top of page
  • Writer's pictureTSIS

Talk with จิตตวดี โชตินุกูล – ผู้ทำงานด้านกฎหมายผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศ

by TSIS Team

จาก ‘นักปฏิบัติในพื้นที่จริง’ สู่การเป็น ‘นักวิจัย’ ในปัจจุบัน

เนื่องในโอกาสวันผู้ลี้ภัยโลก The TSIS ชวนคุณมาสนทนากับ พี่บัว จิตตวดี โชตินุกูล ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่เคยทำงานกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees : UNHCR) เรามาฟังมุมมองของพี่บัว จากผู้ที่เป็น ‘นักปฏิบัติในพื้นที่จริง’ มาสู่การทำงานเป็น ‘นักวิจัย’ ในปัจจุบัน


TSIS: แนะนำตัว ชื่อ – สกุล ประสบการณ์ทำงาน เรียนจบ หรือกำลังเรียน/ กำลังทำวิจัยเรื่องอะไรอยู่ หรือ พูดถึงวิจัยเรื่องที่ถนัดและสนใจอยู่ในปัจจุบัน


บัวนะคะ จิตตวดี โชตินุกูล จบการศึกษาปริญญาตรีนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท (LL.M.) ด้านกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายเปรียบเทียบ (International and Comparative Law) จาก National University of Singapore (NUS) ด้วยทุน Graduate Scholarship for ASEAN Nationals ปริญญาโทกฎหมายระหว่างประเทศ (Master in International Law) จาก Graduate Institute of International and Development Studies (IHEID) ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยวิจัย (Research Assistant) ด้านกฎหมายอพยพลี้ภัยระหว่างประเทศ และกำลังทำปริญญาเอก (Ph.D. in International Law) ไปด้วยค่ะ


ประสบการณ์ทำงาน เริ่มต้นด้วยการเป็นที่ปรึกษากฎหมายในสำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย หลังจากนั้นได้มีโอกาสทำงานกับ Think Tank แห่งหนึ่งที่สิงค์โปร์ ก่อนจะย้ายมาทำงานกับ UNHCR พอมาอยู่ที่เจนีวาก็ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนกับ NGO สักพักนึง ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยวิจัย (Research Assistant) ที่ Global Migration Centre (GMC) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยทางวิชาการด้านการอพยพลี้ภัยค่ะ


TSIS: แสดงว่าตั้งแต่ทำงานมา นอกจากกับสำนักงานกฎหมาย ก็คือโฟกัสเรื่องของผู้ลี้ภัย


ใช่ค่ะ เพราะว่าสนใจเรื่องผู้ลี้ภัยและเรื่องสิทธิมนุษยชนมาตั้งแต่สมัยเรียน ทำให้ตั้งใจมาตลอดว่า ถ้ามีโอกาสก็อยากจะเข้ามาทำงานในด้านนี้


TSIS: อธิบายงานวิจัยในปัจจุบันที่ทำอยู่ให้พวกเราฟังหน่อย


งานที่ทำกับทาง Centre ตอนนี้ค่อนข้างครอบคลุมหลายประเด็น เพราะว่าช่วยอาจารย์อยู่หลายด้าน ยกตัวอย่างเช่น เรื่อง Global Compact for Safe, Orderly and Regular Migration หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Global Compact for Migration ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศในการร่วมมือจัดการการอพยพย้ายถิ่นฐาน ซึ่งตัว Global Compact นี้ได้รับการรับรองเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2018 จากหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยด้วย


ในส่วนงานของพี่คือ ดูพัฒนาการของ Global Compact ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอะไรยังไงไปในทิศทางไหนบ้าง โดยดูตั้งแต่ ขั้นตอนการร่างข้อตกลงไปจนถึงการรับรองเห็นชอบตัว Global Compact รวมถึงวิเคราะห์ในเรื่องข้อดี ข้อเสีย ข้อท้าทาย และศักยภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยดูจากมุมมองของกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกฎหมายเกี่ยวกับ การอพยพลี้ภัยและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศค่ะ


