top of page
  • Writer's pictureTSIS

10 หัวข้อวิจัยเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม

By Setthaphong Matangka

ตั้งแต่เปิดปี 2020 เราเผชิญกับสภาวะแวดล้อมแปรปรวนซึ่งเป็นผลจากน้ำมือมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าที่ประเทศออสเตรเลีย หรือสถานการณ์ฝุ่นควัน PM2.5 ในประเทศไทย ณ ขณะนี้


ในวันนี้เรามี 10 หัวข้อวิจัยเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมจาก Paperell มาฝากเพื่อน ๆ


1. การทานอาหารวีแกนคือ ทางออกในการปกป้องสิ่งแวดล้อม

ในประเทศไทยคงไม่ค่อยคุ้นเคยกับคำว่า “วีแกน (Vegan)” แต่จะคุ้นชินกับการกินเจ หรือมังสวิรัติ (Vegetarian) มากกว่า ถึงแม้ทั้ง 3 ประเภท จะมีความเหมือนตรงที่ไม่ทานเนื้อสัตว์ แต่ยังมีความแตกต่าง ทั้งในด้านวิถีปฏิบัติ ความเชื่อ และอาหารที่กิน


ในสหรัฐอเมริกามีคนจำนวนมากกว่า 16 ล้านคน หันมาทานวีแกน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสัตว์ทุกชนิด รวมถึงเสื้อผ้า และของใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นระดับที่เพิ่มขึ้นมาจากการเป็นมังสวิรัติ (KuiKui. B, 2018)


ข้อมูลเพิ่มเติม


2. เราสามารถทำให้คนจำนวนมากมีส่วนช่วยในการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร ?

เมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา เราเห็นนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมอย่าง เกรต้า ธันเบิร์ก ออกมาพูดสุนทรพจน์ในเวที UN ซึ่งสาวน้อยนักเคลื่อนไหววัย 16 ปี มีอิทธิพลอย่างมากต่อกระแสการรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นปัญหาส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกคนบนโลก และแต่ละคนควรรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

ดังนั้นวิธีการที่จะทำให้คนจำนวนมากหันมาร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อมจึงเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ต้องรีบหาทางแก้ไข


3. โรงเรียนมีบทบาทในการผลักดันให้นักเรียนตระหนักถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอย่างไร ?

หลายคนคงจำข่าวการเสียชีวิตของลูกพะยูน “มาเรียม” เนื่องจากมีเศษพลาสติกไปติดอยู่ในกระเพาะอาหาร การสูญเสียน้องมาเรียมได้กลายเป็นการปลุกกระแสให้คนไทยหันมาตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นโดยเฉพาะขยะพลาสติกในทะเล


แนวทางการแก้ไขปัญหาระยะยาวคือ “การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม” เพื่อสร้างแนวคิดการอนุรักษ์และสิ่งแวดล้อมแก่คนรุ่นใหม่ โดยปัจจัยสำคัญที่มีส่วนผลักดันคือ “โรงเรียน”


ข้อมูลเพิ่มเติม


4. ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบอย่างไรต่อสัตว์ป่า ?

เริ่มต้นปี 2020 ประเทศออสเตรเลียเผชิญกับวิกฤตไฟไหม้ป่าครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ หลังจากเหตุการณ์ Black Friday ในปี 2009 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ไม่ได้มีเพียงแค่มนุษย์ แต่ยังมีสัตว์ป่าที่โดยทำลายที่อยู่อาศัย นักวิชาการประเมินจำนวนสัตว์ป่าที่เสียชีวิต หรือบาดเจ็บว่าจะมีสูงถึง 1,000 ล้านตัว และอาจมีพื้นที่ความเสียหายจากไฟป่าถึง 64 ล้านไร่ (เทียบเท่าประเทศเกาหลีใต้)


เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงผลกระทบหนึ่งของภาวะโลกร้อน การศึกษาผลกระทบที่สัตว์ป่าได้รับจากภาวะโลกร้อนจึงมีความน่าสนใจอย่างมาก เพราะจะช่วยให้ผู้คนได้ตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อนมากขึ้น และเร่งหาแนวทางป้องกันอย่างเร่งด่วนที่สุด เพื่อไม่ให้มีความสูญเสียมากกว่านี้


ข้อมูลเพิ่มเติม


5. ยาฆ่าแมลงก่อให้เกิดอันตรายต่อประชากรนกอย่างไร ?

