top of page
  • Writer's pictureTSIS

ทำ "วิจัย" อย่างไรให้มีความสุข

By สุขฤดี

อาทิตย์ก่อน เราทำแบบสำรวจ “คุณทนทุกข์กับอะไรมากที่สุดในการทำวิจัย” พบว่ามีคนร่วมตอบและแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่โอดครวญว่าความทุกข์มันช่างมีมากเหลือเกินกับเจ้าวิจัยตัวร้าย เราในฐานะผู้ร่วมชะตากรรมเดียวกันจึงอยากแนะนำเคล็ดลับช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั้งหลายที่เราทำแล้วมีความสุขมากขึ้น จนเป็นที่มาของบทความ “ทำวิจัยอย่างไรให้มีความสุข”


ปกติแล้วเวลาทำวิจัย เราจะมีช่วงเวลาหลัก ๆ เริ่มตั้งแต่ก่อนทำวิจัย ระหว่างทำวิจัย และหลังทำวิจัยเสร็จ ถ้างั้นในแต่ละช่วงเนี่ย เราจะหาความสุขจากมันได้ยังไง ?


ก่อนเริ่มทำ

“อย่าหาหัวข้อเพียงอย่างเดียว การค้นคว้าเบื้องต้นก็สำคัญ”
“ต้องสนใจมันจริง ๆ ในระดับนึง ไม่ใช่แค่หัวข้อน่าสนใจ แต่ต้องพอมีข้อมูลพื้นฐานที่คิดว่าจะทำได้จริงหลังจากนี้”

ช่วงเวลาสำคัญที่สุดนับจากนี้ไปหลายเดือน ความสุขในชีวิตนับต่อจากนี้ไป ขึ้นอยู่กับช่วง “ก่อน” ทำวิจัย ดังนั้นการเลือกหัวข้อวิจัยจึงสำคัญมาก เพราะเราจะต้องอยู่กับประเด็นนี้ไปอีกนาน ตอนหาหัวข้อทำ เราต้องศึกษาประเด็นคร่าว ๆ ก่อน ไม่ว่าจะเป็นการหาข้อมูลจากหนังสือหรือสอบถามผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าเราจะสามารถใช้เวลากับสิ่งนี้ได้จริง ๆ หรือเลือกหัวข้อที่เรามองเห็นประโยชน์สูงสุดปลายทาง หลังจากทำงานเสร็จ


#เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง #เริ่มต้นดีมีความสุขไปมากกว่าครึ่ง


ระหว่างทำวิจัย

“เคล็ดลับความสำเร็จคือ การทำงานอย่างมีระบบ”

นับจากนี้ 24/7 คือ การอุทิศชีวิตให้การทำวิจัย ถึงเราจะเริ่มต้นได้ดี แต่ใช่ว่าทุกเส้นทางจะโรยกลีบกุหลาบ ต้องมีบ้างแหละที่ทำวิจัยอยู่แล้วเจอทางตัน หาข้อมูลไม่เจอ อาจารย์ที่ปรึกษาไม่ตอบ น้ำไม่ไหล ไฟดับ สัญญาณอินเทอร์เน็ตหาย ฯลฯ สุดท้ายหลายคนถอดใจเลิกทำดีกว่า แล้วเราจะเอาตัวรอดจากสถานการณ์ได้ยังไง ?