TSIS: เวลาทำงานวิจัยด้านกฎหมาย เข้าใจว่ามันมีหลายแบบ อยากให้ลองเล่ากระบวนการ สมมติยกตัวอย่าง Global Compact กระบวนการทำวิจัยเชิงกฎหมาย ที่เราไปศึกษา Global Compact ในแง่มุมกฎหมายมันดูอะไร มันดูยังไง


ใน Global Compact จะมีวัตถุประสงค์ (objectives) และแนวทางปฏิบัติ ที่เรียกว่า actionable commitments ที่รัฐที่ลงนามรับรองตกลงยินยอมที่จะปฏิบัติตามเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์แต่ละข้อ โดยเราจะวิเคราะห์ตัวเนื้อหาเหล่านั้นจากมุมมองกฎหมายระหว่างประเทศ

ธรรมชาติของประเด็นอพยพลี้ภัย มันเป็นเรื่องของการถ่วงดุลย์ระหว่างอำนาจอธิปไตยและความมั่นคงของรัฐ (state sovereignty and national security) ซึ่งก็ออกมาในรูปของ immigration policy ฝั่งหนึ่ง กับสิทธิมนุษยชนของปัจเจกบุคคล (individual human rights) อีกฝั่งหนึ่ง

ทีนี้พอเป็นเรื่องการชั่งน้ำหนักหรือ balance ตัว Global Compact ที่ได้มา มันจึงสะท้อนให้เราเห็นถึงเสียงและความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคประชาสังคม (civil society) หรือแม้กระทั่งตัวผู้อพยพเองก็จะสะท้อนออกมาจากตรงนั้น พอเราวิเคราะห์จากมุมมองของกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศก็จะเห็นว่าตัว Global Compact ตอบสนองความต้องการในการปกป้องสิทธิมนุษยชนของผู้อพยพมากน้อยแค่ไหนอย่างไร ถ้ามันต่ำเกินไป เราก็จะวิเคราะห์ว่ามันควรจะเป็นอย่างไร เป็นต้น

TSIS: มีงานวิจัยประเด็นอื่น ๆ อีกมั้ย


อีกงานที่น่าสนใจคือ Oxford Handbook of International Refugee Law ถือเป็นโปรเจคใหญ่ เพราะเป็นหนังสือคู่มือเกี่ยวกับกฎหมายผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศ นับเป็นครั้งแรกที่เรามี Oxford Handbook เกี่ยวกับกฎหมายผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศโดยเฉพาะ อาจารย์ที่พี่ทำงานด้วยก็เป็นหนึ่งในผู้เขียน พี่มีส่วนช่วยในประเด็นความรับผิดของรัฐ (state responsibility) ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ โดยเราจะมองความรับผิดของรัฐต้นทางหรือรัฐต้นกำเนิด (country of origin) ที่เป็นสาเหตุก่อให้เกิดการอพยพของผู้ลี้ภัย ขณะเดียวกันก็จะไปดูในส่วนของกลไกลสิทธิมนุษยชนของปัจเจกผ่านการร้องเรียนส่วนบุคคล (individual complaints) ที่ได้ยื่นกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (Human Rights Committee) แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) ด้วยค่ะ


งานล่าสุดเกี่ยวข้องกับเรื่อง COVID-19 ดูเรื่องสิทธิในสุขภาพและการเข้าถึงระบบสาธารณะสุข (right to health and access to healthcare) ของผู้อพยพลี้ภัย ภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมถึงหลักการไม่เลือกปฏิบัติ (principle of non-discrimination) อันเนื่องมาจากสถานภาพของการเป็นผู้อพยพลี้ภัย


