top of page
  • Writer's pictureTSIS

5 งานวิจัยเกี่ยวกับ "ความสัมพันธ์ของไทยและสหรัฐอเมริกา"

By TSIS TEAM

อีกไม่กี่อึดใจเราก็จะทราบผลตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐอเมริกา จะมีสักกี่ประเทศที่ผู้คนทั่วโลกรวมทั้งคนไทยต่างให้ความสนใจข่าวการเลือกตั้งผู้นำประเทศมากขนาดนี้


เราจึงหางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของอเมริกาและไทยมาให้ทุกคนอ่านเพื่อทำความเข้าใจว่าอเมริกาสำคัญหรือน่าติดตามอย่างไร



นโยบายและจุดยืนของสหรัฐอเมริกาที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและนัยต่อประเทศไทย

โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (มีนาคม 2011)

สหรัฐเมริกาเป็นประเทศหลักทางการเมืองที่ส่งผลสำคัญต่อการเจรจาในกรอบพหุภาคีเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ซึ่งท่าทีต่อนโยบายดังกล่าวขึ้นอยู่กับ “นโยบาย” ของพรรคการเมืองในประเทศสหรัฐอเมริกา ข้อสังเกตพบว่ารัฐบาลจากพรรคเดโมแครตให้ความสำคัญต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและต้องการผลักดันให้สหรัฐฯ มีบทบาทนำในเวทีเจรจาต่อการเปลี่ยนแปลง แต่รัฐบาลจากพรรครีพับลิกันเห็นว่าพันธกรณีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะเป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ การแบ่งแยกจุดยืนทางการเมืองเรื่องสิ่งแวดล้อมระหว่างสองพรรคไม่ได้มีนัยสำคัญต่อการตัดสินใจของรัฐสภาเพราะมีตัวแสดงทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก เช่น กลุ่มธุรกิจ องค์กรสิ่งแวดล้อม รัฐสภาและวุฒิสภา และภาคประชาชน


จุดยืนของสหรัฐฯ ต่อเวทีเจรจามีแนวทางที่มีรากฐานมาจากมติ Byrd-Hagel Resolution โดยเฉพาะประเด็นที่ต้องการให้มีพันธกรณี สำหรับประเทศกำลังพัฒนาในการร่วมลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งได้รับการตอบสนองแล้วในระดับหนึ่งแล้วเนื่องจากสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการผลักดันให้ Copenhagen Accord ดึงประเทศกำลังพัฒนาเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบการลดก๊าซเรือนกระจก โดยแต่ละประเทศมีสิทธิ์เลือกและกำหนดเป้าหมายของ แต่ละประเทศได้โดยอิสระ


การผลักดันให้ประเทศกำลังพัฒนาเข้ามามีส่วนร่วมในการ ลดก๊าซเรือนกระจกแบบสมัครใจเช่นนี้เป็นการส่งสัญญาณ ว่าในอนาคตอาจมีมาตรการแบบบังคับให้ประเทศกำลัง พัฒนาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นได้อย่างไรก็ดี ประเทศไทยสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นการสร้างโอกาสทาง เศรษฐกิจโดยการสร้างงานพร้อมไปกับการเพิ่มขีดความ สามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย


 


การวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาในทะเลจีนตะวันออก ค.ศ. 2016 ถึง 2017 และนัยต่อประเทศไทย

