top of page
  • Writer's pictureTSIS

COVID-19 และแผนทางการศึกษาไทย

by Arnon Chundhitisakul

เมื่อสัปดาห์ก่อนเราพูดถึงประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ (สูง) ทางการศึกษาไทย จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทางสำนักงานคณะกรรมการ การศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ทำการจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจการจัดการศึกษาทางไกลในสถานการณ์โรคติดต่อ เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยได้มีการวางแผนเป็นระยะ ดังนี้


- ระยะที่ 1 การเตรียมความพร้อม ระยะเวลาดำเนินการวันที่ 1 เมษายน – 17 พฤษภาคม 2563

- ระยะที่ 2 ทดลองจัดการเรียนการสอนทางไกล ระยะเวลาดำเนินการวันที่ 18 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน 2563

- ระยะที่ 3 จัดการเรียนการสอนทางไกล ระยะเวลาดำเนินการวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 – 30 เมษายน 2564


ในระยะที่ 3 จะเป็นการเปิดการศึกษา ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 และจะมีการประเมินสถานการณ์โรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในกรณีสถานการณ์คลี่คลายจะให้เน้นการเรียน การสอนปกติในโรงเรียน โดยให้เว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และมีแผนรองรับสถานการณ์ ฉุกเฉินต่าง ๆ โดยจะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด


ในกรณีสถานการณ์ไม่คลี่คลาย ในระดับปฐมวัย – ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จะมีการจัดการเรียนการ สอนด้วยระบบทางไกลผ่าน DLTV และในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จะมีการจัดการเรียนการสอนด้วยวิดีทัศน์การสอนโดยครูต้นแบบ และระบบออนไลน์ด้วยเครื่องมือการเรียนรู้ตามความเหมาะสมและบริบทของสถานศึกษา


หากสถานการณ์โรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ไม่คลี่คลาย และให้มีการจัดการเรียน การสอนทางไกลก็อาจปัญหาความเหลื่อมล้ำอันมาจากความไม่พร้อมของเด็กนักเรียนในการรับมือกับการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ โดยทางองค์กรเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Co-operation and Development - OECD) ร่วมกับคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้จัดทำกรอบแนวทางสำหรับภาคการศึกษาในการตอบสนองต่อวิกฤตการณ์ COVID-19 (A framework to guide an education response to the COVID-19 pandemic of 2020) โดยการ ใช้ข้อมูลการสำรวจของ OECD สำหรับนักเรียนอายุ 15 ปี จำนวนกว่า 600,000 คน จาก 79 ประเทศ ทั่วโลก ในปี 2018 ซึ่งได้มีการสำรวจสถานการณ์การใช้ ICT การครอบครองอุปกรณ์ดิจิทัลต่าง ๆ การเชื่อมสัญญาณ อินเทอร์เน็ต แนวทางการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ทำให้เห็นถึงสถานการณ์ของแต่ละประเทศในเรื่องนี้ว่ามีความพร้อมที่แตกต่างกันอย่างไร


ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เข้าร่วมในการสำรวจครั้งนี้ ซึ่งข้อมูลต่อไปนี้ จะเป็นการนำเสนอโดยเน้นเปรียบเทียบระหว่างประเทศไทยกับประเทศอื่น ๆ ที่อยู่ในสภาวะการปิดโรงเรียนและใช้การเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์เป็นพิเศษในสถานการณ์ COVID-19 เช่น จีน เกาหลีใต้ ฮ่องกง สเปน อิตาลี สหรัฐอเมริกา และจะเปรียบเทียบระหว่างนักเรียนไทยที่มีสถานะทางเศรษฐกิจแตกต่างกันเพิ่มเติม เพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ดังนี้


สถานที่สำหรับเรียนในบ้านสำหรับเด็ก การมีห้องหรือสถานที่เงียบๆ ในบ้านสำหรับทำการบ้าน หรืออ่านหนังสือ นับเป็นปัจจัยสำคัญเบื้องต้นของความสำเร็จในการเรียนของเด็ก โดยเฉพาะในการเรียนแบบออนไลน์ที่เด็กต้องนั่งเรียนหรือทำงานด้วยตนเองเป็นเวลานาน ในกรณีของไทยหากแบ่งเด็กออกเป็น 5 กลุ่ม จำแนกตามเศรษฐสถานะ เด็กที่อยู่ในกลุ่มฐานะดีที่สุด 84% มีสถานที่เรียนในบ้าน ในขณะที่มีเด็กกลุ่มยากจนที่สุดเพียง 55% ที่มีสถานที่สงบ ๆ ให้สามารถเรียนหรือทำงานในบ้านได้