TSIS: มี finding หรือ movement อะไรน่าสนใจเกี่ยวกับด้านนี้บ้าง


อย่างที่พี่บอกเรื่อง Global Compact มันคือการ balance ระหว่างอำนาจอธิปไตยของรัฐกับสิทธิมนุษยชนของปัจเจกบุคคล สิ่งที่น่าสนใจคือ มันสะท้อนกระบวนการต่าง ๆ ที่เปิดให้ผู้มีส่วนได้เสียในประเด็นนั้น ๆ มีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหนยังไง (participatory process) และเรื่องความรับผิดของรัฐ (State Responsibility) โดยมองจากมุมรัฐต้นกำเนิด เรื่องนี้น่าสนใจ

เพราะเมื่อพูดถึงความรับผิดของรัฐในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัย เรามักจะนึกถึงความรับผิดของรัฐผู้รับผู้ลี้ภัย (country of asylum) เช่น การละเมิดหลักกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการห้ามผลักดัน (principle of non-refoulement) เป็นต้น


TSIS: จากประสบการณ์ที่เป็นนักปฏิบัติมาตลอด แล้วต้องมาทำงานสายวิชาการ หรืองานวิจัย คิดว่ามีข้อดี ข้อเสีย อย่างไรบ้าง และต้องมีการปรับตัวอย่างไร


อาจไม่ใช่ข้อเสีย แต่น่าจะเป็นความท้าทายมากกว่า

ความท้าทายอย่างแรกสำหรับตัวพี่คือ การจัดการกับความคิดของตัวเอง เพราะในฐานะที่เราเคยเป็น นักปฏิบัติมาก่อน ทำงานในพื้นที่เป็นหลัก เราเห็นผลจากการกระทำของเราที่ชัดเจนและเกิดขึ้นทันที เราเห็นว่างานของเราอย่างน้อยก็ได้มีส่วนช่วยให้ชีวิตคนคนหนึ่งดีขึ้น มันเป็นความรู้สึกที่เติมเต็ม พอย้ายมาทำในส่วนงานวิจัย ด้วยเนื้องานที่แตกต่างกันมันก็อาจจะไม่เห็นผลในทันที แต่จริง ๆ ทุกงานมีส่วนในการทำประโยชน์แก่สังคมอยู่แล้ว เพียงแต่งานเชิงวิชาการอาจจะต้องอาศัยระยะเวลาที่จะเห็นผลลัพธ์

ส่วนความท้าทายที่เป็นรูปธรรมขึ้นมาหน่อย คิดว่าคงเป็นเรื่องความไม่รู้แหล่งข้อมูลเชิงลึก เหมือนพอเราไม่ได้อยู่ในสายวิชาการมาก่อน เราก็ไม่รู้ว่ามันมีฐานข้อมูลตรงไหนที่เราควรจะไปหา หรือพอเราหาได้แล้วก็จะเกิดคำถามว่า แล้วเราต้องหามากแค่ไหน เราไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เราได้มามันครบถ้วนละเอียดพอหรือยัง หรือพอเราได้ข้อมูลมามากพอแล้ว เราก็อาจไม่มั่นใจว่าข้อมูลที่เราได้มามีน้ำหนักมากน้อยแค่ไหนในการจะนำมาใช้อ้างในงานวิจัยนั้น ๆ พี่ว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นความท้าทายที่มันเกิดขึ้น ซึ่งก็เรียนรู้ไปตามกาลเวลา


ส่วนข้อดี แน่นอนพอเราได้ทำงานภาคปฏิบัติ มันทำให้เราได้เห็นและเรียนรู้กรณีศึกษาต่าง ๆ ซึ่งช่วยให้เราเข้าใจทฤษฎีมากขึ้น ยกตัวอย่าง คำนิยามของผู้ลี้ภัย (refugee definition) ก็จะมีองค์ประกอบภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย (The 1951 Convention Relating to the Status of Refugees) ในแต่ละองค์ประกอบบางทีเราอ่านอย่างเดียวเราอาจจะไม่เข้าใจ เช่น คำว่า ‘well-founded fear of persecution’ ที่หมายถึงว่า มีความกลัวที่จะถูกประหัตประหารที่ตั้งอยู่บนฐานที่ สมเหตุสมผล น่าเชื่อถือ ถ้าเราไม่เคยมีประสบการณ์การทำงาน เราก็อาจไม่รู้ว่าในทางปฏิบัติหรือในความเป็นจริง อะไรแค่ไหนถือว่า ‘well-founded’ พอเราได้มีโอกาสทำงาน เราเลยได้เรียนรู้ว่า การดู ‘well-founded fear’ ให้ดูสององค์ประกอบร่วมกัน คือ หนึ่ง ความกลัวส่วนตัว (subjective fear) และสอง คือ ความกลัวที่เกิดจากสถานการณ์แวดล้อมในประเทศที่ผู้ลี้ภัยหนีมา (objective fear) ซึ่งตรงนี้ก็จะดูได้จากข้อมูลเชิงลึกที่เกี่ยวข้องของประทศนั้น ๆ (Country of Origin Information : COI) เป็นต้นค่ะ


