top of page

"พบ เค้า เจอ" : แค่เพลงเดียว ตอนที่ 2

DS X Pop-culture

Cover_P'Ds3-02.png

เมื่อคราวที่แล้ว เราพูดถึงวิทยาศาสตร์ และการแพทย์ที่อธิบายถึงพฤติกรรมการฟังเพลงเดียวซ้ำไปซ้ำมา ในคราวนี้ เราจะมาทำความเข้าใจในมุมมองทางวัฒนธรรมกัน

ในยุคสมัยที่เพลงกลายมาเป็นสินค้าหนึ่งในวัฒนธรรมกระแสหลัก (Pop-culture) เพลงอาจจะมิเพียงดำรงหน้าที่ในการขับกล่อม ขัดเกลาและส่งผ่านคุณค่าทางวัฒนธรรมเพียงเท่านั้น การกลายเป็นสินค้าของเพลง ทำให้เกิดแง่มุมที่น่าสนใจในการพิจารณาจากหลายศาสตร์ เช่น เศรษฐศาสตร์ อาจให้ความสนใจอุปสงค์ หรืออุปทานของเพลงประเภทต่าง ๆ ในตลาดเพลง รัฐศาสตร์อาจให้ความสนใจเพลงข้ามเขตแดนรัฐชาติในทางกายภาพ ส่วนสังคมวิทยาอาจให้ความสนใจการบริโภคเพลงในฐานะสินค้าทางวัฒนธรรมในชีวิตประจำวันของผู้คน ซึ่งแง่มุมนี้จะเป็นแนวทางหลักที่ผู้เขียนชวนให้ผู้อ่านเข้าสู่โลกของเพลง อย่างไรก็ดี ในบทความนี้ไม่ได้พยายามหาคำตอบว่า ทำไมคนถึงฟังเพลงซ้ำ และไม่ได้ชี้ชวนให้คุณถกเถียงถึงปัญหาว่าควร หรือมิควรฟังเพลงเพียงแค่เพลงเดียวซ้ำไปซ้ำมา รวมถึงมิได้ชี้ชวนให้คุณตัดสินคนที่ฟังเพลงแค่เพลงเดียวซ้ำไปซ้ำมาในทิศทางใด แต่ต้องการนำเสนอแง่มุมที่น่าสนใจในทางสังคมวัฒนธรรมผ่านการฟังเพลงเพียงแค่เพลงเดียว ซึ่งในทางสังคมศาสตร์เองก็มีการอธิบายถึงเรื่องราวของการฟังเพลงที่แตกต่างไปจากวิทยาศาสตร์อีกแบบหนึ่ง

นักสังคมวิทยาชาวเยอรมันที่มีชื่อเสียงด้านวัฒนธรรมศึกษา Theodor Adorno (1903-1969) ได้นำเสนอแนวคิดที่น่าสนใจทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับการบริโภคในยุคสมัยวัฒนธรรมกระแส (Pop-culture) ในเชิงวิพากษ์ว่า ดนตรีในวัฒนธรรมกระแส (Pop-culture) ผลิตซ้ำ และมีเป้าประสงค์สำคัญเป็นเพียงแค่สินค้าที่ซื้อขายกันในยุคอุตสาหกรรมวัฒนธรรม (Culture Industry) ไม่แตกต่างอะไรกับการบริโภคสินค้ารูปแบบอื่น ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการและความพึงพอใจเท่านั้น กล่าวคือ ผู้คนในสังคมไม่สามารถเข้าถึงคุณค่าที่แท้จริงของการฟังเพลงได้ (ดังเช่นที่ปรากฎในดนตรีคลาสสิค) แต่ฟังเพลงเพียงแค่ตอบสนองความพึงพอใจเท่านั้น เป็นเพียง “ความต้องการเทียม (False needs)” ที่เกิดขึ้นจากการหลงไหลไปกับสินค้าในวัฒนธรรมที่ล่อลวงให้ผู้คนคิดว่ามีตัวเลือกในการบริโภคมากมาย แต่แท้จริงแล้วสินค้าต่าง ๆ ก็ถูกกำหนดมาตามมาตรฐานเดียวกัน ไม่ได้มีคุณค่าที่แตกต่างกันเลย (รณฤทธิ์, 2551)

จากแนวคิดข้างต้น อาจพิจารณาได้ว่า การฟังเพลงไม่ว่าจะฟังเพลงเดียวซ้ำไปซ้ำมา หรือฟังหลาย ๆ เพลง ทั้งหมดต่างก็เป็นสินค้าในวัฒนธรรมกระแส (Pop-culture) ในระบบทุน เพลงที่ต้องการเสียงตอบรับที่ดีก็จะโฆษณาซ้ำแล้วซ้ำอีก ให้ผู้คนในสังคมรู้สึกติดหู (Earworm) ซึ่งได้กลายมาเป็นกลยุทธ์หนึ่งทางการตลาด โดยมีสมมติฐานว่า หากผู้คนฟังเพลงซ้ำไปซ้ำมาก็จะเกิดความรู้สึกคุ้นเคย และชื่นชอบขึ้นมา เป็นการ “ล้างสมอง” ผู้ฟังให้ชื่นชอบเพลงนั้นและซื้อในที่สุด (Sharp, 2014)

