top of page
  • Writer's pictureTSIS

รวม 5 งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ “การอพยพ”

By Piyanat Chasi

จากเหตุการณ์อพยพครั้งยิ่งใหญ่ที่เพิ่งผ่านมา ทำให้นึกถึงสมัยเรียนวิชาประวัติศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาต้น - ปลาย คุณครูมักพูดถึงการอพยพของมนุษย์ เล่าย้อนไปตั้งแต่บรรพบุรุษนับล้านปีมีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา ก่อนจะเริ่มโยกย้ายไปยังทวีปยูเรเซียและทวีปอื่น ๆ


ตอนนั่งเรียนในห้องเรานั่งฟังและได้แต่นึกภาพย้อนไปถึงความยิ่งใหญ่ของการอพยพในอดีต หลังจากนั้นค้นเจออีกหลายทฤษฎีของการอพยพ ซึ่งตอนนี้ก็คืนความรู้คุณครูไปหมดแล้ว (ขอโทษนะคุณครู)


ที่เราต้องการจะสื่อคือ การอพยพไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่จนในปัจจุบันการอพยพได้พัฒนารูปแบบขึ้นมาไม่ใช่แค่ในเชิงกายภาพ แต่เมื่อไม่กี่วันก่อนได้วิวัฒนาตนเองเข้าสู่การอพยพในโลกออนไลน์ เอ้ะ! เข้าเนื้อหาก่อน วันนี้เราจะมาเจาะลึกถึง “5 งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการอพยพ”


รู้จัก “การอพยพ”

กล่าวซ้ำอีกครั้งการอพยพไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่จากหลักฐานและการพิสูจน์ พบว่าครั้งแรกที่เกิดการอพยพขึ้นมีไม่ต่ำกว่าหกหมื่นปี (ยุคหลังน้ำแข็ง)


การอพยพ (displacement) มีความหมายว่า การเคลื่อนจากสภาพแวดล้อมหนึ่ง ไปสู่สถานที่ใหม่ สภาพแวดล้อมใหม่ หรือการเคลื่อนย้ายจากถิ่นที่อยู่ ถิ่นเกิด สู่ที่ใหม่ หรือที่เราได้ิยินติดหูว่า “การย้ายถิ่น”


ความหมายของการอพยพหรือการย้ายถิ่นมีลักษณะ 2 ประการ

  1. การย้ายถิ่นโดยสมัครใจ (voluntary displacement/ migration) เช่น อยู่ในที่เดิมที่เคยอยู่ก็ไม่มีอนาคต จึงแสวงหาที่ใหม่เพื่อเพิ่มรายได้ เพิ่มโอกาสในชีวิตให้ตนเอง

  2. การย้ายถิ่นโดยไม่สมัครใจ หรืออพยพโดยถูกบังคับ (involuntary displacement or forced migration) มีหลายสาเหตุ เช่น

    1. สาเหตุการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติทำให้อยู่ที่เดิมไม่ได้ เช่น น้ำท่วม ภูเขาไฟระเบิด ภัยแล้ง ไฟป่า

    2. สาเหตุจากการกระทำของมนุษย์ เช่น สงครามกลางเมือง การก่อสร้างหรือเวนคืนที่ดิน

การอพยพหรือการย้ายถิ่นฐาน แบ่งตามลักษณะภูมิศาสตร์เป็น

  1. การอพยพในประเทศ (Internal displacement or Internal migration)

  2. การอพยพระหว่างประเทศ (International displacement or cross border migration)

การอพยพหรือการย้ายถิ่นฐาน แบ่งด้วยระยะเวลา คือ

  1. ระยะสั้น (Short term/ Temporary migration) มีระยะเวลาประมาณ 3 - 12 เดือน

  2. ระยะยาว (Long term migration) ยาวนานตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป


