top of page
  • Writer's pictureTSIS

แบบเรียนไทยกับทัศนคติเรื่องเพศที่ล้าหลัง: กรณีศึกษาภาษาพาที ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

By Setthaphong Matangka

เมื่อสัปดาห์ก่อน ประเด็นร้อนแรงที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในโลกออนไลน์ หลังจากผู้ใช้เฟซบุ๊กรายนึงแชร์ภาพแบบเรียนภาษาพาที ของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช พ.ศ.2551
ภาษาพาที ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

เนื้อหาในแบบเรียนพูดถึงเรื่องราวของ ‘เกี๊ยว’ เด็กหญิงใจแตกที่พลาดท่าตั้งท้องตั้งแต่วัยรุ่น ทำให้พ่อแม่ผิดหวัง ในขณะเดียวกัน แบบเรียนก็หยิบยกเรื่องราวของ ‘น้ำอ้อย’ เพื่อนของเกี๊ยวขึ้นมาเปรียบเทียบ น้ำอ้อยกำลังมีความรักกับเดช เพื่อนรุ่นเดียวกัน ทั้งสองวางแผนไปเที่ยวทะเลในวันหยุด น้ำอ้อยเข้ามาขอคุณพ่อไปเที่ยว แต่โดนปฏิเสธ ทำให้น้ำอ้อยไม่พอใจอย่างมาก สุดท้ายป้าใหญ่เข้ามาชักชวนน้ำอ้อยและเดชมาอยู่บ้านในช่วงปิดเทอม แต่มีข้อแม้ว่า ทั้งสองจะต้องช่วยกันเลี้ยงตุ๊กตาเบบี๋ที่ถูกตั้งโปรแกรมเสมือนลูกจริง ๆ เป็นระยะเวลาสามเดือน ถ้าทำสำเร็จ พ่อแม่จะไม่เข้ามาขัดขวางความรักของทั้งสองอีก


ทั้งสองช่วยกันเลี้ยงตุ๊กตาเบบี๋ เวลาผ่านไปเรื่อย ๆ เดชกับน้ำอ้อยเริ่มทะเลาะกัน ท่าทีของเดชเปลี่ยนไป ปล่อยให้น้ำอ้อยเลี้ยงเบบี๋อยู่คนเดียว โดยอ้างว่าตนเองติดธุระ


ผ่านไปหลายวัน น้ำอ้อยติดต่อเดชไม่ได้ เพราะเดชปิดโทรศัพท์มือถือ ท้ายที่สุดน้ำอ้อยรู้ข่าวจากเพื่อนในกลุ่มว่า เดชหนีเที่ยวออกไปดูหนังกับเพื่อน ๆ ทิ้งความรับผิดชอบให้น้ำอ้อยดูแลเบบี๋ ทำให้เธอรู้ตัวว่าเดชยังไม่มีความเป็นผู้ใหญ่ เธอยังไม่รู้จักตัวตนจริง ๆ ของเดช ถ้าไม่เจอกับเหตุการณ์นี้


ย่อหน้าสุดท้ายของแบบเรียน ยกคำพูดเรื่อง “ชิงสุกก่อนห่าม” โดยพูดว่า น้ำอ้อยโชคดีที่มีผู้ใหญ่มาคอยสอนบทเรียน มิเช่นนั้นคงเหมือนเกี๊ยวเพื่อนสนิทของเธอ


ความคิดเห็นในโลกออนไลน์บางส่วนมองว่า เนื้อหาในแบบเรียนล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับทัศนคติเรื่องเพศในปัจจุบัน ผู้ใช้เฟซบุ๊กบางคนแสดงความเป็นห่วงการศึกษาของเด็กไทย


จากกรณีแบบเรียนภาษาพาที ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 สูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช พ.ศ.2551 แสดงให้เห็นถึง “อุดมการณ์” บางอย่างที่แฝงอยู่ในหนังสือนอกเหนือไปจากเนื้อหาวิชาการ แต่สอดแทรกค่านิยมของการเป็น “เด็กดี” บางประการ ซึ่งมีงานวิจัยทำการวิเคราะห์อุดมการณ์ที่แฝงอยู่ในหนังสือเรียน


ความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับอุดมการณ์ในหนังสือเรียนภาษาไทย


