top of page

"ความเชื่อ" : ผลผลิตของกระบวนทัศน์จากรุ่นสู่รุ่น

ภัททิยา ชินพิริยะ

Cover_Plan2-01.png

“ความเชื่อ” : ผลผลิตของกระบวนทัศน์จากรุ่นสู่รุ่น

ห้ามขานรับเสียงเรียกตอนกลางคืน

ห้ามตัดผมวันพุธ

ห้ามตัดเล็บตอนกลางคืน

ห้ามมีเพศสัมพันธ์ในวันพระ

ห้ามร้องเพลงตอนทำอาหาร

ห้ามนอนช่วงพลบค่ำหรือห้ามนอนทับตะวัน

ห้ามเหยียบธรณีประตู

ถ้าจิ้งจกร้องทักก่อนออกจากบ้านจะโชคร้าย

ถ้านกแสกเกาะหลักคาบ้านจะมีคนเสียชีวิต

ถ้าฝันว่าฟันหักจะมีญาติผู้ใหญ่เสียชีวิต

ถ้าผึ้งทำรังในบ้านจะโชคดี ห้ามไล่ ห้ามทำลาย

คุณเคยได้ยินไหม.. คำพูดติดปากของบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ที่เราได้ยินจนชินว่า “อย่าทำ...อย่างนั้น/อย่างนี้ เพราะคนโบราณเขาถือ” ลองมองย้อนทบทวนดูว่า คุณเคยได้ยินความเชื่อเหล่านี้ผ่านหูมาบ้างหรือเปล่า ?

จากความเชื่อข้างต้น ไม่ว่าคุณจะ “เชื่อ” หรือคิดว่า “เชื่อไว้ก็ไม่เสียหาย” หรือ “ยอมทำตามเพื่อความสบายใจ” หรือ “แค่เคยได้ยิน” ก็ตาม คุณเองก็ถือเป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากความเชื่อเหล่านี้ไม่มากก็น้อย ความเชื่อเรื่องโชคลางและผีสางนางไม้ต่าง ๆ ถือเป็นมรดกตกทอดของคนรุ่นก่อนที่เกิดจากหลายปัจจัย ทั้งวัฒนธรรม ศาสนา และกระบวนทัศน์ในอดีตที่หล่อหลอมออกมาเป็นความเชื่อปรัมปราแบบไทย ในที่นี้ผู้เขียนเองก็เป็นคนหนึ่งที่ได้รับการปลูกฝังและบ่มเพาะด้วยความเชื่อเหล่านี้มาตั้งแต่เด็ก แต่เมื่อกระบวนทัศน์หมุนตามโลกสมัยใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยความเชื่อทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากกว่าไสยศาสตร์อย่างในอดีต ด้วยเทคโนโลยีและองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เพิ่มพูนขึ้นในสังคมนี้เอง อาจฉุกให้เราคิดถึงความเป็นจริงที่เป็นไปตามหลักตรรกศาสตร์มากขึ้น จนอาจทำให้คนรุ่นใหม่ที่เกิดในยุคหลังอย่างเราเริ่มมองว่า “ความเชื่อเหล่านี้ล้วนไร้สาระ”

Torgler (2007) กล่าวว่า ความเชื่องมงาย ความเชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติ หรือความเชื่อทางไสยศาสตร์ (Superstitions) ถือเป็นปราฏการณ์ทางสังคมที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป โดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชียที่มีความเข้มข้นของวัฒนธรรมสูง ประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในสังคมที่ความเชื่อเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในทุกระดับ จนอาจกล่าวได้ว่า มีประชาชนในทุกระดับที่เป็น “ผู้บริโภค” หรือ “ผู้เสพ” ความเชื่อเหล่านั้น ตั้งแต่ความเชื่อเรื่องผีสางไปจนถึงความเชื่อที่มีผลต่อการตัดสินใจทางธุรกิจ (Ehrlich, 2009)

