top of page
  • Writer's pictureTSIS

‘เมียน้อย’ (แต่มาก) เป็นอย่างไร ทำความเข้าใจผ่านงานวิจัย

by สุขฤดี

‘เมียน้อย‘ ‘กิ๊ก’ ‘มือที่สาม’ ‘ชู้’ ข่าวแนว ๆ นี้มีมาทีไรก็มักเป็นกระแสสังคมที่คนในให้ความสนใจมากกว่าข่าวอื่น ๆ เสมอ ว่าแต่เมียน้อยหรือการคบชู้ที่ถูกมองว่าเป็นความผิดในสังคมไทยถูกให้ความหมายอย่างไร


วันนี้ TSIS จะพาทุกคนมารู้จัก ‘เมียน้อย’ และสิ่งที่สังคมประกอบสร้างผ่านงานวิจัย 4 ชิ้น


มโนทัศน์รักเดียวใจเดียวและปัญหาเมียน้อยในทศวรรษ 2490 - 2530

ปวีณา กุดแถลง



ในช่วง 2490 - 2530 เป็นเวลาที่มโนทัศน์ผัวเดียวเมียเดียว ศีลธรรมความซื่อสัตย์ ครอบครัวแบบอุดมคติ และการนำเสนอภาพเมียน้อยกำลังเติบโตอย่างมากในสังคมไทย ประเด็นเรื่อง “ผู้ชายมีเมียน้อย” ถูกกล่าวถึงมาก ปรากฎผ่านในนิตยสารฉบับต่าง ๆ ที่ส่งเข้ามาให้กองบรรณาธิการนิตยสารผู้หญิง เช่น นารีนาถ แม่ศรีเรือน และแม่ขวัญเรือน นอกจากจดหมายทางบ้านยังมีบทความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาสามีนอกใจ เมียน้อย เช่น บทความเรื่อง “ปัญหาไฟในใจ” นอกจากนิตยสารยังมี “นวนิยาย” ร่วมสมัยเกี่ยวกับเมียน้อยออกมาจำนวนมาก เช่น เมียน้อยของยาขอบ เมียหลวง เมียน้อย ดาวนภา ซึ่งนวนิยายคือเงาสะท้อนภาพของสังคม และความสนใจของคนในสังคมไทยที่มีต่อปัญหาเรื่องเมียน้อย จนถูกกล่าวว่าเป็น “ปัญหาของยุคสมัย”


การศึกษา “มโนทัศน์รักเดียวใจเดียวและปัญหาเมียน้อยในทศวรรษ 2490 - 2530” คือการต้องการทบทวนปรากฏการณ์การมีเมียน้อยในสังคมไทยใหม่ โดยนำประเด็นเรื่องเพศสภาพและมโนทัศน์ความรักเข้ามาพิจารณา ตั้งอยู่บนคำถามว่า “ผู้ชายและผู้หญิงในทศวรรษ 2490 - 2530 มีมโนทัศน์และความคาดหวังเกี่ยวกับความเป็นสามีภรรยาและความรักอย่างไร” ความคาดหวังดังกล่าว ส่งผลอย่างไรต่อชีวิตคู่และการเกิดปัญหาเมียน้อย คำตอบจะช่วยให้เราเข้าใจการเปลี่ยนแปลงมโนทัศน์ความเป็นสามี เมียหลวง และเมียน้อย โโยศึกษาผ่านหลักฐานคือ “สตรีสาร” เนื่องจากเป็นนิตยสารที่ได้รับความนิยมสูงทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ไม่ใช่เพียงผู้หญิงแต่ยังพื้นที่ให้แก่ผู้ชาย “สตรีสาร” ได้สะท้อนความคิด ความหวัง อารมณ์ความรู้สึกของทั้งผู้หญิงและผู้ชาย


มโนทัศน์ความรักของคู่สมรสหรือผัวเดียวเมียเดียวได้เกิดขึ้นในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้ส่งผลให้เกิดคุณค่าชายหญิงที่รักเดียวใจเดียวคือ มีคู่สมรสเพียงคนเดียวเท่านั้น ความรักโรแมนติกที่เน้นรักเดียวใจเดียวและความซื่อสัตย์ระหว่างผัวเดียวเมียเดียวคือบรรทัดฐานที่ชนชั้นกลางนำมาใช้เป็นศีลธรรมทางเพศและเพื่อควบคุมพฤติกรรมกามารณ์ของสามีและภรรยา


จากความสัมพันธ์แบบผัวเดียวเมียเดียวที่หยั่งรากลึกในสังคมไทย ส่งผลให้เมียน้อยมีความหมายต่างจากความหมายของ “อนุภรรยา” ที่อยู่ในความสัมพันธ์แบบผัวเดียวหลายเมีย เพราะ “เมียน้อย” หมายถึง ภรรยาที่มิชอบด้วยกฎหมาย เมียน้อยกลายเป็นสิ่งที่ไม่ชอบทั้งในทางนิตินัยและพฤตินัย


