TSIS
Talk with ภัทรพงษ์ แสงไกร - อาจารย์ด้านกฎหมายระหว่างประเทศ
by TSIS Team

The TSIS ชวนคุณมาสนทนากับ ภัทรพงษ์ แสงไกร นักศึกษาปริญญาเอกที่มีประสบการณ์การทำงานด้านกฏหมายระหว่างประเทศ เรามาฟังเรื่องราวการทำงานวิจัยในด้านกฎหมายระหว่างประเทศและการให้คำแนะนำในประเด็นต่าง ๆ ที่ได้จากประสบการณ์การเรียน การทำวิทยานิพนธ์ รวมทั้งแนะนำหัวข้อวิจัยที่น่าสนใจในปัจจุบันและพัฒนาการของกฎหมายที่น่าสนใจ
TSIS: แนะนำตัวหน่อยว่า ชื่ออะไร เป็นใครมาจากไหน ประสบการณ์เรียนที่ผ่านมา
ชื่อภัทรพงษ์ แสงไกร สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีนิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยโตเกียว และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโทด้านสิทธิมนุษยชนจาก LSE สหราชอาณาจักร และสาขากฎหมายระหว่างประเทศจาก Graduate Institute Geneva ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนนี้ ลาศึกษาต่อเพื่อศึกษาปริญญาเอกอยู่ที่ Graduate Institute Geneva
TSIS: ช่วยเล่าประสบการณ์การทำงานทั้งงานวิจัยและงานที่ผ่านมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ย้อนไปตั้งแต่ที่อยู่คณะนิติศาสตร์ก่อนลามาศึกษาต่อ มีประสบการณ์การทำวิจัยอยู่ 4 โครงการ โครงการแรกเป็นการทำวิจัยเพื่อเสริมหลักสูตรและเสริมเนื้อหาที่ใช้สอนอยู่คือ เรื่องการฟ้องคดีในศาลโลก โดยรัฐที่ไม่ได้รับความเสียหายเป็นโจทก์ฟ้องคดี อาจเรียกว่าเป็นคดีประเภทใหม่ที่กำลังเริ่มมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ
โครงการถัดมาเป็นงานวิจัยที่ทำให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าเป็นภาคีในสนธิสัญญาฉบับหนึ่งเกี่ยวกับสิทธิคนพิการ ที่เปิดช่องให้คนพิการในประเทศไทยที่คิดว่าตนเองถูกละเมิดสิทธิ์ สามารถร้องเรียนไปสู่คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในระดับสากลที่จัดตั้งขึ้นตามสนธิสัญญาได้
ส่วนอีก 2 โครงการ เป็นความร่วมมือระหว่างอาจารย์ในคณะและนอกคณะ ทำเรื่องการแก้ไขกฎหมายทั้งสองโครงการ โครงการแรกเป็นเรื่องการรับรองเพศของคนที่ผ่าตัดแปลงเพศ ส่วนอีกโครงการเป็นเรื่องการทบทวนกฎหมายเกี่ยวกับการค้าประเวณีในประเทศไทย
TSIS: ช่วยขยายความเนื้อหาวิจัยในแต่ละเรื่องได้ไหม เพราะอะไรถึงเป็นงานวิจัยที่น่าสนใจ
โครงการแรกสุดที่เกี่ยวกับการฟ้องคดีในศาลโลกโดยรัฐไม่ได้รับความเสียหาย สาเหตุที่เริ่มต้นต้องย้อนไปประมาณ 10-20 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีรัฐที่นำคดีมาสู่ศาลโลกโดยที่รัฐนั้น ๆ อาจไม่ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศโดยรัฐอื่น