โดยคุณสัญญารัตน์ มีสุวรรณ

เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของสหรัฐฯ ใน ค.ศ. 2016 ได้ประกาศนโยบายต่างประเทศต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่ขับเน้นผลประโยชน์แก่นแกนของสหรัฐฯ เพิ่มศักยภาพทางทหารเพื่อป้องกันภัยคุกคามจาก “ศัตรู” ให้กับพันธมิตร โดยงานวิจัยนีศึกษาจากเอกสารยุทธศาสตร์แห่งชาติของอเมริการ ที่ประกาศใช้เมื่อ 18 ธันวาคม ค.ศ. 2017 มุ่งหาคำตอบกับเป้าประสงค์นโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาในบริเวณทะเลจีนตะวันออกและผลกระทบต่อประเทศไทย ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า สหรัฐฯ มองเห็นการเพิ่มพูนอำนาจของจีนและการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคามสำคัญในบริเวณทะเลจีนตะวันออก และประสงค์จะหยุดยั้งภัยคุกคาม เครื่องมือที่สหรัฐฯใช้ตามแผนยุทธศาสตร์คือ การพยายามกระชับความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับพันธมิตรและหุ้นส่วนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก จากตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่สหรัฐฯ ต้องการกระชับความสัมพันธ์ด้านความปลอดภัยด้วย โดยในเอกสารยุทธศาสตร์แห่งชาติของสหรัฐฯ กล่าวถึงประเด็นความสัมพันธ์กับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนี้


“ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฟิลิปปินส์กับประเทศไทย ยังคงเป็นพันธมิตรและตลาดที่สำคัญของคนอเมริกัน [ขณะที่] เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซียและสิงคโปร์ เป็นหุ้นส่วนของสหรัฐฯ ด้านความมั่นคงและด้านเศรษฐกิจที่กำลังมีบทบาทเพิ่มขึ้น สมาคมอาเซียนและประชาคมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก [เอเปค] ยังคงเป็นเสาหลัก ของ[โครงสร้าง] เพื่อเสริมหนุนความเป็นระเบียบเรียบร้อย อันตั้งอยู่บนพื้นฐานของเสรีภาพในภูมิภาค” ดังนั้น ประเทศไทยควรพยายามรักษาสายสัมพันธ์อันดีกับอเมริกาต่อไป เพื่อจะได้รับความช่วยเหลือด้านต่างๆ ที่อเมริกาเคยให้ต่อไป รักษาสมดุลในการดำเนินนโยบายต่างประเทศในภูมิภาคในลักษณะที่ไม่เหินห่างหรือใกล้ชิดสหรัฐอเมริกาและจีนจนสมดุลไปยังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างชัดเจน


 

ถึงเวลา “รีเซ็ตการศึกษา”: บทเรียนของอเมริกา จากผล PISA 2018

โดย EDUCA

“ความรู้และทักษะของคนคือ กำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ”


จากบทความ Mackay: PISA Result Show Need for Education “Rest” ที่นักการศึกษาของสหรัฐอเมริกาแสดงความคิดเห็นต่อระบบการศึกษาในประเทศตนเองที่เป็นรากฐานสำคัญในการสร้างคนรุ่นใหม่ ภายหลังผลการประเมิน PISA หรือ Program of International Student Assessment


ผลการประเมินจาก PISA ในปี ค.ศ. 2018 พบว่า นักเรียนระดับมัธยมอเมริกาไม่สามารถที่จะทำคะแนนไล่ตามกลุ่มคู่แข่งในประเทศกลุ่มอุตสาหกรรม หรือกล่าวอีกทางหนึ่งคือ อเมริกาไม่ได้อยู่ในกลุ่มประเทศชนชั้นนำด้านการศึกษา ถึงแม้จะได้คะแนนด้านการอ่านและวิทยาศาสตร์สูงกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD แต่คะแนนด้านคณิตศาสตร์มีระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยนักเรียนจาก 30 ประเทศ

จากตารางข้างต้น เมื่อเปรียบเทียบนักเรียนจากอเมริกันกับตัวแทนนักเรียนจาก 4 เมืองใหญ่ของจีน (เมืองปักกิ่ง เมืองเซี่ยงไฮ้และมณฑลเจ้อเจียง) จะเห็นว่า นักเรียนจีนมีคะแนนนำนักเรียนอเมริกันในทุกด้านวิชาที่เข้าทดสอบ นอกจากนั้นสหรัฐอเมริกายังมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เมื่อดูจากนักเรียนที่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาสูงจะมีคะแนนการอ่านสูงกว่านักเรียนที่ขาดโอกาสถึง 99 คะแนน


