top of page
Writer's pictureTSIS

UPOV 91, CPTPP, ผลประโยชน์ที่ได้ และราคาที่ต้องจ่าย

by Chanya Punyakumpol


ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ประเทศไทยมีข่าวเรื่องการเข้าเป็นประเทศสมาชิกของ Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership หรือ CPTPP ประเด็นที่หลายคนให้ความสนใจ คือเรื่องของการจำเป็นต้องลงนามในอนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (International Union for the Protection of New Varieties of Plants 1991 : UPOV 1991)


เนื่องจากผู้เขียนเห็นว่าการลงรายละเอียดเรื่องของ UPOV 91 จะเป็นประโยชน์ในการพูดคุยถึงความจำเป็นในการเข้าร่วม CPTPP ในบทความนี้จึงนำเสนอรายละเอียด โดยอ้างอิงโดยตรงจาก UPOV 91 และการวิเคราะห์ส่วนตัวของผู้เขียนเองถึงในการเข้าร่วม UPOV 91 เพื่อให้ได้พูดคุยวิเคราะห์กันต่อไป


UPOV 91 หรืออนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ เป็นสัญญาระหว่างประเทศที่มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้อง “พันธุ์พืชใหม่” ที่จดสิทธิบัตรไว้ โดยพันธุ์พืชที่จะได้รับการคุ้มครองนั้นจะต้องมีคุณสมบัติครบ 4 ประการ ได้แก่


1) ความใหม่ (Novelty) โดย ณ วันที่ขอจดทะเบียน ผลผลิตจากพันธุ์พืชดังกล่าวจะต้องยังไม่เคยถูกนำไปขายหรือแจกจ่ายออก เกิน 1 ปี (ในประเทศที่ขอจดทะเบียน) หรือ 4 ปี (ในประเทศอื่น) โดยหรือได้รับอนุญาตจากผู้พัฒนาพันธุ์พืชนั้น

2) มีลักษณะเฉพาะ (Distinctness) โดยจะต้องมีความแตกต่างอย่างชัดเจน (clearly distinguishable) จากพันธุ์พืชอื่นที่มีลักษณะเฉพาะเป็นที่ทราบโดยทั่วไป (common knowledge)

3) มีความเหมือนกันในลักษณะเฉพาะ (Uniform) หมายถึง พืชหรือผลผลิตที่ได้มีลักษณะเฉพาะที่เหมือนกันอย่างมีนัยยะสำคัญ

4) มีความคงที่ (Stability) นั้นคือลักษณะเฉพาะนั้นยังคงอยู่แม้จะมีการนำไปแพร่พันธุ์ต่อหลายครั้ง (repeated propagation)


โดยหากได้รับการคุ้มครอง จะเรียกว่า Protected Variety Plant หรือ PVP ผู้พัฒนาพันธุ์พืช (breeder) จะมีสิทธิในพันธุ์พืชนั้น ๆ แต่เพียงผู้เดียว ในแง่ต่าง ๆ ดังนี้ มีสิทธิในการผลิตและแพร่พันธุ์ (reproduction) กำหนดเงื่อนไขในการนำพันธุ์พืชไปแพร่พันธุ์ต่อ จำหน่าย ส่งออก หรือนำเข้า และเก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อวัตถุประส่งต่าง ๆ ข้างต้น อันรวมไปถึงผลิตผลที่ได้จากพันธุ์พืชเหล่านั้นด้วย โดยมีระยะเวลาในการคุ้มครองไม่ต่ำกว่า 20 ปี หรือ 25 ปีสำหรับต้นไม้หรือไม้เถาวัลย์ (trees or vines)


ข้อยกเว้นในการได้รับการคุ้มครอง คือการนำพันธุ์พืชไปใช้ต่อส่วนตัว โดยไม่มีวัตถุประสงค์ทางการค้า และเป็นไปเพื่อการทดลอง เพื่อนำไปพัฒนาสายพันธุ์อื่นต่อ อย่างไรก็ตาม หากพันธุ์พืชที่นำไปพัฒนาต่อนั้น จำเป็นต้องได้รับการพัฒนามาจากพันธุ์พืชที่ได้รับการคุ้มครอง (essentially derived) เท่านั้น ข้อยกเว้นนี้จะไม่สามารถนำมาใช้ได้ อย่างไรก็ตามรัฐสามารถจำกัดสิทธิของผู้พัฒนาพันธุ์พืชได้หากเป็นไปเพื่อสาธารณะประโยชน์ (public interest) แต่ก็มีข้อกำหนดว่า ในกรณีดังกล่าว ผู้พัฒนาพันธุ์พืชจะต้องได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม

หากพิจารณาดูแล้ว ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกใน UPOV 91 คงหนีไม่พ้นผู้ที่มีศักยภาพในการพัฒนาสายพันธุ์พืชใหม่ ๆ และสามารถสร้างรายได้เพิ่มเติมจากการเป็นเจ้าของสายพันธุ์ ทั้งนี้เกษตรกร ในฐานะผู้ใช้พันธุ์พืช เพื่อการผลิต อาจไม่ได้รับประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากพันธุ์พืชที่ใช้อยู่ไม่ได้รับการคุ้มครองอยู่แล้ว หรืออาจเสียประโยชน์เนื่องจากไม่สามารถใช้พันธุ์พืชที่ได้รับการคุ้มครองได้


ประเด็นคำถามที่ต้องตอบก่อนประเทศไทยจะเข้าเป็นประเทศสมาชิกของ CPTPP และลงนามใน UPOV 91