นอกจากนี้ จริตของการฟังเพลงรูปแบบต่าง ๆ ยังเกี่ยวข้องกับรสนิยมในการบริโภคของผู้คนที่แตกต่างไปตามแต่ละชนชั้น ซึ่งชนชั้นแบ่งแยกได้จาก “ทุน” ตามแนวทางการแบ่งของ ปิแอร์ บูร์ดิเออ (Pierre Bourdieu) นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส โดยได้แบ่งทุนออกเป็น 4 ประเภท ประกอบด้วย (สุภางค์ จันทวานิช, 2559)

1) ทุนทางเศรษฐกิจ (economic capital) เป็นทุนรูปตัวเงิน อำนาจในการผลิต การถือครองแรงงาน และที่ดิน

2) ทุนทางวัฒนธรรม (cultural capital) เป็นทุนที่เกิดจากการบ่มเพาะ เช่น การเรียนในโรงเรียน หรือ มหาวิทยาลัยระดับต้น ๆ ของประเทศ ทำให้ซึมซับรับวัฒนธรรมกลุ่มเข้ามา

3) ทุนทางสังคม (social capital) เป็นเครือข่ายความสัมพันธ์ที่มีอำนาจคอยค้ำจุนช่วยเหลือ ซึ่งอาจนำไปสู่ความไม่เท่าเทียมในสังคม

4) ทุนทางสัญลักษณ์ (symbolic capital) เป็นการให้คุณค่าและสร้างความหมายต่อบางสิ่งบางอย่างร่วมกัน โดยมีทุนรูปแบบต่าง ๆ เป็นฐานสำคัญในการสร้างคุณค่า เช่น การให้คุณค่ากับความไพเราะของเพลง

เมื่อผู้คนในสังคมมีต้นทุนที่แตกต่างกัน ทำให้ระดับในการเลือกบริโภคแตกต่างกันออกไป จุดนี้จึงทำให้การตลาดในระบบทุนเข้ามาตอบสนองรูปแบบความต้องการในการฟังเพลงที่แตกต่างกัน การออกแบบแอพพลิเคชั่นให้สามารถเล่นซ้ำเพลงแค่เพลงเดียวได้ ในมุมของผู้ให้บริการ คงเป็นทางเลือกหนึ่งในการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค แม้ว่าปุ่ม “เล่นเพลงแบบสุ่ม (Shuffle)” “เล่นเพลงวนในโฟลเดอร์ (Repeat folder)” และ “เล่นเพลงเดียว (Repeat 1 song)” จะมีความแตกต่างกันของการทำงาน ทำให้เราดูมีทางเลือกในการฟังเพลง แต่เพลงที่ฟังก็เป็นเพลงที่วนเวียนอยู่ในกลุ่มเดิม ผู้บริโภคเพียงแค่รู้สึกว่าตนเองมีอำนาจในการตัดสินใจเลือกที่จะฟังในรูปแบบต่าง ๆ ตามต้องการเพื่อตอบสนองความพึงพอใจในการฟังเพลงเท่านั้น ซึ่งความพึงพอใจที่เกิดขึ้นแปรผันไปตามต้นทุน และประสบการณ์ที่ผู้บริโภคมี

ดังจะเห็นได้ว่า “แค่เพลงเดียว” ก็บอกอะไรเราได้หลายอย่าง ในโลกใบนี้ทุกสรรพสิ่งล้วนมีความเชื่อมโยงกัน เต็มไปด้วยความสัมพันธ์บางรูปแบบซึ่งดำรงอยู่และรอเราเข้าไปอ่านไข การเลือกที่จะฟังเพลงเดียวซ้ำไปซ้ำมา ยังสามารถสะท้อนมุมมองทั้งทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยา ให้เห็นถึงการเชื่อมโยงผู้ฟังเข้ากับเพลงตามแนวคิดของ Elizabeth และการทำงานของระบบให้รางวัลในสมองโดยการสร้างสารให้ความสุขเพื่อตอบสนองความต้องการทางจิตใจ ในทางสังคมศาสตร์และการตลาด ผู้ฟังเป็นผู้กระทำสำคัญที่ได้ผลิตซ้ำการบริโภคผ่านเพลงในอุตสาหกรรมวัฒนธรรม ผลิตซ้ำความคิด อุดมการณ์และการให้คุณค่าตามเนื้อหาของเพลง ที่ตนเองรู้สึกชื่นชอบ ณ ขณะนั้น ซึ่งส่งผลต่อระบบทุนนิยมและตลาดเพลงให้เติบโตเบ่งบาน

