top of page

เห็นอะไร ในป้ายหาเสียง

Paper_ป้ายหาเสียง-01.png

ป้ายหาเสียงที่เราพบเห็นทุกวันนั้น นอกจากนโยบาย ข้อความต่าง ๆ รูปภาพผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ภาพหัวหน้าพรรค และภาพอื่น ๆ เราในฐานะประชาชนที่พบเห็นทุกวันสามารถมองเห็นอะไรได้เพิ่มเติมอีกบ้างในป้ายหาเสียง

 

ผู้สำรวจได้สำรวจป้ายหาเสียงในพื้นที่ตามถนนสายหลักของ ต.ท่าทราย อ.เมือง จ.นนทบุรี (ถนนติวานนท์ ถนนสามัคคี และถนนประชาชื่น) หรือพื้นที่เขตเลือกตั้งที่ 1 นนทบุรี จำนวน 476 ป้ายหาเสียง มีจำนวน 6 ป้ายที่พรรคไม่ส่งรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่มีป้ายหาเสียงในเขตเลือกตั้งคือพรรคพลังประชาชาติไทย และจากรายชื่อผู้สมัครจำนวน 28 คนจาก 28 พรรคพบว่ามีป้ายหาเสียงเพียง 18 พรรคในถนนเส้นหลักของต.ท่าทราย (สำรวจในวันที่ 7 มี.ค. 2562) จากการสำรวจเราพบเห็นอะไรบ้าง

เริ่มจากสำรวจพบ 5 อันดับพรรคที่มีจำนวนป้ายหาเสียงมากที่สุด

- พรรคเสรีรวมไทย          18.09 % (85 ป้ายหาเสียง)

- พรรคภูมิใจไทย            15.11 % (71 ป้ายหาเสียง)

- พรรคเพื่อไทย               11.49 % (54 ป้ายหาเสียง)

- พรรคพลังประชารัฐ       10.64 % (50 ป้ายหาเสียง)

- พรรคประชาธิปัตย์          7.87 % (37 ป้ายหาเสียง)

และพบป้ายหาเสียงที่วางกีดขวางทางเดินเท้ามีจำนวน 5.4 % (26 แผ่นป้ายหาเสียง)

 

1. เห็นงบประมาณ

จากจำนวนแผ่นป้ายหาเสียงที่พบทั้ง 476 แผ่นนั้น มีขนาดตามมาตรฐานป้ายหาเสียงตามที่ กกต. กำหนด  คือ 130x245 ซม. หากนำป้ายหาเสียงทั้ง 476 แผ่นนั้นมาเรียงต่อกันจะมีขนาดยาวถึง 116,620 ซม. หรือ 1.166200 กิโลเมตร เท่ากับระยะทางในการเดินจากท่าพระจันทร์ ไปยัง ท่าพระอาทิตย์

 

 

การสำรวจครั้งนี้สำรวจบนถนนสามัคคี ถนนติวานนท์ และถนนประชาชื่น ระยะทาง 11.2 กิโลเมตร ซึ่งเฉลี่ยแล้วจะพบป้ายหาเสียงได้ 1 ป้ายในทุก ๆ 23 เมตร

ราคาป้ายหาเสียงพร้อมราคาติดตั้ง จากการสัมภาษณ์ราคากลางอยู่ที่ป้ายละ 300 บาท (ในกรณีสั่งเกิน 1,000 ป้าย) ป้ายหาเสียงจำนวน 476 ป้ายที่พบนี้จึงอาจมีมูลค่าถึง 142,800 บาท หรือ เทียบได้กับ….

