top of page
  • Writer's pictureTSIS

ทำไมทำงานในร้านกาแฟแล้วหัวแล่นที่สุด ?

By Setthaphong Matangka


“อยู่บ้านงานไม่เดิน ไปร้านกาแฟดีกว่า” เชื่อว่าชาววิจัยอย่างเราคงต้องมีช่วงที่หมดไฟในการทำวิจัยจบ และคิดว่าควรออกไปหาร้านกาแฟข้างนอกนั่งทำงาน เผื่อจะมีไฟขึ้นมาบ้าง


ก่อนหน้านี้ เราเปิดให้มีการโหวตในหัวข้อ "ทำงานที่ไหน หัวแล่นที่สุด" ซึ่งผลปรากฏว่า ‘ร้านกาแฟ’ คือสถานที่ที่ถูกโหวตมาเป็นอันดับที่หนึ่ง คิดเป็นร้อยละ 42.17 อันดับที่สองคือ บ้าน ร้อยละ 33.14 และอันดับที่สาม ห้องสมุด ร้อยละ 16.86


ผลโหวต "ทำงานที่ไหน หัวแล่นที่สุด"


ด้วยความที่เป็นชาว TSIS อย่างเข้มข้นทำให้อดที่จะตั้งคำถามไม่ได้ว่า “ทำไมทำงานในร้านกาแฟแล้วหัวแล่นที่สุด ?” ซึ่งบทความในวันนี้จะพาเราไปหาคำตอบกัน


ทำไมคุณถึงทำงานได้มีประสิทธิภาพเมื่ออยู่ในร้านกาแฟ ?


บทความชิ้นแรกเขียนขึ้นโดย Simon Oxenham คอลัมนิสต์ประจำวารสาร Neuroscience เนื้อหาในบทความเริ่มต้นพูดถึงคนจำนวนมากที่ค้นพบว่าตัวเองทำงานได้ดียิ่งขึ้นเมื่ออยู่ในร้านกาแฟ


ความคิดที่ว่าการทำงานในสถานที่ที่มีเสียงสนทนากันของคนอย่างร้านกาแฟจะช่วยเพิ่มสมาธิให้กับเราในระยะเวลาสั้น ๆ ถือเป็นไอเดียที่ได้รับความนิยมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา


ไอเดียดังกล่าวได้รับความนิยมจนถึงขั้นมีคนก่อตั้งเว็บไซต์ชื่อว่า “Coffitivity.com” ที่นำเสียงบรรยากาศของร้านกาแฟมาทำเป็นเพลย์ลิสต์ให้คนเปิดฟังเวลาทำงาน แรงบันดาลใจในการสร้างเว็บไซต์มาจากตอนที่ผู้สร้างตระหนักได้ว่า พวกเขาทำงานได้ดีมากขึ้น เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่วุ่นวาย และมีเสียงดังโดยเฉพาะในร้านกาแฟ


ถึงแม้ไอเดียเรื่องเสียงสนทนาของร้านกาแฟจะได้รับความนิยม แต่งานวิจัยกลับชี้ให้เห็นว่า เสียงรบกวนรอบข้างในระดับปานกลางอย่างเสียงกระทบกันของจาน และเสียงของเครื่องชงกาแฟช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานที่สร้างสรรค์ แต่ก็มีคนตั้งข้อสังเกตว่า เหตุผลที่คนทำงานได้ดียิ่งขึ้นในสถานที่ที่มีเสียงรบกวนน่าจะเป็นผลมาจากผู้คนที่อยู่รอบตัวมากกว่าเสียงที่พวกเขาได้ยินระหว่างทำงาน ?


