top of page
  • Writer's pictureTSIS

#ภัยร้ายจากใคร Hated in the nation

By Piyanat Chasi

*อาจมีการเปิดเผยเนื้อหาในภาพยนตร์


เมื่อไม่กี่วันก่อน เราเห็นข่าวการเสียชีวิตของฮานะ คิมุระ (Hana Kimura) นักมวยปล้ำญี่ปุ่นและสมาชิกรายการ Terrace House ซีซั่นล่าสุด ในขณะนี้ไม่มีการเปิดเผยสาเหตุการฆ่าตัวตาย ก่อนหน้านี้ฮานะได้โพสต์ภาพลงในอินสตาแกรมพร้อมกับข้อความว่า "Goodbye" ถ้าเราเข้าไปดูหลาย ๆ ภาพในอินสตาแกรมของเธอจะพบว่ามีการ Cyberbully อย่างรุนแรงจากคนที่ไม่ชอบเธอ ประเด็นนี้ของฮานะทำให้เรานึกถึงตอนนึงในซีรีส์เรื่อง Black Mirror


Hated in the nation คือหนึ่งในตอนของซีรีส์เรื่อง Black Mirror เป็นซีรีส์ของประเทศอังกฤษมีเนื้อหาสะท้อนภัยร้ายจากเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็วในยุคปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ ซึ่งนำเสนอประเด็น “คน” ใช้เทคโนโลยีในการทำร้ายผู้อื่น แม้คนที่ทำร้ายผู้อื่นจะคิดว่าตนไม่ได้ก่อความรุนแรงในระดับลึกหรือให้ก่อความเสียหายใด ๆ ต่อร่างกายและทรัพย์สินของผู้ถูกกระทำ ตนเพียงแค่แสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางการสื่อสารออนไลน์ คนอีกจำนวนมากก็กระทำเช่นเดียวกัน เราเรียกการทำร้ายผู้อื่นผ่านโลกออนไลน์ว่าเป็นการ Cyberbullying หรือทำร้ายเหยื่อผ่านทางอินเทอร์เน็ต


โลกออนไลน์เต็มไปด้วยการไหลเวียนของข่าวสาร รูปภาพ และข้อความต่าง ๆ จำนวนมาก ข้อมูลปรากฏเร็วและพร้อมจากไปอย่างรวดเร็ว บ่อยครั้งที่ผู้คนที่เรียกตัวเองว่า “ชาวเน็ต” ทำการ “จวก” คนที่ตนมีความคิดเห็นร่วมกันว่าสมควรได้รับการทำร้ายหรือลงโทษผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตเพราะมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมจากสายตาของคนในโลกออนไลน์


ความรวดเร็วของอินเทอร์เน็ตอาจไม่ส่งผลใด ๆ ต่อชาวเน็ตที่ได้กระทำความผิดไปเพราะหลังจากแสดงความคิดเห็นเรียบร้อยตนก็พร้อมจากไปดูข้อมูลใหม่ ๆ คนเหล่านั้นไม่มีทางรู้เลยว่าผลของการไร้ความรับผิดชอบ ไร้การตรวจสอบ และทำตั้งตนเป็นศาลเตี้ยนั้น ระดับความรุนแรงที่ตนกระทำขึ้นรวมกันหลายคนอาจส่งผลถึงชีวิตของผู้ถูกกระทำได้เลย


เมื่อนักข่าวที่ตกเป็นเหยื่อให้ชาวเน็ตรุมต่อว่า ด่าทอ จนเกิดกระแสติดแฮชแท็ก #DeadTo (ตามด้วยชื่อของคนที่ชาวเน็ตร่วมกันเกลียด) เสียชีวิตโดยคำให้การของสามีบอกว่าภรรยาได้ฆ่าตัวตายโดยการกรีดคอตัวเองเหมือนต้องการเอาอะไรสักอย่างออกมา


อีกวันต่อมานักร้องชื่อดังที่ถูกตัดสินจากชาวเน็ตให้ติดแฮชแท็ก #DeadTo เหมือนกันเกิดอาการดิ้นอย่างรุนแรงเพื่อพยายามเอา “หุ่นยนต์ผึ้ง” ออกจากร่างกายตนจนท้ายที่สุดก็เสียชีวิตเช่นกัน


กระแสแฮชแท็กที่คนจำนวนมากร่วมโหวตว่าใครสมควรตาย พาเราเข้าสู่เข้าถามเชิงจริยธรรมขั้นพื้นฐานว่าความผิดของคน