  1. ในปัจจุบันเกษตรกรไทยมีการพึ่งพาพันธุ์พืชที่ได้รับการคุ้มครองจาก UPOV 91 หรือมากแค่ไหน หากเทียบกับพันธุ์พืชดั้งเดิม หรือที่พัฒนาขึ้นเอง

  2. รัฐจะมีฐานข้อมูลพันธุ์พืชพื้นเมืองที่ครอบถ้วนเพียงใด ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ใช้เกิดกรณีการนำพันธุ์พืชพื้นเมืองไปพัฒนาต่อและถูกผูกขาดต่อไป (ป้องกันการอ้างว่าพันธุ์พืชที่พัฒนามานั้นไม่ได้จำเป็นต้องได้รับการพัฒนามาจากพันธุ์พืชพื้นเมือง (essentially derived)) ซึ่งจะทำให้เกษตรกรอาจนำพันธุ์พืชดังกล่าวไปใช้ต่อไม่ได้

  3. รัฐจะมีแนวนโยบายการส่งเสริมให้มีผู้พัฒนาพันธุ์พืชใหม่ หรือส่งเสริมศักยภาพของเกษตรกรให้เป็นผู้พัฒนาพันธุ์พืช เพื่อจดทะเบียนเป็น PVP ยกระดับประเทศจากผู้ส่งออกผลผลิตทางการเกษตรเพียงอย่างเดียว เป็นผู้ส่งออกพันธุ์พืชควบคู่ไปด้วย หรือไม่ อย่างไร

  4. รัฐจะมีแนวนโยบายสนับสนุนให้เกษตรกรร่วมมือกับผู้พัฒนาพันธุ์พืช เพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันได้หรือไม่ อย่างไร ทั้งนี้การป้องกันการผูกขาดในพันธุ์พืช จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเพิ่มศักยภาพผู้พัฒนาพันธุ์พืช ไม่ให้ผูกขาดอยู่กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และให้มีความหลากหลายมากที่สุด เพื่อให้ตลาดพันธุ์พืชมีทางเลือกมากกว่ากลุ่มทุนผูกขาด โดยอาจพิจารณาสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถพัฒนาพันธุ์พืชเอง และเป็นเจ้าของพันธุ์พืชต่อไป

ทั้งนี้ หากประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิก CPTPP อาจมีระยะเวลา 3 ปีก่อนที่ UPOV 91 จะมีผลบังคับใช้ คำถามสำคัญคือ รัฐจะมีนโยบายที่ชัดเจน เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับเกษตรกรผู้ใช้พันธุ์พืช ตามคำถามข้างต้นได้ภายใน 3 ปีดังกล่าว อย่างเป็นรูปธรรมได้หรือไม่ ในทางกลับกัน หากรัฐไม่มีแนวทางการดำเนินการอย่างชัดเจน ข้อดีที่จะได้จาก UPOV 91 ก็คงไม่เกิดขึ้น และข้อเสียก็ยิ่งมีทวีคูณ


สุดท้ายนี้ ผู้เขียนนำเสนอแนวทางการลดผลกระทบจาก UPOV 91 จากประเทศสมาชิกของ CPTPP ได้แก่ ประเทศนิวซีแลนด์ โดยตาม Annex 18-A ของ CPTPP ประเทศนิวซีแลนด์ มีทางเลือกสองทางที่เกี่ยวข้องกับ UPOV 91 ได้แก่ 1) เข้าร่วมในอนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV 91) หรือ 2) จัดทำกฎหมายภายในประเทศที่ “ให้ผล” (give effect) เท่าเทียมกับ UPOV 91 แต่ไม่จำเป็นต้องทำตาม UPOV 91 ตราบเท่าที่มีความจำเป็นในการปกป้องพันธุ์พืชพื้นเมือง โดยที่มาตราการในการปกป้องพันธุ์พืชพื้นเมืองจะต้องไม่เป็นการใช้กฎหมายตามอำเภอใจ (arbitrary) หรือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่มีเหตุผลความจำเป็น (unjustified discrimination) ต่อประเทศสมาชิกอื่น อีกประเด็นที่สำคัญคือ ข้อยกเว้นดังกล่าวของประเทศนิวซีแลนด์ จะไม่สามารถนำมาเป็นประเด็นในกระบวนการระงับข้อพิพาท (dispute settlement) ได้ แน่นอนในการเข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิก CPTPP แต่ละประเทศสามารถเจรจาต่อรองเพื่อเป็นข้อยกเว้นในแต่ละกรณีได้ แต่จะประสบความสำเร็จในการเจรจาขนาดไหนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ความใหม่ (Novelty): Article 6 of UPOV 91 
ผู้พัฒนาพันธุ์พืช: เป็นที่น่าสังเกตว่า หากมีการแจกจ่ายนำไปใช้ โดยผู้พัฒนาพันธุ์พืชดังกล่าว “ไม่ได้อนุญาต” หรือ “ไม่ได้รับรู้มาก่อน” ข้อกำหนดเรื่องระยะเวลาก็ไม่มีความจำเป็นต่อไป 
มีลักษณะเฉพาะ (Distinctness): Article 7 of UPOV 91 
มีความเหมือนกันในลักษณะเฉพาะ (Uniform): Article 8 of UPOV 91 
มีความคงที่ (Stability): Article 9 of UPOV 91 
Protected Variety Plant: Article 14(1) 
ข้อยกเว้นในการได้รับการคุ้มครอง: Article 15
พิจารณาข้อยกเว้นในขอบเขตการคุ้มครอง Article 14(5)(i): varieties which are essentially derived from the protected variety, where the protected variety is not itself an essentially derived variety

แหล่งอ้างอิง

Illustration by Arnon Chundhitisakul

 

276 views0 comments

Comments


bottom of page