By Setthaphong Matangka
หากจะให้กล่าวว่าประเทศไทยในปัจจุบันปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เหมือนดังเช่นในปี พ.ศ.2516-2519 ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน” ก็คงเป็นคำกล่าวที่เกินจริงสำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน
ประชาธิปไตยไทยผ่านทั้งจุดสูงสุดไปจนถึงจุดต่ำสุดไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งจนกลายเป็น “วงจรอุบาทว์” ที่เริ่มจากการเลือกตั้งจนจัดตั้งรัฐสภาเสร็จสิ้น เมื่อรัฐบาลบริหารงานไปได้ระยะเวลาหนึ่งก็จะเริ่มเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่มักจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนนำไปสู่การรัฐประหาร เมื่อเหตุการณ์สงบลงก็จะมีการแต่งตั้งนายกฯ ที่มิได้มาจากการเลือกตั้งและเริ่มมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จนนำไปสู่การเลือกตั้ง เหตุการณ์ที่ผ่านมาล้วนดำเนินเป็นวัฏจักรเช่นนี้
วันนี้เราอยากจะชวนทุกคนย้อนมองประชาธิปไตยไทยผ่านงานวิจัยที่น่าสนใจ 3 ชิ้น
บทบาทของการเมืองภาคประชาชนในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยไทย
ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
หนังสือวิชาการเรื่อง “การเมืองภาคประชาชน ในระบอบประชาธิปไตยไทย” มาจากผลงานวิจัยที่มีชื่อว่า “บทบาทของการเมืองภาคประชาชนในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยไทย” ได้รับทุนการทำวิจัยจากมูลนิธิ 50 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย คำถามหลักในงานวิจัย คือ การพิจารณาความชอบธรรมและตำแหน่งแห่งที่ของการเมืองภาคประชาชน ในระบอบการเมืองการปกครองไทย และการเมืองภาคประชาชนได้แสดงบทบาทสนองจุดมุ่งหมายอะไรบ้างในสถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่
กล่าวโดยสรุป ข้อคิดที่อาจารย์ให้ไว้ในงานชิ้นนี้ คือ จุดเริ่มต้นปัญหาการปกครองไทยทั้งหมด เริ่มมาจากมรดกทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและเศรษฐกิจสังคม 3 ประการ ได้แก่ (1) วัฒนธรรมอุปถัมภ์ (2) โครงสร้างและความสัมพันธ์ทางอำนาจที่มีมาแต่เดิม (3) ความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคม เมื่อ 3 ข้อที่กล่าวมา มาผนวกกับกระแสโลกาภิวัตน์ ที่อาจารย์เสกสรรค์ให้คำนิยามไว้ว่า “การโอนถ่ายอำนาจอธิปไตยจากรัฐชาติไปให้กลไกตลาด” ผลที่เกิดขึ้น ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมตกอยู่ในสภาพที่รัฐมีฐานะครอบงำ และกัดกินระบอบการเมืองและรัฐชาติไทย ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประการ ดังนี้
ระบอบประชาธิปไตยที่ไร้อธิปไตย เนื่องมาจากถูกกระแสโลกาภิวัตน์ยึดกลไกตลาด
เกิดความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น ทั้งในทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม จนกลายเป็นสภาวะหนึ่งรัฐ สองสังคมที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว
สังคมไม่สามารถเข้ามาควบคุมรัฐได้อีกต่อไป รัฐมีความสัมพันธ์ในแนวดิ่งกับสังคม การใช้อำนาจของรัฐบาลที่ขาดฉันทานุมัติ และอ้างจิตสำนึกของชาติอย่างลวงตา เพื่อกลบเกลื่อนผลประโยชน์ของชาวบ้านที่ถูกนิยามว่าเป็น “ชนส่วนน้อย” และเลือกที่จะให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของนักธุรกิจและชนชั้นกลาง