เมื่อเกือบ 100 ปีก่อน เราเรียนรู้ว่าการแสดงที่มีผู้ชมจำนวนน้อย ๆ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการแสดงของนักแสดง ในทำนองเดียวกัน เราจะแสดงได้ดียิ่งขึ้น เมื่อมีคนร่วมแสดงกับเรา ในปี ค.ศ.1898 งานวิจัยพบว่า นักปั่นจักรยานจะทำเวลาได้เร็วมากขึ้น เมื่อมีคนปั่นอยู่ข้างหน้า


อย่างไรก็ตาม ปรากฎการณ์เหล่านี้ไม่สามารถบอกได้ว่า ทำไมการทำงานในร้านกาแฟที่เต็มไปด้วยผู้คนที่เข้ามาอ่านหนังสือ พูดคุยกัน หรือแม้แต่พักผ่อน จะช่วยให้เราทำงานหนักมากขึ้น หรือบางทีมันไม่ได้เป็นเช่นนั้น ?


มันมีความเป็นได้มากกว่าว่า การที่มีคนกำลังจดจ่ออยู่กับหน้าจอแล็ปท็อปในร้านกาแฟทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของคุณดีขึ้น การศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้แสดงให้เห็นว่า ความพยายามสามารถส่งต่อกันได้ เมื่อเราอยู่กับคนที่ทำงานหนัก จะทำให้เราทำงานหนักขึ้นตาม


การค้นพบนี้เกิดขึ้นตอนที่คนกลุ่มหนึ่งกำลังนั่งทำงานอยู่ด้วยกัน ถึงแม้ว่างานที่ทำจะต่างกัน แต่เมื่อมีคนใดคนหนึ่งจดจ่อการทำงานมากขึ้น คนที่นั่งทำงานถัดออกไปก็จะเริ่มทำงานหนักมากขึ้น ถึงแม้ว่าพวกเขาจะไม่เห็นหน้าจอแล็ปท็อปของอีกคนว่าทำอะไรอยู่


สำหรับการใช้เสียงรบกวนเป็นตัวช่วยในการทำงาน มันมีงานศึกษาหลายงานที่แนะนำให้เราฟังเพลงที่เราชื่นชอบ เพราะจะช่วยกระตุ้นศักยภาพในการทำงานได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นเพลงคลาสสิคอย่าง Mozart


เหตุผลที่ร้านกาแฟกำลังกลายเป็นสถานที่ทำงานของคุณภายใน 10 ปี

บทความชิ้นที่สองเขียนโดย Wanda Thibodeaux Copywriter จากเว็บไซต์ Takingdictation Wanda ที่ใช้การอ้างอิงงานวิจัยที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นเพื่อตอบคำถามในประเด็นต่าง ๆ ว่าร้านกาแฟช่วยให้คนมีประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้นอย่างไร


การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจในปัจจุบันไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ต่างพยายามที่จะออกแบบพื้นที่ทำงานที่สมบูรณ์แบบที่สุด แต่กลับกลายเป็นว่ามีพนักงานจำนวนน้อยลงที่ต้องการใช้พื้นที่เหล่านั้น


ในอนาคตอันใกล้ ร้านกาแฟอาจกลายเป็นห้องทำงานของใครหลาย ๆ คน ซึ่งเรามาดูกันว่าเพราะอะไรถึงเป็นเช่นนั้น


1. เสียงรบกวนในร้านกาแฟช่วยให้เรามีความสร้างสรรค์


ในบทความ Harvard Business Review มีงานศึกษา 2 เรื่อง งานแรกของ Ravi Mehta จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์แบนา-แชมเปญจน์ แสดงให้เห็นว่าเสียงรบกวนรอบข้างช่วยให้เรามีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น ซึ่งระดับเสียงดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 70 เดซิเบล (เสียงพูดคุยในร้านกาแฟ)


นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า White Noise ซึ่งส่วนใหญ่คือเสียงธรรมชาติ อาทิ เสียงฝนตก เสียงลม เสียงสายน้ำ บรรยากาศในป่าไม้ ฯลฯ ช่วยให้การทำงานของสมองขับเคลื่อนไปสู่กระบวนการทำงานที่จำเป็นต่อความคิดสร้างสรรค์


งานชิ้นที่ 2 ของ Luke Laverty ให้ผลลัพธ์ที่คล้ายคลึงกับงานแรก เขาทดสอบด้วยวิธีการ EEG (Electroencephalogram) หรือการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง


การทดสอบชี้ให้เห็นว่า White Noise มีอิทธิพลเชิงบวกต่อความคิดสร้างสรรค์ การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองยังแสดงให้เห็นว่า เสียงพูดคุย และการรบกวนอื่น ๆ ในที่ทำงานทุก ๆ วัน ส่งผลเชิงลบต่อความคิดสร้างสรรค์


2. ร้านกาแฟช่วยให้เราหลบหนีความขี้เกียจและพฤติกรรมที่น่ารังเกียจของเพื่อนร่วมงาน


บทความจาก Harvard Business Review โดย Geoffrey James อธิบายปัจจัยทางสังคมที่ทำให้ร้านกาแฟทำให้เรามีสมาธิกับงาน และความคิดสร้างสรรค์ที่เพิ่มมากขึ้น ดังนี้


2..1 คนที่นั่งทำงานอยู่ในร้านกาแฟทุกคนมีความเท่าเทียมกัน เมื่อเทียบกับในสำนักงานที่มีการแบ่งลำดับขั้นที่ในระหว่าง การทำงานอาจมีคนบางคนที่เจตนาพูดคุยเสียงดัง หรือขัดจังหวัดการทำงานของคนอื่นเพื่อแสดงอิทธิพลของพวกเขา

2.2 การสนทนาในร้านกาแฟจะง่ายกว่าที่จะพูดออกมา เพราะไม่เหมือนเหมือนลักษณะการพูดคุยในที่ทำงาน

2.3 คุณสามารถควบคุมตนเองได้มากขึ้นเมื่อทำงานในร้านกาแฟ ตัวอย่างเช่น คุณไม่ต้องกลัวว่าจะมีใครมาขอให้คุณ ถอดหูฟังขณะทำงาน ในที่ทำงานบางคนจะรู้สึกว่า พวกเขามีสิทธิที่ทำอะไรก็ได้ เมื่อสิ่งนั้นมีความสำคัญต่อองค์กร


3. พนักงานได้แสดงให้เห็นแล้วพวกเขาสามารถทำงานจากข้างนอกได้


งานศึกษาโดย CTrip ทำการเก็บข้อมูลอาสาสมัครจำนวน 500 คน แสดงให้เห็นว่า คนที่ทำงานจากบ้านมีประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น 13.5% รวมทั้งมีส่วนร่วมในการทำงานมากกว่าคนที่ทำงานในสำนักงาน 9% นอกจากนั้นยังใช้เวลาลาหยุดพัก และลาป่วยลดลง ความพึงพอใจต่องานที่ทำก็สูงขึ้นเช่นกัน


งานศึกษาอีกชิ้นหนึ่งศึกษาโดย TINYpulse แสดงผลการศึกษาไปในเชิงบวกเช่นเดียวกัน ธุรกิจในแวดวงการขนส่ง, ระบบสารสนเทศ และอุตสาหกรรมการเงิน กำลังปรับตัวให้พนักงานทำงานนอกสถานที่ โดยไม่สนใจว่าจะมีวิธีการทำงานอย่างไร ตราบใดที่พนักงานส่งงานทันกำหนดเวลา และมีคุณภาพของงานตามที่คาดหวัง


ในหลาย ๆ องค์กรกำลังใช้ตัวเลือกการทำงานที่ยืดหยุ่นได้เพื่อดึงดูดพนักงานใหม่ ๆ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้พนักงานจะต้องการความยืดหยุ่นในการทำงาน แต่ก็ไม่อยากที่จะรู้สึกว่าตนเองต่อสู้เพื่อบริษัทอย่างโดดเดี่ยว เมื่อรู้ว่าตนเองจะถูกพิจารณาให้ไม่ได้รับโบนัส


งานวิจัยของ Adam Henderson แสดงให้เห็นว่า ไม่มีพนักงานคนใดต้องการทำงานจากที่บ้านเพียงอย่างเดียว ดังนั้นในขณะที่ร้านกาแฟกลายเป็นสถานที่ทำงานของคนส่วนใหญ่ แต่องค์กรจำเป็นที่จะต้องให้พนักงานมาเจอกันอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง


4. ความพยายามระหว่างการทำงานในร้านกาแฟสามารถติดต่อกันได้


งานศึกษาจากนักวิจัยชาวเบลเยียมแสดงให้เห็นว่า ผู้คนจะมีความพยายามในการทำงานมากขึ้น เมื่อเห็นคนอื่นกำลังทำงานอย่างหนัก คล้ายกับข้อสรุปของบทความชิ้นแรก


ทีมนักวิจัยได้ข้อสรุปว่า ความพยายามสามารถส่งต่อถึงกันได้ เวลาอยู่ในร้านกาแฟคนมักชื่นชมคนที่กำลังมีสมาธิในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ การได้อยู่ใกล้กับคนแบบนั้นจะช่วยให้ตัวคุณเอง ทำงานหนัก และมีประสิทธิภาพมากขึ้น


5. พนักงานในองค์กรจะเชื่อใจกันมากขึ้น ถ้ายกเลิกการกั้นพื้นที่ทำงาน


ในปี ค.ศ.2015 บทความใน LinkedIn Henderson ตั้งคำถามสำคัญว่า “หากคุณไม่สามารถเชื่อใจพนักงานของคุณให้ทำงานอย่างยืดหยุ่นได้ ทำไมต้องจ้างพวกเขาตั้งแต่แรก ?”


การยอมให้พนักงานทำงานข้างนอกบริษัทได้ เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดของนายจ้างในการแสดงความเชื่อใจให้พนักงานเห็น เมื่อพนักงานได้รับความไว้วางใจจากนายจ้าง พนักงานจะรู้สึกว่าได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม และตั้งใจทำงานมากขึ้นเป็นการแลกเปลี่ยน


6. ระบบเศรษฐกิจแบบเสรี (Gig Economy) กำลังเติบโต


มีรายงานออกมาว่าประมาณ 43% ของแรงงานชาวอเมริกันจะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีมากขึ้นภายในปี ค.ศ.2020 ซึ่งหมายความว่า ในขณะที่ผู้คนจำนวนมากต้องการสถานที่ในการทำงาน แต่คนบางกลุ่มอย่าง คนขับอูเบอร์ หรือครูสอนพิเศษออนไลน์ ไม่จำเป็นต้องค้นหาร้านกาแฟเพื่อนั่งทำงานเหมือนอย่างคนที่ทำอาชีพนักเขียน Graphic Design หรือนักออกแบบเว็บไซต์ ที่ไม่ต้องการรับความรู้สึกที่จะถูกตัดขาดจากผู้อื่นอย่างสมบูรณ์


สรุป


บทความชิ้นแรกของ Simon Oxenham พยายามชี้ให้เห็นว่าเหตุผลที่คนทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่ออยู่ในร้านกาแฟ ไม่ได้เป็นผลมาจากเสียงรอบข้างเพียงอย่างเดียว แต่เพราะความตั้งใจในการทำงานสามารถส่งต่อถึงกันได้ เมื่อเราอยู่ใกล้คนที่กำลังทำงานอย่างหนัก จะทำให้เรามีความพยายามในการทำงานสูงขึ้นตาม


บทความชิ้นที่สองของ Wanda Thibodeaux พูดถึงปัจจัยที่ทำให้ร้านกาแฟกลายเป็นสถานที่ทำงานสำหรับคนยุคใหม่ ซึ่งประเด็นที่ Wanda กับ Simon พูดเหมือนกันคือ เรื่องเสียงรบกวนในร้านกาแฟช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ และความพยายามสามารถส่งต่อถึงกันได้ นอกจากนั้นยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น ร้านกาแฟช่วยให้เราหลบหนีความขี้เกียจและพฤติกรรมที่น่ารังเกียจของเพื่อนร่วมงาน เป็นต้น


อ้างอิง


Illustration by Setthaphong Matangka

 

2,809 views0 comments

Comments


bottom of page