เกษตรกรทั่วโลกต่างนิยมใช้ยาฆ่าแมลงเพื่อป้องกันการทำลายผลผลิตทางเกษตรจากศัตรูพืช ทำให้มีสารพิษตกค้างอยู่ในอาหารนก เช่น ผลไม้ เมล็ดพืช เมื่อนกกินอาหารที่มีสารปนเปื้อนเหล่านี้เข้าไป ส่งผลให้มีน้ำหนักลดลง และเกิดความล่าช้าในการอพยพถิ่นฐาน ท้ายที่สุดจำนวนนกหลาย ๆ ชนิดจึงลดลงอย่างต่อเนื่อง (วิลาสินี ไตรยราช, 2562)


หลักฐานจากงานวิจัยชี้ให้เห็นว่า ยาฆ่าแมลงชนิดอิมิดาโคลพริด (Imidacloprid) และ โอนิโคตินอยด์ (Neonicotinoid) ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของนก ถึงแม้ว่าจะไม่ส่งผลต่อตัวเรา แต่ยาฆ่าแมลงเหล่านี้ก็ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศสหรัฐอเมริกา และเอเชีย


ข้อมูลเพิ่มเติม


6. ขยะพลาสติกในทะเลสร้างผลกระทบต่ออากาศที่เราหายใจอย่างไร ?

ปัญหาขยะพลาสติกตกค้างในท้องทะเลถือเป็นปัญหาร้ายแรงที่ไม่ใช่แค่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล แต่รวมถึงระบบนิเวศทั่วโลก


เราอาจคิดว่าสิ่งที่เสียไปมีแค่ปลาที่เรากิน แต่ขยะพลาสติกในทะเลก่อให้เกิดผลกระทบที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ การลดจำนวนสิ่งมีชีวิตที่ช่วยสร้างออกซิเจนให้กับอากาศที่เราหายใจ


ข้อมูลเพิ่มเติม


7. ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมดีกว่าผลิตภัณฑ์แบบเดิมอย่างไร ?

ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมผลิตขึ้นจากวัสดุที่ไม่เป็นอันตราย โดยไม่ทำให้คุณภาพของสินค้าลดลง ในกระบวนการผลิต ผู้สร้างผลิตภัณฑ์จะต้องคำนึงถึงการสร้างของเสียให้น้อยที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม


ข้อมูลเพิ่มเติม


8. ภัยพิบัติอะไรในประวัติศาสตร์ที่สร้างผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อม ?

สภาพอากาศในโลกของเราปัจจุบันที่เลวร้ายอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การถือกำเนิดเมื่อ 4.5 พันล้านปีก่อน การสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ การกำเนิดยุคน้ำแข็ง พายุเฮอร์ริเคนแคทรีนา การระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล หรือภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน


คำจำกัดความของ “ภัยพิบัติ” หมายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือเกิดจากน้ำมือมนุษย์ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว หรือมากกว่าหนึ่งครั้ง ผลกระทบมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งคุณภาพอากาศที่แย่ลง มลพิษทางน้ำ ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์ และสร้างอันตรายต่อสัตว์ป่า


ข้อมูลเพิ่มเติม


9. เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์สามารถกลายเป็นพลังงานทดแทนที่ยั่งยืนได้หรือไม่ ?

สหประชาชาติ (UN) ให้คำจำกัดความของคำว่า ‘ความยั้งยืน’ ว่าหมายถึง การพัฒนาที่ตอบสนองต่อความต้องการในปัจจุบัน โดยที่ต้องไม่ไปทำลายทรัพยากรของคนรุ่นหลัง


พลังงานแสงอาทิตย์คือตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงความยั้งยืน ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ยอมรับว่า ดวงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญที่สุด มีความยั่งยืนมากกว่าแหล่งพลังงานที่เกิดจากเชื้อเพลิงฟอสซิล


ข้อมูลเพิ่มเติม


10. วิธีคืนสภาพให้กับดินที่เสื่อมสภาพในงบประมาณที่จำกัด ?


ประเทศไทยได้รับการยอมรับในฐานะเมืองเกษตรกรรม แต่ปัญหาที่พบเป็นประจำคือ ‘ดินเสื่อมโทรม’ ซึ่งเกิดจากการที่เกษตรกรขาดความรู้เรื่องการดูแลดินหลังการใช้งาน ไม่เคยบำรุงดิน และใช้สารเคมีเป็นจำนวนมาก เมื่อถึงจุดหนึ่ง แร่ธาตุและจุลินทรีย์ในดินหมดไป เหลือแต่สารเคมีตกค้างทำให้กลายเป็นดินเสื่อมสภาพ และแห้งแล้ง


การหาวิธีในการคืนสภาพให้กับดินที่เสื่อมสภาพในงบประมาณที่จำกัดจึงเป็นหัวข้อวิจัยที่สร้างคุณประโยชน์อย่างมากต่อเกษตรกรไทยในอนาคตที่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย


Illustration by Piyanat Chasi

 

46,243 views
bottom of page