การเสื่อมโทรมของรัฐชาติ ทำให้เกิดปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบอบการเมืองการปกครองไทยที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ ปัญหาของอำนาจอธิปไตย ปัญหาการนิยามผลประโยชน์แห่งชาติ และปัญหาฉันทามติทางการเมือง
ปัญหาของอำนาจอธิปไตย
การโอนอำนาจในการกำหนดชะตากรรมของคนในประเทศมาอยู่ในมือของกลุ่มนักธุรกิจทั้งในและนอกประเทศถือเป็นการสร้างระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมใหม่ที่เชิดชูกลไกตลาด จนทำให้สังคมต้องแตกออกเป็นส่วนๆ ประชาชนไร้ที่ยึดเหนี่ยว ซึ่งถือเป็นศัตรูอันดับหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง แต่สุดท้ายการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนก็จะเป็นตัวถ่วงดุลอำนาจของภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชน เพราะฉะนั้นแม้รัฐไทยจะโอนอำนาจบางส่วนไปให้กลไกตลาด แต่ประชาชนก็จะสามารถดึงกลับมาได้ในรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไป
ปัญหาการนิยามผลประโยชน์แห่งชาติ
อะไรคือผลประโยชน์ร่วมกันแห่งชาติ ในเมื่อผู้คนในชาติต่างมีการได้เสียผลประโยชน์ ชีวิตความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วโดยเฉพาะรัฐไทยที่ออกกฎหมายปูทางให้ทุนข้ามชาติเข้ามาถือผลประโยชน์ ปัญหาหลักจึงอยู่ที่เราจะนิยามผลประโยชน์ร่วมของคนในชาติได้อย่างไร ในเมื่อกลุ่มธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเข้ามากุมอำนาจ และคนเหล่านี้มีหุ้นรวมกันในตลาดหุ้นประมาณ 42 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าหุ้นทั้งหมด ในขณะที่คนธรรมดามีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 3,500 บาท
ปัญหาฉันทามติทางการเมือง
แม้ในระบอบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย ฉันทามติทางการเมืองก็ยังเป็นสิ่งที่จำเป็น เพียงแต่ว่าความเห็นชอบจะจำกัดอยู่ที่เฉพาะผู้นำทางการเมือง ในระบอบประชาธิปไตยเอง ฉันทามติทางการเมืองไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ตามอำเภอใจ เพราะสังคมต้องเป็นผู้มอบให้รัฐบาลผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งนั้นหมายถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่ปัญหาใหญ่ก็เกิดจากการวนเวียนอยู่กับการพิจารณาที่การเลือกตั้ง เพราะทำให้สังคมถูกแบ่งออกเป็นส่วนต่าง ๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นตัวเลขทางคณิตศาสตร์ จนกลายเป็นปัญหาที่นับวันยากที่จะแก้ไข ในขณะที่การเคลื่อนไหวของการเมืองภาคประชาชนก็ยิ่งมีบทบาทมากขึ้นทุกวัน ดังนั้นจึงต้องมีความจำเป็นที่จะปรับกระบวนทัศน์ทางการเมือง โดยมีประเด็น 3 ประการ ดังนี้
ต้องยอมรับว่าประชาธิปไตยแบบตัวแทนผ่านการเลือกตั้งไม่เพียงพอต่อการดูแลผลประโยชน์ของคนในสังคม และควรเพิ่มขยายประชาธิปไตยทางตรงแบบที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจด้วยตนเองมากขึ้น
สร้างกระบวนการฉันทานุมัติแบบต่อเนื่อง เปิดให้ผู้มีส่วนได้เสียในประเด็นนั้นๆ เข้ามาร่วมแสดงความเห็นปัญหานั้น และหาฉันทานุมัติที่ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้
เปิดอนาคตประเทศไทยให้มีการพัฒนาที่หลากหลาย รัฐไม่ควรยึดอำนาจแบบศูนย์รวมในการบังคบคนในสังคม โดยที่มองข้ามความแตกต่าง และไม่เคารพสิทธิ เสรีภาพของผู้คน