TSIS: มีข้อดีอื่น ๆ อีกไหมจากที่เป็นนักปฏิบัติมาเป็นนักวิจัย

สำหรับคนที่ยังไม่มั่นใจในความชอบของตัวเอง อยากจะเลือกหัวข้อในการทำวิจัย พี่ว่าการทำงานภาคปฏิบัติจริงช่วยได้มาก ช่วยให้เรารู้ว่า passion หรือความสนใจของเราจริง ๆ อยู่ตรงไหน ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยตีกรอบและกำหนดประเด็นในการทำวิจัยต่อไป หรือพอเราลองทำงานจริง เราอาจจะค้นพบว่าสุดท้ายแล้วเราไม่ได้ชอบสิ่งนั้นก็ได้ ซึ่งก็ไม่เป็นไรเพราะถือเป็นโอกาสในการเรียนรู้ตัวเอง เป็นข้อค้นพบจากการลงไปปฏิบัติ


TSIS: อุปสรรคการทำงานวิจัยด้านนี้โดยทั่วไป และการทำงานวิจัยด้านนี้ในประเทศไทย


เท่าที่นึกออก พี่ว่าเป็นเรื่องของการเข้าถึงข้อมูล สมมติว่าเราสนใจอยากจะทำเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ของผู้ลี้ภัย หรือผู้ขอลี้ภัยที่โดนกักตัวอยู่ในสถานกักตัวคนต่างด้าว(Immigration Detention Centres : IDCs) การที่เราจะไปสัมภาษณ์ อย่างแรกคือ เราต้องได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ สมมติถ้าเราผ่านจุดนั้นมาแล้ว อุปสรรคต่อไปคือเราจะนำเสนอข้อมูลออกมายังไง เนื่องจากมันเป็นประเด็นที่อ่อนไหว เราต้องคิดไปถึงความปลอดภัยของผู้ให้ข้อมูล ถึงแม้เราจะใส่เป็นชื่อนิรนาม ท้ายที่สุดในความเป็นจริงเจ้าหน้าที่เขารู้อยู่แล้วว่าใครเป็นผู้ให้ข้อมูล หรือถ้าไม่ใช่ในบริบทของการกักตัว สมมติเราสนใจจะทำเรื่อง gender-based violence


ยกตัวอย่างเช่น อยากสัมภาษณ์ผู้ลี้ภัยหญิงในประเด็นความรุนแรงภายในครอบครัว (domestic violence) โอเคเราอาจเข้าไปในชุมชนผู้ลี้ภัยเพื่อให้ได้ข้อมูลมา แต่ถามว่าคนเหล่านั้นจะกล้าให้ข้อมูลเรามากน้อยแค่ไหน เพราะอย่าลืมว่าการที่เขาอยู่ในชุมชนตรงนั้น มันมีความเสี่ยงของตัวเขาเองอยู่ พี่คิดว่าตรงนี้อาจเป็นความยากลำบาก เราต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ให้ข้อมูลด้วย