ทาง American Heritage Dictionary of the English Language (1985) ได้ให้ความหมาย “ความเชื่อทางไสยศาสตร์” ว่า “เป็นความเชื่อที่ไม่มีเหตุผลรองรับวัตถุ การกระทำ หรือพฤติการณ์นั้นอย่างถูกต้องตามหลักตรรกศาสตร์” แต่เมื่อหันกลับมามองความเชื่อในสังคมไทยนี้อย่างเปิดใจ เราจะพบเหตุผลและอุบายที่คนรุ่นก่อนซ่อนไว้ โดยจากการสืบค้นข้อมูลออนไลน์ ผู้เขียนพบเหตุผลและคำบอกเล่าถึงที่มาของความเชื่อเหล่านี้ ซึ่งผู้เขียนจะสรุปตัวอย่างความเชื่อสั้น ๆ ดังนี้

  • ความเชื่อเรื่อง “ห้ามขานรับเสียงเรียกตอนกลางคืน” เพราะอาจเป็นดวงวิญญาณมาหลอกหลอน หรือเป็นการเชิญชวนดวงวิญญาณเข้าบ้าน หรืออาจโดนคุณไสย์

    • พบว่า เป็นคำสอนเพื่อให้ลูกหลานมีสติและพิจารณาต่อสิ่งแปลกปลอมในยามวิกาลก่อน มิให้รีบตอบโต้จนอาจเกิดความผิดพลาดที่ส่งผลเสียตามมา จากคำบอกเล่าพบว่า ในอดีตยามที่ต้องสร้างเสาหลักตามสี่มุมเมือง ทางราชการจะส่งทหารออกไปในคืนเดือนมืดแล้วตะโกนเรียก “อิน จัน มั่น คง” หากใครขานรับจะถูกจับตัวไปและฆ่าเพื่อเป็นผีเฝ้าเสามุมเมือง คนโบราณจึงสอนไม่ให้ขานรับเพราะอาจถูกลอบทำร้ายและมีอันตรายถึงตัวได้ ไม่ว่าจะจากโจรหรือใครก็ตาม (สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร, ม.ป.ป.; ทำนายทายทัก, 2557)

  • ความเชื่อเรื่อง “ห้ามตัดผมวันพุธ” เพราะจะทำให้เกิดความอัปมงคลต่อชีวิต ที่ส่งผลให้ร้านตัดผมหลายแห่งในปัจจุบันมักปิดร้านทุกวันพุธ

    • ในอดีตที่ประเทศไทยยังปกครองด้วยระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น พระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์ในพระราชวังจะปลงพระเกศา (ตัดผม) ทุกวันพุธ ส่งผลให้ช่างตัดผมจะถูกเรียกตัวเข้าไปในพระราชวัง คนสมัยก่อนจึงถือว่า ห้ามตัดผมวันเดียวกับเจ้านายเพื่อให้เกียรติเจ้านายเท่านั้น ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับความอัปมงคลใด ๆ (ทำนายทายทัก, 2557; guru.sanook, 2556)

  • ความเชื่อเรื่อง “ห้ามนอนช่วงพลบค่ำ” หรือ “ห้ามนอนทับตะวัน” เพราะจะถูกผีอำหรือถูกขโมยวิญญาณไปอยู่ในโลกของความตายแทน

    • ​พบว่า แท้จริงแล้วการนอนช่วงพลบค่ำจะทำให้รู้สึกปวดหัวและไม่สบายตัวเพราะนอนผิดเวลา จนอาจทำให้นอนตอนกลางคืนไม่หลับได้ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพและสามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ว่า ระบบการไหลเวียนเลือดภายในร่างกายและอุณหภูมิจะปรับเปลี่ยนตามแสงที่มองเห็นจากภายนอก ส่งผลให้เมื่อนอนช่วงเย็นแล้วตื่นขึ้นมาช่วงหัวค่ำที่แสงภายนอกมืดลงแล้ว ร่างกายจะต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วจนเกิดอาการปวดหัวเหมือนเป็นไข้ (สุขภาพดี, 2015; วิทยาศาสตร์รอบตัว, 2018)

