top of page
  • Writer's pictureTSIS

R.I.P. Chadwick Boseman: นัยทางประวัติศาสตร์และการเมืองในภาพยนตร์ Black Panther

By Setthaphong Matangka

เช้านี้ตื่นขึ้นมาแล้วตกใจอย่างมากกับข่าวการเสียชีวิตของ แซดวิก โบสแมน (Chadzick Boseman) วัย 43 ปี ที่จากไปเพราะโรคมะเร็งลำไส้ หลังจากต่อสู้มาเป็นระยะเวลากว่า 4 ปี (ตั้งแต่ปี 2016)

ผลงานของ แซดวิก โบสแมน (Chadwick Boseman) ที่อยู่ในความทรงจำของแฟนหลาย ๆ คนคงหนีไม่พ้นบทบาท Black Panther ในจักรวาลมาร์เวล ซึ่งภาพยนตร์ Black Panther กวาดรายได้จาก Box Office ไปกว่า 1.344 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จนทำให้กลายเป็นภาพยนตร์ที่ได้รายได้สูงที่สุดในประวัติศาสตร์หนังของมาร์เวล เพื่อเป็นการอุทิศแก่แซดวิก โบสแมน กับบทบาท Black Panther เราจะชวนทุกคนย้อนมองว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้ Black Panther ประสบความสำเร็จมากมายขนาดนี้ ?


ความน่าสนใจของ Black Panther คือประเด็นทางสังคม-การเมือง ที่เข้มข้นมาก ๆ ในบรรดาภาพยนตร์จากค่ายมาร์เวล ภาพยนตร์ใน Hollywood ส่วนใหญ่ ผู้ชมมักเห็นทวีปแอฟริกาที่ถูกถ่ายถอดผ่านมุมมองของคนผิวขาวในมุมมองว่าเป็นทวีปยากจน ล้าหลัง มีแต่ความโหดร้าย


ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาทวีปแอฟริกากลายเป็นสถานที่ที่คนผิวขาวเข้าไปทำลาย และดึงดูดทรัพยากรออกไป แต่ในจักรวาล Marvel ประเทศ Wakanda เลือกที่จะเก็บรักษาวัฒนธรรมและทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุดอย่าง ‘Vibranium’ ไม่ให้คนภายนอกรับรู้ และนำมันมาพัฒนาประเทศ จนวิทยาการก้าวล้ำโลกภายนอกไปหลายขั้น ทั้งยังไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของคนผิวขาวจากตะวันตก ในส่วนนี้ แซดวิก โบสแมน (Chadwick Boseman) เลือกที่จะใช้สำเนียงแอฟริกันในการพูดทั้งเรื่อง เพื่อสะท้อนประเด็นเรื่องการไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของใคร


นอกจากนั้น Wakanda ยังเปรียบได้เป็น “Utopia” หรือประเทศในอุดมคติของคนผิวสีที่สามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง ปราศจากการกดขี่ การไล่ล่าอาณานิคมจากชาวตะวันตก เสมือนเป็นโลกในความฝันที่พวกเขาต้องการมาโดยตลอด


ภูมิหลังของ Black Panther คือ การแสดงให้เห็นภาพอีกด้านหนึ่งของคนผิวสีซึ่งประวัติศาสตร์ทำให้เรามีภาพจำว่าคนผิวสีถูกบังคับให้กลายเป็นทาสของเจ้านายผิวขาวที่หนีจากประเทศอังกฤษมาตั้งรกรากที่อเมริกา ก่อนประกาศอิสรภาพในวันที่ 4 ก.ค. 1776 พร้อมกับสถาปนาระบอบการปกครองแบบประธานาธิบดี จนกลายเป็นเรื่องราวการก่อตั้งประเทศอเมริกาที่แลกมาด้วยเลือดเนื้อของบรรพบุรุษชาวอาณานิคม


ทว่าท่ามกลางประวัติศาสตร์ที่สวยหรู กลับเต็มไปด้วยเรื่องราวแห่งการกดขี่คนผิวสีเพื่อเป็นแรงงานทาสสำหรับระบบการผลิตเพื่อส่งออกสินค้า จนนำมาสู่มหากาพย์แห่งการต่อสู้เพื่อให้ได้ซึ่งเสรีภาพและความเสมอภาคของคนแอฟริกันในดินแดนที่เรียกตัวเองว่า “ดินแดนแห่งเสรีภาพ”