ความหมายเพิ่มเติมของ “ผู้อพยพ หรือผู้ย้ายถิ่น” คือ ผู้ที่ย้ายครอบครัวจากถิ่นหนึ่งไปอยู่อีกถิ่นหนึ่ง หรือผู้ที่ย้ายจากถิ่นเดิมไปอยู่นอกประเทศ หรือไปนอกถิ่นที่อยู่ หรือผู้หลบหนีภัยไปสู่ที่ปลอดภัยกว่า แบ่งขอบเขตตามภูมิศาสตร์เป็นผู้อพยพหรือผู้ย้ายถิ่นในประเทศ และผู้อพยพหรือผู้ย้ายถิ่นระหว่างประเทศ


นอกจากผู้อพยพหรือผู้ย้ายถิ่น มีความหมายเพิ่มเติมหรือเฉพาะเจาะจงเพิ่มเติม เช่น

  • ผู้ผลัดถิ่นภายในประเทศ (Internally Displaced Person: IDP) คนที่จำเป็นต้องอพยพจากถิ่นเกิดเพื่อหนีภัยสงคราม สถานการณ์ความรุนแรง ถูกละเมิดสิทธิ ปัญหาภัยทางธรรมชาติ หรือภัยจากมนุษย์ ไปที่อื่น ๆ ภายในประเทศของตน ไม่ได้ข้ามไปประเทศอื่น

  • ผู้ลี้ภัย (Refugee) คนที่ต้องอพยพข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ จากภัยอันตรายต่าง ๆ ที่คุกคามชีวิต ด้วยสาเหตุใด ๆ ก็ตาม เช่น ความขัดแย้งทางเชื้อชาติ ศาสนา ความคิดเห็นต่างทางการเมือง ซึ่งไม่ได้รับการปกป้องจากประเทศที่เกิดและที่พักอาศัย ผู้ที่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจะได้รับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สถานะ จากประเทศปลายทางที่เป็นสมาชิกของอนุสัญญาว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัย องค์กรระหว่างประเทศ และองค์กรด้านมนุษยธรรมอื่น ๆ

  • ผู้แสวงหาสถานะผู้ลี้ภัย (Asylum Seeker) คนที่แสวงหาที่พักพิงนอกประเทศ เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยให้พ้นจากความขัดแย้งหรืออันตรายจากประเทศบ้านเกิด ซึ่งอยู่ในกระบวนการตรวจสอบ หรือร้องขอสถานะผู้ลี้ภัย

  • บุคคลในความห่วงใย (People of Concern: POC) คนที่ต้องออกจากถิ่นเกิด และอยู่ในขอบเขตที่ได้รับการคุ้มครองและการช่วยเหลือจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugee: UNHCR) ครอบคลุมทั้งผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาสถานะผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ รวมทั้งบุคคลที่ยังไม่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัย บุคคลไร้สัญชาติที่ไม่ได้รับการคุ้มครองจากประเทศใดประเทศหนึ่ง


รวม 5 งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการอพยพ


ผลกระทบของการย้ายถิ่นภายในประเทศที่มีต่อสุขภาวะและพัฒนาการเด็กปฐมวัย


จุดประสงค์ของการศึกษาคือ ศึกษาผลกระทบจากการย้ายถิ่นภายในประเทศของพ่อแม่ที่มีต่อสุขภาวะและพัฒนาการของเด็กปฐมวัยในประเทศไทย ในจังหวัดที่มีการย้ายถิ่นสูงเพื่อเปรียบเทียบลักษณะของเด็กเป้าหมายในครัวเรือนสามประเภท ได้แก่ อยู่กับพ่อและแม่ อยู่กับแม่ และไม่ได้อยู่กับพ่อและแม่


