top of page
Writer's pictureTSIS

Highlighted Research - 5 งานวิจัยที่เกี่ยวกับ ‘ภาวะผู้นำ’

By TSIS Team

เมื่อวันก่อนมีแฟนเพจทักมาถามหลังไมค์ว่า พอจะมีงานวิจัยที่เกี่ยวกับ “ภาวะผู้นำ” ให้อ่านไหม วันนี้เราเลยจัดมาให้ตามคำขอ


ถ้าวันหนึ่งเราสามารถเลือกใครสักคนมาเป็นผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำในที่ทำงาน ผู้นำครอบครัว หรือผู้นำอะไรก็ได้ เราจะอยากได้ผู้นำแบบไหน ถ้าใครยังคิดไม่ออก ลองอ่านงานวิจัยที่เราเลือกมาในวันนี้ทั้ง 5 ชิ้นก่อน


อิทธิพลภาวะผู้นำของ Generation Y ต่อความสำเร็จทางธุรกิจ กรณีศึกษา ผู้ประกอบการกลุ่ม Generation Y ในประเทศไทย

พนิดา ไชยแก้ว

เมื่อเข้าสู่ยุค 4.0 ประชากรกลุ่ม Gen Y ที่มีอายุระหว่าง 25 – 40 ปี จะกลายเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุดในตลาดแรงงานซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ คนกลุ่ม Gen Y มีความแตกต่างจากคนรุ่นก่อนหน้าทั้งในด้านแนวคิด พฤติกรรม และการใช้ชีวิต ซึ่งส่งผลมาถึงวิธีการในการบริหารคนโดยใช้แนวความคิดใหม่ ๆ เช่น รูปแบบการทำงานที่มีความยืดหยุ่น ชื่นชอบการใช้นวัตกรรมใหม่ในการพัฒนาองค์กร เป็นต้น


ลักษณะภาวะผู้นำของ Gen Y คือ การเป็นผู้นำแบบเปิดรับ มีความโปร่งใส ต้องการความสำเร็จ ความยุติธรรม ประเมินผลการปฏิบัติงานตามผลงานที่เกิดขึ้นจริง ยืดหยุ่นในการทำงานโดยอาศัยนวัตกรรมใหม่ ๆ กล้าเปลี่ยนแปลงและไม่ยึดติดในกระบวนการ จากที่กล่าวมาทำให้ผู้วิจัยสนใจศึกษาพฤติกรรมภาวะผู้นำตามแนวคิด Inclusive Leadership (IL) ของ Deloitte Global Research ต่อความสำเร็จทางธุรกิจ ประกอบไปด้วย 6 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ (1) ความมุ่งมั่นต่อแนวคิด (2) ความกล้า (3) การไม่มีอคติ (4) การอยากรู้อยากเห็น (5) การเข้าใจแนวคิดด้านวัฒนธรรม และ (6) ความร่วมมือ


งานวิจัยชิ้นนี้เป็นงานวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) ทำการศึกษาผู้ประกอบการกลุ่ม Gen Y ในประเทศไทยที่มาอายุระหว่าง 25 – 40 ปี จำนวน 385 คน ผลการศึกษาพบว่า ผู้ประกอบการกลุ่ม Gen Y มีระดับพฤติกรรมภาวะผู้นำตามแนวคิด IL อยู่ในค่าเฉลี่ยระดับสูงในทุกองค์ประกอบ การไม่มีอคติ คือปัจจัยที่มีคะแนนสูงสุด นอกจากนั้นองค์ประกอบที่มีอิทธิพลเชิงบวกต่อความสำเร็จทางธุรกิจประกอบไปด้วย ความมุ่งมั่นต่อแนวคิด IL การเข้าใจแนวคิดด้านวัฒนธรรม และการไม่มีอคติ


อ่านงานวิจัยฉบับเต็มที่ : http://ethesisarchive.library.tu.ac.th/thesis/2016/TU_2016_5302036339_5768_4368.pdf


ภาวะผู้นำและแรงจูงใจในการทำงานที่ส่งผลต่อความคิดสร้างสรรค์ของพนักงาน กรณีศึกษา บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด

ธัญญามาส โลจนานนท์

การที่องค์กรมีผู้นำที่มีศักยภาพคือปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้บุคลากร พนักงานในองค์การยอมรับในตัวบุคคลนั้น ๆ เมื่อบุคลากรมีแรงจูงใจที่ดีจะช่วยให้มีความมุ่งมั่น ร่วมมือร่วมใจ และมีความสุขกับการทำงานทำให้องค์การประสบความสำเร็จ


บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ดำเนินธุรกิจด้านการบริการของตลาดดูแลสุขภาพในภูมิภาคเอเชีย เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2492 ช่วงเวลาที่ผ่านมาบริษัทประสบปัญหาอัตราการเข้าออกของพนักงานค่อนข้างสูง มีจำนวนพนักงานขาดลาบ่อย และขาดแรงกระตุ้นในการทำงานจากหัวหน้า ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาบุคลากรในองค์การให้เกิดความจงรักภักดี มีความคิดสร้างสรรค์และทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ


งานวิจัยชิ้นนี้ทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบภาวะผู้นำ แรงจูงใจ และความคิดสร้างสรรค์ของพนักงาน และศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อความคิดสร้างสรรค์ของพนักงาน โดยใช้ทฤษฎีเกี่ยวกับภาวะผู้นำ กลุ่มตัวอย่างคือ พนักงานบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด จำนวน 178 คน


ผลการวิจัยพบว่า การมีภาวะผู้นำแบบทางสายกลาง ภาวะผู้นำแบบมุ่งคน ภาวะผู้นำแบบมุ่งงาน แรงจูงใจด้านความสำเร็จ สวัสดิการ และลักษณะของงาน ล้วนส่งผลต่อความคิดสร้างสรรค์ของพนักงาน ดังนั้นผู้นำควรมีลักษณะเน้นทั้งงาน และสัมพันธภาพ ยอมรับฟังความคิดเห็นของพนักงาน ประนีประนอม ให้ขวัญกำลังใจพนักงาน ชื่นชมเมื่อลูกน้องทำงานสำเร็จ ให้ผลตอบแทนที่เหมาะสมจึงจะช่วยให้พนักงานมีความคิดสร้างสรรค์ที่เพิ่มขึ้น



ภาวะผู้นำและการจัดการความขัดแย้งในการพัฒนาชุมชน: กรณีศึกษาอำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา

ซูเรียนา บางปู

การพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองยะลามีกิจกรรมที่ประสบความสำเร็จ และกิจกรรมที่ยังคงมีความขัดแย้งกับคนในพื้นที่ เช่น การไม่ให้ความร่วมมือกับผู้นำชุมชนและเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งเกิดจากความไม่ไว้วางใจ ปัญหาเศรษฐกิจ ยาเสพติด ความรุนแรง และการบริหารจัดการทุนชุมชน เป็นต้น เป็นประเด็นที่ทำให้ผู้วิจัยสนใจศึกษาภาวะผู้นำในชุมชนที่มีสถานการณ์ความขัดแย้ง และศึกษาแนวทางการจัดการความขัดแย้งในการพัฒนาชุมชนของผู้นำ ผ่านการวิจัยเอกสาร และการสัมภาษณ์เชิงลึกจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 18 คน


พื้นที่ตำบลพร่อนและตำบลท่าสาป อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา ที่ผู้วิจัยเลือกศึกษาเป็นพื้นที่ที่มีประเด็นความขัดแย้งมาก่อน และผู้นำชุมชนสามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้ ซึ่งจากการศึกษาทำให้ได้ข้อสรุปที่เกี่ยวกับภาวะผู้นำของชุมชน 7 ประเด็น ได้แก่ (1) การควบคุมดูแล สั่งการผู้ตาม (2) การเป็นแบบอย่างที่ดี (3) การมีความรู้ (4) การเข้าใจผู้อื่น (5) การให้ความเป็นธรรม (6) การมีจิตอาสา และ (7) การนำชุมชนไปสู่เป้าหมาย


สาเหตุของความขัดแย้งของชุมชนเกิดจากปัจจัยส่วนบุคคล และความขัดแย้งระหว่างบุคคลกับกลุ่ม เช่น ยาเสพติด การจัดการขยะ ฯลฯ ซึ่งปัญหาหลักในการจัดการความขัดแย้งคือ การขาดความร่วมมือจากคู่ขัดแย้งและการไม่ยอมรับข้อมูลและข้อเท็จระหว่างกัน ดังนั้นผู้นำชุมชนจึงควรมีจิตอาสา มีความบริสุทธิ์ใจ ไม่แบ่งฝ่าย นำหลักศาสนามาแก้ไขปัญหา รวมทั้งให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้ามามีบทบาทในการเสริมศักยภาพและความเข้มแข็งของผู้นำชุมชน


อ่านงานวิจัยฉบับเต็มที่ : http://library1.nida.ac.th/termpaper6/sd/2557/20069.pdf


การศึกษาภาวะผู้นำเชิงสร้างสรรค์ของผู้บริหารสถานศึกษาของโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร สำนักงานเขตบางเขน