ในภาพยนตร์ Wakanda อุดมสมบูรณ์ไปด้วยธาตุ Vibranium ทำให้คนแอฟริกันไม่ต้องตกเป็นทาสของชาติตะวันตกอีกต่อไป ขจัดภาพของคนแอฟริกันที่ยากจนและถูกกดขี่เยี่ยงสัตว์ออกไป

หากเราหากเราย้อนไปดูฉบับการ์ตูนของ Black Panther ที่ถูกแต่งขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1996 โดย Stan Lee และ Jack Kirby จะเห็นได้ว่า ผู้แต่งต้องการสร้างการ์ตูนขึ้นมาเพื่อให้ผู้อ่านรู้สึกว่าคนผิวสีก็สามารถเป็นฮีโร่ หรือวีรบุรุษได้ไม่ต่างจากคนผิวขาว


รัฐประหาร กับ การต่อสู้เพื่อเสรีภาพ


ฉากการต่อสู้ระหว่าง T’Challa กับ Killmonger ที่ต้องการท้าชิงตำแหน่งกษัตริย์ Wakanda ถือเป็นธรรมเนียมเก่าแก่ของแอฟริกา ผลการต่อสู้ปรากฎว่า T’Challa เป็นฝ่ายแพ้ ทำให้ Killmonger ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ใหม่ หากมองตามกฎเกณฑ์ของ Wakanda การขึ้นเป็นกษัตริย์ของ Killmonger ถือว่าเป็นไปโดยชอบธรรม เพราะเขาเองก็ถือเป็นสายเลือดหนึ่งของกษัตริย์

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น คือ ความไม่พอใจที่เกิดขึ้นในหมู่กองทัพที่นำโดย Okoye ถึงตอนแรกเธอจะไม่กล้าขัดขืน เพราะยึดมั่นในหน้าที่ของทหารที่ต้องปกป้องกษัตริย์ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม แต่ในตอนท้าย เมื่อ T’Challa กลับมาทวงตำแหน่งกษัตริย์อีกครั้ง สิ่งนี่จึงเปรียบได้กับการรัฐประหาร โดยได้รับความร่วมมือจาก Okoye แม่ทัพแห่งกองทัพวาคานด้า หากครั้งนี้ไม่สามารถก่อการรัฐประหารสำเร็จ ทั้ง T’Challa กับผู้ร่วมก่อการรัฐประหารก็คงดำรงอยู่ในสถานะ “กบฏ”

ในรัชสมัยของ Killmonger มีการดำเนินนโยบายการล่าเมืองขึ้น โดยการใช้กำลังและอำนาจจาก Vibranium ที่ Wakanda ไปช่วยประเทศอื่น ๆ ที่ถูกกดขี่ ซึ่งเป็นนโยบายที่ใช้กำลัง ปราศจากวิธีการแบบสันติ วิธีการแบบนี้ในแง่หนึ่งเป็นการเปรียบเปรยวิธีการล่าอาณานิคมในแบบที่ชาติตะวันตกใช้ในอดีต


ในฉากการต่อสู้บนรางรถไฟระหว่าง T’Challa กับ Killmonger มีนัยยะของการต่อสู้เพื่อเสรีภาพจากความเป็นทาสของคนผิวสีซ้อนอยู่ ตามประวัติศาสตร์ประมาณช่วงปี ค.ศ.1842 ‘ทางรถไฟสายใต้ดิน’ (Underground Railroad) ถือเป็นเส้นทางที่ทาสผิวสีจำนวนหนึ่งใช้หลบจากเจ้านาย ทำให้ต้องมีการหาเส้นทางลับต่างๆ เพื่อซ่อนตัวไม่ให้ถูกจับและส่งตัวกลับไปเป็นแรงงานทาส


