top of page

เก็บข้อมูลด้วยเครื่องมือ

Cover Note_Research-06.png

การเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการทำงานวิจัย โดยจำเป็นต้องมีเครื่องมือที่ช่วยในการเก็บข้อมูลที่ต้องการศึกษา เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ตรงตามจุดมุ่งหมายที่ต้องการ ซึ่งโดยมีเครื่องมือพื้นฐานที่สามารถนำไปใช้ได้ หรือถ้าหากเครื่องมือที่มีอยู่นั้นไม่สามารถเก็บข้อมูลได้ตรงตามที่ต้องการ ทางนักวิจัยสามารถสร้างเครื่องมือขึ้นใหม่ได้ โดยแต่ละเครื่องมือแต่ละชนิดมีคุณลักษณะเฉพาะ มีทั้งข้อดี ข้อจำกัดที่แตกต่างกันออกไป โดยผู้วิจัยจำเป็นต้องศึกษาวิธีใช้แต่ละเครื่องมือให้ละเอียด เพื่อที่จะได้นำเครื่องมือไปใช้ได้ตรงความต้องการ เครื่องมือวิจัยที่นิยมใช้มี 5 ชนิด คือ แบบสอบถาม การสัมภาษณ์ การสังเกต แบบทดสอบ มาตราวัดเจตคติ
 

แบบสอบถาม (Questionnaire)

แบบสอบถาม เป็นเครื่องมือที่ใช้รวบรวมข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง ความสนใจ ความคิดเห็น ความรู้สึกของผู้ตอบ โดยใช้คำถามหรือข้อความเป็นสิ่งเร้าใจให้ผู้ตอบแสดงความรู้สึกออกมา แบบสอบถามที่ใช้ทั่วไปมีอยู่ 2 รูปแบบ
 

1. แบบสอบถามปลายปิด (Closed – Form) แบบสอบถามชนิดนี้จะมีข้อความพร้อมกับคำตอบมาให้เลือกคล้าย ๆ กับแบบเลือกตอบ ผู้ตอบตอบโดยกาเครื่องหมายหรือวงกลมล้อมรอบตัวเลือกที่ต้องการหรืออาจตอบในแง่ใช่หรือไม่ใช่

2. แบบสอบถามปลายเปิด (Open – Form) แบบสอบถามชนิดนี้ไม่กำหนดคำตอบไว้ แต่เปิดโอกาสให้ผู้ตอบ ตอบได้อย่างอิสระ ด้วยคำพูดของตนเอง

 

การสร้างแบบสอบถาม มีหลักการ ดังนี้

1. กำหนดขอบข่ายของเรื่องที่ต้องการจะสอบถามให้ชัดเจนและครอบคลุม
2. คำถามแต่ละข้อต้องเขียนให้ชัดเจนและเข้าใจง่าย
3. การใช้ภาษาในการตั้งคำถาม ควรใช้ภาษาง่าย ๆ และ ถูกต้องตามหลักภาษา
4. คำถามแต่ละข้อจะสั้น กะทัดรัดได้ใจความและมีความเป็นปรนัยมากที่สุด
5. คำถามต้องยั่วยุให้ผู้ตอบอยากตอบ
6. ควรตั้งคำถามชนิดที่ไม่เป็นการถามนำหรือชี้แนะคำตอบ
7. แบบสอบถามไม่ควรยาวเกินไปเพราะจะทำให้ผู้ตอบเบื่อหน่ายในการตอบ
8. คำถามควรคำนึงถึงวัย ความสามารถ ระดับการศึกษา และประสบการณ์ของผู้ตอบ
9. ควรมีคำชี้แจงวิธีการตอบแบบสอบถามและมีตัวอย่างการตอบที่ชัดเจน
10. ควรได้มีการทดลองใช้เครื่องมือเพื่อปรับปรุงข้อบกพร่องก่อนนำไปใช้จริง
11. ควรหาคุณภาพของแบบสอบถามด้านความเที่ยงตรงและความเชื่อมั่น

 

การสัมภาษณ์ (Interview)