กล่าวโดยสรุปว่า การออกไปทำงานนอกบ้านของผู้หญิงก่อให้เกิดความตึงเครียด (tension) ระหว่างสามีกับภรรยา เนื่องจากผู้หญิงและผู้ชายมองความเป็นหญิงและความเป็นชายของตนเองและคู่สมรสต่างกัน นำไปสู่การมีมโนทัศน์ความรักและการแสดงออกถึงความรักที่ต่างกัน ผู้หญิงออกไปทำงานนอกบ้านมากขึ้น ในขณะที่ผู้ชายคาดหวังได้รับการปรนนิบัติให้มีความสุขทั้งทางกายและทางใจ มองว่า “บ้านควรเป็นสวรรค์สำหรับเขา” สถานการณ์นี้ทำให้ผู้ชายต้องทำสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันด้วยตนเอง และผู้หญิงยังต้องการให้สามีดูแลเอาใจเธอกลับด้วยเช่นกัน การดูแลเอาใจใส่ถูกใช้เป็นเกณฑ์วัดทั้งความรักและความซื่อสัตย์ของผู้ชายตามมโนทัศน์รักเดียวใจเดียว และจากการเข้าใจความรักและความคาดหวังที่ต่างกันระหว่างสามีกับเมียหลวง จึงเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้สามีมีเมียน้อย เนื่องจากเมียหลวงไม่สามารถตอบสนองความรักที่สามีต้องการคือ “การปรนนิบัติดูแลสามี” จึงไปหาความรักจากผู้หญิงคนอื่นที่สามารถให้ความรักแบบที่เขาต้องการได้ แต่เนื่องจากสถานภาพเมียน้อยไม่ได้ถูกยอมรับทั้งทางกฏหมายและสังคมวัฒนธรรม เมียน้อยจึงคาดหวังไม่ได้ที่จะให้สามีรักเดียวใจเดียวหรือเอาใจใส่ตนเหมือนที่เมียหลวงคาดหวัง เมียน้อยจึงต้องใช้การแสดงออกทางความรักของเธอให้ตรงกับความต้องการของสามี ความเป็นชายและศักดิศรีของสามีที่หายไปเมื่ออยู่กับเมียหลวงจึงได้รับการเติมเต็มเมื่อมาอยู่กับเมียน้อย


มาดามโบวารี: เพศหญิง เพศชาย ความตาย ชายชู้

วรุณี อุดมศิลป


งานวิจัยชิ้นนี้ทำการศึกษาตัวละครมาดามโบวารีของกุสตาฟ โฟลแบรนด์ ด้วยคู่ตรงข้าม “ความเป็นหญิง/ความเป็นชาย” ผู้ประพันธ์ถ่ายทอดภาพลักษณ์สาวสวยผ่านสายตาตัวละครชายและผู้ที่มีความสัมพันธ์ชู้สาว


ในสายตาของชาร์ลส์ ผู้เป็นสามีและโรดอล์ฟ ชู้รักของชาร์ลส์ มาดามโบวารีเป็นหญิงสาวที่เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ อย่างไรก็ตามความเป็นชายของเธอแฝงอยู่ในรูปลักษณ์ที่สวยงามดังกล่าว


สิ่งที่ปรากฏในเรื่องสะท้อนให้เห็นความเป็นชายของมาดามโบวารีที่แสดงพฤติกรรมที่บ่งชี้ถึงการบงการ บังคับและกดขี่เพศชาย ความเป็นหญิงหรือชายของมาดามโบวารี สรุปได้ตามคำวิจารณ์ของชาร์ลส์ โบดแลร์ ว่า “จิตใจชายชาตรีในเรือนกายหญิงเจ้าเสน่ห์”


การประกอบสร้างความหมายของผู้หญิงที่ถ่ายทอดผ่านตัวละครหญิงในละครโทรทัศน์ไทยยอดนิยมที่ถูกผลิตซ้ำ ระหว่างปี พ.ศ.2530 - 2560

อวิรุทธ์ ศิริโสภณา และประภัสสร จันทร์สถิตย์พร



งานวิจัยชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคุณลักษณะและพัฒนาการของตัวละครหญิงในละครโทรทัศน์ไทยยอดนิยมที่ถูกผลิตซ้ำในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2530 - 2560 และศึกษาการประกอบสร้างความหมายของผู้หญิงในสังคมไทยละครโทรทัศน์เรื่องเมียหลวง ผ่านงานวิจัยเชิงคุณภาพด้วยกระบวนการวิเคราะห์เชิงเนื้อหาและการวิเคราะห์ตัวบท ร่วมกับข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกของผู้สร้างสรรค์ละครโทรทัศน์และนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน


ผลการวิจัยพบว่า ละครเมียหลวงมีรูปแบบโครงเรื่องหลัก (Main-plot) ในลักษณะการถ่ายโยงเนื้อหาแบบคงเดิน ส่วนโครงเรื่องรอง (SUb-plot) ได้รับการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ละครรีเมกทันสมัยตามบริบทของสังคม


