NURTURE ONE RESEARCHER AT A TIME.
100 ปี Gantt Chart
ตารางที่อยู่ในทุกวิจัย
“แบงค์ ช่วยสรุปแผนการดำเนินงานตรงนี้เป็น Gantt Chart ให้พี่หน่อย” .....
..... เราคอมเมนต์น้องด้วยความเคยชิน แต่อาจารย์อีกท่านหนึ่งในกลุ่มสนทนากลับไม่คิดว่าเป็นเรื่องที่ควรปล่อยผ่าน
..... “พูดถึง Gantt Chart เราก็ใช้กันมาเป็น 100 ปี แล้วนะ”
...... หลังจากนั้นไม่กี่วินาที ประวัติของ Gantt Chart โดยย่อก็ถูกส่งเข้าห้องสนทนา เราเปิดอ่านด้วยความอยากรู้อยากเห็น เมื่ออ่านจบก็พัลวันกับการหาข้อมูลเพิ่มเติม จนเจอเข้ากับบทความหนึ่งที่ทำให้เราได้เพลิดเพลินไปกับที่มาและอรรถประโยชน์ที่มีมากกว่าที่เราเคยรู้และเคยนำมาใช้ตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่ได้รู้จักกับเจ้า “ตาราง” ที่โด่งดังนี้
บทความที่ถูกส่งมาชื่อว่า “Gantt charts: A centenary appreciation” โดย James M. Wilson เป็นบทความของงานวิจัยคุณภาพที่ใช้การรวบรวมวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องมากว่า 43 ชิ้น นำมาเรียบเรียงและวิเคราะห์ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
1) ที่มาของ Gantt Chart
แผนภูมิแกนต์มีต้นกำเนิดมาจากงานของ Henry L. Gantt ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง มีเอกสารจากงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่าเป็นช่วงต้นทศวรรษ 1900 เพื่อการใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการวางแผนและจัดการโครงการ ในช่วงแรกนั้นมีหลักฐานว่า Gantt ไม่ใช่ผู้พัฒนาแผนภูมิแกนต์เพียงผู้เดียว แต่มีนักพัฒนาอีกคนหนึ่งชื่อ Frederik W. Taylor ซึ่งในระยะต่อมานั้นแผนภูมิแกนต์เป็นที่รู้จักได้จากการพัฒนาของ Taylor มากกว่า ซึ่ง Taylor เองพยายามอธิบายว่าถ้ามองจากการใช้กราฟฟิกแล้วนั้น แผนภูมิแกนต์ควรจะถูกเรียกว่า “ตารางแกนต์” มากกว่า เนื่องจากไม่มีการใช้ “แผนภูมิ” ตามชื่อที่สื่อสารออกไป
Henry L.Gantt & Frederik W.Taylor (Wikipedia)
2) จุดมุ่งหมายหลักในการใช้งาน Gantt Chart
ระยะเริ่มต้นแผนภูมิแกนต์ถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการวางแผนและจัดการการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจวิเคราะห์ได้ว่า แผนภูมิแกนต์พยายามอธิบายความสัมพันธ์ของระยะเวลาในการดำเนินงานกับอุปสงค์ของผลผลิตที่วางแผนไว้ โดยมีลักษณะการใช้งานจาก “บน” ลง “ล่าง” เริ่มจากการสร้างกรอบระยะเวลาแล้วจึงวางแผนกิจกรรมตามลำดับการเกิด นอกจากนี้ยังมีองค์ประกอบที่สำคัญอีกประการคือ การระบุผู้รับผิดชอบที่เหมาะสมต่อการดำเนินกิจกรรมนั้น ๆ นับเป็นแนวคิดของการทำธุรกิจแบบ “Lean” ในปัจุบันก็เทียบได้ นอกจากนี้แผนภูมิแกนต์ยังสามารถบันทึกปัญหาและสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นได้อีกด้วย ทำให้การวางแผนเป็นไปอย่างต่อเนื่องจากการติดตามผล
https://www.teamgantt.com/blog/gantt-chart-example
3) อรรถประโยชน์อื่น ๆ ของ Gantt Chart
นอกจากประโยชน์ตามจุดประสงค์หลักข้างต้นแล้ว Gantt Chart ยังมีประโยชน์ที่ได้รับการกล่าวขานจากผู้ใช้งานจริงมากมาย อาทิ