การสัมภาษณ์ เป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเหมือนกับการสอบแบบปากเปล่า คือ ใช้การโต้ตอบวาจาเป็นหลัก ใช้ได้ดีสำหรับวัดบุคลิกภาพ การปรับตัวทัศนคติและความสนใจต่าง ๆ รูปแบบของการสัมภาษณ์ แบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ
 

1.  การสัมภาษณ์ที่มีโครงสร้างแน่นอน (Structured Interview) เป็นการสัมภาษณ์ที่มีแนวทาง แบบฟอร์ม กำหนดไว้เรียบร้อยแล้ว คือมีคำถามและคำตอบที่ให้เลือกเตรียมไว้ล่วงหน้าแล้ว
2.  การสัมภาษณ์ที่ไม่มีโครงสร้างแน่นอน (Unstructured Interview) เป็นการสัมภาษณ์ที่ไม่มีการกำหนดคำพูดหรือแบบฟอร์มตายตัว มีลักษณะเป็นคำถามแบบปลายเปิด คือ ให้ผู้ตอบตอบอย่างอิสระ ลำดับคำถามที่ใช้ถามก็เปลี่ยนแปลงยืดหยุ่นได้

 

การสัมภาษณ์ มีหลักการดังนี้

1.  ต้องมีจุดมุ่งหมายที่แน่นอน
2.  เตรียมข้อความที่จะสัมภาษณ์ไว้ให้พร้อม
3.  ควรสร้างบรรยากาศให้เป็นกันเองระหว่างผู้สัมภาษณ์กับผู้ถูกสัมภาษณ์
4.  ผู้สัมภาษณ์ต้องมีความรู้ที่ตนจะสัมภาษณ์เป็นอย่างดี
5.  ต้องมีการจดบันทึกผลการสัมภาษณ์

 

ลักษณะของการสัมภาษณ์ที่ดี จะทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริงหรือใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่สุดนั้น ต้องมีลักษณะดังนี้

1. การสัมภาษณ์ต้องเป็นการยั่วยุ หรือกระตุ้นให้ผู้ถูกสัมภาษณ์อยากจะตอบ และให้คำตอบที่คงที่พอควร คือ ถามให้ผู้ถูกสัมภาษณ์ตื่นตัวอยู่เสมอ อย่าปล่อยให้หลงผิด
2. คำถามที่ถามพยายามให้ตรงจุดที่สุด หรือเป็นคำถามที่มีความแจ่มชัดว่าผู้ถูกสัมภาษณ์ต้องการให้ตอบในแง่ไหน ไม่ควรใช้คำถามแบบกว้าง ๆ หรือถามแบบครอบจักรวาล ซึ่งจะทำให้ได้คำตอบที่ลงสรุปไม่ได้
3. คำถามควรมีความเชื่อมั่นสูง กล่าวคือ แม้จะใช้คำถามข้อเดิมถามซ้ำก็ได้คำตอบเหมือนเดิม นั่นคือ คำตอบที่ได้มาเป็นที่เชื่อถือได้ด้วย
4. ต้องใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ชัดเจน
5. คำถามไม่ควรเสนอแนะคำตอบแก่ผู้ถูกสัมภาษณ์
6. คำถามที่ใช้สัมภาษณ์ควรจะได้คำตอบที่สามารถนำไปขยายอิง (Generalized) ไปสู่เหตุการณ์ที่คล้ายคลึงได้

 

การสัมภาษณ์ มีข้อจำกัด ดังนี้

1.  ความสมบูรณ์ของข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ขึ้นอยู่กับทักษะการฝึกฝนและประสบการณ์ของผู้สัมภาษณ์ หากผู้สัมภาษณ์ไม่ได้รับการฝึกฝนดีพอ การสัมภาษณ์ก็ไร้ผล
2.  ข้อมูลที่ได้ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของผู้ถูกสัมภาษณ์และผู้สัมภาษณ์ ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ให้ความร่วมมือ การสัมภาษณ์ก็ไม่ได้ผล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ถูกสัมภาษณ์ถ้าไม่ให้ข้อมูลตามที่เป็นจริง การสัมภาษณ์ก็ไม่ได้ผล
3.  การสัมภาษณ์ต้องใช้เวลา ทุนทรัพย์ และกำลังแรงงานมาก
        