แต่ละคนนั้น ผู้อื่นมีสิทธิใดในการตัดสินให้เขาตายหรืออยู่ แม้ว่าความผิดของเขาจะยิ่งใหญ่หรือเล็กน้อย ตราบใดที่สังคมนั้น ๆ มีระเบียบแบบแผนหรือข้อกฏหมายก็ไม่สมควรมีผู้ใดไปละเมิดสิทธิของผู้อื่นอย่างไร้ความชอบธรรม

ชาวเน็ตเห็นเป็นเรื่องสนุกเหมือนเกมล่าแม่มดโดยตนมีอำนาจในการควบคุมคนอื่นให้อยู่หรือจากไป

หลายครั้งที่ความรุนแรงลักษณะนี้เกิดขึ้นในสังคม เราเห็นคนโดนทำร้ายผ่านช่องแสดงความคิดเห็นหรือแชร์ต่อๆ กันไปเพื่อรุมด่ากันต่อ เราไม่ได้เห็นอย่างในซีรีส์ว่าเขาถึงแก่ความตาย แต่ความเจ็บปวดที่หลงเหลืออยู่นั้นมันไม่ต่างจากตายทั้งเป็นโดยที่ชาวเน็ตไม่เคยมีส่วนร่วมรับผิดใด ๆ ต่อความเสียใจของเขา


ซีรีส์นำเสนอสะท้อนความรุนแรงผ่านทางเทคโนโลยีได้ให้คนดู โดยเฉพาะคนที่ทำตัวเป็นชาวเน็ตรุมล่าผู้อื่น คงได้ตั้งคำถามว่าหลังจากแสดงความคิดเห็น เราจบแต่ความเจ็บปวดมันอยู่กับผู้โดนกระทำ เขาไม่มีโอกาสได้แก้ตัวเพราะสังคมได้ตัดสินเขาไปแล้ว


เมื่อตัวร้ายเฉลยแผนการที่แท้จริงคือ การหลอกล่อเหล่า “ชาวเน็ต” ที่มีส่วนร่วมต่อการโหวตหรือติดแฮชแท็ก ว่าใครสมควรตายนั้นเข้ามาติดกับ คนจำนวนเกือบสี่แสนคนที่มองว่าเป็นเรื่องสนุก ตัดสินชีวิตผู้อื่นโดยง่ายขาดความรับผิดชอบ ตั้งตนเป็นศาลเตี้ยต้องรับผลต่อการกระทำของตนจนเกิดการสังหารหมู่ผู้คนครั้งใหญ่

ผู้ร้ายในภาพแทนของ "รัฐบาล"

ภายในตอน Hated in the nation ไม่ได้มีเพียงแค่การวิพากษ์วิจารณ์ผู้คนที่ใช้เทคโนโลยีอย่างไร้สำนึกทางความรับผิดชอบเพียงอย่างเดียว อีกหนึ่งประเด็นสำคัญเราได้เห็นผู้ร้ายมาในภาพแทนของ “รัฐบาล” ใช้เทคโนโลยีทำร้ายประชาชนของตนโดยใช้ผ่าน “หุ่นยนต์ผึ้ง” รัฐบาลให้เหตุผลว่าการสร้างหุ่นยนต์ผึ้งขึ้นมามีเป้าหมายคือ การรักษาความสมดุลของธรรมชาติ ในอนาคตหลายประเทศต้องเผชิญกับวิกฤตการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ แท้จริงแล้วกลับใช้หุ่นยนต์ผึ้งที่มีจำนวนมหาศาลในการสอดแนมหรือเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน สแกนใบหน้าประชาชนเก็บหมายเลขต่าง ๆ ฯลฯ โดยรัฐบาลให้เหตุผลว่าเพื่อ “ความมั่งคงของชาติ” (หุ่นยนต์ผึ้งกลายเป็นสัญลักษณ์ความรุนแรงตั้งแต่ผู้ร้ายแฮ็คเข้าระบบเพื่อเปลี่ยนหุ่นยนต์ผึ้งให้เป็นอาวุธในการฆาตกรรม)


การกระทำทั้งหมดเหล่านี้ ขัดต่อหลักการสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนอันมีอิสระต่อพื้นที่ส่วนบุคคลของตนในสังคมประชาธิปไตยอย่างประเทศอังกฤษ เราจะรู้และตรวจสอบได้อย่างไรว่าการสอดแนมนั้นเพื่อความมั่นคงของชาติจริง ๆ มันเป็นการจำกัดสิทธิในการดำรงชีวิตของประชาชน