วิทยานิพนธ์เรื่อง “ความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับอุดมการณ์ในหนังสือเรียนรายวิชาภาษาไทย ตามหลักสูตรประถมศึกษา พ.ศ.2503 – 2544: กรณีศึกษาตามแนววาทกรรมวิเคราะห์เชิงพากษ์” โดย วิสันต์ สุขวิทธิ์ คณะอักษรศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาอุดมการณ์ที่ประกอบสร้างและสื่อผ่านกลวิธีทางภาษาในหนังสือรายวิชาภาษาไทยระดับประถมศึกษา จำนวน 4 หลักสูตร ตามแนวคิดวาทกรรมวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ อาศัยกรอบมิติวาทกรรมของแฟร์คลาฟ (Faireclough) และศึกษาเปรียบเทียบอุดมการณ์ที่สื่อผ่านหนังสือเรียนแต่ละหลักสูตร


ประเด็นอุดมการณ์ที่ประกอบสร้างและสื่อผ่านกลวิธีทางภาษา จากการศึกษาพบว่า ใช้สื่ออุดมการณ์ต่าง ๆ จำนวน 15 กลวิธี กลวิธีทางภาษาที่ตัวบทหนังเรียนใช้เป็นหลักเพื่อสื่ออุดมการณ์ ได้แก่ (1) การเลือกใช้คำศัพท์ (2) การใช้ประโยคแสดงเหตุผล (3) การแสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลด้วยโครงสร้างประโยค (4) การใช้ความเชื่อที่มีอยู่ก่อน และ (5) การใช้เสียงที่หลากหลาย

“อุดมการณ์เด่นที่พบในหนังสือเรียนทุกเล่มคือ อุดมการณ์เด็กและอุดมการณ์ความเป็นหญิงและความเป็นชาย”

ผลการเปรียบเทียบอุดมการณ์ที่สื่อผ่านหนังสือเรียนแต่ละหลักสูตรพบว่า ความคิดของอุดมการณ์บางชุดเป็นอุดมการณ์ที่ปรากฎซ้ำอย่างต่อเนื่องในหนังสือเรียนทุกหลักสูตร อาทิ ความคิดที่ว่า เด็กคือสมาชิกที่ดีของสังคมและพลเมืองที่ดีของชาติ ประเทศไทยคือ ประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ เจริญรุ่งเรืองและสงบร่มเย็น


นอกจากนั้นยังพบความคิดย่อยบางชุดที่ปรากฎอยู่ในหนังสือเรียนบางหลักสูตร เช่น ความคิดย่อยที่สื่อว่า เด็กดีคือคนที่ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ซึ่งเนื้อหาดังกล่างพบในหนังสือเรียนหลักสูตร พ.ศ.2521 และ พ.ศ.2544


ผลการศึกษาวิถีปฏิบัติทางวาทกรรม พบว่า หนังสือเรียนเป็นวาทกรรมที่ผลิตขึ้นโดยเป็นการควบคุมของหน่วยงานด้านการศึกษาของรัฐ เพื่อใช้เป็นระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งประชาชนเข้ารับการศึกษาผ่านการถ่ายทอดโดย “ครู” บุคคลซึ่งสังคมไทยให้ความเคารพ ดังนั้นหนังสือเรียนคือวาทกรรมที่มีสถาบันรับรอง และถูกตีความในฐานะของความรู้ที่ถูกต้อง เหมาะสม เข้าถึงคนทุกระดับ


ผลการศึกษาวิถีปฏิบัติทางสังคมและวัฒนธรรม พบว่า อุดมการณ์ที่สื่อผ่านหนังสือเรียนเกี่ยวข้องกับความคิดและค่านิยมในสังคมหลายประการ ได้แก่ (1) ความคิดเรื่องความอาวุโส (2) ระบบอุปถัมภ์ (3) ความคิดทางพระพุทธศาสนา (4) ความคิดเรื่องชายเป็นใหญ่ และ (5) แนวคิดและนโยบายของรัฐที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละสมัย


อุดมการณ์ที่ปรากฏในแบบเรียนส่งผลต่อความคิดและความเชื่อของผู้อ่านในสังคม ทั้งการนิยามความของสมาชิกที่ดีของสังคมไทย ภาพบุคคลในอุดมคติในสังคม และการกำหนดแบบแผนความสัมพันธ์ของคนในสังคม

"หนังสือเรียนคือ วาทกรรมที่ผลิตซ้ำอุดมการณ์ของรัฐและผู้มีอำนาจในสังคมเพื่อเตรียมให้เยาวชนให้เป็นสมาชิกที่ดีของสังคมตามที่รัฐเห็นว่าเหมาะสม สุดท้ายอุดมการณ์เหล่านั้นอาจสร้างความไม่เท่าเทียมกันระหว่างบุคคลในสังคม"

