by Chanya Punyakumpol
แม้ว่าการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน (same-sex marriage) ในประเทศสหรัฐอเมริกาจะถูกกฎหมายในบางรัฐ ตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ.2558 แต่ก็ยังไม่ได้ถูกรับรองเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกรัฐจะต้องปฏิบัติตาม อย่างไรก็ตาม
ในปี พ.ศ. 2558 ศาลสูงสุดของสหรัฐ ได้มีคำพิพากษาในคดี Obergefell v. Hodges ที่มีผลในการรับรองให้การแต่งงานของคนเพศเดียวกันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน (fundamental right) ที่ทั้ง 50 รัฐจะต้องรับรอง เป็นที่น่าสนใจว่าการรับรองการแต่งงานของคนเพศเดียวกันในสหรัฐอเมริกาไม่ได้เกิดขึ้นจากการออกกฎหมายจากสภาคองเกรสหรือรัฐบาลกลาง เพื่อให้มีผลบังคับใช้ทั่วประเทศ
ทั้งนี้เนื่องจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องครอบครัวส่วนใหญ่จะอยู่ในอำนาจของรัฐแต่ละรัฐเป็นหลัก แต่เป็นผลมาจากการตีความว่าการแต่งงานเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกรัฐต้องรับรองให้เกิดขึ้นอย่างครอบคลุมและไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งนั่นหมายถึงการรับรองให้การแต่งงานของคนเพศเดียวกันเป็นไปได้อย่างถูกกฎหมายด้วย
แม้คดี Obergefell v. Hodges จะมีผลบังคับให้การแต่งงานของคนเพศเดียวกันได้รับการรับรองทั่วทุกรัฐในสหรัฐอเมริกา คำพิพากษานี้ก็ไม่ได้มีมติเป็นเอกฉันท์แต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม คำพิพากษาในคดีนี้มีเสียงข้างมาก 5 เสียง และเสียงข้างน้อย 4 เสียง ซึ่งถือได้ว่าเป็นคำพิพากษาที่หวุดหวิดจะแพ้เป็นอย่างยิ่ง
ในบทความนี้ผู้เขียนชวนอ่านส่วนหนึ่งของคำพิพากษาในคดี Obergefell v. Hodges ว่าผู้พิพากษาศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกา ซึ่งดำรงตำแหน่งตลอดชีพ และมีเพียง 9 คน ในประเทศนั้นมีความเห็นอย่างไรก็การแต่งงานของคนเพศเดียวกัน และมีเหตุผลสนับสนุนและค้านประเด็นนี้อย่างไร
เริ่มต้นกันที่ฝั่งเสียงข้างมากที่เห็นด้วยกับการรับรองการแต่งงานของคนเพศเดียวกันที่เขียนโดย Justice Anthony Kennedy เหตุผลหลักของการรับรองการแต่งงานของคนเพศเดียวกันภายใต้รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา ตั้งอยู่บนฐานที่ว่าสิทธิการในแต่งงานเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เป็นส่วนหนึ่งของเสรีภาพที่บุคคลหนึ่ง ๆ ควรได้รับการปกป้องคุ้มครองจากรัฐ การที่มีบางรัฐไม่ยอมรับการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน จึงถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานดังกล่าวของกลุ่มคนเพศหลากหลาย และถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยได้เขียนคำพิพากษาทิ้งท้ายไว้ดังนี้
“...marriage embodies a love that may endure even past death. It would misunderstand these men and women to say they disrespect the idea of marriage. Their plea is that they do respect it, respect it so deeply that they seek to find its fulfillment for themselves. Their hope is not to be condemned to live in loneliness, excluded from one of civilization's oldest institutions. They ask for equal dignity in the eyes of the law. The Constitution grants them that right.” - Justice Anthony Kennedy
จากคำกล่าวของ Justice Anthony Kennedy แปลเป็นไทยว่า การแต่งงานเป็นการแสดงความรักที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่อาจคงอยู่แม้เจ้าตัวจะตายแล้ว การมองว่าการแต่งงานของคนเพศเดียวกันถือเป็นเรื่องของการไม่เคารพต่อความศักดิ์สิทธิ์นั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจผิด อันที่จริงแล้วพวกเขาเคารพการแต่งงานมาก มากจนพยายามที่จะเรียกร้องสิทธิ์ที่จะสามารถแต่งงานได้ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อเติมเต็มความรักของพวกเขาต่างหาก ความหวังของพวกเขาไม่ควรถูกเหยียดหยาม ดูถูก และผลักไสให้อยู่ในความโดดเดี่ยวโดยไม่สามารถเข้าถึงพิธีกรรมอันเก่าแก่ของอารยธรรมของมนุษยชาติได้ วันนี้พวกเขาต้องการความเท่าเทียมในการใช้ชีวิตภายใต้กฎหมาย และวันนี้ศาลให้สิทธินั้นแก่พวกเขา
อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น มีผู้พิพากษา 4 ท่านที่ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของเสียงข้างมาก เป็นที่น่าสนใจว่าเหตุผลหลักของการไม่เห็นด้วยกลับไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเด็นการแต่งงานของคนเพศหลากหลายมากนัก น้ำหนักเหตุผลกลับไปอยู่ที่เรื่องของหลักการเปลี่ยนแปลงนโยบายและกฎหมายที่ควรจะอยู่กับฝ่ายนิติบัญญัติมากกว่าฝ่ายตุลาการ
“Understand well what this dissent is about: It is not about whether, in my judgment, the institution of marriage should be changed to include same-sex couples. It is instead about whether, in our democratic republic, that decision should rest with the people acting through their elected representatives, or with five lawyers who happen to hold commissions authorizing them to resolve legal disputes according to law.” - Chief Justice John Roberts
“A system of government that makes the People subordinate to a committee of nine unelected lawyers does not deserve to be called a democracy.” - Justice Antonin Scalia
อย่างไรก็ตาม Justice Samuel Alito หนึ่งในผู้พิพากษาเสียงส่วนน้อย ได้กล่าวถึงการแต่งงานของคนเพศเดียวกันในเชิงเนื้อหาว่า คำพิพากษาของเสียงข้างมากในคดีนี้จะมีผลในการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างการแต่งงานกับการให้กำเนิดทายาท โดยได้วิพากษ์การตีความการแต่งงานของคำพิพากษาเสียงข้างมากว่าเป็นการอ้างอิงความหมายของการแต่งงานแบบแนวคิดหลังสมัยใหม่ (post-modern) มากเกินไป และส่งผลให้ผลักไสกลุ่มคนที่มีความเชื่อตามขนบเดิม (traditional understanding) ให้กลายเป็นผู้ร้ายในสายตาของคนที่มีความเชื่อแบบใหม่ ๆ และลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออกของคนกลุ่มนี้
หันกลับมามองในส่วนของประเทศไทย ข้อถกเถียงเรื่องการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน หรือเพศหลากหลายกลายเป็นประเด็นในสังคมไทย เมื่อมีข่าวว่าจะมีการเสนอร่าง พรบ. คู่ชีวิต และ/หรือ การแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่ง เพื่อให้มีการสมรสที่เท่าเทียม สังเกตได้ว่าเส้นทางการรับรองการแต่งงานของคนเพศเดียวกันในประเทศไทยแตกต่างจากของประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีการอ้างถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่รับรองโดยรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว กล่าวคือ สิทธิในการได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันในเรื่องของการแต่งงาน ในประเทศไทยการเรียกร้องอยู่ในรูปแบบของการร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ หรือกลับไปแก้กฎหมายเก่าแทน ซึ่งเป็นเส้นทางที่ Chief Justice John Roberts บอกว่าถูกต้องมากกว่า เนื่องจากมาจากเจตจำนงของประชาชน ผ่านผู้แทนในการร่างกฎหมายอย่างแท้จริง มิใช่ผ่านการตีความกฎหมายของคน 9 คนในประเทศ
มาถึงตรงนี้ผู้เขียนขอสรุปบทความว่า การเรียกร้องความเท่าเทียมกันในสังคม ไม่ว่าจะในรูปแบบใด ๆ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการเรียกร้องในเส้นทางของประชาธิปไตย อาจมองได้ว่าสิทธิเสรีภาพในประเด็นเฉพาะต่าง ๆ ล้วนประกอบสร้างกันเป็นสังคมที่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง
ดังนั้นแล้วการเรียกร้องการแต่งงานที่เท่าเทียมกันสำหรับทุกคนในสังคม เป็นส่วนหนึ่งของการเรียกร้องเสรีภาพ ความเท่าเทียมและประชาธิปไตยที่แท้จริง เสรีภาพในการมีคู่ครองที่ได้รับการรับรองจากรัฐ สิทธิในการแต่งงานและผลประโยชน์ที่รัฐจะมีให้กับคู่สมรสไม่ควรถูกแบ่งแยกเพียงเพราะเรามีรสนิยมทางเพศที่แตกต่างกัน เนื่องจากคนเราไม่ได้เกิดมาและสามารถเลือกได้ว่าจะรักใคร ดังนั้นการที่รัฐแบ่งแยกและให้สิทธิกับคนกลุ่มหนึ่งที่บังเอิญรักคนที่มีเพศตรงตามขนบ และผลักไสคนอีกกลุ่มหนึ่งที่รักคนที่มีเพศที่หลากหลายออกไป ทั้ง ๆ ที่ทั้งสองกลุ่มเป็นประชาชน และเสียภาษีเหมือน ๆ กัน นั้นเป็นเรื่องของการใช้กฎหมายตามอำเภอใจและปราศเหตุผลทางหลักนิติธรรม
อ้างอิง
Illustration by Arnon Chundhitisakul
Comments