- เงินเดือนขั้นต่ำ 9 เดือนครึ่ง

- ค่าอาหารกลางวันนักเรียนตามงบประมาณที่ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำหนดให้ 7,140 คน

- ค่าหน้ากาก N95 ได้ 4,080 ชิ้น

- ราคาขุดลองคูคลองและกำจัดวัชพืชในคลองที่กว้าง 4 เมตร ยาว 13,185 เมตร

ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีถนนสายสำคัญประมาณ 4,700 กิโลเมตร (4,700,000 เมตร) ตามรายงานของกองนโยบายและแผนงาน สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร จึงอนุมานได้ว่าป้ายหาเสียงทั่วกรุงเทพฯ อาจมีมากถึง 204,348 แผ่น รวมมูลค่ากว่า 61,304,400 บาท หรืออาจเทียบได้กับ…  

- จ่ายเบี้ยยังชีพช่วยเหลือคนพิการได้ 76,631 คน

- เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุช่วงวัย 60 – 69 ได้ 102,174 คน

- จัดซื้อรถโดยสารประจำทางที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (NGV) พร้อมซ่อมแซมและบำรุงรักษาได้ถึง 9 คัน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

2. เห็นขยะ

หากมีป้ายหาเสียงจำนวน 204,348 แผ่นทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยอนุมาน ย่อมหมายถึง ทั่วพื้นที่จะมีป้ายหาเสียงที่ผลิตจากไวนิลจำนวนมหาศาล ซึ่งก็คือ พลาสติกหรือโพลีเมอร์สังเคราะห์ชนิดหนึ่ง (นิยมใช้โพลิเอสเตอร์ Polyester) และหากเมื่อพ้นช่วงเลือกตั้งไปแล้ว อาจต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการกำจัดขยะที่เกิดจากแผ่นป้ายหาเสียง แต่ถ้าหากเรานำขยะมาแปรรูปให้เป็นของที่นำกลับมาใช้เราอาจจะได้ของใช้ต่าง ๆ ดังนี้…

- ทำผ้าม่านห้องน้ำได้จำนวน 200,879 ผืน (180x180 ซม.)

- ทำกระเป๋าแปรรูปจากไวนิลได้ถึง 308,167 ใบ

- ทำผ้ากันเปื้อนได้ 971,415 ผืน

* ส่วนโครงไม้ เราเสนอให้ใช้เพื่อสร้างบ้านสุนัขจรจัด ซ่อมแซมพื้นที่จอดวินมอร์เตอร์ไซ หรือ ใช้ค้ำยันต้นไม้ในสวนสาธารณะ

 

*หากกำจัดขยะป้ายหาเสียงหรือไวนิลโดยการเผาจะนำมาสู่การปล่อยกรดไฮโดรคลอริกหรือกรดเกลือ ซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบหายใจได้

3. เห็นท่าที

เมื่อเราผ่านป้ายหาเสียงและหยุดพิจารณาเพื่ออ่านหรือเห็นผ่านสายตา จะพบว่า โดยทั่วไปมักจะเจอกับข้อมูลจำนวนมาก อาจทำให้ลายตาได้ ทั้งนโยบายและข้อความอื่น ๆ ที่ปรากฏบนป้าย แต่มีสิ่งหนึ่งที่เป็นจุดเด่นโดยไม่ต้องมีข้อความอธิบายคือ “ท่าที” ของผู้สมัครที่ปรากฏอยู่บนแผ่นป้ายหาเสียง ทั้งท่าทางการยิ้ม หรือลักษณะการยืน จากการสำรวจพบว่า

- ท่าทางที่เป็นที่ยอดฮิตของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งคือ ยืนตรง และหน้านิ่งในลักษณะคล้ายกับการถ่ายภาพติดบัตร พบว่ามีจำนวน 29 %

- มี 24 % ของผู้สมัครที่ยืนเอียงข้างบนป้ายหาเสียง

- การยิ้มของผู้สมัครในป้ายหาเสียงมีเพียง 10 % ที่ผู้ลงสมัครยิ้มเห็นฟัน และยิ้มไม่เห็นฟัน 20 %

- ท่าทางของการยกมือกอดอก 12 %

- พบว่ามีเพียง 5 % (พรรคพลังชาติไทยและพรรคภูมิใจไทย) เท่านั้นที่ผู้สมัครใช้ท่าทางการยกมือไหว้ระดับอก

 

ท่าทีหรือท่าทางของผู้สมัครที่เลือกแสดงออกผ่านป้ายหาเสียงนับว่าเป็นอวัจนภาษาหรือภาษาท่าทางที่ไม่ต้องเปล่งวาจาหรือให้เขียนอธิบายเพิ่มเติมเพราะมนุษย์เรามีพฤติกรรมการตีความจากภาษาท่าทางด้วยตนเอง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