การสังเกต (Observation)

การสังเกตเป็นเครื่องมือวิจัยที่ใช้ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของบุคคล ปรากฎการณ์และพิธีการต่าง ๆ อาศัยประสาทสัมผัสโดยเฉพาะตาและหูเป็นส่วนใหญ่

การสังเกตแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1.  การสังเกตทางตรง (Direct Observation) ผู้สังเกตเป็นผู้เฝ้าดูพฤติกรรมที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง
2.  การสังเกตทางอ้อม (Indirect Observation) เป็นการสังเกตโดยอาศัยการถ่ายพฤติกรรมของผู้ถูกสังเกตอีกทางหนึ่งจากผู้อื่น หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น การถ่ายภาพ  การบันทึกเสียง

 

การสังเกตเป็นวิธีการพื้นฐาน ที่จะได้ข้อมูลมาตามที่ต้องการ ดังนั้นในการสังเกตเพื่อให้ได้ข้อมูลเชื่อถือได้ ผู้สังเกตจะต้องมีลักษณะดังนี้

1.  ต้องมีความตั้งใจ (Attention) ในการสังเกตพฤติกรรมของสิ่งใด ผู้สังเกตมีเป้าหมายที่จะสังเกตว่าจะศึกษาสิ่งใดที่ต้องสะกดใจอย่างแน่วแน่ในการสังเกตแต่สิ่งนั้น จิตไม่ไขว้เขวไปมาและจะต้องสังเกตไปทีละอย่าง อย่างถูกต้อง นอกจากนี้แล้ว ผู้สังเกตยังต้องขจัดปัญหาส่วนตัว หรือความลำเอียงส่วนตัวของตนเอง ยังต้องขจัดปัญหาส่วนตัว หรือความลำเอียงส่วนตัวของตนเองออกในระยะที่ทำการสังเกต เพื่อจะได้ข้อมูลที่เป็นจริงหรือใกล้เคียงกับความเป็นจริงได้
2.  ต้องมีประสาทสัมผัส (Sensation) ประสาทสัมผัสของผู้สังเกตต้องปกติพร้อมที่จะรับข้อมูล เช่น หูไม่หนวก หรือตาบอด หรือสภาพทางด้านร่างกายที่ต้องปกติ เพราะถ้าหากว่าสภาพร่างกายปกติแล้ว ก็จะมีผลต่อประสาทสัมผัสอยู่ในสภาพดีและว่องไวต่อการสัมผัสสิ่งที่กำลังสังเกตได้
3.  ต้องมีการรับรู้ (Perception) ในการสังเกตสิ่งที่กำลังศึกษา ผู้สังเกตจะต้องมีการรับรู้ที่ดี เมื่อรับรู้มาแล้วก็สามารถที่จะแปลความหมายออกได้อย่างรวดเร็ว และถูกต้อง

 

วิธีการสังเกตควรมีหลักดังนี้

1.  ต้องมีเป้าหมายในการสังเกตที่แน่นอนว่าจะเก็บข้อมูลอะไรบ้าง
2.  การรับรู้ต้องรวดเร็ว เพราะพฤติกรรมบางอย่างจะเกิดขึ้นเร็ว และไม่เกิดขึ้นซ้ำเดิม
3.  ต้องสังเกตอย่างละเอียดถี่ถ้วนเป็นขั้นตอนทุกขั้นตอน
4.  ต้องมีการบันทึกผลการสังเกตเพื่อบันทึกรายละเอียดกันลืม
5.  ต้องเป็นผู้มีความชำนาญในการสังเกตเรื่องนั้น ๆ
6.  การสังเกตควรใช้เครื่องมือ ประกอบด้วย เช่น แบบสอบถาม แบบตรวจสอบรายการ ผลของการสังเกตจะดีหรือไม่เพียงใด อาจขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ ต่อไปนี้

6.1 อารมณ์ (Emotion)

