top of page
  • Writer's pictureTSIS

การข่มขืนและปัญหากระบวนการยุติธรรมที่ออกแบบจากความไม่เข้าใจในตัวผู้ถูกกระทำ

by Chanya Punyakumpol

เมื่อเกิดเรื่องน่าสะเทือนขวัญอย่างคดีข่มขืนขึ้น ความสนใจส่วนใหญ่พุ่งตรงไปที่ผู้กระทำความผิดและการลงโทษที่สมควรและสาสมกับการกระทำนั้น หลายคนอาจมุ่งประเด็นไปที่การป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้อีกต่อไป อย่างไรก็ตามประเด็นหนึ่งที่ขาดหายไปจากการตั้งคำถามของสังคมและสื่อหลักอยู่เสมอ คือ ประสบการณ์ที่ผู้ถูกกระทำต้องเจอในขณะที่ต้องเข้าสู้กระบวนการยุติธรรม ซึ่งตามหลักการแล้วควรจะเป็นส่วนหนึ่งของการ “เยียวยา” จิตใจของผู้ถูกกระทำ พร้อม ๆ กับการเยียวยาของสังคม แน่นอนว่าการเยียวยาทางจิตใจของผู้ถูกกระทำสามารถทำได้หลายทาง ตามกระบวนการของนักสังคมสงเคราะห์ การนำเสนอข่าวอย่างมีจรรยาบรรณ หรือแม้กระทั้งการปฏิบัติตัวของสังคมคนใกล้ชิด และครอบครัว


บทความนี้นำเสนอประเด็นของกระบวนการยุติธรรมที่ผู้ถูกกระทำจะต้องประสบหลังเกิดเหตุข่มขืนขึ้น โดยเน้นให้ผู้อ่านตั้งคำถามว่า กระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่นั้นสามารถช่วยเยียวยา หรือกลับเป็นการ “ข่มขืนซ้ำ” มากกว่ากันแน่


หากใครเคยดูซีรีส์ของ Netflix เรื่อง Unbelievable ที่ถ่ายทอดจากเรื่องจริงของผู้ถูกข่มขืนในบริบทของประเทศสหรัฐอเมริกา อาจเห็นภาพมากขึ้นว่า อันที่จริงแล้ว สภาพจิตใจของผู้ถูกข่มขืนนั้นถูกทำร้ายในระหว่างการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไม่น้อยเลยทีเดียว


เรื่องราวเริ่มต้นจากคดีข่มขืน Marie หญิงสาววัย 18 ปี ซึ่งหลังจากที่แจ้งตำรวจแล้ว ต้องผ่านกระบวนการให้การเรื่องเดิมซ้ำ ๆ หลายรอบกับเจ้าหน้าที่หลายภาคส่วน ทั้งยังต้องเจอกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องการปิดคดีอย่างรวดเร็วเนื่องจากไม่สามารถหาหลักฐานอะไรที่สาวถึงตัวผู้กระทำผิดได้ ทำให้เกิดความสงสัยในคำให้การของ Marie ที่ดูจะไม่หนักแน่น (เนื่องจากการกระทบกระเทือนทางจิตใจ) จนทำให้ Marie ต้องถอนคำร้องในที่สุด อย่างไรก็ตามความผิดพลาดของการทำงานครั้งนั้นกลับนำไปสู่เรื่องราวเข้มข้นในภายหลัง (สามารถติดตามต่อใน Netflix ได้)


ประสบการณ์ของ Marie ใน Unbelievable ก็ไม่ต่างจากเรื่องราวของ “ขวัญ” ผู้ถูกลูกจ้างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ข่มขืนบนรถไฟ เมื่อปี 2544 จากรายงานของหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ขวัญเล่าว่า “ความรู้สึกของขวัญตอนที่อยู่ในศาล เหมือนถูกข่มขืนอีกครั้งกลางศาล คำถามแต่ละคำที่ทนายความจำเลยถาม มันทำร้ายจิตใจ ดูถูกคุณค่าความเป็นลูกผู้หญิง และความเป็นมนุษย์ เช่นถามว่า อวัยวะเพศของคนที่ทำมันใหญ่เท่าไหร่ ยาวเท่าไหร่ คำถามพวกนี้มันทำร้ายจิตใจมาก น่าจะมีการ กลั่นกรอง หรือทำอะไรสักอย่างให้ผู้หญิงรู้สึกดีขึ้น”


แน่นอนว่าขวัญไม่ใช่คนเดียวที่มีประสบการณ์เสมือนการข่มขืนซ้ำจากกระบวนการยุติธรรม จากรายงานร่วมของ UN Women, UNDP, UNODC ในกรณีศึกษากระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับคดีข่มขืนในประเทศไทยและประเทศเวียดนาม พบว่า ในการสืบหาข้อเท็จจริงส่วนใหญ่เน้นหนักไปที่คำให้การของผู้ถูกกระทำมากกว่าหลักฐานทางกายภาพ ซึ่งมีสภาพบังคับให้ผู้เสียหายต้องรับภาระการเล่าเรื่องราวซ้ำ ๆ หลายรอบ และที่สำคัญในการพิสูจน์หลักฐานบางครั้งมีความเข้าใจผิดว่าจำเป็นที่จะต้องมีการใช้กำลังรุนแรง ซึ่งไม่จำเป็นเสมอไป จากการศึกษากรณีทั้งหมด 169 กรณีศึกษา พบว่า กว่าร้อยละ 68 ของผู้ถูกกระทำ ไม่มีบาดแผลจากการถูกกระทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ผู้ถูกกระทำมีอายุน้อย


ประเด็นการปกป้องผู้ถูกกระทำจากความกดดันของครอบครัวถือเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้ผู้ถูกกระทำไม่กล้าเริ่มต้นการดำเนินคดี จากรายงานร่วมของ UN Women, UNDP, UNODC ข้างต้น พบว่ากว่าร้อยละ 91 ผู้กระทำผิดเป็นคนใกล้ชิด หรือรู้จักกับผู้ถูกกระทำเป็นอย่างดี ทำให้ผู้ถูกกระทำไม่กล้าจะนำเรื่องไปบอกคนอื่นในครอบครัว หรือดำเนินคดี เนื่องจาก “เขาเป็นผู้ใหญ่ที่เคารพ” หรือ “เป็นเรื่องภายในครอบครัว”


ดังนั้นแล้วกระบวนการยุติธรรมควรมีการออกแบบที่คำนึงถึงบริบทของผู้ถูกกระทำ ตั้งแต่แรกเริ่ม กล่าวคือ การออกแบบรูปแบบการร้องเรียนที่ปลอดภัยกับผู้ถูกกระทำ การป้องกันไม่ให้ถูกกดดันหรือทำร้ายจากผู้กระทำผิด ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นคนใกล้ตัว รูปแบบคำให้การและการดำเนินการของกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ตำรวจ อัยการ และการให้การในศาลที่คำนึงถึงสภาพจิตใจของผู้ถูกกระทำเป็นสำคัญ เนื่องจากการรักษาสภาพจิตใจไม่ใช่เรื่องที่สามารถทำได้เพียงการนำผู้กระทำผิดไปลงโทษให้สาสม


Illustration by Panukorn Chasi

 

270 views
bottom of page