4. เห็นวาจา

เมื่อเราได้ “เห็น” งบประมาณ ขยะ ท่าที ที่แอบซ่อนอยู่ ย่อมมองเห็นสิ่งที่แต่ละพรรคต้องการให้เห็นมากที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ ในการจัดทำป้ายหาเสียงคือ “นโยบาย” ของพรรค  จากการสำรวจพบว่าพรรคการเมืองโดยส่วนใหญ่นิยมใช้วัจนกรรมดังนี้

- วัจนกรรมกลุ่มผูกมัด หรือการใช้ถ้อยคำที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อบอกให้ผู้ฟัง หรือประชาชนที่กำลังจะลงคะแนนเสียงเลือกตั้งรับทราบว่าผู้พูดคือพรรคการเมืองของตนจะกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อผู้ฟังในอนาคต เช่น การสัญญา หรืออาสา พบว่ามี 56 % หรือจำนวน 10 พรรค ตัวอย่างถ้อยคำกลุ่มผูกมัด “ยกเลิก….” “เพื่อให้คนไทย….”

- วัจนกรรมกลุ่มชี้นำ หรือถ้อยคำที่พรรคการเมืองเลือกใช้เพื่อจุดหมายต้องการให้ผู้ฟังกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งตามความประสงค์ของผู้พูด เช่น การเชิญชวน การแนะนำ หรือการขอร้อง พบว่ามี 28 % หรือจำนวน 5 พรรค ตัวอย่างของถ้อยคำในกลุ่มชี้นำในป้ายหาเสียง “เลือก…” “จะไม่ยอม….” “หยุด…”

- วัจนกรรมกลุ่มแสดงความรู้สึก พรรคที่ใช้วัจนกรรมกลุ่มนนี้มีจุดมุ่งหมายแสดงความรู้สึกผ่านถ้อยคำเพื่อแสดงสภาวะทางอารมณ์ ความรู้สึก รวมถึงทัศนคติของผู้พูดที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ เช่น การเตือน พบว่ามี 11 % หรือจำนวน 2 พรรค ตัวอย่างของถ้อยคำแสดงความรู้สึก “ถึงเวลา……เปลี่ยน”

- วัจนกรรมกลุ่มบอกกล่าว หรือการใช้ถ้อยคำที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อบอกข่าวสารและข้อเท็จจริงต่าง ๆ พรรคต้องการจะบอกเล่าข้อมูลที่ประชาชนยังไม่รู้ หรือบอกข้อมูลที่คาดว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้ฟัง เช่น การบรรยาย พบว่ามีจำนวน 5% หรือ 1 พรรคที่ใช้วัจนกรรมกลุ่มบอกกล่าว

TSIS เห็นแบบนี้ ผู้อ่านเห็นแบบไหน เข้ามาแลกเปลี่ยนกันได้เลยนะคะ

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

Admin. (2560). TYPES OF VINYL. สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม, 2562, จาก http://www.d-conceit.com/types-of-vinyl/

บุญโชค เขียวมา. (2551). การศึกษาวัจนกรรมบนป้ายหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการ. กรุงเทพมหานครฯ ปี 2547. 

(สารนิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, บัณฑิตวิทยาลัย, สาขาวิชาภาษาศาสตร์การศึกษา. สืบค้นจาก

http://thesis.swu.ac.th/swuthesis/Ed_Lin/Boonchoke_K.pdffbclid=IwAR021cI5HoDSFzqzdAzH2QnsSsQTcC8_1zsTO_l5JlvOTMdyNgCJbtpaWIA

สุมิตร คุณานุกร. (2524). ภาษาท่าทาง(พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพฯ: ภาควิชาอุดมศึกษาคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ.

Paper_ป้ายหาเสียง-03.png
Paper_ป้ายหาเสียง-05.png
Paper_ป้ายหาเสียง-02.png
Paper_ป้ายหาเสียง2-01.png
Paper_ป้ายหาเสียง-04.png
Paper_ป้ายหาเสียง2-02.png
bottom of page