By TSIS Team
"การกำหนดปัญหาในงานวิจัย จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป" โดยวันนี้ Research Tips เรามีเทคนิคดี ๆ และน่าสนใจในการทำวิจัยมาฝาก หัวข้อในวันนี้เกี่ยวกับ "การกำหนดปัญหาในงานวิจัย กำหนดปัญหาอย่างไร ให้ตอบได้ตรงใจที่สุด"
การกำหนดปัญหางานวิจัย คืออะไร ?
การกำหนดปัญหางานวิจัย คือขั้นตอนการพิจารณาถึงปัญหา หรือหัวข้อที่เราสนใจ ต้องการจะศึกษาว่าหัวข้อนั้นเกี่ยวกับอะไร ต้องการการทดสอบ หรือหาคำตอบในเรื่องอะไร เพื่อเป็นการระบุชื่อเรื่องงานวิจัยให้ชัดเจน และเข้าใจตรงกันว่าจะศึกษาเรื่องใด ซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญที่สุดในกระบวนการวิจัย เนื่องจากผู้วิจัยต้องกำหนดปัญหาของงานวิจัยเพื่อให้สามารถได้มาซึ่งคำตอบของสิ่งที่ผู้วิจัยต้องการศึกษา
การกำหนดปัญหาของงานวิจัย ควรมีการศึกษาสิ่งต่าง ๆ ดังนี้
ศึกษาลักษณะ และความเป็นมา
ผู้วิจัยจะต้องศึกษาเนื้อหาลักษณะของความเป็ฯมาของเรื่องที่เป็นปัญหาในการวิจัย
ศึกษาโครงสร้างขององค์การที่กำหนดเป็นเรื่องการทำวิจัย
ในบางครั้งจำเป็นต้องศึกษาโครงสร้างขององค์การที่ใช้กำหนดเป็นหัวเรื่องของการวิจัย เช่น การดำเนินงาน การบริหาร การเงิน เป็นต้น
ศึกษาเอกสาร และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง
เพื่อให้ทราบว่าหัวข้อวิจัยนั้นเป็นปัญหาที่ผู้อื่นได้ศึกษาไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่ รวมทั้งปัญหาอื่น ๆ ที่มีอยู่
ศึกษาและปรึกษากับผู้ที่มีความรู้
โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้ที่มีประสบการณ์ในเรื่องที่จะทำการศึกษาวิจัย
ศึกษากรอบและแนวคิดทฤษฎี
ซึ่งจะทำให้ผู้วิจัยสามารถเห็นความสัมพันธ์ระหว่างหัวเรื่อง ปัญหา ข้อมูล ลักษณะของปัญหาได้
ปัญหาของการวิจัย ควรมีคุณสมบัติดังนี้
จะต้องเป็นปัญหาที่ชัดเจน ไม่คลุมเครือ ไม่กำกวม เข้าใจง่าย สามารถอ่านแล้วเข้าใจตรงกัน
ปัญหาที่กำหนดต้องไม่กว้างหรือแคบจนเกินไป
ควรเป็นปัญหาที่มีความหมาย ง่ายต่อการศึกษาวิจัย
ต้องเหมาะสมกับเวลา ค่าใช้จ่าย และความรู้ความสามารถของผู้วิจัย
เกณฑ์การประเมินปัญหาวิจัย
การเลือกปัญหาการวิจัย จะเหมาะสมหรือไม่นั้น นักวิจัยควรมีการประเมินหัวข้อวิจัยโดยอาศัยเกณฑ์ต่อไปนี้ในการพิจารณา
1. ควรเป็นปัญหาที่ผู้วิจัยสนใจ มีลักษณะดังนี้
มีความอยากรู้ อยากเห็น อยากทราบคำตอบ โดยปราศจากอคติ
เป็นความสนใจที่เกิดจากแรงจูงใจภายนอกมากระตุ้น
เป็นปัญหาที่แสดงความคิดริเริ่มของตัวผู้วิจัยเอง
2. ควรเป็นปัญหาที่มีคุณค่า มีลักษณะดังนี้
ก่อให้เกิดความรู้ ความจริงใหม่ ๆ ไม่ซ้ำซ้อนกับผู้อื่น
ก่อให้เกิดสติปัญญาและพัฒนาความคิด
นำไปแก้ไขปรับปรุงงานที่ทำอยู่ได้
3. ควรคำนึงถึงความสามารถของผู้วิจัยในประเด็นต่อไปนี้
มีความรู้ ความสามารถพอที่จะทำงานวิจัยในเรื่องนั้น ๆ
มีเวลา มีกำลังงาน และทรัพยากรเพียงพอที่จะทำได้สำเร็จ
สามารถเก็บข้อมูลได้อย่างเที่ยงตรงและมีประสิทธิภาพ
4. ควรคำนึงถึงสิ่งที่จะเอื้ออำนวยให้การวิจัยสำเร็จ ได้แก่
มีแหล่งวิชาการที่จะค้นคว้าได้สะดวกและเพียงพอ
มีอุปกรณ์และเครื่องมือช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูล
ได้รับความสนับสนุนและความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้อง
Illustration by Arnon Chundhitisakul
Comments