TSIS: เทคนิคการหาหัวข้อวิจัยจากประสบการทำงานสายนักปฏิบัติ


แน่นอนคือ หนึ่ง - เลือกจากความสนใจของตัวเอง


สอง - ในการทำงานจริง เราต้องพบกับประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่เข้ามาในทางปฏิบัติอยู่แล้ว ซึ่งประเด็นไหนที่เราสนใจ ก็สามารถนำมาพัฒนาต่อเป็นหัวข้อวิจัยได้ จริง ๆ แล้วหัวข้องานวิจัยปริญญาเอกของพี่เองก็ได้ไอเดียมาจากการทำงานภาคปฏิบัติส่วนหนึ่งนี่แหละค่ะ


สาม - พอเราเจอประเด็นปัญหาที่เราสนใจแล้ว ต้องมาคิดว่าประเด็นปัญหานั้นสามารถพัฒนาต่อยอดในเชิงวิชาการได้หรือเปล่า เพราะบางปัญหาแม้น่าสนใจมันอาจเป็นเรื่องเชิงเทคนิคมากเกินไป เช่น ยกตัวอย่างประเด็น refugee sur place ซึ่งเป็นกรณีของคนที่ออกจากประเทศภูมิลำเนาโดยไม่ได้มีปัญหาอะไรทั้งสิ้น อาจจะออกมาเที่ยวหรือเรียนต่อ แต่ระหว่างนั้นมีเหตุการณ์หรือสถานการณ์บางอย่างที่ทำให้คน ๆ นั้นไม่สามารถกลับประเทศตัวเองได้และต้องขอลี้ภัย ประเด็นคำถามเชิงวิชาการคือ refugee sur place เป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรม หรือเป็นการใช้ระบอบการคุ้มครองผู้ลี้ภัย (refugee protection regime) ในทางที่ผิดวัตถุประสงค์หรือไม่ แต่พอหาข้อมูลไปเรื่อย ๆ อาจพบว่ามันเป็นเรื่องทางเทคนิคมากเกินไป และหาทฤษฎีที่จะมาวิเคราะห์รองรับหรือต่อยอดเชิงวิชาการยาก ฉะนั้นจุดนี้ก็เป็นอีกจุดที่เราต้องคำนึง


TSIS: แนะนำหัวข้องานวิจัยที่เกี่ยวกับผู้ลี้ภัย ที่คิดว่าจะสำคัญในอนาคต


ขอแยกเป็น 2 ระดับ คือระดับประเทศและภูมิภาค กับระดับโลก


ในประเทศไทย เรื่องระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับไปประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ ซึ่งระเบียบนี้ออกมาเมื่อเดือนธันวาคม 2562 ปลายปีที่แล้วนี่เอง ถือเป็นกฎหมายภายในประเทศฉบับแรกเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยโดยตรงในประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดี แต่ด้วยความที่ตัวระเบียบเน้นเรื่องขั้นตอนกระบวนการยื่นคำขอรับการคุ้มครองเป็นหลัก โดยไม่ได้ลงรายละเอียดในแง่เนื้อหามากนัก เช่น ในระเบียบนี้ไม่ได้พูดถึงกฎเกณฑ์ในการจะเป็นผู้ได้รับการคุ้มครองว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งตรงนี้น่าสนใจ เพราะว่าอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนา ต้องรอดูว่าในทางปฏิบัติเขาจะบังคับใช้ระเบียบนี้อย่างไร


ในระดับภูมิภาค พี่มองว่าเรื่องที่น่าสนใจคือประเด็นกรอบกฎหมายเฉพาะ (legal framework) ที่จะให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัย (refugees) หรือผู้ขอลี้ภัย (asylum seekers) ว่ามีอะไรบ้างและควรผลักดันหรือพัฒนาอย่างไร จริงอยู่ว่าเรามี The AALCO Principles on Status and Treatment of Refugees และบางตัวบทใน ASEAN Human Rights Declaration ที่เกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัย แต่พัฒนาการและบทบาทของกรอบข้อตกลงสองตัวนี้ในทางปฏิบัติยังน้อยอยู่มาก หากเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็นแอฟริกาที่มี The OAU Convention Governing the Specific Aspects of Refugee Problems in Africa หรือลาตินอเมริกาก็จะมี Cartagena Declaration on Refugees ที่บังคับใช้ในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง เป็นต้น ในฐานะที่เราเป็นคนจากภูมิภาคนี้ พี่ว่าน่าสนใจมากที่จะพัฒนากรอบความคุ้มครองตรงนั้น