ตัวผมเองเข้าไปศึกษาเรื่องอำนาจฟ้อง ซึ่งเป็นเรื่องทางเทคนิคกฎหมายพอสมควร โดยปกติแล้วบุคคลจะฟ้องบุคคลอื่นได้ จะต้องถูกละเมิดสิทธิหรือได้รับความเสียหายไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ดังนั้นประเด็นที่น่าสนใจคือ หากเราเข้าไปดูพัฒนาการกฎหมายระหว่างประเทศในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีการฟ้องคดีที่รัฐที่ไม่ได้รับความเสียหายโดยตรงสามารถมาฟ้องคดีได้ในศาลโลก ซึ่งนับว่าเป็นการขยายหลักกฎหมายที่มีอยู่เดิมพอสมควร
ยกตัวอย่างคดีที่หลายคนน่าจะรู้จักคือ คดีที่ประเทศแกมเบีย ฟ้องคดีในศาลโลกว่าพม่ากระทำการทำลายเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา ซึ่งขัดต่ออนุสัญญาต่อต้านการทำลายเผ่าพันธุ์ เราจะเห็นได้ชัดว่าตามรูปคดี แกมเบียเองไม่ได้รับความเสียหายอะไร เรื่องที่เกิดขึ้นแทบจะเป็นเรื่องภายในของประเทศพม่าระหว่างชาวโรฮิงญากับรัฐบาลพม่า ในกรณีนี้ทำไมประเทศเล็ก ๆ อย่างแกมเบีย จึงสามารถมาฟ้องคดีได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากในแง่ของข้อกฎหมาย และในเรื่องระดับนโยบายเองก็เป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะหากกฎหมายยอมให้รัฐนี้สามารถมาฟ้องคดีโดยที่ไม่ได้รับความเสียหายโดยตรง ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า จะเกิดปัญหาในระดับนโยบายเพราะอาจจะมีการนำคดีมาสู่ศาลมากจนเกินไป
TSIS: อีก 3 โครงการที่เหลือ มีประเด็นอะไรบ้างที่ผู้ฟังสามารถนำไปพัฒนาต่อหรือน่าสนใจมาเล่าสู่กันฟัง
โครงการวิจัยเรื่องกลไกตามสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนที่เปิดช่องให้คนที่คิดว่าตัวเองถูกละเมิดสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองตามสนธิสัญญา สามารถร้องเรียนไปยังคณะกรรมการในระดับสากล ในระดับระหว่างประเทศได้ จริงๆ แล้ว ปัจจุบัน ประเทศไทยเราเป็นภาคีอยู่ทั้งหมด 3 ฉบับ ได้แก่ สนธิสัญญาเกี่ยวกับสิทธิคนพิการ สิทธิเด็ก และสิทธิสตรี ในช่วงที่กำลังวิจัยได้ลองเข้าไปค้นดูว่ามีการร้องเรียนจากคนไทยหรือคนที่อยู่ในประเทศไทยไปหรือยัง ผลปรากฏว่าไม่มีเลย จึงลองวิเคราะห์ต่อไปในเบื้องต้นว่าทำไมถึงไม่มี และตั้งเป็นประเด็นปลายเปิดไว้ในตัวงานวิจัยด้วย
ในส่วนนี้ คิดว่าเป็นประเด็นหนึ่งที่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้ว่า ทำไมถึงยังไม่มีการใช้กลไกนี้ มีปัญหาในแง่เทคนิคอะไรไหม เช่น เรื่องภาษา เรื่องการรับรู้ว่ามีกลไกนี้อยู่ น่าจะนำไปศึกษาในเชิงลึก ซึ่งข้อค้นพบที่ได้อาจนำมาสู่ข้อค้นพบอีกชุดหนึ่งว่า นโยบายหรือว่ากลไกพวกนี้ที่มีอยู่ในปัจจุบันมีปัญหาอะไรหรือไม่ สามารถปรับปรุงได้อย่างไรบ้างให้คนสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