ภาพของตัวละครหญิงในละครได้รับการสืบทอดคุณลักษณะต่อมา ในช่วงระยะเวลา 30 ปีที่ผ่าน สามารถแบ่งชุดความคิดของผู้หญิงออกเป็น 6 ชุด ได้แก่ (1) ความรู้และความงาม (2) ลักษณะผัวเดียว หลายเมีย (3) เพศสัมพันธ์และสารเสพติด (4) ความเข้มแข็ง และความอ่อนแอ (5) บทบาทอาชีพ พื้นที่ สถานภาพความเป็นเมียและแม่ และ (6) ผู้กระทำ และผู้ถูกกระทำ มีเพียงบางประเด็นที่ได้รับการเปลี่ยนแปผลการวิจัยพบว่า ละครเมียหลวงมีรูปแบบโครงเรื่องหลัก (Main-plot) ในลักษณะการถ่ายโยงเนื้อหาแบบคงเดิน ส่วนโครงเรื่องรอง (SUb-plot) ได้รับการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ละครรีเมกทันสมัยตามบริบทของสังคม ลง ได้แก่ การศึกษา อาชีพและพื้นที่


ผลสรุปในงานวิจัยชิ้นนี้คือ ผู้สร้างสรรค์ละครโทรทัศน์ดำเนินงานภายใต้ระบบ Rating จึงนิยมสร้างละครรีเมก เพราะเป็นการการันตี Rating ได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งหมายความว่า พวกเขาได้กระทำผลิตซ้ำย้ำความหมายเดิม ซึ่งเป็นการประกอบสร้างความหมายของผู้หญิงในสังคมไทยในลักษณะเช่นเดิม และกลายเป็นการสืบทอด “อุดมการณ์ปิตาธิปไตย” หรือสังคมชายเป็นใหญ่


การศึกษาทัศนคติของเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวกับการมีภรรยาน้อย

รณชัย คงสกนธ์ นิฤมน รัตนะรัต และพวงทอง เครือมังกร



การศึกษาทัศนคติของเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวกับการมีภรรยาน้อยมีจุดประสงค์การศึกษาเพื่อสำรวจทัศนคติของเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวกับการมีเมียน้อย และหาแนวทางในการป้องกันการมีเมียน้อย ศึกษาโดยการวิจัยเชิงสำรวจ ด้วยแบบสอบถามกับเจ้าหน้าที่รัฐจำนวน 1,573 ราย ผลการศึกษาพบว่าการมีภรรยาน้อยเป็นปัญหาที่สังคมจะต้องตระหนัก เพราะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว หรือทำให้ครอบครัวแตกแยก การที่ผู้ชายคิดว่าเป็นเรื่องส่วนตัว และคิดนอกใจมีภรรยาน้อย ถ้ามีโอกาสนั้นเห็นควรหาแนวทางให้มีการปรับเปลี่ยนทัศนคติเป็นครอบครัวผัวเดียวเมียเดียว และให้คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมาไม่ว่าจะเป็นเรื่องชื่อเสียง หน้าที่การงานและหน่วยงาน รวมทั้งการนำระเบียบวินัยในระบบราชการมาใช้ควบคุมพฤติกรรมด้วย


สาเหตุของการมีผู้ชายมีภรรยาน้อยตามความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นเพศชาย 5 อันดับแรกคือ

อันดับ 1 คือ โอกาส สิ่งแวดล้อม ความใกล้ชิด หรือความเห็นอกเห็นใจ ทำให้ให้มีภรรยาน้อยโดยไม่ตั้งใจ

อันดับ 2 คือ การที่อยู่ร่วมกับภรรยามานาน จนเกิดความจำเจ ทำให้เกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย

อันดับ 3 เพราะพฤติกรรมของภรรยา เช่น ติดสุรา หรือการพนัน หรือจูจี้จุกจิก ขี้บ่น ใจร้อน ก้าวร้าว และไม่สนใจดูแลตนเอง

อันดับ 4 ความไม่รู้จักเพียงพอของผู้ชาย

อันดับ 5 การให้ความร่วมมือของบุคคลที่ 3 ให้ความร่วมมือและยินดีเป็นภรรยาน้อย ประกอบกับไม่มีความตื่นเต้นในชีวิตคู่โดยเฉพาะด้านเพศสัมพันธ์


สาเหตุของการมีผู้ชายมีภรรยาน้อยตามความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นเพศหญิง 5 อันดับแรกคือ

อันดับ 1 คือ สาเหตุของการที่ผู้ชายมีภรรยาน้อยเนื่องจากความไม่เพียงพอของผู้ชาย

อันดับ 2 คือ โอกาส สิ่งแวดล้อม ความใกล้ชิด หรือความเห็นอกเห็นใจ ทำให้ให้มีภรรยาน้อยโดยไม่ตั้งใจ

อันดับ 3 การที่อยู่ร่วมกับภรรยามานาน จนเกิดความจำเจ ทำให้เกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย

อันดับ 4 ภรรยาทุ่มเทให้กับหน้าที่การงานหรือบุตรมากกว่าการให้การดูแลสามี

อันดับ 5 ภรรยาไม่สนใจดูแลตนเองและแยกกันอยู่เพราะหน้าที่การงาน


Illustrator by Arnon Chundhitisakul


1,070 views