นิยามของอุดมการณ์ ตามแนวคิดของฟาน ไดก์ (Van Dijk) หมายถึง ระบบความคิด ความเชื่อที่มีอยู่ร่วมกันของสมาชิกในสังคม ซึ่งส่งผลต่อทัศนคติและการแสดงออกทางสังคมของสมาชิก


กรณีเนื้อหาเรื่อง “เกี๊ยว” ในแบบเรียนภาษาพาที ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 คือ ตัวอย่างของการเสริมสร้างอุดมกาณ์ผ่านแบบเรียนที่ผลิตซ้ำวาทกรรมโดยรัฐที่ปลูกฝังความคิด ความเชื่อว่าคนที่ท้องตั้งแต่วัยเรียนจะกลายเป็นคนไม่มีอนาคต ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต และผลักภาระให้กับเด็กที่ไม่เดินตามกรอบที่ผู้ใหญ่ขีด แม้ว่าในชีวิตจริงมีเด็กหญิงที่ตั้งครรภ์จากความผิดพลาด สังคมพร้อมจะกล่าวโทษและมองว่าคือสิ่งชั่วร้าย ไม่มีการอภัยโทษหรือหาทางให้เธออยู่ร่วมกับสังคมได้ต่อไป และในสังคมไทยปัจจุบันมีเด็กจำนวนมากที่ถูกผลักออกจากระบบการศึกษาเนื่องจากตั้งครรภ์ และรัฐไม่มีแนวทางการเยียวยาใด ๆ หรือปลูกฝังการศึกษาเรื่องเพศศึกษาที่ถูกวิธี นอกจากสอนว่า “ห้ามทำ”


การยกสำนวน “ชิงสุกก่อนห่าม” คือ การปลูกฝังความคิดว่า การมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงานคือสิ่งที่ผิด นอกจากนั้นยังเป็นการผลิตซ้ำอุดมการณ์ความเป็นหญิงและความเป็นชายที่ส่งผลไปถึงการกำหนดแบบแผนความสัมพันธ์ของคนในสังคม เช่น หน้าที่ในการเลี้ยงดูลูกคือของผู้หญิง ส่วนผู้ชายมีพื้นที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะ ดังกรณีของ ‘น้ำอ้อย’ กับ ‘เดช’ ที่ถึงแม้ตอนแรกทั้งสองจะช่วยกันเลี้ยงดูเบบี๋ แต่สุดท้ายเดชผลักภาระในการเลี้ยงดูให้น้ำอ้อยเพียงคนเดียว และออกไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนข้างนอก


เรามองว่า ระบบการศึกษาไทยไม่ได้สอนให้คนในสังคมรู้จักการวิพากษ์วิจารณ์แต่สอนให้คัดลอก จดจำในสิ่งที่ปรากฏอยู่ในแบบเรียนไทย ลองนึกภาพย้อนไปตอนเรียนวิชาศิลปะ เราเริ่มจากการวาดต้นไม่สีเขียว วาดหน้าต่างสี่เหลี่ยม โดยที่ไม่มีการตั้งคำถามว่าทำไมต้องวาดภาพแบบนี้ เช่นเดียวกับกรณีเดียวกันแบบเรียนไทย เราเคยตั้งคำถามกับเนื้อหาที่อยู่ในแบบเรียนหรือไม่ ?


การออกแบบการสอนหรือเนื้อหาในหลักสูตรของการศึกษาไทยไม่ตอบสนองตามสังคมยุคปัจจุบันที่มีความหลากหลาย ยังคงผลิตเนื้อหาที่มีใจความสำคัญคือค่านิยมของไทยอันดีงามเมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมา แม้จะเปลี่ยนเรื่องราว เปลี่ยนภาษาให้เหมาะสมกับยุคสมัย แต่อุดมการณ์ที่ต้องการปลูกฝังเด็กให้ไม่มีความคิด หรือมีทางเลือกอื่น ๆ นอกจากเป็นเด็กดีตามความคิดของ “ผู้ปกครอง” ไทยยังคงหลงเหลืออยู่ในแบบเรียน


แหล่งอ้างอิง

ภาษาพาที ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช พ.ศ.2551


วิสันต์ สุขวิสิทธิ์. 2555. ความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับอุดมการณ์ในหนังสือเรียนรายวิชาภาษาไทย ตามหลักสูตรประถมศึกษา พ.ศ.2503 - 2544: กรณีศึกษาตามแนววาทกรรมวิเคราะห์เชิงพากษ์. ปริญญาอักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต, สาขาวิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.


Illustration by Arnon Chundhitisakul

 

2,710 views
bottom of page