การศึกษาวิจัยเรื่องพฤติกรรมทางการเมืองของชนชั้นกลางกับการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลช่วงพุทธศักราช 2551-2553
จำลอง พรมสวัสดิ์
การศึกษาวิจัยเรื่องพฤติกรรมทางการเมืองของชนชั้นกลางกับการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลช่วงพุทธศักราช 2551-2553 มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อศึกษาบริบททางการเมือง สังคมและเศรษฐกิจที่มีผลต่อพฤติกรรมทางการเมืองของชนชั้นกลางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลช่วงพุทธศักราช 2551-2553 (2) เพื่อสำรวจความคิดเห็นของชนชั้นกลางเกี่ยวกับการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทยและผลของความคิดเห็นเกี่ยวกับพฤติกรรมทางการเมืองของชนชั้นกลางที่มีต่อการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทย โดยใช้การวิจัยเชิงปริมาณ
ผลการศึกษาพบว่า
บริบททางการเมืองมีผลต่อพฤติกรรมทางการเมืองของชนชั้นกลางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลช่วงพุทธศักราช 2551-2553 ในระดับสูงมาก เนื่องจากบริบททางการเมืองอันได้แก่รัฐธรรมนูญฉบับ พุทธศักราช 2550 ที่ให้ประชาชนเข้าไปมีบทบาทสำคัญเป็นผู้เล่นไม่ใช่ผู้ดูตามแนวคิดของการเมืองแนวใหม่หรือการเมืองภาคประชาชนประกอบกับชนชั้นกลางในช่วงที่ทำการศึกษามีความกระตือรือร้นและมีจิตสำนึกทางการเมืองมาก ขณะเดียวกันไม่ต้องการเห็นรัฐบาลมีพฤติกรรมการคอรัปชั่นเชิงนโยบายและการขัดกันของผลประโยชน์อย่างกว้างขวาง
บริบททางสังคมมีผลต่อพฤติกรรมทางการเมืองของชนชั้นกลางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลช่วงพุทธศักราช 2551-2553 ค่อนข้างมากเนื่องจากบริบทสังคมไทยระยะหลังสังคมพหุนิยมและพหุวัฒนธรรมเป็นสังคมข่าวสารข้อมูลทำให้ชนชั้นกลางสนใจติดตามข่าวสารทางการเมืองและมีการรวมกลุ่มเป็นแนวร่วมกับกลุ่มการเมืองอื่น ๆ
บริบททางเศรษฐกิจมีผลต่อพฤติกรรมทางการเมืองของชนชั้นกลางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลค่อนข้างน้อย เพราะตัวแบบของ Lipset ที่นำมาเป็นกรอบแนวคิดในการวิจัยใช้ไม่ได้กับประเทศในเอเชียรวมทั้งไทย
การสำรวจความคิดเห็นของชนชั้นกลางเกี่ยวกับการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทย และผลของความคิดเห็นเกี่ยวกับพฤติกรรมทางการเมืองของชนชั้นกลางที่มีต่อการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทยพบว่า ชนชั้นกลางส่วนใหญ่มีความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทยในภาพรวมมีค่าเฉลี่ยรวมมาก (ค่าเฉลี่ย = 4.09) แสดงให้เห็นว่าชนชั้นกลางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีความรู้ความเข้าใจในการเมืองระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างดีทั้งความรู้ทางด้านบวกและทางด้านลบเป็นผลของความคิดเห็นเกี่ยวกับพฤติกรรมทางการเมืองของชนชั้นกลางที่มีต่อการเมืองไทยพบว่าค่าเฉลี่ยเกี่ยวกับพฤติกรรมทางการเมืองชนชั้นกลางทั้ง 4 ด้านมีค่าเฉลี่ยในภาพรวมมาก (ค่าเฉลี่ย = 4.06) การที่ผลปรากฏเป็นเช่นนี้เนื่องมาจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ให้ความสำคัญกับการเมืองแนวใหม่หรือการเมืองภาคประชาชนหรือประชาธิปไตยทางเลือกมากกว่าประชาธิปไตยตัวแทนที่มีข้อจำกัด