ส่วนเรื่องการรับรองสถานะทางเพศ โครงการวิจัยจะเน้นเรื่องการแก้ไขกฎหมาย ตัวโครงการวิจัยทำไปถึงขั้นการยกร่างตัวกฎหมายด้วยข้อเสนอ หลักคิดของทีมวิจัย ณ ตอนนั้น ทีมวิจัยเห็นด้วยว่าผู้ที่ผ่าตัดแปลงเพศแล้ว ควรที่จะได้รับการรับรองเพศตามที่บุคคลนั้น ๆ เลือก ไม่ว่าจะเป็นเพศชายหรือเพศหญิง สามารถกำหนดเพศได้ตามที่แปลงเพศไป แต่ก็มีข้อยกเว้นอื่นๆ จำนวนหนึ่งให้ด้วย เช่น เหตุผลด้านเศรษฐกิจ เหตุผลด้านศาสนา เป็นต้น เหล่านี้ แม้ไม่ได้มีการแปลงเพศ ก็อาจจะขอให้ได้รับการรับรองเพศได้
งานวิจัยเรื่องนี้ เรามีอาจารย์จากคณะสังคมวิทยามาช่วยเก็บข้อมูลเชิงประจักษ์ เพื่อหาความเห็นของประชาชนทั่วไป ส่วนอาจารย์จากนิติศาสตร์ ก็ดูกฎหมายเปรียบเทียบจากหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ตัวผมเองรับผิดชอบกฎหมายลักษณะนี้ในทวีปเอเชีย โดยเริ่มจากการสำรวจให้มากที่สุดว่าแต่ละประเทศมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอะไรบ้าง หลังจากนั้นจะเลือกเจาะเฉพาะประเทศที่ค่อนข้างมีรายละเอียดให้ศึกษาอย่างประเทศญี่ปุ่น ในแง่การออกแบบนโยบายเรื่องการรับรองเพศของคนผ่าตัดแปลงเพศ และในแง่การยกร่าง
หากอยากจะต่อยอดโครงการนี้ ยกตัวอย่างประเด็นหนึ่งให้เห็นจากตอนไปนำเสนองานเพื่อรับฟังความเห็นของบุคคลทั่วไป มีผู้แสดงความคิดเห็นว่า “จริง ๆ แล้วไม่ควรที่จะกำหนดให้มีเงื่อนไขว่าต้องผ่าตัดแปลงเพศก่อนด้วยซ้ำ ควรจะให้สิทธิกำหนดเพศได้เองเหมือนหลาย ๆ ประเทศในลาตินอเมริกา” อันนี้เป็นประเด็นระดับหลักคิด ระดับทฤษฎี บางครั้งเรียกว่าแนวคิดแบบ self-determination ก็อาจจะนำมาศึกษาเชิงลึกต่อไปได้ในมิติกฎหมาย อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือคำว่า “แปลงเพศ” ทำแค่ไหนถึงจะเรียกว่าแปลงเพศ หรือแค่ไหนถึงจะเรียกว่าแปลงเพศแล้วตามความหมายของร่าง พ.ร.บ. นี้ ต้องผ่าตัดเท่านั้นหรือไม่ ดังนั้น ในส่วนนี้จะมีรายละเอียดในระดับเทคนิคให้ไปดูต่อได้ด้วยไม่ใช่แค่ระดับทฤษฎีหลักคิดอย่างเดียว มีประเด็นให้คิดต่อทั้ง 2 ระดับ
เรื่องสุดท้ายคือ การค้าประเวณี อันนี้เป็นงานวิจัยเพื่อทบทวน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ทีมคณะวิจัยก็เสนอออกไปว่าการค้าประเวณีควรถูกกฎหมายในประเทศไทย และควรถือเป็นสิทธิในการประกอบอาชีพ ซึ่งก็แน่นอนว่าหลายๆ คนอาจจะมองว่าเป็นข้อเสนอที่มีความก้าวหน้ามากเกินไป ซึ่งต้องบอกว่าทีมวิจัยมีการเก็บข้อมูลเชิงประจักษ์ เพื่อรวบรวมความเห็นของประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับประเด็นนี้ด้วย เหมือนโครงการวิจัยการรับรองเพศ
TSIS : คำถามถัดมา ตอนนี้ทำงานวิจัยเรื่องอะไร แล้วทำไมถึงสนใจเรื่องนี้ คิดว่ามีแง่มุมอะไรที่สำคัญกับการใช้กฎหมายระหว่างประเทศ
ตอนนี้ทำวิจัย เรื่องการตีความสนธิสัญญาโดยภาคีแห่งสนธิสัญญา เหตุผลที่สนใจเพราะเป็นประเด็นที่มีปัญหาในทางปฏิบัติที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันและมีประเด็นที่ให้คิดในระดับทฤษฎีด้วย