การเข้าถึงอุปกรณ์คอมพิวเตอร์สำหรับการเรียนที่บ้าน ในประเทศไทยนักเรียนเพียง 53% ที่มี คอมพิวเตอร์สำหรับการเรียนหรือทำงานอยู่ที่บ้าน ซึ่งหากแบ่งตามเศรษฐสถานะ มีนักเรียนกลุ่มที่มีฐานะดีที่สุดถึง 91% ที่มีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่บ้าน ส่วนนักเรียนกลุ่มที่ยากลำบากที่สุดเพียง 17% ที่มีคอมพิวเตอร์เป็นความเหลื่อมล้ำที่เห็นได้ชัดเจน ซึ่งการขาดแคลนอุปกรณ์เครื่องคอมพิวเตอร์ถือเป็นอุปสรรคหลักในการเรียนการสอนแบบรูปแบบออนไลน์


การเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ต ในกรณีของประเทศไทย จากการสำรวจพบว่า นักเรียนอายุ 15 ปี ที่บ้านมีการเข้าถึง สัญญาณอินเทอร์เน็ต มีประมาณ 81.6 % แต่อย่างไรก็ตามหากแบ่งตามระดับเศรษฐสถานะของนักเรียน พบว่า ในขณะที่ครอบครัวที่มีเศรษฐสถานะในระดับ 40% มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เกิน 90% ของครัวเรือน แต่นักเรียนในกลุ่ม เศรษฐสถานะล่างสุดเพียง 57% ที่บ้านมีการเชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ต ซึ่งสาเหตุอาจมาจากรายได้ที่ไม่เพียงพอสำหรับบริการอินเทอร์เน็ต หรืออยู่ในบริเวณห่างไกลกว่าที่จะมีสัญญาณเข้าถึง


ในกรณีของประเทศที่ต้องปิดโรงเรียนในช่วงที่ผ่านมา เช่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง จีน อิตาลี หรือ สหรัฐอเมริกา ในภาพรวมถือว่ามีความคุ้นเคยกับการเรียนการสอนแบบออนไลน์สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในขณะที่โรงเรียนและนักเรียน มีอุปกรณ์และเครือข่ายความพร้อมพอสมควร แต่ก็ยังพบปัญหาของความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงดิจิทัล (Digital Divide) มากพอสมควร


นอกจากนั้นยังมีความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึง การเรียนการสอนแบบออนไลน์ ระหว่างนักเรียนหรือโรงเรียนที่อยู่ในกลุ่มยากจนด้อยโอกาสกับโรงเรียนที่มี ความพร้อม ยกตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกา โรงเรียนที่มีคุณภาพสูง เด็กมีเศรษฐสถานะดี เช่น Brooklyn Technical High School ในนิวยอร์ก นักเรียนถึง 98% ยังมีการเรียนการสอนทางออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ในช่วงปิดโรงเรียน ในขณะที่โรงเรียน Maywood Center for Enriched Studies ในเมือง Los Angeles ที่ เป็นโรงเรียนในกลุ่มด้อยโอกาส มีเด็กเพียง 45% ที่เข้ามาเรียนในระบบออนไลน์


ผลกระทบของสถานการณ์โรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ยังส่งผลถึงกลุ่มเด็กที่ต้อง พึ่งพิงอาหารเช้า อาหารกลางวัน จากทางโรงเรียน ทำให้ครอบครัวต้องมีค่าใช้จ่ายด้านอาหารมากขึ้น และ อาหารที่ได้รับอาจไม่ตรงไปตามโภชนาการที่จำเป็นต่อการพัฒนาการของเด็กอีกด้วย นอกจากนั้นอาจเกิด ปัญหาในด้านสภาวะด้านจิตใจ อารมณ์ สังคม เนื่องจากไม่ได้มีการปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มเพื่อนในช่วงวัยเดียวกัน หรือปัญหาการแสดงตัวตนของตนเอง ในกรณีของเด็กนักเรียนบางคนที่จะแสดงความเป็นตัวตนของตนเองเมื่อ อยู่กับกลุ่มเพื่อนมากกว่าครอบครัว อาจส่งผลให้เกิดเป็นความเครียดได้


จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลให้ภาครัฐและ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการวางแนวทางในการจัดการเรียนการสอน โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ท้าการจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจการจัดการศึกษาทางไกลในสถานการณ์โรคติดต่อเชื้อไวรัสโค โรนา 2019 (COVID-19) เพื่อเป็นหน่วยงานกลางด้านการประสานงานและการกำกับติดตามประเมินผลการจัดการศึกษาทางไกล พร้อมกับได้มีการดำเนินการสำรวจความพร้อมด้านอุปกรณ์การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของ นักเรียน ผู้ปกครอง ครู และระบบการบริหารจัดการเรียนการสอน และการกำหนดรูปแบบการจัดการเรียน การสอนทางไกลโดยใช้สื่อออนไลน์ แบ่งเป็นระดับชั้นอนุบาล ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 6 และ มัธยมศึกษาปีที่ 1 - 3 ใช้สื่อการเรียนการสอนของการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม DLTV ส่วนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 – 6 ใช้สื่อของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ผลิตขึ้นมาสำหรับการจัดการเรียนการสอนทางไกลในครั้งนี้ และอนาคตจะมีการพัฒนาไปสู่การจัดการเรียนการสอนแบบสื่อสารสองทางในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6


