top of page
Writer's pictureTSIS

How to เก็บข้อมูลแบบ Social Distancing

by TSIS Team

สถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในขณะนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ในเชิงธุรกิจต่อกลุ่มคนทำงาน ภาครัฐ หรือการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ชาววิจัยอย่างเราก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ไปไม่มากก็น้อย


สิ่งสำคัญในการทำวิจัยคือ “การเก็บข้อมูล” ซึ่งโครงการส่วนใหญ่จะต้องลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูล แต่ตอนนี้ลงไม่ได้ แล้วจะทำยังไงดีละ ? กำหนดส่งเล่มใกล้เข้ามาทุกที!!


หลายโครงการของ The TSIS เองที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน โดยเฉพาะการเก็บข้อมูล ในวันนี้เราเลยจะมาแบ่งปันวิธีการเก็บข้อมูลแบบ “Social Distancing”


1) แบบสอบถามออนไลน์

“แบบสอบถาม” คือ เครื่องมือในการเก็บมูลวิจัยที่ทุกคนคุ้นเคยเป็นอย่างดี ในสถานการณ์ที่นักวิจัยไม่มีโอกาสที่สามารถลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลโดยการแจกแบบสอบถามได้ด้วยตนเอง


การใช้แบบสอบถามอออนไลน์โดยเฉพาะในยุคดิจิทัลถือเป็นทางเลือกที่ช่วยให้ผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลได้สะดวกและหลีกเลี่ยงการลงไปในพื้นที่ที่ต้องเผชิญกับผู้คนจำนวนมาก รวมทั้งประหยัดเวลา


เครื่องมือสร้างแบบสอบถามออนไลน์ที่เราใช้เป็นประจำ ได้แก่


  • Google Forms : ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ได้รับความนิยมและเป็นตัวเลือกแรก ๆ ของใครหลายคนที่ต้องการจะสร้างแบบสอบถามออนไลน์ จุดเด่น คือ การรองรับผู้ตอบแบบสอบถามที่ไม่จำกัด ข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้จากผู้ตอบแบบสอบถามจะถูกเก็บโดยอัตโนมัติไว้ที่ Google Spreadsheet ผู้ใช้งานสามารถเพิ่มภาพหรือวีดีโอ รวมทั้งแบ่งปันแบบสอบถามผ่านทางอีเมลหรือเว็บไซต์ เหตุผลสุดท้ายเหนือสิ่งอื่นใดคือ ฟรี!!!

  • Typeform : จุดเด่นของ Typeform คือการออกแบบเครื่องมือให้ผู้ใช้งานสามารถใช้งานได้ง่ายและไม่เสียค่าใช้จ่าย การสร้างคำถามสามารถสร้างได้ไม่จำกัด ตัวเลือกก็เช่นกัน และสามารถรายงานข้อมูลขั้นพื้นฐาน หากเราต้องการความสามารถที่มากกว่านี้ก็สามารถเสียค่าใช้จ่ายแบบรายเดือนได้ รับรองไม่ผิดหวัง

  • Survey Monkey : อีกหนึ่งเว็บไซต์ที่เปิดให้สร้างแบบสอบถามได้ฟรี แต่มีข้อจำกัดคือ การสร้างคำถามและจำนวนผู้เข้ามาทำแบบสอบถามถูกจำกัด จุดเด่นของ Survey Monkey คือการออกแบบระบบที่สามารถใช้งานได้ง่าย หากต้องการตัวเลือกการใช้งานขั้นสูงเราสามารถจ่ายรายเดือนเพื่อเข้าไปใช้งาน


2) การสัมภาษณ์ผ่านวีดีโอคอล

การเก็บรวบรวมข้อมูลผ่านการสัมภาษณ์มีทั้งการสัมภาษณ์แบบเดี่ยวหรืออาจทำสัมภาษณ์เป็นกลุ่ม ประเด็นสำคัญคือของการสัมภาษณ์คือ การเผชิญหน้าระหว่างผู้วิจัยกับกลุ่มตัวอย่าง


อีกหนึ่งกฎสำคัญของการสัมภาษณ์คือ หากมีการบันทึกเสียง ผู้วิจัยควรขออนุญาตกลุ่มตัวอย่างก่อนทุกครั้ง ลองไปดูโปรแกรมที่น่าสนใจสำหรับการวีดีโอคอลออนไลน์ที่น่าสนใจในปัจจุบัน


  • Zoom : โปรแกรมประชุมออนไลน์ที่มาแรงแซงทุกโค้งจริง ๆ ช่วงนี้ ทั้งความง่ายในการใช้งานและความรวดเร็วตลอดการสนทนา ก่อตั้งโดยอดีตทีมงาน Cisco Webex รุ่นฟรี : ประชุมพร้อมกันได้สูงสุด 100 คน จำกัดระยะเวลาการสนทนาครั้งละไม่เกิน 40 นาที รุ่นเสียเงิน : ราคาเริ่มต้น 14.99$ จำนวนสูงสุดแล้วแต่โปรที่เลือก แต่สามารถประชุมต่อเนื่อง 24 ชม. เอาให้ตาแฉะไปเลย