6.2 แรงจูงใจ (Motivation)
6.3 อคติ (Prejeudice)
6.4 ปัญญา (Mental Set)
6.5 สภาพทางด้านร่างกาย (Physical Condition)
6.7 การลงสรุป (Inference)
6.8 ความรู้สึกในคุณค่าหรือคุณธรรม (Sense of Value)

 

แบบทดสอบ (Tests)

แบบทดสอบ หมายถึง ชุดของคำถามหรือกลุ่มงานใดๆ ที่ใช้เป็นตัวเร้าให้บุคคลตอบสนองออกมา แบบทดสอบแบ่งออกเป็น 3 ชนิด

 

1. แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (Achievement Test) เป็นแบบทดสอบที่ใช้วัดความรู้ ทักษะ และ สมรรถภาพสมองด้านต่าง ๆ ที่ผู้เรียนได้รับจากประสบการณ์ทั้งปวงทั้งจากทางบ้านและสถาบันการศึกษา แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนนี้ยังแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1.1 แบบทดสอบที่ครูสร้างขึ้นเอง (Teacher Made Test) หมายถึง ชุดของคำถามที่ครูเป็นผู้สร้างขึ้น ซึ่งจะเป็นข้อคำถามที่ถามเกี่ยวกับความรู้ที่นักเรียนได้เรียนในห้องเรียนว่านักเรียนมีความรู้มากแค่ไหน บกพร่องตรงไหนจะได้สอนซ่อมเสริม หรือเตรียมความพร้อมที่จะขึ้นบทเรียนใหม่ ฯลฯ ตามแต่ที่ครูปรารถนา

1.2 แบบทดสอบที่เป็นมาตรฐาน (Standardized Test) แบบทดสอบประเภทนี้ สร้างขึ้นจากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาวิชาหรือจากครูที่สอนวิชานั้น มีคุณภาพดีพอจึงสร้างเกณฑ์ปกติ (Norm) ของแบบทดสอบนั้น สามารถใช้เป็นหลักและเปรียบเทียบผลเพื่อประเมินค่าของการเรียนการสอนในเรื่องใด ๆ ก็ได้ ข้อสอบมาตรฐานนอกจากจะมีคุณภาพของแบบทดสอบสูงแล้ว ยังมีมาตรฐานในด้านวิธีดำเนินการสอบ คือ ไม่ว่าโรงเรียนใด หรือส่วนราชการใดจะนำไปใช้ต้องดำเนินการสอบ บอกถึงวิธีการสอบว่าทำอย่างไร และยังมีมาตรฐานในด้านการแปลคะแนนด้วย

 

แบบทดสอบทั้งสองแบบที่กล่าวมามีวิธีการในการสร้างข้อคำถามเหมือนกัน คือ จะเป็นคำถามวัดเนื้อหาและพฤติกรรมที่ได้สอนนักเรียนไปแล้ว สำหรับพฤติกรรมที่ใช้วัดจะเป็นพฤติกรรมที่สามารถตั้งคำถามวัดด้านสติปัญญา ควรวัดพฤติกรรม ความรู้ – ความจำ ความเข้าใจการนำไปใช้ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และการประเมินค่า

 

2. แบบทดสอบวัดความถนัดหรือตัวเชาวน์ปัญญา (Aptitude Test) เป็นแบบทดสอบที่ใช้วัดศักยภาพระดับสูงสุดของบุคคลว่ามีสมรรถภาพในการเรียนรู้มากน้อยเพียงใด และควรเรียนด้านใดหรือทำงานด้านใด จึงจะประสบความสำเร็จอย่างดี แบบทดสอบประเภทนี้ อาจแบ่งย่อยได้เป็น 2 ประเภท คือ แบบทดสอบความถนัดในการเรียน (Scholastic Aptitude Test) และแบบทดสอบความถนัดจำเพาะ (Specific Aptitude Test) ซึ่งนักวัดผล แบ่งกลุ่มความถนัดเป็น 7 ด้าน คือ

2.1. ความถนัดด้านภาษา (Verbal Factor)

2.2 ความถนัดในการใช้คำ (Word Fluency Factor)

