top of page
  • Writer's pictureTSIS

Talk with ดร. ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค - ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษาจากสถาบันวิจัย กสศ.

By TSIS Team

ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา หากใครจำกันได้ เราเผยแพร่บทความเรื่อง “ความเหลื่อมล้ำ (สูง) ทางการศึกษาไทย” ซึ่งพูดถึงประเด็นการศึกษาไทยภายหลังสถานการณ์ COVID-19 และสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศไทยที่ยังพบนักเรียนที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานเฉลี่ย 515,067 คน ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2556 - 2560


ตัวเลขดังกล่าวไม่เพียงแค่สะท้อนปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แต่แสดงให้เห็นว่านักเรียน นักศึกษาของไทยกำลังประสบปัญหาในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะเรื่องความยากจน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่


The TSIS ชวนคุณมาสนทนากับ ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. ในหลาย ๆ แง่มุม ทั้งประเด็นเรื่องการศึกษาไทย ความยากจนและงานวิจัย


TSIS : แนะนำตัว ชื่อ – สกุล ทำงานที่ไหน เรียนจบไรมาบ้าง กำลังทำวิจัยเรื่องอะไรอยู่ หรือ พูดถึงวิจัยเรื่องที่ถนัดและสนใจอยู่ในปัจจุบัน

ชื่อพี่ก้อนะครับ ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค จบเศรษฐศาสตร์ ที่ธรรมศาสตร์ แล้วก็ไปเรียนต่อปริญญาโท ที่ชิคาโก้ และต่อที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา ในระดับปริญญาเอก กลับมาไทยก็เริ่มทำงานที่กระทรวงศึกษาอยู่หลายปี ปัจจุบันมาทำงานที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาในตำแหน่งนักเศรษฐศาสตร์การศึกษา (กสศ.)


TSIS : อธิบายงานวิจัยในปัจจุบันที่ทำอยู่ให้ฟังพวกเราฟังหน่อย


ถ้างานวิจัย ในปัจจุบันที่ทำเอง ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะดูแลงานวิจัยครับ เพราะที่ กสศ. มีสถาบันวิจัยของตัวเองชื่อ “สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา” แล้วเราต้องคอยดูว่าจะแกรนต์ (Grant) เงินวิจัยไปทำเรื่องอะไรบ้าง องค์ความรู้ต่าง ๆ ในเรื่องของการศึกษาในแง่มุมต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงคอยติดตามสถานการณ์ของงานวิจัยหรือเรื่องที่อยู่ในกระแสต่างๆ อย่างเช่นตอนนี้เรื่องที่เร่งด่วนก็คือเรื่องของ COVID-19 ต่อการศึกษาไทย เราก็ต้องพยายามวิเคราะห์กันหลาย ๆ อย่าง ดูกรณีศึกษาของประเทศต่าง ๆ องค์กรระหว่างประเทศมากมาย

ในโปรเจคของกองทุนก็มีเยอะพอสมควร ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการวิจัยทางการศึกษา ทั้งวิจัยที่เป็นลักษณะทางเศรษฐศาสตร์ หรือวิจัยทางการศึกษา การเรียนการสอน วิธีการเรียนการสอนแม้แต่เรื่องเทคโนโลยีทางการศึกษา ก็มีเหมือนกัน เรื่องไอที เรื่องระบบสาระสนเทศทางการศึกษา เรื่อง information system อะไรแบบเนี่ย เราก็ค่อนข้างก้าวหน้า