นโยบายระหว่างประเทศกับโครงสร้างการปกครอง


โครงสร้างการปกครองของ Wakanda เป็นลำดับขั้นจากบนลงล่างอย่างชัดเจน โดยกษัตริย์เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด ส่วนสภาก็มีลักษณะคล้ายกับ ‘สภาที่ปรึกษา’ หรือสภาฐานันดรแบบที่เคยมีในประเทศฝรั่งเศสยุคก่อนที่จะมีการปฏิวัติ ด้วยเหตุนี้ทำให้นโยบายระหว่างประเทศของ Wakanda ผูกติดอยู่ในระดับบุคคล มีโอกาสผันแปรได้ง่าย และสามารถพลิกจากด้านหนึ่งไปสู่อีกด้านหนึ่งได้ทันที เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัชสมัย ดังที่สะท้อนให้เห็นในภาพยนตร์หลายช่วงหลายตอน ทั้งตอนที่ T’Challa เลือกสืบทอดนโยบายโดดเดี่ยวจากกษัตริย์องค์ก่อน (ทีชาก้า) ที่ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก เหมือนอย่างที่ประเทศมหาอำนาจในปัจจุบันจำกัดการเข้ามาของต่างชาติ ในช่วงเปลี่ยนรัชสมัยไปสู่ยุคของ Killmonger นโยบายก็สลับขั้วอย่างรุนแรง กลายเป็นการใช้นโยบายเชิงรุกที่ต้องการให้ Wakanda กลายเป็นประเทศมหาอำนาจของโลกเพื่อปลดปล่อยพี่น้องแอฟริกันที่ถูกกดขี่ภายใต้โครงสร้างทางสังคมและการเมืองแบบดั้งเดิม

โครงสร้างความไม่เท่าเทียมทางการปกครองและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลานานจึงเกิดจากระบบการเมืองของ Wakanda ที่เน้นเครือข่ายความสัมพันธ์แบบวงศ์ตระกูล โดยตำแหน่งและอำนาจมีความสัมพันธ์กับความใกล้ชิดกับราชวงศ์ ซึ่งรูปแบบการปกครองลักษณะนี้มักประสบปัญหาในระยะยาว และมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดจากการต่อต้านจากภายใน


ในระหว่างที่ชมภาพยนตร์จนจบ เรานึกถึงคำกล่าวของเซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ ที่ว่า "ประชาธิปไตยไม่ใช่รูปแบบการปกครองที่ดีที่สุด แต่เป็นรูปแบบการปกครองที่เลวน้อยที่สุดต่างหาก" ถึงแม้ Wakanda จะมีเทคโนโลยีที่มีวิทยาการล้ำหน้าที่สุด ในขณะเดียวกันระบบการปกครองกลับล้าหลัง และตั้งอยู่บนหลักจารีตและประเพณีแบบดั้งเดิมเป็นหลัก เสี่ยงที่จะเกิดการท้าชิงอำนาจ จนนำไปสู่สงครามกลางเมืองอย่างที่ปรากฏในภาพยนตร์ ดังนั้น นอกจากการที่ Wakanda จะมีการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องรีบเปลี่ยนแปลงก็คือ “ระบบการปกครอง” เพื่อเป็นการเพิ่มเสถียรภาพในการปกครอง

แด่ Chadwick Aaron Boseman (November 29. 1976 – August 28. 2020)

รายการอ้างอิง เอกสารออนไลน์ภาษาไทย ฉัตรรวี เสนธนิสศักดิ์. 2561. รู้จัก Afrofuturism สุนทรียะสุดเฟียร์ซที่อบอวลอยู่ใน Black Panther. themomentum. https://themomentum.co/afrofuturism-black-panther/ (สืบค้นเมื่อ 15 ธันวาคม 2561). อาทิตย์ ทองอินทร์. 2561. ถอดรหัสการเมืองในรัฐวากานด้าใน Black Panther รัฐล้ำสมัยหรือประเทศ โลกที่ 3?. GMlive. https://gmlive.com/black-panther-wakanda-political (สืบค้นเมื่อ 15 ธันวาคม 2561). เอกสารออนไลน์ภาษาอังกฤษ Anika Reed. 2561. 5 ways that 'Black Panther' celebrates and elevates black women. USA TODAY. https://www.usatoday.com/story/life/2018/02/16/5-ways-black-panther-celebrates/ (สืบค้นเมื่อ 13 ธันวาคม 2561). John Blake. 2561. Malcolm and Martin, closer than we ever thought. Cnn. http://edition.cnn.com/2010/LIVING/05/19/Malcolmx.king/index.html (สืบค้นเมื่อ 13 ธันวาคม 2561). Marykate Jasper. 2561. Why Chadwick Boseman Insisted That T’Challa Have an African Accent. themarysue. https://www.themarysue.com/chadwick-boseman-african-accent-black-panther/ (สืบค้นเมื่อ 15 ธันวาคม 2561). TRE'VELL ANDERSON. 2561. Why 'Black Panther' is Ryan Coogler’s most personal film to date. Los angeles times. https://www.latimes.com/entertainment/movies/la-et-mn-black-panther-ryan-coogler-20180215-story.html (สืบค้นเมื่อ 13 ธันวาคม 2561).

 

396 views
bottom of page