ผลการประเมินของ PISA ชี้ให้เห็นแนวทางแก้ไขปัญหา NCEE ที่ศึกษานโยบายและแนวทางปฏิบัติของประเทศชั้นนำการศึกษาและสหรัฐอเมริกาในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา เพื่อค้นหาหลักการที่อเมริกาจะนำมาใช้ปรับปรุงระบบการศึกษา โดยค้นพบ คุณลักษณะสำคัญร่วมกัน ดังนี้

  • การเข้าถึงการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยที่มีคุณภาพสูงและการดูแลเด็กเล็ก

  • ครูชั้นยอดและผู้นำโรงเรียนชั้นเยี่ยม

  • การสนับสนุนที่เข้มแข็งสำหรับนักเรียนที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

  • ระบบการเรียนการสอนที่ออกแบบอย่างดีและทรงพลัง

  • วิธีการที่ยุติธรรมในการสนับสนุนการเงินของโรงเรียน

  • ระบบที่เข้มแข็งและเป็นธรรม ไม่ละเลยข้อผิดพลาด และสร้างความรับผิดชอบ

จากผลการประเมิน PISA 2018 และการศึกษาสหรัฐอเมริกา ต้องย้อนกลับมาตั้งคำถามกับการศึกษาไทยที่นำแนวทางการศึกษาจากอเมริกามาพัฒนาหลาย ๆ อย่าง แต่ยังมีคุณภาพการศึกษาที่ตกต่ำ


 

ยุทธศาสตร์สหรัฐฯ ต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยคุณประภัสสร์ เทพชาตรี

การศึกษาของงานวิจัยนี้มีป้าหมายเพื่อ ศึกษายุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลของการวิจัยพบว่า ยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐฯ ต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มี 3 ประการ ได้แก่ ยุทธศาสตร์การครองความเป็นเจ้า ยุทธศาสตร์การสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน และยุทธศาสตร์การทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย โดยสหรัฐฯ ได้ดำเนินนโยบายเพื่อยุทธศาสตร์ผ่าน 2 ช่องทาง ช่องทางแรกคือ ความสัมพันธ์ทวิภาคี นับแต่จบสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงปัจจุบัน สหรัฐฯ ได้สร้างเครือข่ายพันธมิตรทางทหารกับประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะ 5 พันธมิตรหลัก ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ ไทย และออสเตรเลีย เรียกว่า hub and spokes คือสหรัฐฯ เป็น “ดุมล้อ” และพันธมิตรเป็น “ซี่ล้อ” และอีกช่องทางต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ ช่องทางพหุภาคี มีความสำคัญรองลงมาจากช่องทางทวิภาคี สหรัฐพยายามครอบงำ APEC แต่ในความสัมพันธ์กับอาเซียนยังไม่แนบแน่นเท่าที่ควร เมื่อเปรียบเทียบกับความสัมพันธ์ของอาเซียนกับจีน ซึ่งได้พัฒนาความสัมพันธ์อย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แม้สหรัฐฯ จะครอบงำความเป็นเจ้าในมิติทางด้านทหาร แต่ในทางการเมือง การทูตและเศรษฐกิจนั้น จีนได้ดำเนินนโยบายเชิงรุก และอิทธิพลจีนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากเห็นจากการจัดทำเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน


จากนโยบายดังกล่าว นำมาสู่ข้อเสนอต่อการดำเนินนโยบายของไทยว่าควรดำเนินนโยบายอย่างระมัดระวังต่อการตอบสนองยุทธศาสตร์การสกัดกั้นและปิดล้อมจีนของสหรัฐฯ สร้างดุลยภาพแห่งนโยบายสายกลางและรักษาระยะห่างอย่างเท่าเทียมกันระหว่างความสัมพันธ์ไทย - สหรัฐฯ กับความสัมพันธ์ไทย - จีน