ตอนนี้ที่พี่ดูคือข้อมูลขนาดใหญ่ของการศึกษา เช่นข้อมูล PISA หรือพวกข้อมูลระดับนานาชาติต่าง ๆ หรือแม้แต่ข้อมูลที่ กสศ.เรามีการเก็บรวบรวมเอง ภายใต้ระบบข้อมูล iSEE ( isee.eef.or.th) ซึ่งเราเก็บข้อมูลจากเด็กประมาณล้านคน โดยให้ครูข้อมูลสำรวจของเด็ก บ้านเด็ก ทางมือถือ มีแอพพลิเคชั่น เวลาเราไปสำรวจเด็กกลุ่มยากจนที่ กสศ.ทำการให้ทุนอุดหนุน เราก็จะให้ครูกรอกข้อมูลพื้นฐานของเด็ก เรื่องบ้าน เป็นยังไง ฐานะเป็นยังไงบ้าง หรือข้อมูลสุขภาพ ส่วนสูงน้ำหนัก เกรด หรือว่า อัตราการเข้าเรียน ขาดเรียนบ่อยแค่ไหน พวกนี้สามารถเอามาวิเคราะห์ในประเด็นต่าง ๆ ในเชิงนโยบายได้ นอกจากนั้น กสศ. ยังมีโครงการวิจัยที่ดำเนินการอีกหลายอย่างทั้งกับกลุ่มเด็กปฐมวัย นักเรียนสายอาชีวศึกษา การให้ทุนคนไปเรียนครู การวัดระดับทักษะของแรงงานไทย ซึ่งข้อมูลพวกนี้สามารถเอาทำประโยชน์ในเชิงนโยบาย


TSIS : ย้อนไปในอดีตระบบการศึกษาไทยมีการเก็บข้อมูลอย่างไร


ที่ผ่านมาก็พอจะมีบ้าง แต่ยังไม่เป็นระบบเท่าไร หน่วยงานใหญ่ ๆ ในไทย เช่น กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานสถิติแห่งชาติ เขาจะทำหน้าที่เก็บข้อมูลรายงานต่าง ๆ ในส่วนการศึกษาส่วนใหญ่จะเป็นข้อมูลลักษณะสถิติทางการศึกษา เช่น อัตราการเข้าเรียน อัตราการตกหล่น ในระดับต่างๆ อัตราการรู้หนังสือ เป็นต้น


ข้อมูล O-Net แม้จะเป็นข้อมูลที่นักเรียนทุกคนต้องสอบ แต่ก็ไม่ได้มีการเก็บรายละเอียดข้อมูลของเด็ก มากนัก นอกจากว่าเป็นโรงเรียนอะไร ในเมืองหรือนอกเมืองแค่นั้น ไม่ได้ถามถึงเศรษฐสถานะของตัวเด็ก ไม่มีข้อมูลรายละเอียดมากนัก


หนึ่งในภารกิจของกองทุน คือการให้เงินอุดหนุนทางการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยใช้เงินจากรัฐบาลที่จัดสรรมา แต่ด้วยเงินที่มีจำกัด เราก็ต้องให้เด็กที่จนที่สุดเป็นอันดับแรกก่อน กระบวนการในการค้นหาเด็ก ก็ต้องให้ครูไปเก็บข้อมูล โดย กสศ.จะไม่ได้พิจารณาแค่จากข้อมูลเงินเดือนของพ่อแม่เพียงอย่างเดียว เพราะอาจจะไม่ครอบคลุม แต่เราจะดูจากหลาย ๆ ปัจจัย เช่น ดูสภาพบ้าน ให้ครูไปถ่ายรูป สัมภาษณ์ รวบรวมข้อมูลหลายๆ โดยให้ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาช่วยออกแบบสร้างดัชนีขึ้นมา คล้าย ๆ กับดัชนีที่ดูระดับของความด้อยโอกาส เรียกว่า ดัชนี PMT (Proxy Means Test) บ่งบอกระดับความยากจนทางการศึกษา ดูว่าเด็กคนไหนที่อยู่ในเกณฑ์ที่ยากจนมาก ๆ ที่เรียกว่ายากจนพิเศษ เราก็จะให้ทุนกับเด็กกลุ่มนี้ ที่เรียกยากจนพิเศษเพราะปัจจุบันเด็กยากจนตามนิยมของ สพฐ.มีประมาณสักสองล้านคนได้ แต่ของเราให้ทุนได้ครอบคลุมประมาณเจ็ดแสนคน ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่จนยิ่งกว่านั้น เพราะฉะนั้นเราจะมีฐานข้อมูลที่ค่อนข้างเยอะ และเราเก็บข้อมูลในระยะยาว ดังนั้นในอนาคตเราน่าจะใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้มากและครอบคลุมขึ้น


TSIS : จากการเก็บข้อมูลที่ผ่านมา สถานการณ์เด็กยากจนในประเทศไทยตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง


จากข้อมูลเราพบว่า เด็กยากจนมีจำนวนมาก จริง ๆ ถ้าดูเฉพาะจากสถิติตัวเลข ก็จะเห็นได้ว่าความยากจนอย่างไร ทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค จังหวัด แต่ว่าเวลาที่คณะทำงานได้ลงไปศึกษาในพื้นที่จริง ๆ จะพบว่า เด็กที่ยากจนไม่ใช่เป็นแค่ตัวเลข แต่เป็นชีวิตคนจริง ๆ ยกตัวอย่าง พี่เคยไปลงพื้นที่ที่สุราษฎร์ธานี เพื่อติดตามเด็กที่ออกนอกระบบโรงเรียน ต้องนั่งเรือหางยาวไปบ้านเด็กที่ต้องลุยน้ำลงไป ถอดรองเท้าเดินเข้าไป เพื่อไปคุยกับยายของนักเรียนที่จบ ป.6 มาสามปีแล้วไม่ได้เรียนต่อ ม.1 เพื่อถามปัญหาและหาวิธีช่วยเหลือให้กลับเข้าสู่โรงเรียน เราไปดูแล้วพบว่ามีหลายสาเหตุมากที่ทำให้เด็กไม่ได้เรียนหนังสือ กรณีนี้ได้เกรดสี่ทุกวิชาตอน ป.6 แต่ว่า พ่อกับแม่แยกทางกันทำให้ต้องไปอาศัยอยู่กับยาย แล้วยายไม่ให้ไปเรียน เพราะกลัวว่าถ้าไปเรียนโรงเรียนไกล ๆ แล้วยายเป็นห่วงหลานผู้หญิง เลยให้อยู่บ้านเฉย ๆ 3 ปี


ในความเป็นจริง ปัญหานี้แก้ไขได้ถ้าเขาปรึกษาคนที่รู้ เช่น ไปเรียนโรงเรียนกลุ่มราชประชานุเคราะห์ ซึ่งเป็นโรงเรียนแบบกินนอน ไม่ต้องกังวลเรื่องการเดินทาง หรือเด็กบางคน พ่อแม่เป็นหนี้โรงเรียนเอกชน ตอน ป.3 ที่บ้านเกิดยากจนกระทันหัน ทำให้ต้องย้ายไปอยู่โรงเรียนรัฐบาล เรียนได้ถึง ป.6 พอจบ ป.6 เนี่ย โรงเรียนไม่สามารถออกประกาศนียบัตรให้ได้เพราะโรงเรียนเก่าไม่เอาเอกสารใบรับรองให้ ตอนนี้ก็เลยต้องอยู่บ้านเฉย ๆ 2-3 ปี เพราะติดหนี้โรงเรียนประมาณแค่ 20,000 - 30,000 บาท และเขาก็อยากเรียน ซึ่งอาจจะไม่ได้เป็นเงินที่เยอะสำหรับคนในเมือง แต่ก็ทำให้เด็กต้องขาดการศึกษาได้หลายปี ซึ่งเราก็จะเจอปัญหาแปลกๆ ที่ไม่คิดว่าจะได้เห็นเด็กกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ กสศ. ต้องการเข้าไปช่วยเหลือ การที่เราให้ครูไปสำรวจบ้านเด็ก ก็ทำให้ครูมีความเข้าใจเด็กมากขึ้นโดยอ้อม เพราะบางทีหากไม่ได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของเด็กครูก็อาจจะไม่รู้ว่าเด็กมีความยากจน มีความยากลำบากอย่างไร เป็นการสร้างความเข้าใจและเห็นใจต่อเด็กนักเรียนของตนอีกทางหนึ่งด้วย


TSIS : ช่วงนี้ในแวดวงการศึกษา มีประเด็นหรือสถานการณ์หัวข้อวิจัย หรือเรื่องวิจัยเกี่ยวกับการศึกษาที่กำลังเป็นที่นิยม


เรื่องความเหลื่อมล้ำก็เป็นประเด็นใหญ่ ๆ ของสังคม แต่ว่าที่เราได้ยินส่วนใหญ่จะเป็น เรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของโลก: คนจนมากกว่าคนรวย แต่เราไม่ค่อยพูดถึงการศึกษาสักเท่าไร


พอได้เข้ามาทำที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทำให้เห็นสถานการณ์การเหลื่อมล้ำทางการศึกษาค่อนข้างชัดเจน เช่น โรงเรียนที่พร้อมก็พร้อมจริง ๆ เช่น โรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนเอกชน ส่วนในโรงเรียนที่จนก็จน จริง ๆ

