top of page
  • Writer's pictureTSIS

มอง ‘work from home’ ผ่านงานวิจัย

by The TSIS

สถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวันทั้งในไทยและต่างประเทศทำให้หลายบริษัทปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเพื่อหลีกเลี่ยงการออกไปยังสถานที่ที่มีคนจำนวนมากและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส


การทำงานจากที่บ้านหรือ work from home คือแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ถูกนำมาใช้มากที่สุด บริษัททั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยเริ่มนำวิธีการทำงานจากที่บ้านมาใช้เป็นรูปแบบการทำงานในองค์กร The TSIS เองก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่วิธีนี้ยังถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนส่วนมาก ในสถานการณ์แบบนี้การทำงานจากที่บ้านถือว่าดีกว่าการต้องออกเดินทางไปทำงานที่สำนักงาน


งานวิจัยเกี่ยวกับ work from home ในประเทศไทยมีงานที่น่าสนใจหลายชิ้นงาน ในวันนี้ที่เราจะมาพูดถึงงานวิจัยจำนวน 3 ชิ้น


การทำงานทางไกลและที่บ้าน

มนัสนันท์ ศรีนาคาร และพิชิต พิทักษ์ เทพสมบัติ


ในช่วงสภาวะเศรษฐกิจถดถอยส่งผลกระทบมหาศาลไม่ใช่แค่ต่อองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่กลายเป็นปัญหาระดับชาติที่ส่งผล กระทบต่อคนทุกภาคส่วน ทั้งบุคคลที่มีภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบทั้งเรื่องงานและครอบครัว การเดินทางไปที่ทำงานประสบปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรถติด หรือมลภาวะที่เป็นพิษ


ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้เกิดการทำงานรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “การทำงานทางไกลและที่บ้าน” (Telework and work at home) ซึ่งวัตถุประสงค์ในการศึกษาของผู้วิจัยคือ การศึกษาระดับของการใช้ทำงานทางไกลและที่บ้าน ตัวแปรที่มีความสัมพันธ์กับการทำงานไกลและที่บ้านเปรียบเทียบกับการทำงานแบบดั้งเดิม และศึกษาข้อดีของการทำงานทางไกลและที่บ้าน


กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาคือ พนักงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ข้าราชการจากคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานข้าราชการพลเรือน และสำนักงานเศรษฐกิจการพลัง นักธุรกิจส่วนตัว สัตวแพทย์ และกลุ่มอาชีพอิสระ จำนวน 297 คน ใช้การเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยแบบสอบถามและสถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล


ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ทำงานที่สำนักงาน (ร้อยละ 79.8) ใช้เวลาทำงานที่สำนักงานและที่บ้านครึ่งต่อครึ่ง (ร้อยละ 11.1) และเวลาส่วนใหญ่ทำงานที่บ้านหรือทางไกล (ร้อยละ 9.1) นอกจากนี้ยังพบว่า ตัวแปรเพศ ลักษณะงาน รายได้และเงินเดือน การใช้ระบบการประชุมทางไกลและการส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ล้วนมีความสัมพันธ์กับการทำงานทางไกลและที่บ้าน


เมื่อเปรียบเทียบความเห็นของผู้ที่ทำงานทางไกลและที่บ้านกับกลุ่มผู้ที่ทำงานแบบดั้งเดิมหรือทำภายในสำนักงาน พบว่า การทำงานจากที่บ้านให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการทำงานแลลเดิมในประเด็นดังนี้ (1) มีอิสระในการทำงานมากขึ้น (2) สุขภาพจิตดีขึ้น (3) มีความสุขมากกว่าเดิม (4) ความขัดแย้งลดลง (5) พนักงานมีความมั่นใจในการตัดสินใจและการกระทำของตนเองมากกว่าเดิม (6) งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น (7) สามารถสื่อสารและมีความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานและผู้บังคับบัญชาดีขึ้น และ (8) มีเงินเดือนเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม


การทำงานจากบ้านหรือ Work from Home ยังถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย หากจะนำไปปรับใช้จริงต้องอาศัยการศึกษาข้อมูล มีการคัดเลือกพนักงานที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสม เข้าใจระบบการทำงานที่ถูกต้อง อีกทั้งเทคโนโลยีที่เข้ามาใช้ต้องสามารถรองรับการทำงานได้อย่างเหมาะสม


อ่านงานวิจัยฉบับเต็มที่ https://so02.tci-thaijo.org/index.php/JEM/article/view/29085