ประเด็นปัญหาของหัวข้อนี้เริ่มจากเวลาเราพูดถึงสนธิสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างประเทศ แน่นอนว่า รัฐที่ทำสนธิสัญญาจะต้องตีความว่าหน้าที่ที่ตัวเองต้องทำตามสนธิสัญญามีอะไรบ้าง สิทธิที่เกิดขึ้นตามสนธิสัญญามีอะไรบ้าง เพราะรัฐที่เข้าเป็นภาคีต้องนำไปดำเนินการหรือต้องปฏิบัติตาม ดังนั้น บทบาทแรกของรัฐที่เข้าไปเป็นภาคีคือการตีความสนธิสัญญา แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นประมาณ 30 ปีที่ผ่านมาในระดับระหว่างประเทศก็คือ นอกจากตัวรัฐที่เข้าเป็นภาคีในสนธิสัญญาแล้ว มีองค์กรอื่น ๆ ที่เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการตีความสนธิสัญญา เช่น ศาล อนุญาโตตุลาการ หรือผู้ทรงคุณวุฒิที่ตั้งขึ้นตามสนธิสัญญา ปัญหาที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติก็คือ กรณีที่องค์กรอื่น ๆ ที่ไม่ใช่รัฐภาคี ตีความแตกต่างไปจากที่รัฐภาคีเข้าใจหรือว่าตีความ ตัวรัฐภาคีเองจะทำอะไรได้บ้าง
เราจะเห็นปัญหานี้เกิดขึ้นในหลาย ๆ ระบอบในกฎหมายระหว่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายการลงทุนระหว่างประเทศ ที่ตอนนี้อาจจะได้ยินกันมากขึ้น เพราะรัฐบาลไทยถูกบริษัทออสเตรเลียเรียกร้องค่าเสียหายโดยใช้กลไกอนุญาโตตุลาการ
(กลไกอนุญาโตตุลาการ หมายถึง การระงับข้อพิพาททางเลือกนอกศาล เป็นกระบวนการที่คู่พิพาทตกลงกันให้บุคคลที่สามที่มีความเป็นกลางและเป็นอิสระ และมีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องที่พิพาทนั้นเป็นผู้ทำการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทดังกล่าว โดยคู่พิพาทจะต้องยอมรับคำวินิจฉัยชี้ขาดและผูกพันที่จะปฏิบัติตามคำชี้ขาดนั้นด้วย)
ถ้าเราตามไปดูฐานทางกฎหมายจะเห็นว่า มันมาจากความตกลงระหว่างประเทศด้านการค้าระหว่างไทยกับออสเตรเลีย ที่มีเนื้อหาครอบคลุมไปถึงการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งกลไกลักษณะนี้เปิดช่องให้นักลงทุนระหว่างประเทศสามารถใช้กลไกการอนุญาโตตุลาการได้ และในปัจจุบันมีประมาณ 3,000 กว่าฉบับ และมีคดีปรากฏมากมาย ในปัจจุบันน่าจะประมาณ 1,000 คดีแล้ว ดังนั้น จะเห็นว่า ไม่ใช่แค่รัฐที่จะมีบทบาทในการตีความสนธิสัญญา นักลงทุนที่ได้รับประโยชน์กับตัวสนธิสัญญาเองก็มีบทบาทในการตีความ โดยเฉพาะในชั้นอนุญาโตตุลาการ ตัวองค์คณะอนุญาโตตุลาการเองก็ยิ่งมีบทบาทสำคัญในการชี้ขาดว่าสิทธิหน้าที่ตามสนธิสัญญามีอะไรบ้าง ในสถานการณ์ ถ้ารัฐไม่พอใจกับการตีความของตัวแสดงอื่นๆ จะทำอะไรบ้างได้
หรือเรื่องสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนที่เราได้ยินอยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะในกรอบ UN โดยทั่วไปแล้วสนธิสัญญากลุ่มนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ในการติดตามการปฏิบัติตามพันธกรณีของรัฐภาคี อย่างที่พูดถึงเมื่อสักครู่ในกรณีของสนธิสัญญาสิทธิคนพิการ คณะกรรมการเหล่านี้ก็ได้ตีความสนธิสัญญามาโดยตลอด
