top of page
Writer's pictureTSIS

Highlighted Research – 5 งานวิจัยเกี่ยวกับ ‘เด็ก’

By Setthaphong Matangka


เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ ปี พ.ศ.2563 ทีมงาน The TSIS จึงได้ทำการคัดเลือกงานวิจัยที่น่าสนใจจำนวน 5 ชิ้น เกี่ยวกับ 'เด็ก' มาให้เพื่อน ๆ ลองอ่านกัน


ปัญหาเด็กยากจนในญี่ปุ่น

ผู้วิจัย : พรทิพย์ วาคาบายาชิ


ในช่วงปี ค.ศ.2014 ประเทศญี่ปุ่นถือเป็นหนึ่งในมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับที่ 3 ของโลก หากดูจากสถิติแล้วคงยากที่เชื่อว่าญี่ปุ่นในขณะนั้นมีอัตราความยากจนของประชากรเด็กสูงถึง 15.7% หรือในประชากรเด็ก 10 คน จะมีเด็ก 1 คนที่ยากจน ซึ่งสูงเป็นอับดับที่ 9 จาก 35 ประเทศใน OECD


วัตถุประสงค์ในการวิจัยคือ การศึกษาปัญหาและสถานการณ์ความยากจนของเด็กญี่ปุ่นเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบ และมาตรการในการแก้ไขปัญหา โดยใช้วิธีการศึกษาแบบการวิจัยเชิงเอกสาร (Documentary Research)


ผลการวิจัยพบว่า สาเหตุของความยากจนในเด็กส่วนใหญ่มาจากความยากจนของพ่อแม่ ซึ่งคนจนในสังคมญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่มีงานประจำทำ ทำให้ความแตกต่างทางชนชั้นในสังคมเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนั้นอัตราความยากจนของเด็กจะเพิ่มสูงขึ้นเมื่ออยู่ในครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยว


เด็กที่มีความยากจนจะได้รับผลกระทบในหลาย ๆ ด้าน อาทิ ความสามารถด้านการเรียน, การศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น และการไม่สามารถเข้าการรักษาในโรงพยาบาล เนื่องจากค้างชำระ เป็นต้น วิธีการแก้ไขของรัฐบาลญี่ปุ่นมีหลากหลายวิธี อาทิ เงินอุดหนุนค่าเลี้ยงดูบุตร, เงินอุดหนุนด้านการศึกษา ฯลฯ อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ญี่ปุ่นถือว่าจ่ายเงินอุดหนุนในระดับที่ต่ำกว่ามาก

อ่านงานวิจัยฉบับเต็ม : https://www.tci-thaijo.org/index.php/jsn/article/view/42417/35062


โฆษณาหลอกเด็ก ?

ผู้วิจัย : กัลป์ยกร วรกุลลัฎฐานีย์


“โฆษณาหลอกเด็ก” ใครหลาย ๆ คนคงเคยได้ยินประโยคเป็นประจำ แต่ความจริงคนสร้างโฆษณาต้องการหลอกเด็กจริงหรือไม่ ? งานวิจัยชิ้นนี้ทำการศึกษาผลกระทบของโฆษณาต่อเด็กในวัยก่อนเรียน (3-5 ปี) ไปจนถึงวัยเด็กตอนกลาง (6-12 ปี)


ผลการวิจัยพบว่า แรงจูงใจที่นักโฆษณาใช้สื่อสารกับเด็กคือ แรงจูงใจทางอารมณ์ ซึ่งมี 4 ด้าน ได้แก่ ความเป็นสมาชิกของกลุ่ม, ความสนุกสนาน, ความอิสระ และอำนาจ ส่วนเทคนิคการโฆษณาที่นิยมใช้คือ การใช้การ์ตูน, ผู้มีชื่อเสียง, เพลง, โฆษณาแฝงในรายการ และเกมโฆษณา


ท้ายที่สุดผู้วิจัยได้นำเสนอว่า แนวทางการทำโฆษณาสำหรับเด็กในประเทศไทยควรมีการระบุรายเอียดถึงสิ่งที่ควร หรือสิ่งที่ไม่ควรทำในโฆษณา นอกจากนั้นควรเพิ่มแนวทางการปฏิบัติสำหรับสินค้าเด็กที่อาจเป็นอันตราย และควรมีการกำกับดูแลการทำตลาดในช่องทางอื่น ๆ อย่างการโฆษณาทางตรง หรือการตลาดออนไลน์ อ่านงานวิจัยเพิ่มเติม : https://www.tci-thaijo.org/index.php/jcmag/article/view/155438


การคุ้มครองสิทธิเด็กภายใต้หลักประโยชน์สูงสุดของเด็กในกฎหมายไทย

ผู้วิจัย : มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล


ประเทศไทยในปัจจุบันให้ความสำคัญกับการบัญญัติกฎหมายเพื่อคุ้มครองเด็ก ซึ่งการให้ความคุ้มครองเด็กจะต้องอยู่ภายใต้แนวความคิดเกี่ยวกับ “หลักประโยชน์สูงสุดของเด็ก” (The Best Interests of the Child) แต่ในกระบวนการปรับใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเด็กมีความซับซ้อน ดังนั้นผู้วิจัยจึงสนใจทำการศึกษาวิวัฒนาการของแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิเด็กตั้งแต่ยุคเริ่มต้น


ผลการศึกษาพบว่า ปัญหาในการปรับใช้หลักประโยชน์สูงสุดของเด็กขึ้นอยู่กับว่าเมื่อไหร่จะต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กในฐานะสิ่งสำคัญที่สุด (Paramount Consideration) และสิ่งสำคัญเป็นลำดับแรก (Primary Consideration)