ข้อมูลงานวิจัยของ PISA ที่เพิ่งสอบไป พบว่า ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ในแง่ของการกระจายตัวของเด็ก เด็กที่เก่ง ที่มีเศรษฐสถานะสูง ก็จะกระจุกตัวอยู่แค่ไม่กี่โรงเรียน ความเหลื่อมล้ำถือเป็นอันดับ 3 - 4 ของโลก ที่ 1 คือแถวละตินอเมริกาต่าง ๆ คือ “คนรวยก็มักจะส่งลูกเรียนแต่โรงเรียนของคนรวย ส่วนคนจนก็จะเรียนในโรงเรียนของคนที่มีฐานะใกล้เคียงกัน”

“คนรวยก็จะเรียนแต่โรงเรียนของคนรวย ส่วนคนจนก็จะเรียนแต่โรงเรียนของคนจน”

จากผลทดสอบ PISA ก็บอกว่าสำหรับเด็กไทยที่อยู่ในกลุ่ม 25 % ล่างสุด ซึ่งใน 80% เด็กกลุ่มนี้จะเรียนอยู่ในโรงเรียนที่ขาดทรัพยากร เพราะฉะนั้น มันก็เห็นความแตกต่างค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะเรื่องการจัดสรรทรัพยากรของเด็ก การกระจายตัว อย่างประเทศแถบฟินแลนด์ หรือยุโรป เด็กจน เด็กรวยไม่ค่อยต่างกัน ในแง่ของการเข้าโรงเรียน ทุกคนก็เรียนในโรงเรียนที่ผสมผสานกัน


แต่ของไทยแบ่งแยกกันค่อนข้างชัด มีผลในเรื่องของสังคม เพราะว่ามันก็ทำให้คนเราไม่เข้าใจกัน สังคมต่างกัน คนรวยก็อยู่แต่กับคนรวยอยู่ในโลกของคนรวย คนจนก็อยู่แต่กับคนจน สุดท้ายจึงเกิดปัญหาทางสังคมตามมาในภายหลัง


ความเหลื่อมล้ำอีกอย่างหนึ่งคือ “ความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึง” เช่น ในไทย เรามีปฏิญญาจอมเทียน ไม่รู้เคยได้ยินไหม ประมาณปี 1990 ไทยเราเป็นเจ้าภาพจัดการระดมทุนของ UNESCO ที่จอมเทียน พัทยา ทำให้เกิด education for all เป็น EFA เป็น Movement หนึ่งของโลก ณ ตอนปี 1990 ที่บอกว่าทุกประเทศต้องมีการจัดการศึกษาให้กับเด็กทุกคน ไม่ว่าจะยากดีมีจนยังไง ซึ่งประเทศไทยในขณะนั้นก็ทำได้ดีพอสมควร

หรือในปี 2549 มีมติ ครม. ที่ให้เด็กอพยพ เด็กลูกหลานแรงงาน สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนไทย โดยที่ได้รับเงินอุดหนุนรายหัวเท่ากับเด็กไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายประเทศไม่มี นับได้ว่าเป็นความก้าวหน้าที่ดีของวงการศึกษาไทย แต่ยังมีช่องว่างอยู่พอสมควร ยกตัวอย่างเช่น ระดับมหาวิทยาลัย คือ คนที่เรียนมหาวิทยาลัย ครอบครัวที่จนที่สุดที่มาจากกลุ่มเศรษฐฐานะ 25% ท้ายที่สุดมีน้อยกว่า 5 % ที่สามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้ ในขณะที่ครอบครัวที่รวยก็อาจจะเกิน 40 % – 50% ขึ้นไป


จากการทดสอบของ PISA ยิ่งทำให้เห็นว่า มีช่องว่าง (Gap) หรือแก็ปเรื่องของความรู้ ผลการเรียนของเด็กที่รวยและเด็กที่จนอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่ O-NET ไม่สามารถรายงานผลนี้ได้ เนื่องจากไม่ได้แบ่งเด็กตามเศรษสถานะ อย่างเวลาเขารายงานผล เราก็จะไม่รู้ข้อมูล แต่ PISA เราก็จะรู้เรื่องผลสัมฤทธิ์ของเด็ก เรื่องการเข้าถึงตามมหาวิทยาลัย หรือว่าเรื่องของทัศนคติของเด็ก