หรือจากตอนนี้เราอยู่เจนีวา ก็คงต้องพูดถึงการค้าระหว่างประเทศในกรอบ WTO ก็จะมีองค์กรระงับข้อพิพาทที่มีอำนาจในการตีความ หรือ กฎหมายทะเลในกรอบของอนุสัญญาองค์การสหประชาชาติ ว่าด้วยกฎหมายทะเล ก็จะมีศาลทะเลที่มีอำนาจในการตีความอนุสัญญาฯ โดยเฉพาะ
จะเห็นได้ว่าในหลาย ๆ สาขาของกฎหมายระหว่างประเทศ นอกเหนือจากรัฐภาคีแล้ว ก็จะมีองค์กรอื่น ๆ ที่เข้ามามีบทบาทอย่างยิ่งในการตีความ และเกิดปัญหาในทางปฏิบัติที่มีลักษณะคล้ายกันก็คือ องค์กรอื่น ๆ ที่ไม่ใช่รัฐภาคี ตีความแตกต่างไปจากที่รัฐภาคีเข้าใจหรือว่าตีความ ไม่ว่าจะเป็นตอนที่ยกร่างสนธิสัญญา ภาคีหรือรัฐที่อยากเข้าเป็นภาคี ยกร่างสนธิสัญญาด้วยความเข้าใจแบบหนึ่ง หรือพอสนธิสัญญามีผลบังคับใช้ แล้วองค์กรอื่น ๆ ไปตีความในลักษณะที่เกินไปจากความคาดหมายของรัฐภาคี แล้วรัฐภาคีสามารถจะทำอะไรได้บ้าง หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ รัฐภาคีสามารถจะควบคุมสิทธิ หน้าที่ และเนื้อหาของสนธิสัญญาได้อย่างไรบ้าง อันนี้ก็เป็นประเด็นที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติ
ส่วนปัญหาในทางทฤษฎีที่กำลังพยายามหาคำตอบอยู่ก็คือ เวลาที่เราพูดถึงเรื่องการตีความกฎหมาย ไม่ใช่แค่การตีความสนธิสัญญา เรามักจะพูดถึงหลักการตีความ หรือกฎเกณฑ์ในการตีความว่า การตีความต้องมีหลักอย่างไรบ้าง ต้องดูตัวบท ดูเจตนารมณ์ ดูปัจจัยอื่นๆ แต่ถ้าดูจากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจากหัวข้อที่ได้อธิบายไปเมื่อสักครู่ จะเห็นได้ว่าผู้ที่ตีความกฎหมายน่าจะเป็นสิ่งที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดความหมายของกฎหมายมากกว่าหลักการตีความเสียอีก เพราะไม่ว่าตัวรัฐภาคีเอง หรือศาล หรือองค์กรอื่นๆ ก็มักจะอ้างว่าใช้หลักการตีความเหมือนกัน แต่กลับได้ผลลัพธ์ที่ต่างกัน ตรงนี้ เป็นประเด็นที่กำลังขบคิดอยู่ว่าจะสามารถพัฒนาไปในเชิงทฤษฎีได้มากน้อยแค่ไหน และพยายามเอาคอนเซปท์ เอาเครื่องมือจากนิติปรัชญา จากรัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากสังคมวิทยาเข้ามาช่วยคิด ช่วย frame ความคิด
TSIS : จากประสบการณ์ทั้งหมดที่เรียนและทำงานมา ดูเหมือนว่าจะทำงานในสายกฎหมายระหว่างประเทศมาโดยตลอด พี่คิดว่าพัฒนาการของการศึกษากฎหมายระหว่างประเทศ มีความเคลื่อนไหวหรือการเปลี่ยนแปลงใดที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่สนใจกฎหมายระหว่างประเทศ ?
ถ้าเป็นเรื่องความเคลื่อนไหว วิวัฒนาการที่น่าสนใจในงานวิจัยของกฎหมายระหว่างประเทศในระยะ เวลา 20 ปีที่ผ่านมา มี 2 เรื่องที่น่าสนใจอย่างมาก
