งที่พบเห็นทั่วไปได้ อาทิ พื้นที่รอบชุมชนที่เปลี่ยนไปแปลงไปสู่พื้นที่อยู่อาศัยที่มีความหนาแน่นสูง การจราจรที่ติดขัด สินค้าและบริการที่มีราคาสูงขึ้น หรือ แม้กระทั่งปัญหาของการเกิดเสียงจากกิจกรรมของมหาวิทยาลัย

https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_2279088 

ปัญหาความขัดแย้งในประเทศไทยที่ได้รับการรายงานติดต่อกัน 2 พื้นที่นั้นคือปัญหาเรื่องการใช้เสียง ซึ่งเสียงดังที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากชุมชน ไม่ได้เกิดจากมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัย (หมายรวมถึง (1) บุคลากรหลัก อาทิ ผู้บริหาร อาจารย์ (2) บุคลากรสนับสนุน อาทิ พนักงานมหาวิทยาลับ และ (3) นักศึกษา ) ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้อย่างสิ้นเชิงว่า ตลอดระยะเวลาในการอยู่ร่วมกันของมหาวิทยาลัยและชุมชนนั้น ชุมชนเป็นผู้ก่อให้เกิดปัญหาเพียงฝ่ายเดียว

ในคอมเม้นท์แสดงวิวาทะระหว่างชุมชนและมหาวิทยาลัยนั้น มีผู้ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นจากฝั่งชุมชนไม่น้อยที่ให้ข้อมูลเรื่องการใช้เสียงดังของนักศึกษาในยามวิกาลระหว่างการเดินทางเข้าที่พัก การพบอุบัติเหตุทางรถยนต์ในพื้นที่ชุมชนเนื่องจากสาเหตุของความมึนเมา สภาพการจราจรที่ติดขัดในวันและเวลาที่มหาวิทยาลัยมีกิจกรรมพิเศษ  หรือ ช่วงเวลาที่มีผู้ใช้รถใช้ถนนพร้อม ๆ กัน เช่น เวลาเข้าเรียน/งานในช่วงเช้า และ เวลาเลิกเรียน/งานในช่วงเย็น ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่มหาวิทยาลัยไม่สามารถปฏิเสธได้ และแน่นอนว่าไม่ใช่ปัญหาที่ชุมชนเป็นผู้ก่อขึ้นเพียงฝ่ายเดียวอย่างแน่นอน

http://www.js100.com/en/site/post_share/view/26601                                 https://www.matichon.co.th/region/news_289007

 

ในการศึกษาของ Martin L. L. et al. (2005) กล่าวถึงแนวทางในการสร้างความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและชุมชน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างภาวะของการอยู่อาศัยที่ไม่ได้แค่เพียงต้องอยูร่วมกันให้ได้ แต่ต้องสร้างประโยชน์ให้แก่กันได้ด้วย โดยมีการนำเสนอรูปแบบที่หลากหลาย มหาวิทยาลัยบ้างทำแล้ว บ้างยังไม่ได้ทำ สรุปเป็นกิจกรรมกว้าง ๆ ไว้ ดังต่อไปนี้

 

  • Service leaning: นักศึกษาร่วมเป็นอาสาสมัครในการทำกิจกรรมที่สร้างประโยชน์ให้กับชุมชนซึ่งเป็นหนึ่งของรายวิชาที่สามารถนับหน่วยกิตได้

  • Service provision: ผู้บริหาร คณะอาจารย์ และ บุคลากรมหาวิทยาลัยร่วมกันจัดทำโครงการระยะยาวเพื่อบริการวิชาการในชุมชน

  • Faculty involvement: คณาจารย์จากคณะวิชาที่ทำหน้าที่ประสานงานให้เกิดความคิดริเริ่มในการสร้างสรรสิ่งใหม่ในชุมชน

  • Student volunteerism: นักศึกษาอาสาเพื่อทำงานในชุมชน ซึ่งไม่มีการได้รับหน่วยกิตตอบแทน และไม่ได้เป็นกิจกรรมที่เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา

  • Community in the classroom: การเรียนการสอนที่มีการประยุกต์นำเอาปัญหาและความต้องการของชุมชนเข้ามารวมไว้เป็นโจทย์ในการเรียนรู้ภายในห้องเรียน   

  • Applied research: การประยุกต์เอางานวิจัยหรือทักษะการวิจัยไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาในชุมชน

 

นอกจากนั้น Roger L. Kemp ยังได้เสนอแนวคิดที่แตกต่างไว้อย่างหลากหลายในบทความเรื่อง Town and Gown Relations: The Best Practices in the World แสดงให้เห็นถึงพลวัตในการพัฒนาเมืองบนแนวคิดของความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนและมหาวิทยาลัย อาทิ

  • อาจารย์พิเศษและแขกรับเชิญพิเศษในห้องเรียนอาจจะมาชุมชน เช่น ข้าราชการในหน่วยงานท้องถิ่น เกษตรกร หรือ ผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ในชุมชน

  • หน่วยงานท้องถิ่นสร้างพื้นที่ในการฝึกงานแก่นักศึกษา หรือ สร้างงานที่เหมาะกับนักศึกษาจบใหม่ที่อาจจะยังอยู่ในช่วงสมัครงานที่ต้องการ

  • นักศึกษาสามารถมีที่ปรึกษาด้านอาชีพที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในชุมชน ซึ่งสามารถที่จะสร้างเป็นเครือข่ายที่ปรึกษาในระดับจังหวัด

  • ชุมชนหรือแม้แต่หน่วยงานภาครัฐที่มีพื้นที่เพื่อจัดกิจกรรมอาจเปิดให้มหาวิทยาลัยเข้ามาใช้พื้นที่ในการจัดกิจกรรมที่สร้างประโยชน์ให้กับสาธารณะได้

  • เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ชุมชน และ มหาวิทยาลัย อาจจัดตั้งคณะกรรมการเมืองที่เป็นกลุ่มในการขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนาเมือง โดยทำหน้าที่เป็นผู้ทบทวนปัญหา หารือแนวทางในการแก้ปัญหา และทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากหลากหลายภาคส่วน หรือ เพื่อจัดหาทุนในการจัดทำโครงการต่อเนื่องจากแหล่งเงินทุนต่าง ๆ (ปัจจุบันในประเทศไทยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดเพื่อการพัฒนาเมือง เป็นการแต่งตั้งตามตำแหน่งในหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง มีการแต่งตั้งตัวแทนจากภาคประชาสังคม แต่สัดส่วนยังเป็นส่วนน้อย และยังไม่มีการรวมเอาบุคลากรมหาวิทยาลัยไว้ในโครงสร้าง)

การเกิดความขัดแย้งจากการให้คุณค่าหลักที่แตกต่างกันอาจสามารถหลีกเลี่ยงหรือลดความรุนแรงได้ หากชุมชนและมหาวิทยาลัยมีความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันในภาวะที่เอื้อประโยชน์แก่กัน เริ่มทำงานร่วมกัน มีจุดมุ่งหมายในการทำงานร่วมกัน และสร้างคุณค่าหลักร่วมกันในอนาคต

 

“ ต้องยอมรับว่าการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนและมหาวิทยาลัยนั้น มหาวิทยาลัยมีส่วนสำคัญในการผลักดันเป็นอย่างมาก มหาวิทยาลัยต้องใส่ใจเพียงพอกับเรื่องพื้นฐานที่มีส่วนสำคัญในการอยู่ร่วมกัน เรายังจำภาพลุงยามยืมทำมือและปากจุ๊ ๆ ใส่นักศึกษาเมื่อใช้เสียงดังพูดคุยกันระหว่างเดินออกจากประตูรั้วมหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากมหาวิทยาลัยที่เราจบมาตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีชุมชนล้อมรอบ เรายังจำภาพนักกีฬาของมหาวิทยาลัยหลายสิบคนอุ้มกระเป๋าเดินทางแทนการลาก เข้า Check – in ในหอพักนักกีฬา เนื่องจากกลัวเสียงล้อลากกระเป๋าจะดังรบกวนชุมชนรอบข้าง สุดท้ายมหาวิทยาลัยของเราตัดสินใจเปิดวิทยาเขตใหม่ เพื่อลดจำนวนนักศึกษาที่จะส่งผลกระทบและรบกวนการอยู่อาศัยของชุมชนรอบข้าง วิทยาเขตใหม่นั้น ไม่มีรั้วเลย ด้วยความตั้งใจที่จะสร้างความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับชุมชน และด้วยเหตุผลเพื่อประสิทธิภาพในการเป็นพื้นที่อพยพเมื่อเกิดภาวะวิกฤต เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม หรือ ไฟไหม้ เป็นต้น ”    

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

Bender, T. (1988). The university and the city: From medieval origins to the present. Oxford University Press: Oxford.

Martin, L. L., Hayden, S. and Wende, P. (2005). Bridging town & gown through innovative university-community partnerships. The Innovation

Journal: The Public-Sector Innovation Journal, 10(2): 1-15.

Roger L. Kemp. Town and Gown Relations: The Best Practices in the World. Retrieved  from https://patimes.org/town-gown-relations-practices-

world/ on 13 March 2019.

Philo_mediev.jpg
download (2).jpeg
methode_times_prod_web_bin_40987a56-c7dc
oxford-1.jpg
774144.jpg
784cfb043b8d1588707bb763c69da273.jpg
201609180946541-20070201100444.jpeg
bottom of page