ซึ่งจากแนวทางในการจัดการเรียนการสอนดังกล่าว การจะทำให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงรูปแบบการเรียนการสอนออนไลน์ได้ รัฐจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับเด็กที่ไม่มีความพร้อมในการเข้าถึงการเรียนรูปแบบดังกล่าวเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เช่น ในครอบครัวที่ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรเพื่อการเรียนรูปแบบออนไลน์ได้ รัฐควรพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่เด็กกลุ่มนี้ อาจใช้วิธีการให้ยืมอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการเรียน หรือให้การบริการอินเทอร์เน็ตฟรี จัดส่งสื่อการเรียนการสอนที่จำเป็นต้องใช้ในรายวิชาต่าง ๆ ให้กับเด็ก โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมถึงให้แต่ละโรงเรียนมีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบถามและพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่เด็กที่ไม่มีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตในการเรียนออนไลน์เพื่อให้แน่ใจได้ว่าเด็กทุกคนจะสามารถเข้าถึงการเรียนในรูปแบบนี้ได้


ในกรณีที่เด็กประสบปัญหาอื่น ๆ อันเป็นผลกระทบมาจาก สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เช่น ปัญหาด้านรายได้ของครอบครัวที่ลด น้อยลง ปัญหาสุขภาพกายและจิตจากการอยู่บ้านและจ้องหน้าจอเป็นเวลานาน รัฐก็ควรมีแนวทางหรือ มาตรการในการให้ความช่วยเหลือ เช่น การพิจารณาช่วยเหลือค่าเทอมและสนับสนุนทุนการศึกษา เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของเด็กที่มาจากครอบครัวที่ยากจนและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบทางลบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้โรงเรียนจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะที่ให้ความช่วยเหลือเด็กในเรื่องของการให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพกายและจิต เพื่อให้เด็กที่มีปัญหาภาวะสุขภาพได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างทันท่วงที


ถึงแม้ว่ารัฐจะมีนโยบายที่ส่งเสริมสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์อย่างไร แต่ก็ต้องยอมรับว่าการเรียนการสอนในโรงเรียนเป็นการจัดการเรียนการสอนที่เด็กสามารถเข้าถึงได้มากกว่า โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่มีข้อจ้ากัด เช่น เด็กไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ หรือพ่อแม่ทำงาน เด็กที่ครอบครัวมีรายได้น้อยต้องอาศัยสวัสดิการอาหารของโรงเรียน


ดังนั้นหากมีการประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ว่าสามารถที่จะจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนได้ รัฐควรวางแนวทางให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย เน้นมาตรการการตรวจคัดกรองโรค การจัดห้องเรียน การล้างมือ การทำความสะอาด ให้การสนับสนุนอุปกรณ์จำเป็นต่าง ๆ สำหรับการป้องกัน และนำหลักการรักษาระยะห่างทางกายภาพมาใช้ เช่น การปรับเวลาเข้าเรียน - เลิกเรียนให้เหลื่อมกัน ยกเลิกการรวมกลุ่ม กีฬา หรือกิจกรรมอื่นใดที่ทำให้เกิดความแออัด


หากในอนาคตสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลให้เด็กที่อยู่ในระบบการศึกษาไม่สามารถที่จะเรียนในโรงเรียนได้ นอกจากการเรียนในรูปแบบออนไลน์แล้ว รัฐยังจะต้อง ส่งเสริมให้เกิดการจัดการเรียนการสอนที่มาจากการมีส่วนร่วมของหลายภาคส่วน เพื่อให้สามารถส่งผ่าน การศึกษา บริการ และความช่วยเหลือต่าง ๆ ที่จำเป็นไปสู่เด็กได้


ตัวอย่างเช่นการจัดการศึกษาโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ที่เป็นการจัดการศึกษาแก่ขุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน โดยการให้ผู้ปกครอง ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนการจัดการเรียนการสอนร่วมกับโรงเรียน นำทรัพยากรที่ชุมชนมีมาวางแผนการจัดการศึกษาให้มี ความเหมาะสมกับผู้เรียน ส่งผลให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่มีความหลากหลายและความเท่าเทียม เป็นอีกหนึ่งแนวทางของการจัดการเรียนการสอนที่สามารถทำให้เด็กทุกกลุ่มเข้าถึงระบบการศึกษาได้ภายใต้ความร่วมมือกันระหว่างเครือข่ายทางการศึกษาและการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนและผู้เรียนส่งผลให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองมีส่วนร่วมกับกิจกรรมทางการศึกษาของเด็กมากขึ้น เด็กเกิดความภาคภูมิใจในทรัพยากรและความเป็นชุมชน รวมถึงโรงเรียนมีการจัดการศึกษาที่ช่วยพัฒนาผู้เรียนได้อย่างรอบด้านมากขึ้น


Illustration by Arnon Chundhitisakul

 


100 views
bottom of page