  • Discord : โปรแกรมยอดนิยมสำหรับเหล่าเกมเมอร์ มีชื่อเสียงเรื่องการตัดเสียงรบกวน สามารถวีดีโอคอลได้พร้อมกันสุงสุด 10 คน หากสมัครสมาชิกแบบรายเดือนจะมีฟีเจอร์เพิ่มขึ้นมา เช่น การใส่แอนิเมชัน การอัพโหลดรูปภาพ ฯลฯ

  • Skype : โปรแกรมวีดีโอคอลชื่อดังตั้งแต่ยุค MSN จุดเด่นคือ การรองรับอุปกรณ์ทุกชนิด โดยรุ่นฟรีสามารถประชุมพร้อมกันสูงสุด 50 คน แชร์หน้าจอของผู้ใช้งาน และบันทึกการสนทนา รุ่นเสียเงินสามารถโทรออกไปยังเบอร์โทรศัพท์ปกติ

  • Google Hangout Meets : หนึ่งในฟีเจอร์ของ G Suite สำหรับการประชุมออนไลน์ รองรับการประชุมขนาดใหญ่จำนวน 100 คน เหมาะสำหรับคนที่ใช้งาน G Suite มาตลอด เพราะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใน Hangout Meets รุ่น Enterprise ขยายจำนวนห้องประชุมเป็น 250 คน live Steam สูงสุด 100,000 คน และบันทึกการประชุมลง Google Drive ให้อัตโนมัติ

  • Microsoft Teams : สำหรับคนที่ใช้ Microsoft 365 อยู่ก็จะมีโปรแกรม Microsoft Teams ที่สามารถทำได้ทั้งการสนทนา โทร วีดีโอคอล แชร์หน้าจอ แชร์ไฟล์ และรองรับการประชุมออนไลน์สูงสุด 10,000 คนต่อห้อง

  • Cisco Webex : Cisco Webex ถือเป็นต้นฉบับของโซลูชันการประชุมวิดีโอในองค์กร (ปัจจุบันใช้ชื่อ Webex Meetings) คุณสมบัติของ Webex สามารถรองรับการประชุมสูงสุด 3,000 คนต่อห้อง Live Steam สูงสุด 100,000 คน (รุ่นเสียเงิน) ส่วนรุ่นฟรีมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับ Zoom


3) การเขียนอีเมลเพื่อขอสัมภาษณ์

ในบางโครงการต้องมีการส่งอีเมลเพื่อขอสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างที่เราต้องการเก็บข้อมูล ซึ่งในภาพข้างต้นคือ ตัวอย่างในการเขียนอีเมลเพื่อขอสัมภาษณ์เบื้องต้น


4) การส่งเอกสารในชั่วโมงเร่งด่วน

นอกจากการทำวิจัยให้จบ อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ การส่งเอกสารให้ทันเวลาที่กำหนด ดังนั้นเราจะมาแนะนำบริการส่งพัสดุและเอกสารในชั่วโมงเร่งด่วนกัน


  • Banana Bike : บริการส่งพัสดุและเอกสารที่มีจุดเด่นคือ “การที่เราสามารถตกลงราคากันเองกับวินมอเตอร์ไซค์หรือพี่คนขับสามล้อ” ทำให้เราทราบราคาก่อนใช้บริการ นอกจากนั้นยังให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ขอบเขตการให้บริการในกรุงเทพฯ

  • Lalamove : บริการรับส่งพัสดุและเอกสารเช่นกัน แต่มีตัวเลือกเพิ่มขึ้นคือ (1) การรับ-ส่งสินค้าน้ำหนักไม่เกิน 20 Kg ด้วยรถมอเตอร์ไซค์ (2) รับ-ส่งสินค้าน้ำหนักไม่เกิน 100 Kg ด้วยรถยนต์ 5 ประตู (3) รับ-ส่งสินค้าน้ำหนักไม่เกิน 1,000 Kg ด้วยรถกระบะ ใหบริการตลอด 24 ชั่วโมง ขอบเขตการให้บริการในกรุงเทพฯ ปริมณฑล

  • Send Ranger : บริการรับส่งเอกสารและพัสดุด้วยมอเตอร์ไซค์ โดยมีระบบการแจ้งสถานการณ์ขนส่ง พร้อมติดตามตำแหน่งคนชับ และมีการรับประกันค่าเสียหายจากการขนส่ง ขอบเขตการให้บริการในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และพื้นที่พิเศษโคราช