นอกจากนี้ล่าสุดที่เราให้ความสำคัญมากก็คือเรื่องผลกระทบของ COVID-19 ต่อการศึกษาไทย ก็พยายามศึกษาผลกระทบและนำเสนอนโยบาย การอุดหนุน การป้องกันปัญหาที่จะตามมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจ เช่น ปัญหาเด็กหลุดออกนอกระบบ ปัญหาการขาดอาหารในช่วงปิดเทอมที่ยาวขึ้น ปัญหาการเรียนรู้ที่อาจจะหายไป


TSIS : สำหรับมุมของพี่ก้อ แนะนำหัวข้อหรือประเด็นการทำวิจัยเพื่อเป็นวิทยาทานให้กับนักวิจัยท่านอื่น ๆ


ถ้าแบบง่าย ๆ เลยนะ คือที่มีข้อมูลอยู่แล้ว เท่าที่ได้ยินมา อาจารย์มหาวิทยาลัย นักเรียนมหาวิทยาลัยในวงการศึกษา ถ้าหากอยากได้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเด็กต้องไปขอ IRB ซึ่งจะใช้ระยะเวลานานมาก ขั้นตอนนี้หลายคนก็ถามว่า ทำยังไงดี หลายคนไม่อยากจะรอ วิธีง่าย ๆ คือ การใช้ฐานข้อมูลทางการศึกษาที่เข้าถึงได้เลย ซึ่งมีเยอะพอสมควรที่เก็บข้อมูล เรียกว่าเป็น “Large scale international data set”เราสามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้ อันนี้จะเหมาะมาก สำหรับนักศึกษาที่ไม่ต้องการเก็บข้อมูล เช่น ข้อมูลการสอบ PISA ปี 2000 ถึง 2018 ข้อมูลการสอบ TIMSS ที่คล้าย ๆ กับ PISA แต่จะเน้นไปที่เด็ก ม.2 กับ ป.4 ก็มีข้อมูลย้อนหลังให้เข้าไปดูได้หลายปี


หรือว่าข้อมูลจากพวก UN ในแหล่งที่เรียกว่า “UNESCO Institute of Statistics” ซึ่งมีฐานข้อมูลที่เป็นระดับ Macro ด้านการศึกษาของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก อัตราการเรียน การจบ การเข้าถึงการศึกษา จำนวนครู จำนวนนักเรียน ซึ่งพวกนี้ก็มีหมดเลย สามารถนำไปวิเคราะห์ได้ โดยไม่ต้องผ่าน IRB ถ้าเกิดว่าเกิดอยากจะใช้ประโยชน์ และข้อมูลพวกนี้ก็ค่อนข้างเชื่อถือได้ ก็เป็นแนวทางหนึ่งที่แนะนำ หรือสำหรับข้อมูลของ กสศ. เองก็มีข้อมูลแต่ว่าตอนนี้เรายังเปิดแค่บางส่วนให้สามารถเข้าถึงได้ ถ้าสนใจลองเข้าไปดูในได้ในเวป iSEE ของ กสศ. ครับ


TSIS : มีแผนจะเปิดเป็น public ไหม


ในอนาคตคิดว่าคงต้องมี แต่ช่วงนี้เรากำลังพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อให้ได้มาตรฐานของการปกป้องความเป็นส่วนตัว ตามกฎหมายก่อนครับ จริง ๆ ตอนนี้ กสศ. มีโครงการกับธนาคารโลก ในโครงการประเมินทักษะแรงงานไทย และก็มีโครงการกับ OECD ในโปรเจคชื่อ PISA for Schools ซึ่งจะทำการเก็บข้อมูลนักเรียน และข้อมูลแรงงาน ซึ่งจะทำการเก็บตั้งแต่ต้นทางเลย ก็คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ที่ดี สุดท้ายข้อมูลพวกนี้ก็คงเปิดเผยได้ เพราะเป็นข้อมูลมาตรฐานระดับนานาชาติที่เขาเก็บไว้ให้ใช้ประโยชน์ ยิ่งคนใช้เยอะก็ยิ่งคุ้มค่าที่จะจ่ายเงินในการทำการเก็บข้อมูลพวกนี้