 

กลวิธีการนำเสนอประเด็นเหยียดเชื้อชาติและการเลือกปฏิบัติต่อชาวแอฟริกัน-อเมริกาในภาพยนตร์ฮอลลีวูด : การวิเคราะห์ตัวบท

โดยรัชชา เชาวน์ศิริ และสาวิตรี คทวณิช

มุมมองของคนส่วนใหญ่จะมีความเข้าใจว่า ภาพยนตร์เป็นเพียงสื่อที่ให้ความบันเทิงเพียงอย่างเดียว แต่นอกจากบทบาทในการให้ความบันเทิง ภาพยนตร์ยังมีบทบาทในการเผยแพร่ความรู้ ข่าวสาร ข้อคิดแก่ผู้ชมและสามารถโน้มน้าวใจหรือชักจูงความคิดเพื่อสร้างค่านิยมหรือเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนในสังคม


วัตถุประสงค์ของงานวิจัยชิ้นนี้คือ เพื่อวิเคราะห์การนำเสนอภาพลักษณ์ของตัวละครผิวดำและตัวละครผิวขาวในภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประเด็นเหยียดเชื้อชาติและการเลือกปฏิบัติต่อชาวแอฟริกันอเมริกัน จากภาพยนตร์ฮอลีวูดจำนวน 12 เรื่อง ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจงจาก www.imdb.com โดยอาศัยแนวคิดเรื่องบทบาทของสื่อภาพยนตร์ต่อความสัมพันธ์ทางเชื้องชาติและชาติพันธุ์ร่วมกับแนวคิดการเล่าเรื่องภาพยนตร์


ภาพยนตร์ฮอลลีวูด จำนวน 12 เรื่อง ได้แก่ (1) Men of Honor (2) Remember the Titans (3) Monster’s Ball (4) Crash (5) Guess who (6) Glory Road (7) Pride (8) Hairspray (9) The Great Debater (10) Lakeview Terrace (11) The Help และ (12) Django Unchained


ผลการศึกษาพบว่า ภาพยนตร์กลุ่มตัวอย่างนำเสนอภาพลักษณ์ของตัวละครผิวดำในลักษณะดังนี้ ตัวละครผิวดำเป็นบุคคลที่มีความสามารถ มุ่งมั่นและอดทน ส่วนตัวละครผิวดำที่เล่นเป็นฝ่ายตรงข้ามมีลักษณะในแบบตัวละครฝ่ายผู้ร้าย


ในด้านของตัวละครผิวขาว ภาพยนตร์กลุ่มตัวอย่างนำเสนอภาพลักษณ์ออกมาดังนี้คือ ตัวละครผิวขาวเป็นบุคคลที่ไม่เหยียดเชื้อชาติหรือเลือกปฏิบัติต่อคนผิวดำ ส่วนตัวละครผิวขาวที่เล่นเป็นฝ่ายตรงข้ามมีลักษณะตามแบบฉบับของผู้ร้ายโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพหรือพฤติกรรมใด ๆ


การสร้างภาพลักษณ์ในลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ผู้ผลิตภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่ส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาวยังคงให้ความสำคัญกับการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับตัวละครผิวขาว เพื่อต้องการสื่อให้เห็นว่า ถึงแม้ตัวละครผิวดำจะมีความสามารถมากเท่าใดก็ไม่อาจประสบความสำเร็จได้หากไม่ได้รับการสนุบสนุนจากตัวละครผิวขาว กล่าวอีกทางคือ ภาพยนตร์ฮอลลีวูดยังคงเน้นย่ำอุดมการณ์ด้าน “ความเป็นเลิศของชนผิวขาว” (White Supremacy) ในการเป็นอุดมการณ์หลักในสังคมอเมริกาต่อไป





Illustration By Arnon Chundhitisakul

1,880 views
bottom of page