ปัจจัยที่มีผลต่อทัศนคติและการยอมรับการทำงานระยะไกล กรณีศึกษา ธนาคารแห่งประเทศไทย

วลัญช์ ก้าวสัมพันธ์


การกำเนิดนวัตกรรมอย่างรถยนต์ที่ช่วยให้ผู้คนสามารถเดินทางหากันจนเกิดเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ เวลาผ่านไปผู้ที่ครอบครองรถยนต์กำลังประสบกับปัญหาการจราจรติดขัด ราคาน้ำมันสูง และมลภาวะเป็นพิษ ซึ่งทำให้คนในเมืองต้องเผชิญกับปัญหาในการดำเนินชีวิตที่ต้องเร่งรีบอยู่ตลอดจนทำให้เสียสมดุลการใช้ชีวิตทั้งเรื่องงานและครอบครัว


งานวิจัยชิ้นนี้ทำการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อทัศนคติและการยอมรับการทำงานระยะไกลของหน่วยงานภาครัฐแห่งหนึ่ง และนำเสนอแนวทางในการพัฒนา ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น กลุ่มตัวอย่างคือ ประชากรในหน่วยงานจำนวนทั้งสิ้น 345 คน ใช้การเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยแบบสอบถามและสถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล


ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อทัศนคติและการยอมรับการทำงานไกลสอดคล้องกับแบบจำลองตามทฤษฎีตามแผน (Theory of planned behavior) มีจำนวนทั้งสิ้น 3 ปัจจัย ได้แก่ (1) ทัศนคติที่มีต่อการใช้ (2) บรรทัดฐานกลุ่มอ้างอิง และ (3) การรับรู้ถึงการควบคุมด้านพฤติกรรม ซึ่งทั้งสามปัจจัยมีความสัมพันธ์และส่งผลต่อเป้าหมายในการทำงานระยะไกลที่ระดับอำนาจ ร้อยละ 51.3


ปัจจัยด้านทัศนคติที่มีต่อการทำงานระยะไกลคือ ปัจจัยที่กลุ่มตัวอย่างให้ความสำคัญมากที่สุด เมื่อนำผลการวิจัยเชิงสถิติมาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลที่ได้มาจากการสัมภาษณ์เชิงลึกทำให้มีข้อเสนอว่า หน่วยงานควรให้ความสำคัญต่อการสร้างความตระหนักของพนักงานให้เห็นถึงประโยชน์ ความเข้ากันในการใช้งาน คุณสมบัติของพนักงาน และการส่งเสริมให้เกิดการใช้งานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การทำงานระยะไกลเกิดประโยชน์สูงสุด


อ่านงานวิจัยฉบับเต็มที่ http://ethesisarchive.library.tu.ac.th/thesis/2016/TU_2016_5802036227_5788_4219.pdf


ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการใช้ระบบการทำงานทางไกล (Telework) ของพนักงาน กรณีศึกษาบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในเขตกรุงเทพมหานคร

ชาลิณี ฐิติโชติพณิชย์


เทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารทำให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว ซึ่งองค์การที่นำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงานอย่างเหมาะสมจะทำให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพและได้เปรียบในเชิงธุรกิจ อย่างไรก็ตามทรัพยากรที่สร้างข้อได้เปรียบในเชิงธุรกิจมากที่สุดและยากที่จะเลียนแบบได้คือ ทรัพยากรมนุษย์ ดังนั้นองค์การจึงต้องให้ความสำคัญกับพนักงานมากที่สุด


วัตถุประสงค์ของงานวิจัยชิ้นนี้คือ การศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการใช้ระบบการทำงานทางไกลของพนักงานและนำข้อมูลมาพัฒนาปรับปรุงให้พนักงานเกิดการยอมรับและนำระบบการทำงานทางไกลไปใช้ในองค์การ กลุ่มตัวอย่างที่ทำการศึกษาคือ กลุ่มพนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในเขตกรุงเทพมหานครสำนักงานใหญ่จำนวน 171 คน ใช้แบบสอบถามในการเก็บข้อมูลเชิงปริมาณและวิเคราะห์ผลทางสถิติ


ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการใช้ระบบการทำงานทางไกลตามกรอบแนวคิดในงานวิจัยชิ้นนี้ ได้แก่ (1) การรับรู้ถึงประโยชน์การใช้งาน (2) การรับรู้ถึงความง่ายในการใช้ (3) ความเข้ากันในการใช้งาน (4) บรรทัดฐานที่ทำงาน (5) บรรทัดฐานที่บ้าน (6) ทรัพยากรที่เอื้อต่อการใช้เทคโนโลยีต่อการใช้ และ (7) เทคโนโลยีที่เอื้ออำนวยต่อการใช้ และ (8) นโยบายองค์การ


ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการใช้ระบบการทำงานทางไกลของพนักงานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ในองค์การแห่งนี้คือ ปัจจัยความเข้ากันในการใช้ และปัจจัยนโยบายองค์การ


อ่านงานวิจัยฉบับเต็มที่ https://koha.library.tu.ac.th/bib/592878


Illustration by Piyanat Chasi

 

7,200 views
bottom of page