2.3 ความถนัดด้านตัวเลข (Number Factor)

2.4 ความถนัดด้านมิติสัมพันธ์ (Space Factor)

2.5 ความถนัดด้านความจำ (Memory Factor)

2.6 ความถนัดด้านการสังเกตรับรู้ (Perception Factor)

2.7 ความถนัดด้านการใช้เหตุผล (Reasoning Factor)

3.  แบบทดสอบวัดความสัมพันธ์ของบุคคลต่อสังคม แบบทดสอบประเภทนี้ จะวัดเกี่ยวกับบุคลิกภาพหรือการปรับปรุงตนของบุคคลในสังคม วัดความสนใจต่อสิ่งต่าง ๆ แบบทดสอบประเภทนี้มักอยู่ในรูปของแบบสอบถามวัดลักษณะของบุคคล เช่น แบบทดสอบความเกรงใจ แบบทดสอบความคิดสร้างสรรค์ แบบสำรวจความสนใจต่าง ๆ เป็นต้น

      การวางแผนสร้างแบบทดสอบ ผู้วิจัยควรกำหนดการสร้างแบบทดสอบ ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้

3.1 กำหนดวัตถุประสงค์ในการศึกษา ขั้นนี้เป็นการวางโครงการล่วงหน้าว่าการวิจัยนั้นต้องการศึกษาอะไร กับใคร และ ศึกษาเพื่ออะไร

3.2 กำหนดลักษณะของแบบทดสอบที่จะใช้ ขั้นนี้เป็นการกำหนดรูปแบบของแบบทดสอบที่จะใช้ในการวิจัย โดยกำหนดว่าจะใช้แบบทดสอบประเภทใด จึงจะสอดคล้องกับคุณลักษณะที่ต้องการศึกษา จำนวนข้อควรมีเท่าใด และเวลาที่ใช้ควรเป็นเท่าใด จึงจะเหมาะสม

3.3 การสร้างแบบทดสอบ ขั้นนี้เป็นการพิจารณาว่าคุณลักษณะที่ต้องการศึกษานั้น มีองค์ประกอบของพฤติกรรมใดบ้าง โดยต้องคำนึงว่าตัวข้อสอบหรือแบบทดสอบนั้นเป็นเพียงตัวแทนของพฤติกรรมทั้งหมด ดังนั้นจึงต้องใช้วิจารณญาณอย่างดี ในการพิจารณาเลือกตัวแทนพฤติกรรมแต่ละองค์ประกอบที่นำมาสร้างเป็นแบบทดสอบ

3.4 การประเมินคุณภาพของแบบทดสอบ ขั้นนี้เป็นการตรวจสอบดูว่าพฤติกรรมต่างๆ ที่นำมาสร้างเป็นแบบทดสอบนั้น เป็นตัวแทนที่ดีหรือไม่ ครอบคลุมพฤติกรรมทั้งหมดหรือไม่ โดยตรวจสอบถึงคุณภาพที่สำคัญๆ ต่อไปนี้

           3.4.1 ความเที่ยงตรง (Validity) เป็นการตรวจสอบว่าแบบทดสอบนั้น วัดตรงตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่

           3.4.2 ความเชื่อมั่น (Reliability) เป็นการตรวจสอบดูว่า ผลของการวัดจากแบบทดสอบนั้น มีความคงที่แน่นอนมากน้อยเพียงใด

         3.4.3 ความเป็นปรนัย (Objective) เป็นการตรวจสอบดูว่า คำถามหรือสิ่งที่ถามในแบบทดสอบนั้นมีความชัดเจนดีพอหรือไม่ ระบบการให้คะแนนและการแปลความหมายคะแนนนำไปใช้ได้ตรงกันทั่วไปได้หรือไม่ นอกจากนั้นแบบทดสอบบางประการอาจต้องตรวจสอบคุณภาพด้านอื่นด้วย เช่น อำนาจจำแนก ความยากง่าย ประกอบด้วย

 

มาตราวัดเจตคติ (Attitude Scale)