  • Skootar : บริการรับส่งเอกสารที่เหมาะสำหรับลูกค้าที่ต้องการเน้นเก็บเช็ค เก็บเงินปลายทาง วางบิล และส่งพัสดุอื่น ๆ มีพื้นที่ให้บริการในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

  • Grab Bike : บริการรับส่งเอกสารและพัสดุด้วยรถจักรยานยนต์ กำหนดน้ำหนักไม่เกิน 10 Kg พร้อมการรับประกันค่าเสียหายจากการขนส่ง และมีระบบติดตามแบบ Real Time

  • SCG Express : มีการแบ่งรูปแบบการให้บริการออกเป็น 5 รูปแบบ ได้แก่ (1) TA-Q-BIN บริการขนส่งพัสดุย่อยแบบเร่งด่วนถึงบ้าน (2) COOL TA-Q-BIN บริการส่งพัสดุแบบแช่เย็นและแช่แข็งที่ต้องควบคุมอุณหภูมิ (3) DOCUMENT TA-Q-BIN บริการส่งเอกสารด่วน (4) TA-Q-BIN COLLECT บริการเก็บเงินปลายทางหรือบริการรับชำระค่าสินค้าที่ปลายทางสำหรับธุรกิจ โดยเก็บได้ทั้งรูปแบบเงินสดและบัตรเครดิต และ (5) FARM TO TABLE บริการขนส่งสินค้าเกษตร พืช ผัก ผลไม้ หรืออาหารทะเลจากหน้าฟาร์ม และส่งตรงถึงบ้าน

  • Deliveree : นอกจากจะมีบริการรับส่งพัสดุและเอกสาร Deliveree ยังมีบริการเสริมอื่น ๆ เช่น บริการช่วยยกของ เช่ารถเข็น หรือผู้ช่วยดำเนินการเรื่องเอกสาร


5) การโทรศัพท์ไปขอสัมภาษณ์

นอกจากการเขียนอีเมลเพื่อขอสัมภาษณ์ และการวีดีโอคอลสัมภาษณ์ ในบางสถานการณ์นักวิจัยต้องใช้วิธีการโทรศัพท์ไปเพื่อขอนัดหมายการสัมภาษณ์ หรือการสัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์


ขั้นตอนสำคัญในการโทรศัพท์เพื่อขอสัมภาษณ์คือ “การแนะนำตัว” ว่าเราชื่ออะไร ศึกษาอยู่คณะ มหาวิทยาอะไร กำลังทำโครงการเรื่อง (ขอแบบโดยย่อ) และตามด้วยแจ้งวัตถุประสงค์ของการโทรมาว่า ต้องการจะขอนัดหมายการสัมภาษณ์ เพื่อถามว่ากลุ่มตัวอย่างสะดวกเวลาไหน


หากกลุ่มตัวอย่างสะดวกสัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์ก็เริ่มอธิบายรายละเอียดโครงการวิจัยที่กำลังทำอยู่อย่างคร่าว ๆ และก่อนจะเริ่มถามคำถาม หากต้องการจะบันทึกเสียง อย่าลืมขออนุญาตกลุ่มตัวอย่างก่อน


6) Netnography การวิจัยชุมชนออนไลน์

Netnography คือวิธีการวิจัยที่ประยุกต์การวิจัยแบบ Ethonography เพื่อนำมาทำความเข้าใจวัฒนธรรมและชุมชนที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ (Robert Kozinets, 2545)


ในทางการตลาด Netnography ถูกนำมาใช้ในการศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคบนโลกออนไลน์ ซึ่งช่วยให้นักการตลาดเข้าผลตอบรับของลูกค้าต่อผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะในแง่การใช้งาน ความรู้สึกต่อแบรนด์ หรือพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้า


คำว่า “Netnography” เกิดจากการเอาคำว่า Ethnography มารวมกับคำว่า Internet ซึ่งเป็นวิธีวิจัยที่ถูกนำไปใช้ทั้งในเชิงสังคมศาสตร์และธุรกิจ ในเชิงสังคมศาสตร์ Netnography ถูกนำมาใช้เพื่อเข้าใจประสบการณ์ ความสัมพันธ์ และวัฒนธรรมของชุมชนในโลกออนไลน์ เช่น กลุ่ม Street Photo Thailand กลุ่มคนรักกล้องฟิล์ม เป็นต้น


ขั้นตอนการทำ Netnography โดยย่อ เริ่มจาก (1) การเลือกชุมชนออนไลน์ (2) การเก็บรวบรวมข้อมูล โดยหากเป็นกลุ่มหรือเพจที่มีผู้ดูแลในโซเชียลมีเดีย ผู้วิจัยควรทำการขออนุญาตผู้ดูแลก่อนเริ่มเก็บข้อมูล และ (3) การเก็บรวบรวมข้อมูล


แห่ลงอ้างอิง


Illustration by Arnon Chundhitsakul

 

5,154 views0 comments

Comentarios


bottom of page