  • ความเชื่อเรื่อง “ห้ามเหยียบธรณีประตู” เพราะจะถูกธรณีสูบหรือถูกพระภูมิที่สถิตอยู่ลงโทษ ส่งผลให้ผู้ที่เหยียบเป็นบาป

    • ความเชื่อนี้ถูกหล่อหลอมมาช้านาน อย่างในนวนิยาย “สี่แผ่นดิน” ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ได้เขียนไว้ถึง “โขลน” ที่เป็นหญิงเฝ้าประตูวังที่คอยตรวจตราผู้ที่เดินเหยียบธรณีประตูจะต้องถูกตีหรือต้องกราบขอขมาธรณีประตูนั้น จนบางครั้งก็มีคนเอาทองมาปิดธรณีประตูหรือเอาธูปมาปักตามขอบประตูด้วย อันมีที่มาจากความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ที่เชื่อว่า พระภูมิเจ้าจะสถิตอยู่ทุกแห่งในบ้าน เช่น พระภูมิบ้านเรือน พระภูมิประตูและหัวกระได พระภูมินา เป็นต้น (พระยาอนุมานราชธน, 2536)

    • ความเชื่อนี้มาจากหลายสาเหตุ มีตั้งแต่เพื่อเตือนให้ทุกคนมีสติและเข้าออกประตูอย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันมิให้ธรณีประตูชำรุดทรุดโทรมจนต้องซ่อมแซมใหม่ เพื่อป้องกันมิให้สีที่ลงรักธรณีประตูไว้เสียหาย หรือเพื่อสอนนาคและพุทธศาสนิกชนที่จะเดินเข้าโบสถ์ให้ตั้งสติก่อนเข้าอาณาเขตของพระสงฆ์ที่ต้องสำรวมกาย

    • อย่างไรก็ตาม หากว่ากันตามหลักเหตุผล ธรณีประตูที่นิยมทำให้สูงขึ้นมาจากขอบประตูนี้ เพื่อแบ่งอาณาเขตภายในบ้าน ป้องกันน้ำและฝุ่นละอองเข้าบ้าน ทั้งยังช่วยกันเด็กเล็กไม่ให้พลัดตกไปด้วย (บุญค้ำ ไชยพรหมวงศา, 2545)

ทั้งนี้ โดยส่วนตัวเราคิดว่า “ความเชื่อถือเป็นเรื่องของปัจเจก” ที่แตกต่างกันไปตามบุคคล ในอดีตความเชื่อเหล่านี้อาจเป็นอุบายสอนเด็กให้กลัวและประพฤติตนในทางที่ “ผู้สอนคิดว่าถูก ว่าควร” จึงไม่แปลกอะไรที่คนรุ่นเราจะเริ่มตั้งคำถามเมื่อเติบโตขึ้น ความเชื่อเหล่านี้ยังจำเป็นอยู่หรือไม่ ? หากไม่จำเป็นแล้วเป็นเพราะอะไรกัน ?

“ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนมีเหตุผลของมันซ่อนอยู่” หากความเชื่อตั้งอยู่บนหลักเหตุผลและคำนึงถึงความเป็นจริงก็คงไม่ใช่สิ่งที่ผิดไปเสียหมด เราเองมองว่า “ความเข้าใจ” เป็นสิ่งที่คนทุกรุ่นควรยึดมั่นใจการใช้ชีวิต เพราะโลกใบใหม่ที่เราอยู่ก็คือโลกใบเดิมที่เคยมีมานานแล้ว ความหลากหลายจึงเพิ่มสูงขึ้นตามกาลเวลาของมัน อาจกล่าวได้ว่า ความเชื่อก็เหมือนผลผลิตหนึ่งของกระบวนทัศน์ของคนแต่ละยุค สภาพสังคมที่หล่อหลอมความคิดของคนมักแปรเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมต่าง ๆ คนสมัยก่อนอาจเชื่อว่า ห้ามตัดผมวันพุธเพราะต้องให้เกียรติเจ้าขุนมูลนาย คนรุ่นถัดมานิยมใช้เฮนน่า (Henna) ย้อมผมเพราะกลัวสารเคมีจะทำให้เป็นมะเร็ง ส่วนคนรุ่นหลังอาจเชื่อว่า การไถข้างผมหรือถักเดทร็อค (Dreadlocks) เป็นการประกาศถึงการมีอิสรภาพของตนเองต่อสังคม อาจกล่าวได้ว่า ความเชื่อเหล่านี้ก็เหมือนกระแสนิยมในแต่ละยุคที่ไม่สามารถตัดสินได้ว่าสิ่งใดผิดหรือถูก เราจึงไม่สามารถใช้เป็นบรรทัดฐานทางสังคมไว้ตีตราผู้ที่เชื่อหรือไม่เชื่อได้ สุดท้ายแล้วการเรียนรู้ที่จะอยู่กับความเชื่อบนฐานของความเข้าใจ จะส่งผลให้เราสามารถแยกแยะและตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง เราอาจเป็นคนที่เชื่อในบางสิ่งและเป็นคนที่ไม่เชื่อในบางสิ่งเช่นกัน เพราะความเชื่อเป็นหนึ่งในสิทธิ์พื้นฐานที่เราสามารถเลือกได้เอง แล้วคุณหล่ะ.. เลือกจะเป็นใครในห่วงโซ่ความเชื่อนี้ : )

Keyword: ความเชื่อ ความเป็นไทย

illustration by Sirada Visessiri

อ้างอิง

American heritage dictionary of the English language (2nd ed.). (1985). Boston, MA: Houghton Mifflin.

Carlson, B., Mowen, J., Fang, X. (2009). Trait superstition and consumer behavior. Psychology and Marketing, 26, p. 689–713.

Chinchanachokchai, S., Pusaksrikit, T. and Pongsakornrungsilp, S. (2016). Exploring Different Types of Superstitious Beliefs in Risk-Taking Behaviors, What We Can Learn from Thai Consumers. 23 (1), p. 47-63.

Ehrlich, R. S. (2009a). Buddhist amulets: Little keys to the Thai spirit. CNN Travel. Retrieved from http://travel.cnn.com/bangkok/shop/bangkok-buddhist-amulet-market-330873.

guru.sanook. (2556). เฉลยที่มา วันพุธห้ามตัดผม. เข้าถึงได้จาก https://guru.sanook.com/9012/.

Torgler, B. (2007). Determinants of superstition. The Journal of Socio-Economics, 36, p. 713–733.

ทำนายทายทัก. (2557). 60 ความเชื่อของไทย ไม่เชื่ออย่าลบหลู่!. เข้าถึงได้จาก https://horoscope.sanook.com/63961/.

บุญค้ำ ไชยพรหมวงศา. (2545). ตำนานและประเพณีชาวบ้าน. กรุงเทพฯ: อินทรีย์.

พระยาอนุมานราชธน. (2536). คติความเชื่อเกี่ยวกับเรือนไทยสมัยก่อน. สยามอารยะ, 2 (8), 68-70.

วิทยาศาสตร์รอบตัว. (2018). ถอดรหัสความเชื่อ คลายข้อสงสัย ทำไม “ ห้ามนอนทับตะวัน ”. เข้าถึงได้จาก https://goodlifeupdate.com/lifestyle/60034.html.

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร. (ม.ป.ป.). เค้าบอกว่าตอนกลางคืนได้ยินเสียงอะไรอย่าร้องทัก. เข้าถึงได้จาก https://www.gotoknow.org/posts/288335.

สำนักพิมพ์สารคดี. (2537). 108 ซองคำถาม. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สารคดี.

สุขภาพดี. (2015). นอนตอนเย็น ช่วงพระอาทิตย์ตกดิน ปวดหัวจริงเหรอ?. เข้าถึงได้จาก https://bit.ly/2LoRjjh.

bottom of page