มาตราวัดเจตคติ  เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลทางด้านความรู้สึกของบุคคลที่มีต่อสิ่งต่างๆ อันเป็นผลเนื่องมาจากการเรียนรู้ ประสบการณ์ และเป็นตัวกระตุ้นให้บุคคลแสดงพฤติกรรมต่อสิ่งต่างๆ ไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นไปในทางสนับสนุนหรือทางคัดค้านก็ได้ มาตราวัดเจตคติที่ใช้ในการวิจัยมีอยู่หลายชนิด แต่ที่นิยมใช้กัน คือ วิธีของลิเคิร์ท และวิธีใช้ความหมายทางภาษา

1. วิธีของลิเคิร์ท (Likert)  วิธีนี้กำหนดช่วงความรู้สึกของคนเป็น 5 ช่วง หรือ 5 ระดับ คือ เห็นด้วยอย่างยิ่ง เห็นด้วย เฉย ๆ ไม่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ข้อความที่บรรจุในมาตราวัดประกอบด้วย ข้อความที่แสดงความรู้สึกต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดทั้งในทางที่ดี ( ทางบวก ) และ ในทางที่ไม่ดี ( ทางลบ ) และมีจำนวนพอ ๆ กัน ข้อความเหล่านี้อาจมีประมาณ 18 – 20 ข้อความ  การกำหนดน้ำหนักคะแนนการตอบแต่ละตัวเลือกกระทำภายหลังจากที่ได้รวบรวมข้อมูลมาแล้ว โดยกำหนดตามวิธี Arbitary Weighting Method ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมใช้มากที่สุด การสร้างมาตราวัดเจตคติตามวิธีของลิเคิร์ท มีขั้นตอนดังนี้

1.1 ตั้งจุดมุ่งหมายของการศึกษาว่าต้องการศึกษาเจตคติของใคร ที่มีต่อสิ่งใด

1.2 ให้ความหมายของเจตคติต่อสิ่งที่จะศึกษานั้นให้แจ่มชัด เพื่อให้ทราบว่าสิ่งที่เป็น Psychological Object นั้น ประกอบด้วยคุณลักษณะใดบ้าง

1.3 สร้างข้อความให้ครอบคลุมคุณลักษณะที่สำคัญ ๆ ของสิ่งที่จะศึกษา ให้ครบถ้วนทุกแง่ทุกมุม และต้องมีข้อความที่เป็นไปทางบวก และ ทางลบมากพอกัน ตัวอย่างข้อความทางบวก เช่น วิชาวิจัยทำให้คนมีเหตุผล ตัวอย่างข้อความทางลบ เช่น วิชาวิจัยเป็นวิชาที่น่าเบื่อ

1.4 ตรวจสอบข้อความที่สร้างขึ้น ซึ่งทำได้โดยผู้สร้างข้อความนำไปให้ผู้มีความรู้ในเรื่องนั้น ๆ ตรวจสอบ โดยพิจารณาในเรื่องของความครบถ้วนคุณลักษณะของสิ่งที่ศึกษา และความเหมาะสมของภาษาที่ใช้ ตลอดจนลักษณะการตอบกับข้อความที่สร้างว่าสอดคล้องกันหรือไม่เพียงใด เช่น พิจารณาว่า ควรจะใช้คำตอบว่า “ เห็นด้วยอย่างยิ่ง , เห็นด้วย , เฉย ๆ , ไม่เห็นด้วย ,ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ” หรือ “ ชอบมากที่สุด , ชอบมาก , ปานกลาง , ชอบน้อย , ชอบน้อยที่สุด ”  เป็นต้น

1.5 ทำการทดลองขั้นต้นก่อนที่จะนำไปใช้จริง โดยการนำข้อความที่ได้ตรวจสอบแล้วไปทดลองใช้กับกลุ่มตัวอย่างจำนวนหนึ่ง เพื่อตรวจสอบความชัดเจนของข้อความและภาษาที่ใช้อีกครั้งหนึ่ง และ เพื่อตรวจสอบคุณภาพด้านอื่น ๆ ได้แก่ ความเที่ยงตรง ค่าอำนาจจำแนกและค่าความเชื่อมั่นของมาตราวัดเจตคติทั้งชุดด้วย