เรื่องแรกคือ การเติบโตของการศึกษาวิจัยประวัติศาสตร์กฎหมายระหว่างประเทศ เรื่องนี้ค่อนข้างชัดเจนอย่างมาก โดยเฉพาะในระดับคนทำงานวิจัย เดี๋ยวนี้ ไม่ใช่แค่นักกฎหมายระหว่างประเทศที่สนใจประวัติศาสตร์ มีนักประวัติศาสตร์และนักรัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเข้ามาทำงานในด้านนี้ด้วย มีการทำงานข้ามสาขาวิชา ซึ่งทำให้มีการหยิบยืมแนวความคิด เครื่องมือ จากสาขาอื่น ๆ เข้ามาช่วยศึกษาวิจัย มีการลงไปค้นเอกสารชั้นต้นอย่างลึกซึ้งจากหลาย ๆ ประเทศ และมีการก่อตั้งวารสารเฉพาะทางขึ้นมาด้วย
ความน่าสนใจในพัฒนาการนี้ คิดว่ามีอยุ่ 2 มิติ มิติแรกคือในแง่เนื้อหา ก็จะมีงานวิจัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของกฎหมายในแต่ละสาขาทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น กฎหมายการลงทุน กฎหมายสิทธิมนุษยชน กฎหมายอาญาระหว่างประเทศ ฯลฯ ซึ่งความน่าสนใจอยู่ที่ จะมีการเขียนประวัติศาสตร์ฉบับใหม่ สร้างประวัติศาสตร์กระแสใหม่ มีการสร้างเรื่องเล่าฉบับใหม่ขึ้นมาท้าทายประวัติศาสตร์ฉบับเดิม ขอยกตัวอย่างงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่มีอิทธิพลอย่างมากเกี่ยวกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เราอาจเคยได้ยินกันว่า ถ้าดูในแง่ข้อความคิดแล้ว เรื่องสิทธิมนุษยชนสามารถโยงไปได้ถึงหลายร้อยปี ไปถึงยุค Enlightenment (ยุคเรืองปัญญา) หรือไปจนถึงความคิดเกี่ยวกับสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ หรืออาจจะสืบสาวไปถึงความคิดของยุคกรีกโบราณเลยก็มี แต่ในปัจจุบัน มีนักประวัติศาสตร์ที่เสนอว่า ถ้าดูในระดับการเคลื่อนไหวทางสังคม หรือระดับ Impact ของความคิดที่เกิดขึ้นต่อสังคมจริง ๆ “สิทธิมนุษยชน” น่าจะย้อนไปได้ไม่เกิน 50 ปีที่ผ่านมาพูดง่าย ๆ ก็คือ Concept เรื่องสิทธิมนุษยชนได้พัฒนากลายมาเป็นภาษา เป็นเครื่องมือของที่คนใช้ทำงานกันจริง ๆ น่าจะราวๆ เป็นยุค 60 - 70 นี่เอง ถามว่า ยุคนี้เกิดอะไรขึ้น ยุค 60-70 นี้เป็นช่วงที่หลายประเทศที่เคยเป็นประเทศอาณานิคมเริ่มประกาศอิสรภาพ ก่อตั้งเป็นประเทศใหม่ มีการจัดทำสนธิสัญญาสำคัญ 2 ฉบับ ในกรอบ UN ก็คือ ICCPR และ ICSER จัดทำขึ้นในปี ค.ศ.1960 มี NGOs ด้านสิทธิมนุษยชน ที่ทำงานข้ามชาติ ทำงานระหว่างประเทศอย่าง Amnesty International เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในช่วงนี้จนได้รับรางวัลโนเบล ประเทศมหาอำนาจอย่างอเมริกา ก็เริ่มชูหลักสิทธิมนุษยชนมาเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายต่างประเทศ เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าการก่อตัว หรือว่าการเปลี่ยนแปลงจากความคิด ในระดับความคิดมาสู่ในระดับปฏิบัติมันเกิดขึ้นจริง ๆ แค่ไม่เกิน 50 ปีที่ผ่านมานี้เอง
TSIS : ถ้าสมมติว่าให้แนะนำอ่านงานเชิงนี้ ประวัติศาสตร์กฎหมาย มีใครที่น่าสนใจติดตามบ้าง