ในระดับโลกจริง ๆ ก็คงเกี่ยวข้องกับประเด็นที่พี่ทำอยู่ เรื่อง Global Compact นอกจาก Global Compact for Migration แล้ว ก็ยังมี Global Compact on Refugees ด้วย เป็นอีกอันหนึ่งที่น่าสนใจ อาจจะมองในแง่ของการบังคับใช้ (implementation) เรื่องการกระจายภาระความรับผิดชอบ (burden-and responsibility-sharing) ว่ามันกระจายอย่างไรในความเป็นจริง หรือว่าจะเป็นเรื่อง climate change เรื่องภาวะความยากจนอย่างมาก (extreme poverty) ที่เป็นสาเหตุของการลี้ภัยมากขึ้นในปัจจุบัน เราจะมีกรอบความคุ้มครองคนเหล่านี้ยังไง เพราะว่าอาจมีรายละเอียดที่คนเหล่านี้อาจไม่ได้ตกอยู่ภายใต้กรอบอนุสัญญาผู้ลี้ภัยได้นอกจากนี้ก็มีเรื่องผู้อพยพย้ายถิ่นภายในประเทศ (Internally Displaced Persons : IDPs) และท้ายสุดประเด็น interactions ระหว่างกฎหมายผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศกับกฎหมายระหว่างประเทศอื่น ๆ เช่น กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กฎหมายอาญาระหว่างประเทศ เป็นต้น


TSIS: อยากให้ช่วยแนะนำหนังสือที่เกี่ยวข้องกับเรื่องผู้ลี้ภัย


ถ้าอ่านเพื่อความเข้าใจเบื้องต้น ก็อาจจะอ่าน International Migration ซึ่งเป็นหนังสือในซีรีส์ชุด A Very Short Introduction ถ้าลึกขึ้นมาหน่อยในส่วนกฎหมายผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศโดยตรงก็จะมีนักวิชาการที่มีชื่อเสียงที่เป็นที่รู้จักกันดีก็คือ Guy S. Goodwin-Gill และ James C. Hathaway ถ้าสนใจเรื่องสิทธิของผู้ลี้ภัยภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ นับเป็นหนังสือที่เป็นกุญแจสำคัญเลย ถ้าสนใจเรื่องกฎหมายอพยพระหว่างประเทศโดยรวมที่ไม่ได้เจาะจงเฉพาะกฎหมายผู้ลี้ภัย ก็อาจดู International Migration Law ของ Vincent Chetail งานของ B.S. Chimni มองกฎหมายและประเด็นผู้ลี้ภัยจากมุมมอง Global South ถ้าสนใจเรื่องที่พี่พูดเรื่องความอดอยาก ความยากจน ซึ่งจะเกี่ยวเนื่องกับ Socio-Economics Rights ก็จะเป็นงานของ Michelle Foster หรือถ้าสนใจเรื่อง Climate Change ก็ให้ไปดูงานเขียนของ Jane McAdam


ถ้าอยากอ่านงานที่เขียนโดยนักวิชาการที่เป็นนักปฏิบัติด้วย ก็อาจหางานของ Volker Türk, Walter Kälin ประเด็น IDPs และก็งานของอาจารย์วิทิต มันตาภรณ์ อาจารย์เขียนเกี่ยวกับเอเชียไว้ค่อนข้างเยอะซึ่งน่าสนใจมากเพราะในภูมิภาคเราประเด็นเรื่องกฎหมายผู้ลี้ภัยยังไม่ได้รับการศึกษามากเท่าที่ควร อยากให้ช่วยกันผลักดันให้เกิดขึ้น


Illustration by Arnon Chundhitisakul

 

563 views0 comments

Comments


bottom of page