ผลการวิจัยพบว่า เด็กเล็กที่แยกกันอยู่กับพ่อและแม่มีแนวโน้มจะอยู่ในความดูแลของปู่ย่าตายาย โดยผู้ดูแลเป็นยายมากกว่าย่าสองเท่า พ่อแม่ย้ายถิ่นด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ และเชื่อว่าได้ฝากเด็กไว้ให้อยู่ในการดูแลที่ดี พ่อแม่ผู้ย้ายถิ่นเองหลายคนถูกเลี้ยงโดยปู่ย่าตายายของตนเช่นกัน เกือบทุกคนส่งเงินกลับบ้านเพื่อเกื้อหนุนครอบครัวในถิ่นต้นทาง ทั้งยังพบว่ามีเหตุผลที่ควรกังวลเกี่ยวกับเด็กที่แยกอยู่กับพ่อแม่ คือ มีแนวโน้มสูงที่อยู่ในครัวเรือนยากจน มีโอกาสน้อยที่จะได้สัมผัสกิจกรรมเสริมพัฒนาการจากผู้ดูแล และมีแนวโน้มสูงที่จะถูกทำโทษทางร่างกาย โดยเฉพาะที่แยกกันอยู่ทั้งพ่อและแม่ มักมีแนวโน้มมีพัฒนาการล่าช้า โดยเฉพาะพัฒนาการทางภาษา นอกจากนี้ เด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อและแม่มีแนวโน้มน้ำหน้กต่ำกว่าเกณฑ์และ/ หรือมีภาวะทุพโภชนาการเรื้อรัง ส่วนภาวะโภชนาการไม่ดีมีความสัมพันธ์กับการมีพัฒนาการล่าช้าเมื่อเด็กอยู่กับทั้งพ่อและแม่

สนใจศึกษาเพิ่มเติมต่อได้ที่ https://www.unicef.org/thailand/sites/unicef.org.thailand/files/2018-06/UNICEF_CLAIMS_Report_Thai.pdf


มุมมองของคนไทยต่อการอพยพเข้าประเทศ


โดย วิชุดา สาธิตพร ศึกษาเพื่อทำความเข้าใจและอธิบายมุมมองของคนไทยที่มีต่อการอพยพเข้าประเทศ พบว่า ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่มีมุมมองที่สอดคล้องกับประชาชนในประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน ได้แก่ ประเทศกัมพูชา มาเลเซีย พม่า และสิงค์โปร์คือไม่สนับสนุนการอพยพเข้าประเทศ มุมมองดังกล่าว ได้รับอิทธิพลจากตัวแปรที่หลากหลายทั้งตัวแปรทางเศรษฐกิจ สังคม ภูมิหลังทางประชากร และจิตวิทยาการเมือง ข้อค้นพบได้สะท้อนว่า กรณีประเทศไทยปัจจัยด้านภูมิหลังประชากรโดยเฉพาะการอาศัยอยู่ในเขตชนบทหรือในเขตเมืองและปัจจัยด้านทัศนคติทางการเมืองมีอิทธิพลต่อมุมมองของประชาชนในเรื่องการอพยพเข้าประเทศมากกว่าปัจจัยด้านเศรษฐกิจซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับผลการศึกษาของประเทศอื่น ๆ ทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือนอกภูมิภาคอย่างยุโรปตะวันตกและสหรัฐอเมริกา

สนใจศึกษาเพิ่มเติมต่อได้ที่ https://www.ombudsman.go.th/ombstudies/download/Journals/2562/p147-168-12-2.pdf


ที่พักอาศัยที่ปลอดภัย การให้ที่หลบภัยชั่วคราวสำหรับบุคคลผู้พลัดถิ่นจากการถูกกระทำรุนแรงทางเพศและฐานเพศภาวะ กรณีศึกษา: ประเทศไทย

โดย จูลี่ เฟร็ดซีโร และคิม ทุย ซีลิงเกอร์ ภายใต้ศูนย์สิทธิมนุษยชนโครงการว่าด้วยเรื่องการกระทำรุนแรงทางเพศจุดมุ่งหมายของการศึกษาคือ เพื่อชี้แจงและบรรยายรูปแบบต่าง ๆ ของที่หลบภัยชั่วคราว เท่าที่หาได้ให้กับผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่นอาศัยภายใน และผู้อพยพที่หลบหนีจากการกระทำความรุนแรงทางเพศและฐานเพศภาวะ ระบุปัญหาอุปสรรคที่มีลักษณะเฉพาะจากบรรดาผู้ที่อยู่อาศัยและเจ้าหน้าที่ได้รับประสบการณ์มาจากที่ตั้งดังกล่าว รวมถึงสำรวจหาความคุ้มครองที่จำเป็นและทางเลือกสำหรับกลุ่มเหยื่อชายขอบโดยเฉพาะ สิ่งที่ค้นพบจากการศึกษา