การสอดแนมดูเหมือนจะเพียงเป็นการกระทำเชิงรับคือ แค่ “ดู” อย่างเดียว แต่หากเรารู้ว่ากำลังมีคนดูเราอยู่ มีคนสามารถเข้าถึงการค้นหาข้อมูลต่าง ๆ ทางอินเทอร์เน็ตของเรา รู้ว่าเราคุยกับใคร มีข้อความใดที่รัฐบาลจะยัดเหยียดให้ว่าเราขัดต่อความมั่นคงของชาติ พฤติกรรมของเราย่อมเกรงกลัวแม้ว่าเราจะไม่ได้ทำผิด แต่พื้นที่ส่วนตัวของประชาชนควรได้รับการปกป้องตามกฏหมาย การสอดแนมจึงกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ประชาชนต้องตรวจสอบคณะรัฐบาลของตนไม่ให้เข้าถึงพื้นที่ส่วนบุคคล


เมื่อปี 2558 ภายใต้รัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมอังกฤษได้ผ่านนโยบายสอดแนมประชาชนภายใต้การป้องกันภัยจากการก่อการร้าย ผลักดันกฏหมายใหม่เพื่อบังคับให้บริษัทสื่อสารเอกชนและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเก็บข้อมูลการโทร การใช้ Social Media และข้อความต่าง ๆ ในโทรศัพท์ย้อนหลังได้หกเดือนเพื่อให้รัฐบาลตรวจสอบย้อนหลังได้ง่าย


Hated in the nation คือตอนจบใน season 3 ของซีรีส์ Black Mirror ออกอากาศเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2559 แสดงให้เห็นว่าเนื้อหาของซีรีส์นั้นไม่ได้ห่างไกลจากสังคมที่เราอยู่นัก การสร้างบริษัทสื่อสารของเอกชนโดยมีรัฐบาลร่วมลงทุนสนับสนุนในซีรีส์ เปรียบดังโครงการหุ่นยนต์ผึ้ง เพื่อไปสอดแนมประชาชนของตนเอง ไม่ต่างกับหลายโครงการจริงในอังกฤษที่รัฐบาลสนับสนุนเอกชนในการสร้างบริษัททางการสื่อสาร


หลายประเทศเสรีประชาธิปไตยกำลังตั้งคำถามกับรัฐบาลของตนว่า หน้าที่ที่ต้องปกป้องคุ้มครองสิทธิของประชาชน การกระทำดังกล่าวถือเป็นการละเมิดสิทธิ ผิดกฏหมายมากน้อยเพียงไร ประชาชนในอนาคตควรทำอย่างไรเมื่อรัฐบาลกำลังมีทิศทางเป็นไปในทางเดียวกันกับซีรีส์


ภัยร้ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในตอน Hated in the nation ไม่ได้มีเพียงแค่อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือจากผู้ร้ายในตอนจบ แต่ภัยจากเทคโนโลยีล้วนเกิดขึ้นรอบตัวเรา บางครั้งเราอาจเผลอทำร้ายผู้อื่นเพียงเพราะคิดว่า การกระทำของเราเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆในทางกลับกัน หากคนเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างเรามีจำนวนมาก ร่วมกันทำความผิด ในท้ายที่สุดก็กลายเป็น "การทำร้าย" ที่ยิ่งใหญ่ หรือภัยร้ายทางเทคโนโลยีอาจเกิดขึ้นจากรัฐบาลที่มีหน้าที่ปกป้องประชาชนของตน


ภัยจากเทคโนโลยีเปรียบได้กับหุ่นยนต์ผึ้งที่ใช้ก่อความรุนแรง ตัวเดียวก็ทำร้ายเราให้เจ็บปวดได้ แล้วถ้ามีจำนวนหลาย ๆ ตัวมารวมกันความเจ็บปวดมันก็ยิ่งทวีคูณขึ้นไปมากเพียงใด คนในอินเทอร์เน็ตที่ทำร้ายผู้อื่นก็เช่นกัน คนเดียวเราก็อาจเจ็บปวดแล้ว ยิ่งมีหลายคนร่วมกันก่อความรุนแรง เราอาจเจ็บปวดจนทนไม่ไหว


Illustration by Panukorn Chasi

 

196 views
bottom of page