การมีส่วนร่วมทางการเมืองและการเลือกตั้งของนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
หยดฟ้า ราชมณี และคณะ
การมีส่วนร่วมทางการเมืองและการเลือกตั้งของนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช มีวัตถุประสงค์ดังนี้ (1) ศึกษาการมีส่วนร่วมทางการเมือง และการเลือกตั้งของนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช (2) เพื่อเปรียบเทียบมุมมองต่อการเมืองและการใช้สิทธิเลือกตั้งของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช โดยจำแนกตามลักษณะด้านประชากรและสังคมของนักศึกษา (3) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมุมมองต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการใช้สิทธิ์เลือกตั้งของนักศึกษา
ตัวแปรใช้ในการศึกษาประกอบด้วย ตัวแปรอิสระ ได้แก่ ลักษณะด้านประชากรและสังคม (เพศ ชั้นปี ภูมิลำเนา รายได้และอาชีพของบิดามารดา), การมีส่วนร่วมทางการเมือง(ผู้สนใจทางการเมือง กิจกรรมทางเมืองและกิจกรรมการต่อสู้) และตัวแปรตาม ได้แก่ มุมมองต่อการมีส่วนร่วมทางการเมือง และการเลือกตั้งของนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
ผลการศึกษาพบว่า
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช โดยภาพรวมอยู่ในระดับน้อย เรียงลำดับจากด้านที่มีค่าเฉลี่ยมากไปหาน้อย คือด้านรูปแบบผู้สนใจทางการเมือง ด้านรูปแบบกิจกรรมการต่อสู้ทางการเมือง และด้านรูปแบบกิจกรรมการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งน่าจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก และยุคโลกาภิวัตน์ที่ทำให้มีความห่างเหินกับเรื่องของการเมืองออกไป แตกต่างกับในอดีตที่เราพบว่า การเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่สำคัญๆ ล้วนแล้วแต่เกิดจากพลังของกลุ่มคนที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยทั้งสิ้น
มุมมองต่อการเมืองและการเลือกตั้งของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช มีทิศทางในเชิงบวกอยู่ในระดับมาก
การเปรียบเทียบมุมมองต่อการเมืองและการเลือกตั้งนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏ นครศรีธรรมราช เมื่อจำแนกตาม เพศ ชั้นปี ภูมิลำเนา รายได้ของครอบครัว อาชีพของบิดาและอาชีพของมารดา พบว่าตัวแปรที่แตกต่างกันไม่ส่งผลให้มีมุมมองต่อการเมืองและการเลือกตั้งที่แตกต่างกัน
การมีส่วนร่วมทางการเมืองไม่มีความสัมพันธ์กับมุมมองต่อการเมืองและการเลือกตั้งของนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ทั้งในภาพรวมและในรายด้าน
Illustration by Arnon Chundhitisakul
อ้างอิง
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล. 2552. การเมืองภาคประชาชนในระบอบประชาธิปไตยไทย. กรุงเทพฯ : วิภาษา เอนก เหล่าธรรมทัศน์. 2556. สองนคราประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ : คบไฟ
หยดฟ้า ราชมณี. 2558. การมีส่วนร่วมทางการเมืองและการเลือกตั้งของนักศึกษา มหาวิทยาลัย ราชภัฏนครศรีธรรมราช. วารสารมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ, 9(2), 121-134
จำลอง พรมสวัสดิ์. 2554. พฤติกรรมทางการเมืองของชนชั้นกลางกับการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลช่วงพุทธศักราช 2551-2553. วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต, คณะสื่อสารการเมือง, มหาวิทยาลัยเกริก.
コメント