1.6 กำหนดการให้คะแนนการตอบของแต่ละตัวเลือก โดยทั่วไปนิยมใช้ คือ กำหนดคะแนนเป็น 5 4 3 2 1 ( หรือ 4 3 2 1 0) สำหรับ ข้อความทางบวก และ 1 2 3 4 5 ( หรือ 0 1 2 3 4) สำหรับข้อความทางลบ ซึ่งกำหนดแบบนี้เรียกว่า Arbitary Weighting Method ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวกมากในทางปฏิบัติ

2. วิธีของออสกูด (Osgood) วิธีนี้ผู้คิด คือ ออสกูด (Osgood) เป็นการสร้างแบบวัดความแตกต่างเชิงความหมาย (Semantic Differential Scale) ส่วนมากเป็นการสร้างเพื่อศึกษา เจตคติและความคิดเห็นเช่นเดียวกับของลิเคอร์ท เป็นการใช้คำคุณศัพท์มาอธิบายความหมายของสิ่งเร้า ที่เรียกว่า Concept คำคุณศัพท์ที่ใช้อธิบายคุณลักษณะของสิ่งเร้ามี 3 องค์ประกอบ คือ

2.1 องค์ประกอบด้านประเมินค่า (Evaluation Factor) เป็นองค์ประกอบที่แสดงออกด้านคุณค่า คำคุณศัพท์ที่ใช้อธิบาย เช่น  ดี - เลว สุข - ทุกข์ ฉลาด - โง่ สวย - ขี้เหร่ จริง - เท็จ เป็นต้น

2.2  องค์ประกอบด้านศักยภาพ (Potency Factor) เป็นองค์ประกอบที่แสดงออกทางกำลังอำนาจ คำคุณศัพท์ที่ใช้ในการอธิบาย ในองค์ประกอบนี้ เช่น  แข็งแรง - อ่อนแอ หนัก - เบา หยาบ - ละเอียด ใหญ่ – เล็ก แข็ง - นุ่ม เป็นต้น

2.3 องค์ประกอบทางด้านกิจกรรม (Activity  Factor) เป็นองค์ประกอบที่แสดงออกถึงลักษณะของกิริยาอาการ คำคุณศัพท์ที่ใช้ในการอธิบายในองค์ประกอบนี้ เช่น  เร็ว - ช้า เฉื่อยชา - กระตือรือร้น ขยัน - ขี้เกียจ อึกทึก - เงียบ ร้อน - เย็น เป็นต้น

 

การสร้างเครื่องมือวัดโดยวิธีออสกูด มีหลักเกณฑ์ ดังนี้

1. วิธีการเลือก Concept  มีดังนี้

1.1 พยายามเลือก Concept ที่เข้าใจตรงกัน มีความหมายเดียวกัน    

1.2 พยายามเลือก Concept ที่ให้ผู้ตอบแล้วมีความแปรปรวนระหว่างบุคคลมากๆ

1.3 พยายามเลือก Concept ที่ผู้ตอบมีความคุ้นเคย

1.4 พยายามเลือก Concept ให้ครอบคลุมตัวแทนของประชากรของ Concept

2.  นำคำคุณศัพท์แต่ละคู่มาสร้างเป็นมาตรวัดโดยแบ่งช่วงของมาตรวัดออกเป็น 5 หรือ 7 หรือ 9 ช่วงก็ได้ แต่ที่นิยมกันใช้ 7 ช่วง เช่น ท่านคิดว่าบริการของสถาบันการพลศึกษาวิทยาเขตชุมพรโดยทั่วไปเป็นอย่างไร

#theTSISThailand

อ้างอิง

https://sites.google.com/site/wichakarwicaythangkarsuksa/khea-su-bth-reiyn/hnwy-thi-6-kar-keb-rwbrwm-khxmul-laea-kheruxng-mux-thi-chi-ni-kar-wicay-1/laksna-kheruxng-mux-sahrab-keb-rwbrwm-khxmul

bottom of page