  1. ตั้งเป้าหมายการทำงานก่อน เราอยู่แล้วว่าช่วงไหนต้องส่งงานให้ อาจารย์ตรวจบ้าง ดังนั้นควรวางแผนคร่าว ๆ ว่าแต่ละวันจะทำอะไร เพื่อไม่ให้รีบทำส่งตอนท้าย

  2. ลองหันมาชื่นชมกับความสำเร็จเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ต้องรอความสำเร็จชิ้นใหญ่ เช่น เมื่อเราทบทวนวรรณกรรมเสร็จ มีความสุขกับการจัดหน้ากระดาษให้สวยงาม หรือกินเบียร์สักกระป๋องเป็นรางวัลให้กับตัวเอง

  3. บอกเล่าข้อค้นพบในงานวิจัยให้คนอื่นฟัง หลังจากจมอยู่กับวิจัยคนเดียวมาสักระยะ เรามีข้อมูลในหัวเยอะมากและจมอยู่คนเดียว ลองบอกเล่าเรื่องที่เราค้นพบให้คนรอบข้างฟัง เพิ่มความสุขจากการได้ถกเถียงแลกเปลี่ยนกับคนอื่น ๆ

  4. เติมความสุขจากสิ่งที่ชอบ หากทำแล้วฝืนต่อไปก็ยังไม่ไหว ลองหยุดพักหันมาเล่นกับสัตว์เลี้ยงแสนรัก หรือไปร้านอร่อย ๆ ที่แชร์ไว้ใน Facebook แต่ไม่ได้ไปสักที ชอบสิ่งใดลองไปทำแต่อย่าพักนานเกินไปมันจะทำไม่ทัน

  5. ลองปริ้นท์บางหน้าที่ทำเสร็จแล้วออกมาอ่าน ขีด ๆ เขียน ๆ ใส่กระดาษดู ในเมื่อมันยังไม่เสร็จทุกบท แต่เสร็จบางบทและได้เห็นรูปร่างหน้าตาเบื้องต้น เราจะได้มีกำลังใจเขียนงานต่อ

  6. ออกไปฟังเสวนาหรืองาน Event ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยของเรา ลองหยุดทำแต่ไปเติมอาหารสมองและอยู่ในแวดวงที่คนที่มาน่าจะเจ็บปวดไม่แพ้เรา เป็นการปลอบใจตัวเองและได้ข้อมูลกับมาทำงานต่อ

  7. ระหว่างทางการลงพื้นที่เก็บข้อมูล ลองแวะพักผ่อนเที่ยวในสถานที่นั้น ๆ ได้ทั้งงานและได้พักหายใจ หรือติดกล้องออกไปถ่ายรูป เอาภาพมาอวดชาวโซเชียลมีเดีย

  8. วิธีการยอดฮิตของยุคสมัยคือ การเปลี่ยนสถานที่ทำงาน ไปคาเฟ่หรือแหล่งที่นั่งทำงานสวย ๆ เพื่อถ่ายรูปอัพลง Instagram ก่อนจะทำงานต่อ การทำงานในร้านกาแฟช่วยให้หัวแล่น ลองศึกษาดูจากบทความที่เราเคยเขียน

หลังทำวิจัยเสร็จ

ทำวิจัยเสร็จแล้ว ก็ใช่ว่าจะไม่เครียดนะ หนึ่งในงานที่โหดร้ายที่สุดคือ การตรวจ Format เอกสาร หาคำผิด แก้คำเชื่อมต่าง ๆ ดูเหมือนจะเป็นงานเล็ก ๆ แต่มีส่วนสำคัญมาก ถ้ายังรู้สึกลองมาพักทำ Diagram หรือทำอะไรที่เป็นภาพสวยงามในงานวิจัย เตรียมการนำเสนอ ค้นหาภาพประกอบสวย ๆ ได้พักสายตา แถมยังเป็นอีกทางที่เราได้ตรวจข้อมูลอีกรอบพร้อมกับนั่งสรุปเนื้อหาเตรียมนำเสนอ


บทความนี้เป็นเพียงคำแนะนำเบื้องต้นจากพวกเรา The TSIS อาศัยจากประสบการณ์ที่ทำวิจัยกันมา หากใครทดลองใช้แล้วได้ผลอย่างไร หรือมีเทคนิคอะไรที่เห็นว่าทำแล้วได้ผล มาแชร์ให้เราฟังกันนะ


Illustration by Arnon Chundhitisakul

 

1,173 views
bottom of page