TSIS : การแนะนำประเด็นหรือหัวข้อวิจัย


(หัวเราะ) อาจจะค่อนข้างยาก เพราะเราก็ไม่รู้ว่าเขาสนใจเรื่องอะไร แต่ละคนก็สนใจแตกต่างกันไป ปกติแล้วที่เห็นเรื่องของการเรียนการสอนมักจะเป็นหัวข้อใหญ่อันดับหนึ่งของสายครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ เขาก็จะวิจัยว่า สอนแบบไหน วิธีการใด เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาต่าง ๆ หรือว่าเรื่องของ Leadership ของผู้อำนวยการโรงเรียน ลักษณะของการเป็นผู้นำทางการศึกษามันเป็นยังไง อันนี้ก็เป็น International test เหมือนกัน เรียกว่า TALIS ก็คือ Teaching and Learning International Survey (TALIS) ของ OECD ที่ไปสำรวจครูและ ผอ.จากทั่วโลก แต่ประเทศไทยไม่ได้เข้าร่วมในอันนี้ เลยไม่มีข้อมูล แต่เวลาเราทำการสำรวจข้อมูลของครูหรือ ผอ. ก็พยายามเอากรอบของเขาไปใช้อยู่ หัวข้อส่วนใหญ่ก็จะเป็นงานวิจัยทำนองว่าทำอย่างถึงจะทำให้ครูหรือนักเรียนได้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ดี การพยายามถอดบทเรียนของห้องเรียนหรือโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จโดยใช้วิธีการแบบต่างๆ อันนี้ก็จะเป็นส่วนเกี่ยวกับงานวิจัยทางสายการศึกษา


TSIS : แล้วในงานวิจัยเชิงเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวกับการศึกษา เป็นอย่างไรบ้าง


ปัจจุบันมีนักเศรษฐศาสตร์มาทำเรื่องการศึกษามากพอสมควร ทั้งคนที่ทำเรื่องทฤษฎี เขียนโมเดล หรือพวกที่เอาข้อมูลมาทดสอบว่าโมเดลที่เราทำเนี่ย มันถูกต้องแค่ไหน จะพัฒนาในเชิงทฤษฎีหรือเอาไปประยุกต์ใช้ได้ยังไง แต่ปัญหาหนึ่งของไทยก็คือ เราไม่ค่อยมีข้อมูลทางการศึกษาที่มีคุณภาพดีเท่าไร ก็หวังว่า กสศ. นี่แหละที่จะเป็นคนเก็บข้อมูลที่ดี เพื่อให้นักวิจัยในอนาคตสามารถเอาไปใช้ เอาไปทำวิจัยต่าง ๆ ได้


ตัวอย่างของการเก็บข้อมูลของ กสศ.ที่ใช้หลักคิดนี้ เช่นข้อมูลของเด็กระดับปฐมวัย ตอนนี้เราทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าของอาจารย์วีระชาติ กิเลนทอง ซึ่งก็เป็นผู้ที่มุ่งมั่นและเห็นประโยชน์ในการเก็บข้อมูลระยะยาวตั้งแต่ระดับเด็กที่เข้าเรียนในศูนย์เด็กเล็ก ติดตามไปเรื่อยๆ ตามแนวทางของศาสตราจารย์เจมส์ เฮ็กแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ทั้งเรื่องการลงทุน การเรียนการสอนของเด็กประถมวัย ลักษณะไหนที่จะทำให้เกิดผลที่ดี ความคุ้มค่ากับการลงทุน คาดว่าน่าจะเป็นฐานข้อมูลที่ดี เรื่องปฐมวัย เราก็ช่วยสนับสนุนโครงการลักษณะนี้อยู่ ก็หวังว่าน่าจะเก็บไปได้ยาว ๆ อาจจะทำให้เกิดงานวิจัยดี ๆ และเป็นประโยชน์ได้อีกเยอะ


กสศ. มีตั้งกลุ่มเป้าหมายไว้ 4 กลุ่มในการทำงาน

  1. ปฐมวัย

  2. ข้อมูลระดับโรงเรียน

  3. ข้อมูลเกี่ยวกับเด็กที่จบไปแล้วจะทำอาชีพอะไร

  4. ข้อมูลแรงงานไทย ว่ามี literacy ขนาดไหน มีทักษะ สามารถอ่านออกเขียนได้ มี skill อะไรบ้าง ซึ่งเราก็ plan ไว้ว่าจะเก็บข้อมูลในลักษณะเชิงวิจัยทั้งหมดเลย