ปัญหาสำคัญที่พบในประเทศไทยคือ การปรับใช้หลักประโยชน์สูงสุดในบริบทของสังคม ซึ่งผู้วิจัยได้เสนอแนวทางในการปรับใช้ทั้งหมด 2 เงื่อนไข ได้แก่ การกำหนดกระบวนการซึ่งเป็นหลักประกันในการปรับใช้หลักประโยชน์สูงสุดของเด็ก และการกำหนดแนวทางในการประเมิน และกำหนดคุณค่าตามหลักประโยชน์สูงสุดของเด็ก


นอกจากนั้นเพื่อป้องกันคำถามว่า “เมื่อใดที่ควรต้องคำนึงถึงประโยชน์สุงสุดของเด็ก ?” ผู้วิจัยเสนอว่า รัฐควรกำหนดแนวทางในการคัดกรองความเป็นไปได้เพื่อมาปรับใช้ให้เกิดความถูกต้อง และเหมาะสมสำหรับแต่ละสถานการณ์ เพื่อช่วยลดปัญหาความไม่เป็นหนึ่งเดียวในการนำหลักประโยชน์สูงสุดมาใช้


อ่านงานวิจัยฉบับเต็ม : https://www.tci-thaijo.org/index.php/tulawjournal/article/view/196483/155562


การจัดระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนแบบไตรภาคี เพื่อลดพฤติกรรมผิดวินัยของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา

ผู้วิจัย : อรทัย ฉัตรภูติ


วัยรุ่นคือ ช่วงเวลาที่มีการปรับตัวทั้งในด้านอารณ์ และร่างกาย เด็กที่อยู่ในวัยนี้จะเริ่มมีความคิดเป็นของตนเองสูงขึ้น ให้ความสำคัญกับกลุ่มเพื่อน และการรวมกลุ่มกับเพื่อนในวัยเดียวกันที่โรงเรียนทำให้เกิดรูปแบบพฤติกรรมที่ดี และไม่ดี อาทิ การเล่นกีฬา, สูบบุหรี่, โดดเรียน เป็นต้น ดังนั้นโรงเรียนจึงต้องพยายามค้นหาวิธีการต่าง ๆ เพื่อควบคุมพฤติกรรมไม่ดีของกลุ่มวัยรุ่น อาทิ การหักคะแนนความประพฤติ, การเชิญผู้ปกครอง ฯลฯ


วัตถุประสงค์ของงานวิจัยชิ้นนี้คือ การศึกษาความสัมพันธ์เชิงเหตุผลระหว่างปัจจัยต่าง ๆ ที่เสี่ยงต่อการเกิดพฤติกรรมผิดวินัยของนักเรียนมัธยมศึกษา, เพื่อพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และศึกษาประสิทธิภาพในการลดพฤติกรรมผิดวินัยของระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนแบบไตรภาคี ทำการศึกษาโดยใช้การวิจัยเชิงปริมาณ ใช้แบบสอบถามเก็บข้อมูลนักเรียนในโรงเรียนขนาดใหญ่ 3 แห่ง จำนวน 400 คน


ผลการศึกษาพบว่า อิทธิพลของครอบครัว โรงเรียน การเลือกคบเพื่อน ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ สื่อสารมวลชน และอบายมุข ล้วนมีผลต่อพฤติกรรมผิดวินัยของนักเรียน อาทิ การโดดเรียน, แต่งกายผิดระเบียบ, เที่ยวสถานกลางคืน, การแสดงกิริยาที่ไม่สุภาพ ฯลฯ โดยหลังจากนำระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนแบบทวิภาคีเข้ามาใช้พบว่า จำนวนครั้งที่นักเรียนทำผิดวินัยลดลง และโรงเรียนแต่ละแห่งมีสัดส่วนการลดที่ไม่เท่ากัน


อ่านงานวิจัยฉบับเต็ม : https://www.tci-thaijo.org/index.php/EAUHJSocSci/article/view/28715


นโยบายการจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนที่นับถือศาสนาพุทธและนักเรียนที่นับถือศาสนาอิสลามในโรงเรียนประถมศึกษาของรัฐในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ผู้วิจัย : ฐิติมดี อาพัทธนานนท์


การให้ความสำคัญในประเด็นเกี่ยวกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมทำให้รัฐมีการผลักดันนโยบายทางด้านการศึกษาที่คำนึงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมของผู้เรียนมากกว่าในอดีต เช่น แบบเรียนที่ใช้ควรมีเนื้อหาที่สะท้อนความหลากหลายทางสังคม, การอนุญาตให้เรียนที่นับถือศาสนาอิสลามแต่งกายด้วยเครื่องแบบตามศาสนา ฯลฯ พื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีกลุ่มคนนับถือศาสนา ทั้งพุทธและอิสลาม


วัตถุประสงค์ของงานวิจัยชิ้นนี้คือ การศึกษานโยบายการจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนที่นับถือศาสนาพุทธและอิสลาม ทั้งในด้านกฎระเบียบ การจัดกิจกรรม และการเรียนการสอน โดยใช้การวิจัยเชิงสำรวจเก็บแบบสอบถามโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 271 โรงเรียน


ผลการวิจัยพบว่า มากกว่าร้อยละ 90 ของกลุ่มตัวอย่างมีการจัดการศึกษาที่คำนึงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมของนักเรียน สัดส่วนของนักเรียนที่นับถือศาสนาพุทธและอิสลามมีความสัมพันธ์กับนโยบายจัดการศึกษาเกือบทุกด้าน ยกเว้นแต่นโยบายที่เกี่ยวกับการกำหนดวิธีการสอน


อ่านงานวิจัยฉบับเต็ม : https://www.tci-thaijo.org/index.php/sujthai/article/view/45230


Illustration by Piyanat Chasi

 

562 views0 comments

Comments


bottom of page