กาญจนา ศิลา

บุคคลที่มีส่วนสำคัญในการปฏิรูปพัฒนาและจัดระบบการศึกษาคือ “ผู้บริหารโรงเรียน”เพราะต้องเป็นทั้งผู้นำและผู้ประสานขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่มีความสามารถในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการเรียนการสอน ดังนั้นภาวะผู้นำของผู้บริหารโรงเรียนจึงเป็นส่วนสำคัญในการดึงศักยภาพของบุคลากรในโรงเรียน


วัตถุประสงค์ของงานวิจัยชิ้นนี้คือ เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบภาวะผู้นำเชิงสร้างสรรค์ของผู้บริหารสถานศึกษาตามความคิดเห็นของครูในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร สำนักงานเขตบางเขน ทำวิจัยโดยการเก็บแบบสอบถามจากกลุ่มตัวอย่างเป็นบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ด้านการเรียนการสอนจำนวน 165 คน


ผลการวิจัยพบว่า ภาวะผู้นำเชิงสร้างสรรค์ของผู้บริหารสถานศึกษา ตามความคิดเห็นของครูในโรงเรียนโดยรวมอยู่ในระดับมาก ซึ่งประกอบไปด้วยด้านการสร้างมนุษย์สัมพันธ์ ด้านการไว้วางใจ ด้านการเจรจาต่อรอง ด้านการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี ด้านการสื่อสาร ด้านการทำงานเป็นทีม และด้านการบริหารเวลา ส่วนประเด็นเรื่องการเปรียบเทียบภาวะผู้นำเชิงสร้างสรรค์ของผู้บริหารสถานศึกษา จากการวิจัยพบว่า ในภาพรวมไม่ค่อยมีความแตกต่างกัน


อ่านงานวิจัยฉบับเต็มที่ : http://ir.swu.ac.th/xmlui/handle/123456789/4007?show=full


ภาวะผู้นำแบบพัฒนา การจัดการความสุขแบบเป็น-อยู่-คือ และความสุขในการทำงาน กรณีศึกษา: องค์การสร้างสุข

อัญมณี วัฒนรัตน์

“ความสุขของพนักงานคือปัจจัยสำคัญต่อความเป็นอยู่ที่ดีขององค์การ” การจัดการความสุขแบบ ‘เป็น-อยู่-คือ’ คือการสรุปลักษณะของบุคคลที่มีความสุข วิธีการสร้างความสุขและผลลัพธ์ของการทำอย่างมีความสุข ซึ่งเป็นทางเลือกให้องค์การในการสร้างความสุขในการทำงาน


วัตถุประสงค์ของงานวิจัยชิ้นนี้คือ การศึกษาภาวะผู้นำแบบพัฒนา การจัดการความสุขแบบ เป็น-อยู่-คือ ที่ส่งผลต่อความสุขในการทำงาน กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาคือ พนักงานในองค์การที่เข้าร่วมโครงการเสริมสร้างองค์การแห่งความสุข (Happy Workplace) ใช้วิธีการสุ่มแบบอาสาสมัครได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 415 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบสอบถามลักษณะส่วนบุคคล แบบสอบถามการรับรู้ของพนักงานเกี่ยวกับภาวะผู้นำแบบพัฒนาของหัวหน้า แบบสอบถามการจัดการความสุขแบบเป็น-อยู่-คือ และแบบสอบถามความสุขในการทำงานส่วนบุคคล


ผลการศึกษาพบว่า ภาวะผู้นำแบบพัฒนาที่แตกต่างกันส่งผลให้พนักงานมีความสุขในการทำงานแตกต่างกัน พนักงานที่รับรู้ว่าผู้นำของตนเองมีภาวะผู้นำแบบพัฒนาระดับมากจะส่งผลให้มีความสุขในการทำงานและมีการจัดการความสุขแบบ เป็น-อยู่-คือ มากกว่า จากการศึกษายังพบว่า ตัวแปรภาวะผู้นำแบบพัฒนาและการจัดการควบคุมความสุขแบบ เป็น-อยู่-คือ สามารถทำนายความสุขในการทำได้สูงถึง 32.2%


ดังนั้นองค์การควรส่งเสริมให้ผู้นำมีภาวะผู้นำแบบพัฒนา รวมทั้งพัฒนาพนักงานให้มีการจัดการความสุขแบบ เป็น-อยู่-คือ


อ่านงานวิจัยฉบับเต็มที่ : http://libdcms.nida.ac.th/thesis6/2556/b180355.pdf


Illustration by Piyanat Chasi

 

12,074 views0 comments

Comentarios


bottom of page