TSIS : แนะนำหนังสือ หรือ แนวคิดและทฤษฎี ที่ถ้าทำประเด็นนี้ ต้องไปอ่านเพื่อทำความเข้าใจพื้นฐาน


คำถามค่อนข้างกว้าง ถ้าเป็นประเด็นในเรื่องการเรียนการสอน ขอแนะนำเป็นทางเศรษฐศาสตร์แล้วกันเนอะ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเปเปอร์ เช่น World bank UNESCO NBER จะมีเว็บไซต์ในส่วน Education โดยเฉพาะ เน้นทางด้านนักเศรษฐศาสตร์ที่มาทำเรื่องการศึกษา เขาก็จะมีรายการของ working paper ของ ธนาคารโลกก็เยอะ เพราะว่าธนาคารโลกต้องให้เงินช่วยเหลือประเทศที่ลงทุนเรื่องการศึกษา ทำให้ต้องมีงานวิจัยติดตามการลงทุนเหล่านั้นค่อนข้างเยอะ ในไทยก็ตามมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ จุฬาฯ ฯลฯ พวกอาจารย์ที่เขาทำพวกเรื่องการศึกษา


TSIS : มีแหล่งทุนประเด็นดังกล่าวแนะนำไหม ปกติเค้าไปหาเงินมาทำวิจัยเรื่องนี้กันจากไหน


ณ ตอนนี้ กสศ. ยังไม่ได้เปิดแหล่งทุนสำหรับนักศึกษาอย่างเป็นทางการ อาจจะเหมาะกับอาจารย์หรือนักวิจัยมากกว่า ที่ต้องการศึกษาเป็นโครงการใหญ่ ๆ ภายใต้กรอบภารกิจของ กสศ. แต่เท่าที่ทราบหน่วยงานบางแห่ง เช่น สทศ. ที่เขาดูเรื่องของการสอบ เองก็มีทุน ถ้านักวิจัยหรือใครที่ทำวิจัยเรื่อง O-Net หรือ เอาผล O-Net ไปวิเคราะห์ เขาก็มีทุนให้ ส่วนในต่างประเทศจะมีทุนค่อนข้างมาก แต่ก็ต้องเก่งประมาณหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น พวก ​Gates Foundation เขาก็สนใจพวกการศึกษา หรือของ Open Society, ASIA foundation


TSIS : ช่วยฝากอะไรถึงนักวิจัยที่กำลังมุ่งหน้าพัฒนางานวิจัยอยู่หน่อย


บางอย่างต้องฝืนใจ ความท้อมันก็เป็นเรื่องปกติ คือทุกคนมันต้องเคยผ่านช่วงท้อแท้ ถ้าช่วงไหนเบื่อ ก็ไปหาอย่างอื่นทำก่อน อ่านนิยาย ท่องเที่ยว เล่นกีฬา วางมือไปสักพัก


แต่สุดท้ายสำหรับนักศึกษาถ้าต้องการเรียนจบก็คงต้องกัดฟันทำ พยายามนึกเอาไว้ว่า งานเราคงจะมีประโยชน์ในทางวิชาการ หรือถ้าอยากมีกำลังใจในการทำก็ให้นึกว่างานนี้สามารถเอาไปใช้ได้ในสังคมวงกว้างได้ เสร็จแล้วอาจจะเอาไปให้ กสศ. ดูก็ได้ถ้าเกี่ยวกับการศึกษา หรือเกี่ยวกับการลดความเหลื่อมล้ำ เราอาจเอาไปพัฒนาเพื่อใช้ช่วยเด็กหรือกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ก็ได้ ยังไงก็ขอให้นึกถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น อาจจะทำให้เกิดกำลังใจในการทำงานวิจัยมากขึ้น


ถ้าเกิดงานเรามีประโยชน์ หรือถ้าอยากมีกำลังใจในการทำก็ให้นึกว่างานนี้สามารถเอาไปใช้ได้ในวงกว้าง

(ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาคม, 2563)

 

572 views0 comments

Comments


bottom of page