NURTURE ONE RESEARCHER AT A TIME.
"การท่องเที่ยว ความเสี่ยง และการบริหารความเสี่ยง"
ดร.ศิญาณี หิรัญสาลี
ถ้ำเพื่อการท่องเที่ยว หรือ ถ้ำที่เปิดโอกาสให้เข้าเยี่ยมชมได้ (Show cave) เป็นหนึ่งในประเภทของสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม ถ้ำเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความเปราะบางอย่างมากจึงจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่หน่วยงานรับผิดชอบชี้แนะไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันผลกระทบทางลบที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ส่วนที่เปราะบาง ในขณะเดียวกันก็จะต้องมีการบริหารจัดการเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายใด ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้เยี่ยมชมด้วย
เมื่อกล่าวถึงการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวประเภทถ้ำนั้น จะพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ 4 ปัจจัย คือ
1) การสำรวจทางวิทยาศาสตร์ - เพื่อทราบถึงประเภทและลักษณะทางเคมีของถ้ำ รวมไปถึงเส้นทางในการเดินทางเข้าไปเพื่อเยี่ยมชมที่มีความปลอดภัย และ/หรือ เส้นทางต้องห้าม
2) ศิลปะ - เพื่ออธิบายรูปแบบความงามตามลักษณะจำเพาะของถ้ำต่าง ๆ เส้นทางที่จะสามารถมองเห็นความสวยงามของถ้ำมากที่สุด
3) เทคโนโลยี - เพื่อการติดตั้งอุปกรณ์ทางเดิน เสริมความแข็งแรงของถ้ำ ระบบระบายน้ำ และแสงไฟที่เหมาะสมต่อการเข้าเยี่ยมชมแต่ไม่สร้างผลกระทบทางลบแก่สิ่งแวดล้อมในถ้ำ เป็นต้น
4) การบริหารจัดการ - เพื่อสร้างความสมดุลของรายได้ที่สร้างจากการเป็นแหล่งท่องเที่ยว การอนุรักษ์และบำรุงรักษาพื้นที่ถ้ำ การจำกัดจำนวนผู้เยี่ยมชม ป้ายแสดงเส้นทางและรายละเอียดภายในถ้ำ แสงสว่างที่ใช้ภายในถ้ำ (Arrigo A. Cigna, 2016)
สำหรับรูปแบบของความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ในกิจกรรมสำรวจและเที่ยวถ้ำนั้น อาจเกิดได้จาก . . .
1) การบาดเจ็บจากการลื่นล้มหรือพื้นผิวถ้ำที่แหลมคม
2) จมน้ำหรือติดอยู่ในพื้นที่ถ้ำเนื่องจากน้ำท่วมเฉียบพลัน
3) หินถล่มจากแผ่นดินไหวหรือเหยียบไปบนพื้นผิวที่พร้อมจะถล่ม
4) การเสียน้ำจากความร้อนในกรณีที่เดินทางในอากาศที่ร้อนอบอ้าวใต้แสงอาทิตย์เวลากลางวัน
5) ภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำ (Hypothermia) ในถ้ำที่มีอุณหภูมิต่ำที่มักจะทำให้ร่างกายเปียกชื้น
6) หลงทางจากความไม่ชำนาญในการดูแผนที่ สัญญาณ GPS ขาดหาย หรือ พลัดจากกลุ่มใหญ่
7) อ่อนเพลียและเคลื่อนไหวช้าจากการได้รับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศที่มีอยู่สูงในพื้นที่ถ้ำ
8) สัตว์มีพิษที่อาศัยอยู่บริเวณถ้ำ กัด ต่อย หรือ โรคที่เกิดจากเชื้อรา (Histoplasmosis) (ASF, 2007)
ถ้ำหลวง เป็นถ้ำหินปูนขนาดใหญ่ พื้นที่ถ้ำส่วนใหญ่ยัง active คือ มีการไหลผ่านของน้ำ ถ้ำหลวงอยู่ในการดูแลของวนอุทยาน
ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดอยนางนอน ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ค่อนข้างน้อย หากมีคณะนักเรียนหรือผู้มาเยือนเป็นกลุ่มใหญ่ จะมีการประสานไปทางชาวบ้าน เพื่อช่วยมาทำหน้าที่ไกด์ท้องถิ่น และหากนักท่องเที่ยวมีความประสงค์จะเดินเที่ยวเอง ทางเจ้าหน้าที่ก็อนุญาต ซึ่งในส่วนของแผนการพัฒนาและบริหารจัดการถ้ำนั้นถูกระบุไว้ว่า “ยังไม่มี” (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2561)
ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า ถ้ำหลวงจะปิดไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปชมพื้นที่ถ้ำ ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นฤดูฝน และจะเปิดให้เข้าชมได้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึง เมษายน เนื่องจากน้ำจะไหลเข้ามาท่วมภายในถ้ำ ซึ่งจะทำให้ไม่ปลอดภัย และจากการสอบถามเจ้าหน้าที่ของวนอุทยานฯ พบว่านักท่องเที่ยวจะมาเที่ยวชมถ้ำส่วนมากเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ (ข่าวสด, 2561)
จากการทำวรรณกรรมปริทัศน์เพื่อหาเอกสารหรือคู่มือในการบริหารจัดการความเสี่ยงของสถานที่ท่องเที่ยวถ้ำนั้น พบว่า มีข้อมูลที่สามารถนำมาอ้างอิงและเชื่อถือได้น้อยมาก ในเดือนพฤษภาคม ปี 2561 กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้จัดทำแผนบริหารความเสี่ยง ซึ่งเป็นแผนบริหารความเสี่ยงในระดับองค์กร 4 ด้าน ได้แก่
1) ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ (Strategic Risk)
2) ความเสี่ยงด้านการดำเนินงาน (Operation Risk)
3) ความเสี่ยงด้านการเงิน (Financial Risk)
4) ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติงานตามกฎหมาย/กฎระเบียบ (Compliance Risk)
(กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, 2561)
การบริหารความเสี่ยงในการท่องเที่ยวต้องครอบคลุมทั้ง
(1) ความเสี่ยงที่อาจเกิดกับทรัพยากรและพื้นที่ต่อเนื่องของสถานที่ท่องเที่ยว
และ (2) ความเสี่ยงที่อาจเกิดกับผู้เยี่ยมชม
ในแผนบริหารความเสี่ยงที่จัดขึ้นโดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีการรวบรวมเอาแผนงานบูรณาการการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและบริการอยู่ด้วย ซึ่งเป็นแผนที่กล่าวถึงการจัดการสถานที่ท่องเที่ยว แต่ยังไม่มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดูแลความปลอดภัยของผู้เยี่ยมชม ซึ่งเป็นการจัดทำแผนที่อาจมีหน่วยงานที่เข้ามามีส่วนร่วมหลายหน่วยงาน เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และ หน่วยงานอื่น ๆ
โดยในแผนการบริหารความเสี่ยงนั้นมีขั้นตอนในการดำเนินการครอบคลุมถึง
(1) การระบุชี้ความเสี่ยง
(2) การประเมินความเสี่ยง
(3) การกำหนดมาตรการเพื่อตอบรับความเสี่ยง และ
(4) การติดตามผลจากมาตรการที่ระบุไว้
องค์ความรู้ที่เกี่ยวกับการจัดการพื้นที่ถ้ำและการจัดการกิจกรรมท่องเที่ยวในพื้นที่ถ้ำนั้นยังมีจำกัด ซึ่งโดยมากองค์ความรู้ต่าง ๆ นั้นจะอยู่ที่ตัวบุคคล ยังไม่มีการสร้างคลังความรู้อย่างเป็นระบบ รวมไปถึง องค์ความรู้ในเรื่องของการจัดการภัยพิบัติและกู้ภัยในพื้นที่ถ้ำ บทบาทและแนวทางของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยกู้ภัย เจ้าหน้าที่วนอุทยาน หรือ แม้กระทั่งสื่อสารมวลชน ฯลฯ ในการร่วมมืออย่างบูรณาการเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน
ผู้เขียนจึงขอนำเสนอหัวข้อวิจัยในอนาคตบางส่วนที่จะสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการพื้นที่ถ้ำในประเทศไทยได้มากขึ้น และช่วยหลีกเลี่ยงความเสี่ยงและผลกระทบต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับพื้นที่ถ้ำ ผู้เข้าชม และผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ ซึ่งมีตัวอย่างหัวข้อวิจัย ดังต่อไปนี้
- การพัฒนาระบบบันทึกข้อมูลทางภูมิศาสตร์และเส้นทางสำรวจของถ้ำเพื่อการท่องเที่ยว
- การศึกษาเพื่อรวบรวมวิธีการวางแผนและเตรียมตัวเพื่อกิจกรรมสำรวจและท่องเที่ยวถ้ำ
- การวิเคราะห์และกำหนดบทบาทและหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการการท่องเที่ยวถ้ำ
- การจัดทำแผนการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อเสริมความปลอดภัยในการสำรวจและท่องเที่ยวถ้ำ
- การศึกษาและพัฒนาการสร้างอุปกรณ์เพื่อช่วยเหลือในการค้นหาผู้สูญหายในพื้นที่ถ้ำ
- การวิเคราะห์ความเสี่ยงในกิจกรรมสำรวจและท่องเที่ยวถ้ำในประเทศไทย และแนวทางในการพัฒนาคู่มือเพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงเมื่อเกิดภัยต่าง ๆ · การปรับเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติของสื่อมวลชนระหว่างและหลังการเกิดภัยพิบัติ
Keyword: ถ้ำหลวง การบริหารจัดการความเสี่ยง การจัดการพื้นที่ถ้ำ การท่องเที่ยว
illustration by Sirada Visessiri
อ้างอิง
Arrigo A. Cigna. (2016). Tourism and Show cave. Retrieved from https://www.researchgate.net/profile/Arrigo_Cigna/publication/304908134_Tourism_and_show_caves/links/5a2f9738aca2726d0bd6ed8c/Tourism-and-show-caves.pdf
ASF. (2007). Risk Management Policy for Member Activities. Retrieved from http://www.caves.org.au/component/jdownloads/send/19-cave-slarm/28-asf-risk-management-guidelines
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช .(2561). สืบค้นจาก http://www.dnp.go.th/info_office/เล่มแผนความเสี่ยงปี61.pdf ข่
าวสด. (2561). สิบค้นจาก https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_1258612
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2559). สืบค้นจาก http://www.onep.go.th/thailandnaturalsites/resourcedetail.php?geo_code=CR1&resourcetypecode=5
Photo
ปิดป้ายห้ามเข้า ‘ถ้ำพระยาปราบ’ ช่วงหน้าฝน หวั่นซ้ำรอยถ้ำหลวง https://workpointnews.com/2018/06/28/%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%9B%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2-%E0%B8%96%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0/
3 ถ้ำห้ามเที่ยวช่วงหน้าฝน อันตรายเหมือนถ้ำหลวง! https://www.thairath.co.th/content/1319271https://www.thairath.co.th/content/1319271
‘ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน’ ย้อนตำนาน หุบเขาแห่งรักที่แสนเศร้า https://travel.mthai.com/region/183730.html
ชุมพร ชู 'ถ้ำธารน้ำลอดใหญ่' เป็นแหล่งท่องเที่ยว-จัดรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ https://www.thairath.co.th/content/605075https://www.thairath.co.th/content/605075
สารพัด Fake News ในประเด็น 13 ชีวิตติดถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน https://themomentum.co/fake-news-regarding-13-trapped-in-tham-luang-caves/