(1) ปรับเปลี่ยนขนาดของการวางแผนได้ กล่าวคือ มีความเหมาะสมกับการวางแผนโครงการขนาดเล็ก การวางแผนภาพรวมโครงการขนาดใหญ่ หรือ มีการสร้างแผนงานขนาดเล็กภายใต้โครงการขนาดใหญ่ เป็นต้น
โครงการขนาดเล็ก
https://www.teamgantt.com/blog/gantt-chart-example
โครงการขนาดใหญ่
https://www.microtool.de/en/knowledge-base/what-is-a-gantt-chart/
(2) ใช้ในการประสานงานระหว่างแผนก/หน่วยงาน เมื่อมี Gantt Chart อยู่ในมือคนละใบ ภาษาที่ใช้สื่อสารในการทำงาน ก็มักจะเป็นเรื่องเดียวกัน ภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน ทำให้สามารถหลีกเลี่ยงความคาดเคลื่อนของการสื่อสารได้เป็นอย่างดี
(3) เมื่อผู้ใช้งานได้นำ Gantt Chart มาปรับใช้ในการทำงานอย่างสม่ำเสมอแล้ว ผู้ใช้งานจะสามารถเห็นรูปแบบของการเกิดปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างซ้ำ ๆ ทำให้มีข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจวางแผนงานเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดปัญหาเดิมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น อาจเกิดการสังเกตเห็นปัญหาซ้ำ ๆ ในระหว่างเดือนมกราคม ซึ่งเมื่อวิเคราะห์แล้วพบต้นเหตุของปัญหา ก็สามารถวางแผนเพื่อลดผลกระทบของปัญหาได้ในการวางแผนครั้งต่อไป
(4) Gantt Chart สามารถนำมาปรับใช้ให้เป็นไปในรูปแบบที่สามารถติดตามความก้าวหน้าของโครงการได้มากขึ้น วิธีที่นิยมที่สุด คือ การกำหนดสีที่ใช้สำหรับกราฟฟิกที่แตกต่างกัน เช่น สีเขียวสำหรับขั้นตอนที่ทำสำเร็จลุล่วงตามระยะเวลาที่วางแผนไว้ สีเหลืองสำหรับขั้นตอนที่กำลังดำเนินการ และ สีแดงสำหรับขั้นตอนที่ยังไม่ได้ดำเนินการตามแผน หรือ ดำเนินการช้ากว่าแผนงานนั่นเอง
http://pepskipst.blogspot.com/2015/11/updated-gantt-chart.html
4) เหตุผลที่ทำให้ Gantt Chart เป็นที่นิยม
หลัก ๆ เลย คือ ความง่ายของการใช้งาน หลักการของ Gantt Chart เรียบง่าย จัดทำง่ายและสื่อสารง่าย อีกทั้งยังไม่ต้องพึ่งพาการใช้งบประมาณสูง ๆ ในการวางแผน แม้มีเพียงกระดาษกับปากกา การวางแผนก็พร้อมที่จะเริ่มต้นได้
5) กับดักการใช้ Gantt Chart
เมื่อพัฒนา Gantt Chart ของโครงการแล้ว กุญแจสำคัญเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จของโครงการนั้น คือ ความมีวินัยในการดำเนินงานตามกิจกรรมที่ได้วางแผนไว้ตามขั้นตอนและระยะเวลาที่กำหนด อีกประการที่ผู้ใช้งานต้องระลึกถึงอยู่เสมอนั้น คือ Gantt Chart ไม่ใช่เครื่องมือที่ใช้ในการกำหนดเส้นตายหรือเตือนผู้ใช้งานเมื่อจะถึงเส้นตายของการส่งงาน แต่ผู้ใช้งานควรใช้ Gantt Chart เพื่อใช้กำหนดการจากตารางเวลาให้เป็นประโยชน์ต่อการสื่อสารระหว่างคณะทำงาน เพื่อสร้างประสิทธิภาพและคุณภาพของการทำงานของโครงการ
Gantt Chart ยังคงเป็นที่นิยมอยู่ในปัจจุบัน ถึงแม้จะผ่านไปกว่าศตวรรษแล้วก็ตาม มีผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นหลายรายที่ทำงานพัฒนาเครื่องมือนี้ให้อยู่ในรูปแบบดิจิตัลมากยิ่งขึ้น ถึงแม้จะมีรูปแบบการวางแผนอื่น ๆ ตามการพัฒนาของเทคโนโลยีมากขึ้น Gantt Chart ก็ยังได้รับการตอบสนองที่ดีในการวางแผนโครงการและการติดต่อประสานงานระหว่างคณะทำงาน
อ้างอิง
J.M. Wilson. European Journal of Operational Research 149 (2003) 430–437