รูปแบบต่าง ๆ ของที่หลบภัยชั่วคราว

จากการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องจากค่ายพักพิงชั่วคราวสามแห่ง ได้ดัดแปลงที่หลับภัยชั่วคราวหลายแห่งถูกออกแบบให้สามารถรองรับคนได้ตั้งแต่ 50 ถึง 150 คน ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าที่หลบภัยชั่วคราวต่าง ๆ ที่รับผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ ที่หลบภัยชั่วคราวได้ให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ อย่างครอบคลุม โดยเน้นเรื่องการฝึกอาชีพ


ปัญหาและยุทธศาสตร์ต่าง ๆ

เจ้าหน้าที่ของที่หลับภัยชั่วคราวได้แสดงถึงความอุทิศตนให้กับงานโดยสุดความสามารถที่จะให้ความช่วยเหลือด้านการคุ้มครองที่จำเป็นภายใต้ทรัพยากร สาธารณูปโภคด้านความปลอดภัยที่มีอยู่อย่างจำกัด ผู้ดูแลที่หลบภัยชั่วคราวหลัก ๆ ส่วนใหญ่คือ องค์กรที่อิงชุมชนชาวพม่าต่างมุ่งจะทำให้ที่หลบภัยชั่วคราวได้เปิดบริการโดยการหาทรัพยากรเพิ่มเติม อุทิศเวลาของพวกเขามาทำงานอาสาสมัคร และพยายามหากิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างรายได้เป็นทุนในการทำโครงการต่าง ๆ ซึ่งปัญหาต่าง ๆ ที่เจ้าหน้าที่ระบุ ประกอบด้วย

  1. ความปลอดภัย เจ้าหน้าที่ของที่หลบภัยได้พูดถึงข้อห่วงใยในเรื่องความปลอดภัยส่วนบุคคล เนื่องจากพวกเขาต่างมีประสบการณ์ในการถูกข่มขู่ที่จะทำร้าย อาจจะประสบได้ทั้งจากข้างในและข้างนอกที่หลบภัยชั่วคราว

  2. ความเข้าใจและข้อตกลงของชุมชน

  3. ความเครียดทางด้านอารมณ์ของผู้ดูแล

  4. ความอับอายและคำตำหนิ

  5. บทบาทของผู้รอดชีวิตในการตัดสินใจ

  6. เงินทุนสนับสนุน

  7. การเข้าถึงที่หลบภัยชั่วคราวของรัฐ

สนใจศึกษาเพิ่มเติมต่อได้ที่ https://www.law.berkeley.edu/files/HRC/SS_TB_Exec_Summary_Thai_final_130605.pdf


บทบาทของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติต่อการช่วยเหลือชาวกะเหรี่ยงผู้หลบหนีภัยจากการสู้รบในเขตตำบลแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก โดยวชิรพันธ์ จงวัฒนา

โดยวชิรพันธ์ จงวัฒนา มีจุดประสงค์ของการศึกษาถึงบทบาทของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ประจำพื้นที่แม่สอด ต่อการกำหนดนโยบาย การนำนโยบายไปปฏิบัติ และผลจากการดำเนินนโยบายต่อความช่วยเหลือชาวกะเหรี่ยงผู้หลบหนีภัยจากการสู้รับในพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ตลอดจนความร่วมมือในการดำเนินนโยบายกับสำนักงานพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านแม่หละ ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการ สังกัดกรมปกครอง กระทรวงมหาดไทย ผู้วิจัยสัมภาษณ์ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ประจำพื้นที่แม่สอด ปลัดอำเภอท่าสองยาง และตัวแทนชาวกะเหรี่ยงผู้หลบหนีภัยจากการรบ


ผลการศึกษาพบว่า สำนักงานพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านแม่หละได้กำหนดรูปแบบนโยบายที่มีความสอดคล้องกับหลักการของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ภายใต้หลักความมั่นคงภายในประเทศเป็นสำคัญ ได้แก่