ถ้าสนใจด้านสิทธิมนุษยชน ก็แนะนำหนังสือชื่อ Last Utopia ของ Samuel Moyn ที่พูดถึงเมื่อสักครู่ ถ้าสนใจด้านกฎหมายระหว่างประเทศ แนะนำงานของอาจารย์ Martti Koskenniemi ปรมาจารย์กฎหมายระหว่างประเทศชื่อดัง และน่าจะเป็นคนหนึ่งที่ทำให้เรื่องการศึกษาประวัติศาสตร์กฎหมายระหว่างประเทศเป็นที่สนใจแพร่หลายมากขึ้น ผลงานที่ห้ามพลาดชื่อ “The Gentle Civilizer of Nations: The Rise and Fall of International Law” ซึ่งเล่าถึงการปรากฏตัวและการเสื่อมตัวลงของกฎหมายระหว่างประเทศ แน่นอนว่าเป็นงานที่พยายามสร้างเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ฉบับใหม่เวลาเราพูดถึงกฎหมายระหว่างประเทศเรามักจะย้อนไปถึงนักคิด นักเขียนในอดีตสักช่วงประมาณ 400 - 500 ปีก่อน


ผู้ที่เคยศึกษากฎหมายอาจเคยได้ยินชื่อของ Hugo Grotius ว่าเป็นบิดาของกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ในทัศนะของอาจารย์ Koskenniemi ท่านมองว่ากฎหมายระหว่างประเทศอย่างที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน “เกิดขึ้นมา” ในปลายศตวรรษที่ 19 เท่านั้น
ถามว่าท่านดูอย่างไร ท่านไม่ได้ดูแค่เนื้อหาของกฎหมายหรือความคิดของตัวกฎหมาย ซึ่งตรงนี้ คล้ายๆ กับประวัติศาสตร์กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่พูดถึงเมื่อสักครู่ ท่านเสนอว่า เวลาเราพูดถึงกฎหมายเราไม่พูดถึงแค่ตัวความคิดหรือเนื้อหาของกฎหมาย แต่เราควรพูดถึงวิชาชีพนักกฎหมายด้วยว่า วิชาชีพที่เรียกว่านักกฎหมายระหว่างประเทศเริ่มก่อตัวเมื่อไหร่ และผู้ที่ทำงานเป็นนักปฏิบัติจริง ๆ นั้น เริ่มมองว่าตัวเองเป็น “นักกฎหมายระหว่างประเทศ” ตั้งแต่เมื่อไหร่ ไม่ใช่แค่นักกฎหมายในสาขาอื่น หรือว่าเป็นนักการทูต ซึ่งตรงนี้ ถ้าดูหลักฐานทางประวัติศาสตร์ จะเห็นว่า อยู่ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เท่านั้น ส่วนนักคิด นักเขียน หรือนักกฎหมายที่เขียนงานเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศก่อนหน้านี้ แทบจะไม่มีการเรียกตัวเองว่าเป็น “นักกฎหมายระหว่างประเทศ” เลย หลักฐานสำคัญคือมีการก่อตั้งสมาคมหรือว่าสถาบันขึ้น 2 แห่ง ในปี ค.ศ.1873 ซึ่งยังมีอยู่ในปัจจุบัน คือ International Law Association กับ Institute of International Law เป็นการรวมตัวกันของนักกฎหมายที่สนใจกฎหมายเปรียบเทียบและกฎหมายระหว่างประเทศ และมีการก่อตั้งวารสารขึ้นมาโดยเฉพาะ นอกจากนี้ แล้วท่านเข้าไปศึกษา ย้อนดูว่าแต่ละคนที่เป็นสมาชิกนั้นมีบทบาท มีความคิดไร มองกฎหมายระหว่างประเทศว่าเป็นอย่างไร และคนเหล่านั้นวางพื้นฐานให้ระบบกฎหมายระหว่างประเทศอย่างที่เราใช้กันในปัจจุบันอย่างไรบ้าง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ เจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ หรือ Gustave Rolin-Jacquemyns ซึ่งเข้ามาช่วยปฏิรูปกฎหมายและในระบบศาลในสยามด้วย
TSIS : ย้อนกลับไปวิวัฒนาการที่น่าสนใจในงานวิจัยของกฎหมายระหว่างประเทศอีกระดับที่น่าสนใจ ?