อย่างไรก็ดี งานสำรวจของบริษัทผู้ให้บริการเพลง Deezer ได้สำรวจผู้ใช้บริการ 1,000 รายในสหราชอาณาจักร และชี้ให้เห็นว่า เมื่อคนเราอายุถึงจุดหนึ่งในช่วงอายุ 24 ปี จะเริ่มมีอัตราในการค้นหาเพลงใหม่ ๆ ลดลง จนกระทั่งหยุดค้นหาเมื่ออายุ 30 ปี เหตุผลสำคัญของปรากฎการณ์นี้ค่อนข้างตรงไปตรงมา นั่นคือ เนื่องจากในช่วงอายุนี้คนส่วนใหญ่ “ยุ่ง”กับการทำงาน เลี้ยงลูก และมันง่ายกว่าที่จะฟังเพลงเดิม ๆ ที่เคยฟังแล้วในรายการเพลงของตน (Playlist) ดังนั้นจึงมีอัตรการเคลื่อนไหวในการค้นหาและเพิ่มเพลงไม่มากนัก หรืออาจกล่าวได้ว่า “อิ่มตัวแล้วกับการเลือกเพลงใหม่ ๆ มาฟัง” (Berbari, 2018) แนวโน้มนี้อาจเป็นข้อสังเกตที่ดีให้บริษัทเพลงหากลยุทธ์เพื่อโฆษณาเพลงใหม่ ๆ ให้สามารถตีตลาดกลุ่มลูกค้าช่วงอายุ 24-30 ปีได้

สำหรับผู้เขียนเอง การฟังเพลงซ้ำ ๆ เกิดมาจากความชื่นชอบในท่วงทำนองของเพลงนั้น ซึ่งมิได้ติดอยู่ในหูแต่อย่างใด หากแต่เป็นความชื่นชอบในช่วงขณะหนึ่ง คล้ายกับพฤติกรรมการรับประทานอาหารซ้ำแบบเดิมเป็นบางช่วง เช่น หากช่วงนี้ชอบทานข้าวมันไก่ ไม่ว่ามื้อไหนก็จะทานแต่ข้าวมันไก่เพียงเท่านั้น ยาวนานเป็นสัปดาห์ หรือเดือน ในสัปดาห์นั้นก็จะกลายเป็น “ข้าวมันไก่ออฟเดอะวีค” หรือเป็น “ข้าวมันไก่ออฟเดอะมันธ์” ส่วนหนึ่งเนื่องจากข้าวมันไก่อร่อยจริง และอีกส่วนหนึ่งเนื่องจากเรื่องอาหารการกินเป็นข้อถกเถียงที่หลายคนเสียเวลามากในการระดมความคิดว่า “วันนี้ จะกินอะไรกันดี” อีกทั้งคุณค่าที่แท้จริงของอาหารคือ “ทานเพื่อความอิ่มท้องและความอยู่รอด” มากกว่าการให้ความสนใจกับสัญญะที่สวมทับอาหารนั้นอีกชั้นหนึ่ง เพราะฉะนั้นจึงมิต้องคิดให้เสียเวลา

 

อย่างไรก็ดีความแตกต่างประการหนึ่งของการเลือกฟังเพลงซ้ำ ๆ กับการทานอาหารคือ “การฟังเพลงซ้ำไปซ้ำมา เป็นการหมุนเวลารอบตัวผู้เขียนให้วนซ้ำกลับไปกลับมา” กล่าวคือ เวลาในโลกแห่งความจริงดำเนินไปยาวนาน แต่เวลาของผู้เขียนนั้นสั้นเพียงแค่ระยะเวลาของเพลง 1 เพลง การฟังเพลงเดิม เหมือนการย้อนเวลาสั้น ๆ กลับไปกลับมา โดยใช้เพลงเป็นเครื่องมือในการสร้างโลกเหล่านั้นขึ้นมา เกิดสมาธิในการทำงาน จดจ่ออยู่กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า โดยไม่ต้องคำนึงถึงเวลาที่จะต้องเสียไป เพราะเดี๋ยวมันก็จะวนกลับมาใหม่ตามทำนองขึ้นต้น หรือเนื้อร้องท่อนเดิมที่เคยได้ยินเมื่อไม่กี่นาทีที่ผ่านมา

 

 

 

 

อ้างอิง

BBC. (2012, December 17). Musical ear syndrome: The woman who constantly hears music. Retrieved from BBC: https://www.bbc.com/news/uk-england-merseyside-20732332

Berbari, G. (2018, May 30). Why Do I Listen To The Same Music All The Time? This New Research Puts It All In Perspective. Retrieved from Elitedaily: https://www.elitedaily.com/p/why-do-i-listen-to-the-same-music-all-the-time-this-new-research-puts-it-all-in-perspective-9328989

Sharp, K. (2014, September 25). The Science Behid Why we listen to our favorite Songs on Repeat. Retrieved from MIC: https://mic.com/articles/99744/the-science-behind-why-you-listen-to-your-favorite-songs-obsessively#.TVWi9LZ7H

รณฤทธิ์. (2551, มิถุนายน 2). Theodor Adorno กับ แนวคิดเกี่ยวกับวัฒนธรรมประชานิยม (Popular Culture). Retrieved from Oknation: http://oknation.nationtv.tv/blog/boonyou/2008/06/02/entry-3

สุภางค์ จันทวานิช. (2559). ทฤษฎีสังคมวิทยา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

bottom of page