  1. งานทะเบียนและการสงเคราะห์

  2. การประสานงานและการอำนวยความสะดวก

  3. การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในพื้นที่พักพิงชั่วคราว ทั้งยังประสานความร่วมมือในการดำเนินงานให้ความช่วยเหลือผู้หลบหนีภัยจากการสู้รับร่วมกับ UNHCR ประจำประเทศไทย ผ่านทางสำนักงานพื้นที่แม่สอด โดยดำเนินงานอยู่ภายใต้หลักการสิทธิมนุษยชน และการแก้ไขปัญหาถาวรตามหลัก

สนใจศึกษาเพิ่มเติมต่อได้ที่ http://archive.lib.cmu.ac.th/full/T/2555/poli30455wc_abs.pdf


โครงการศึกษา การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการย้ายถิ่นของแรงงานจากพม่าและผลกระทบต่อประเทศไทย

จัดทำโดย องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน ร่วมกับศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย มีเป้าหมายการศึกษาเพื่อให้ข้อมูลความเข้าใจที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ เกี่ยวกับวิวัฒนาการรูปแบบการย้ายถิ่นของแรงงานพม่าและลักษณะที่ความเปลี่ยนแปลงทั้งตัวผู้ย้ายถิ่น ผู้ว่าจ้าง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ช่วยให้เข้าใจเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะของแรงงานย้ายถิ่นชาวพม่าในประเทศไทย รวมถึงรูปแบบวัฏจักรของการย้ายถิ่น และสภาพความเป็นอยู่ก่อนที่จะตัดสินใจย้ายถิ่น ระหว่างที่ย้ายถิ่น และภายหลังการย้ายถิ่น หากแรงงานตัดสินใจที่จะย้ายกลับประเทศต้นทาง


ผลการศึกษาพบว่า อย่างไรก็ตามแรงงานพม่ามองว่าการพำนักอยู่ที่ไทยเป็นการอาศัยอยู่แบบชั่วคราวเพื่อโอกาสทางเศรษฐกิจ โดยระดับรายได้และสภาพการทำงานเป็นปัจจัยที่อาจส่งผลต่อระยะเวลาที่จะย้ายถิ่นกลับ แรงงานที่มีรายได้และสภาพการทำงานที่น่าพึงพอใจมีแผนระยะยาวที่จะย้ายกลับ เมื่อเทียบกลับกลุ่มที่มีรายได้น้อยกว่า แต่แรงงานส่วนใหญ่ไม่เลือกที่จะอยู่ประเทศไทยถาวร ซึ่งภายใต้สถานการณ์เช่นนี้เป็นความท้าทายสำหรับประเทศไทยในอนาคตต่อเรื่องแรงงาน จึงแนะนำผู้เกี่ยวข้องคือการให้โอกาสด้านการจดทะเบียนเอกสารอย่างถูกต้อง รวมถึงการให้ค่าจ้างและสภาพการทำงานที่เหมาะสมแก่แรงงานย้ายถิ่น เพื่อเพิ่มความรู้สึกด้านบวกต่อประสบการณ์การย้ายถิ่นและความเต็มใจที่จะทำงานในประเทศไทย หากพิจารณาถึงปริมาณความต้องการแรงงานที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศไทยและประเทศพม่าในอนาคต ภาคอุตสาหกรรมอาจได้รับผลกระทบมากที่สุดเนื่องจากขาดแคลนแรงงาน คือภาคอุตสาหกรรมให้ค่าจ้างแรงงานน้อยกว่าภาคอื่น ๆ ที่ผ่านมาแก้ไขด้วยการแทนที่แรงงานย้ายถิ่นที่เข้ามาใหม่ แต่หากในอนาคตทั้งสองประเทศต้องการแรงงานที่เพิ่มขึ้น การจ้างงานต้องเจอกับปัญหารายได้ที่เสนอให้ในปัจจุบัน และเป็นเรื่องยากที่จะเพิ่มค่าจ้างในเมื่อต้องจ้างแรงงานให้มีปริมาณเพียงพอต่อการดำเนินกิจการต่อ จึงเป็นการเตรียมพร้อมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่ต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลง สนใจศึกษาเพิ่มเติมต่อได้ที่ โครงการศึกษาการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการย้ายถิ่นของแรงงานจากพม่าและผลกระทบต่อประเทศไทย



1,615 views
bottom of page