top of page
  • Writer's pictureTSIS

ความเหลื่อมล้ำ (สูง) ทางการศึกษาไทย

by Arnon Chundhitisakul

ในสังคมไทยปัจจุบันเราพบว่า ประชาชนไม่ได้มีสถานภาพทางเศรษฐกิจ หรือศักยภาพที่จะสามารถเข้าถึงระบบการศึกษาได้อย่างเท่าเทียมกัน ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำนั้นอยู่คู่กับสังคมไทยมาตั้งแต่ก่อนจะเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19

หากจะกล่าวว่า “มิติทางเศรษฐกิจส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หรือทำให้ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเสมอภาค” คำกล่าวนี้ก็อาจจะไม่ถูกต้องเสมอไป เรายังพบว่ามีเด็กอีกหลายคนที่ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไม่ได้เกิดจากฐานะทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว


ยกตัวอย่างกรณีเด็กที่มีผู้ปกครองประกอบอาชีพก่อสร้าง พบว่าเด็กกลุ่มนี้จะมีการเคลื่อนย้ายตามผู้ปกครอง ไม่ใช่การเคลื่อนย้ายตามภาคการศึกษา แต่เป็นการเคลื่อนย้ายตามฤดูกาลทำงาน ส่งผลให้เด็กต้องออกจากโรงเรียน หรือย้ายโรงเรียน ถึงแม้ว่าโรงเรียนปลายทางยินดีที่จะรับเด็กเข้าศึกษาตามสิทธิการศึกษาของเด็ก แต่ก็จะพบว่าความต่อเนื่องของการเรียน ยังคงเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อตัวเด็ก ทำให้เด็กขาดโอกาสในส่วนนี้


เพราะฉะนั้น ความเหลื่อมล้ำในแต่ละบริบทนั้นมีความแตกต่างกัน ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเกิดจากมิติใดมิติหนึ่งเพียงอย่างเดียว ความเหลื่อมล้ำนั้นสามารถเกิดได้จากทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ หรือความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากมิติวัฒนธรรม หรืออคติเชิงชาติพันธุ์ต่าง ๆ เป็นต้น


สถานการณ์การศึกษาภายหลังสถานการณ์ COVID-19

ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นจะยังมีอยู่เหมือนเดิม และอาจจะมีความรุนแรงมากขึ้น

เราจะพบว่าโรงเรียนไม่ได้เป็นเพียงแค่สถาบันเพื่อการเรียนรู้เพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นพื้นที่หนึ่ง ที่ทำให้เด็กมีพัฒนาการทางร่างกายสมวัย ยกตัวอย่างในกรณีเด็กยากจน เด็กที่มีพ่อแม่เป็นกรรมกรเคลื่อนย้าย หรือเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ การจัดบริการอาหารเช้าและอาหารกลางวันในโรงเรียน หรือบริการอื่น ๆ ในโรงเรียน เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผ่อนคลายภาระของครอบครัวเป็นอย่างมาก


อีกทั้งโรงเรียนยังเป็นสถาบันหนึ่งในการเฝ้าระวัง หรือส่งเสริมพัฒนาการสำหรับเด็ก สิ่งที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ COVID-19 พบว่า เด็กจะไม่ได้รับบริการต่าง ๆ ในข้างต้น รวมถึงมีผู้ปกครองจำนวนมากที่ตกงาน หรือไม่ได้รับค่าจ้างในกรณีลูกจ้างรายวัน และยังต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการดูแลเด็ก หรือเพื่อการเข้าถึงทรัพยากรการศึกษาของเด็ก


เมื่อมองในเชิงกายภาพ วิกฤตสถานการณ์การแพร่ระบาดย่อมส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็ก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่ครอบครัวไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากร เช่น สัญญาณอินเทอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน หรือโทรทัศน์ ซึ่งล้วนแต่มีค่าใช้จ่าย กล่าวได้ว่า เครื่องมือหรือการเรียนรู้รูปแบบออนไลน์ ในสถานการณ์ COVID-19 อาจจะเหมาะกับครอบครัวชนชั้นกลาง หรือคนที่สามารถเข้าถึงทรัพยากรได้ แต่อาจจะไม่เหมาะกับครอบครัวที่มีความยากลำบากหรือไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ เพราะฉะนั้น พ่อแม่ หรือคนในครอบครัว จึงมีความสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็กเป็นอย่างมาก


สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศไทย


เมื่อกล่าวถึงการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ หรือความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการศึกษาพบว่า ประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงการศึกษาด้านคุณภาพอยู่ค่อนข้างสูง ถึงแม้ในประเทศไทยจะมีนโยบายสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี โดยการศึกษาขั้นพื้นฐานในประเทศไทยครอบคลุมในระดับก่อนประถมศึกษาจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญ และสายอาชีวศึกษา แต่ก็มีเด็กอายุ ระหว่าง 3-17 ปี จำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ หรืออาจหลุดออกจากระบบการศึกษาในระหว่างการขั้นพื้นฐานด้วยเหตุผลต่าง ๆ กัน


โดยตารางต่อไปนี จะแสดงให้เห็นถึงจำนวนนักเรียนอายุ 3-17 ปี (เยาวชน) ที่สามารถอยู่ในระบบการศึกษาได้เทียบกับจำนวนประชากรที่มีอายุ 3-17 ปี ทั้งหมด

ที่มา: สำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ข้อมูลปีการศึกษา 2559 และ 2560 ปรับปรุง ณ วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2561


จากตารางดังกล่าวในระหว่างปีการศึกษา 2556 ถึง 2560 แสดงให้เห็นนักเรียนที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยในปี 2556 มีนักเรียนที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษากว่า 456,110 คน ปี 2557 จำนวน 511,778 คน ปี 2558 จำนวน 595,561 คน ปี 2559 จำนวน 646,933 คน และในปี 2560 จำนวน 364,953 คน หากนำจำนวนนักเรียนที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาระหว่างปีการศึกษา 2556 - 2560 มาเฉลี่ยกันจะได้ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 515,067 กล่าวได้ว่า ในระหว่างปีการศึกษา 2556 - 2560 มีนักเรียนที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานประมาณ 515,067 คนหรือประมาณ 500,000 คน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเป็นเพียงจำนวนของนักเรียนที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาระหว่างปีการศึกษา 2556 - 2560 โดยไม่ได้ระบุสาเหตุของการไม่อยู่ในระบบการศึกษา


นอกจากนี้ จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต (2561) พบว่ามีข้อมูลหลายส่วนที่มีความน่าสนใจในประเด็นเด็กด้อยโอกาสในสังคมไทย เช่น จากจำนวนประชากรเด็ก (อายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์) ในประเทศไทยจำนวน 13,825,194 คน เป็นเด็กที่เผชิญกับปัญหาความยากจนถึง 80% มีกลุ่มเด็กที่มีความพิการทางสติปัญญาและออทิสติกจำนวน 220,842 คน หรือจำนวนเด็กเข้าถึงระบบการศึกษาเพียง 25.33% ซึ่งจากข้อมูลสถานการณ์ที่ได้ยกตัวอย่างข้างต้นทำให้พบว่าในปัจจุบัน เด็กนักเรียน นักศึกษาของประเทศไทยกำลังประสบปัญหาอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในด้านร่างกาย จิตใจ เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งเป็นปัญหาทั้งในระดับปัจเจก จนถึงปัญหาในระดับโครงสร้างที่ส่งผลต่อการเข้าถึงระบบการศึกษาของเด็ก


Illustration by Arnon Chundhitisakul

 

2,577 views
bottom of page