เมื่อสักครู่เราพูดถึงความน่าสนใจของงานวิจัยประวัติศาสตร์ระหว่างประเทศว่ามี 2 มิติ ก่อนหน้าพูดถึงเนื้อหากฎหมาย อีกมิติหนึ่งคือในแง่ Methodology (วิธีวิทยา) ตอนนี้ มีข้อถกเถียงที่น่าสนใจมากในวงการประวิติศาสตร์กฎหมายระหว่างประเทศคือ เวลาเราพูดถึงประวัติศาสตร์ทางความคิด ผู้ที่ศึกษาน่าจะเคยได้ยินว่า เราจะต้องศึกษาข้อความคิดที่เกิดขึ้นในอดีตในบริบทนั้น ๆ ของตัวความคิดเอง เราไม่ควรมองด้วยแว่นของปัจจุบันหรือบริบทปัจจุบัน แต่เราควรทำความเข้าใจในบริบทนั้น ๆ เพื่อไม่ให้เป็นการหลงยุคหลงสมัย ซึ่งอาจจะทำให้เข้าใจผิดพลาดไปได้ เช่น คำว่า “สิทธิมนุษยชน” ในปัจจุบันอาจต่างจากสิทธิมนุษยชนเมื่อ 400 - 500 ปี เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าใจบริบททางสังคมทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้น อันนี้อาจจะเป็นกรอบทฤษฎีกระแสหลักของคนที่ศึกษาประวัติศาสตร์ หรือว่ากรอบความคิดหลักของคนที่ศึกษาประวัติศาสตร์ทางความคิด
แต่ในแวดวงของการศึกษาประวัติศาสตร์กฎหมายระหว่างประเทศในปัจจุบัน กำลังมีข้อถกเถียงกันว่าจริง ๆ แล้วกรอบทฤษฎีอันนี้เอามาใช้กับสาขานิติศาสตร์ได้หรือไม่ ข้อความคิดที่บอกว่าต้องดูบริบทที่ความคิดนั้นเกิดขึ้น เอามาใช้กับประวัติศาสตร์กฎหมายหรือประวัติศาสตร์ข้อความคิดทางกฎหมายได้หรือไม่
เพราะถ้าเราดูวิธีการทำงานของนักกฎหมาย จะเห็นได้ว่าสิ่งหนึ่งที่นักกฎหมายถูกฝึกมาตลอดก็คือการไปดูข้อความคิดเก่า ๆ ซึ่งบางทีอาจจะเก่าแก่หลายร้อยปี แล้วเอามาใช้กับข้อเท็จจริงหรือสถานการณ์ในปัจจุบัน เช่น เอกสารฉบับหนึ่งที่อาจจะเคยได้ยินชื่อ คือ Magna Carta ซึ่งเป็นเอกสารเมื่อ 800 ปีก่อน แต่นักกฎหมายมักจะนับเป็นต้นกำเนิดของแนวคิด Rule of Law และพยายามทำความเข้าใจ Concept ของ Rule of Law ที่ใช้ในปัจจุบัน ด้วยการโยงไปถึงเอกสารหรือความคิดในอดีตหลายร้อยปีที่ผ่านมา และยังเอาใช้ตีความกฎหมายที่ใช้บังคับในปัจจุบัน
ดังนั้น จะเห็นว่า ถ้าเราดูวิธีการคิด ดูนิติวิธี ดูวิธีการทำงานของนักกฎหมาย จะเห็นได้ว่า นักกฎหมายมักจะเอาความคิดในอดีตมาใช้ในบริบทปัจจุบันโดยไม่ได้มองว่ามันปัญหา ไม่ได้มองว่าเป็นการหลงยุค หลงสมัย ดังนั้นจึงมีคนเสนอว่าจริง ๆ แล้ว ประวัติศาสตร์กฎหมายอาจมีระเบียบวิธีที่แตกต่างไปจากประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาอื่น ๆ หรือไม่ เช่น ประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมือง ประวัติศาสตร์ความคิดทางกฎหมายอาจมีระเบียบวิธีที่ไม่เหมือนกับประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมือง คนที่เสนอความคิดนี้คือ ศาสตราจารย์ Anne Orford
TSIS : ต่อจากระดับที่สอง อันแรกคือการเติบโตของประวัติศาสตร์กฎหมาย เรากลับมาที่ประเด็นเรื่องความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในงานวิจัย
อธิบายไปไกลเลย (หัวเราะ) แต่จริง ๆ ความเคลื่อนไหวอีกอย่างนึงที่อยากพูดถึงจะเชื่อมโยงกับสิ่งที่พูดไปเมื่อสักครู่ ถ้าดูงานวิจัยในสาขากฎหมายระหว่างประเทศราวๆ 20 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าเมื่อเทียบกับในอดีต เราจะเห็นความหลากหลายของทฤษฎีกฎหมายและระเบียบวิธีวิจัยในวงการกฎหมายระหว่างประเทศ ข้อนี้ชัดเจนมากๆ
ถ้าจะอธิบายคร่าวๆ ให้พอให้เห็นภาพกว้างๆ โดยทั่วไปเวลาเราพูดถึงกฎหมาย โดยเฉพาะคำว่า “กฎหมาย” ในภาษาไทย เรามักจะนึกถึงภาพของกฎเกณฑ์ต่างๆ หรือกฎเกณฑ์ที่รวมกันขึ้นเป็นระบบ อันนี้ก็เป็นการมองกฎหมายในมิติหนึ่ง แต่นอกจากนี้เรายังสามารถมองกฎหมายในมิติอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น การมองกฎหมายในฐานะที่เป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบาย ซึ่งคนที่มอง